Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/0e1b5f4303125ebd626e14f873abeea8/e9a79/cover.png
29 August 2016
20161472428800000

ปัญหาการลงทุนไทย…มุมมองจากข้อมูลงบการเงินรายบริษัททั่วประเทศ

การลงทุนภาคเอกชนอาจสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง หากได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด
Vorada Limjaroenrat
ปัญหาการลงทุนไทย…มุมมองจากข้อมูลงบการเงินรายบริษัททั่วประเทศ
excerpt

การลงทุนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทว่าการลงทุนภาคเอกชนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานานนับทศวรรษตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินปี พ.ศ. 2540 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการลงทุนไทย การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทแต่ละประเภทเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกัน บริษัทขนาดใหญ่มีความต้องการจำกัดที่จะเพิ่มการลงทุน เนื่องจากมองว่าแนวโน้มตลาดยังคงซบเซาหรือมีความไม่แน่นอนสูง (ปัญหาด้านอุปสงค์) ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กซึ่งเป็นบริษัทส่วนใหญ่ของประเทศมีข้อจำกัดในการลงทุน ส่วนหนึ่งจากความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (ปัญหาด้านอุปทาน) และบางกลุ่มยังคงมีประสิทธิภาพการผลิตที่ด้อยอยู่

การลงทุนไทยที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน (รูปที่ 1) นำไปสู่คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับการลงทุนของบริษัทในประเทศไทย เหตุใดบริษัทจึงไม่เพิ่มการลงทุน บทความนี้ทำการศึกษาผ่านฐานข้อมูล Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) จากกระทรวงพาณิชย์เป็นหลักฐานข้อมูล CPFS มีความเหมาะสมในการตอบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลงบการเงินที่มีความละเอียดในระดับบริษัท ครอบคลุมทุกบริษัทในประเทศไทยที่ได้มีการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 300,000 บริษัทต่อปี ดังนั้น การศึกษาผ่านข้อมูล CPFS จึงเป็นการศึกษาเชิงลึกที่สามารถช่วยเติมเต็มมุมมองที่ขาดหายจากการศึกษาข้อมูลรวมระดับมหภาค

รูปที่ 1 : ข้อมูลระดับมหภาคแสดงอัตราส่วนการลงทุนภาคเอกชนของไทยเทียบกับ GDP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513–2556

ข้อมูลระดับมหภาคแสดงอัตราส่วนการลงทุนภาคเอกชนของไทยเทียบกับ GDP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513–2556

ที่มา: NESDB

ภาพรวมบริษัทไทยจากข้อมูลงบการเงินรายปีของบริษัททั่วประเทศ

ข้อมูลงบการเงิน CPFS แสดงให้เห็นว่า เมื่อแบ่งบริษัทออกเป็น 3 กลุ่ม ตามขนาดโดยยึดเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ บริษัทในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ประกอบด้วย (1) บริษัทขนาดเล็กที่มีสินทรัพย์ถาวรน้อยกว่า 50 ล้านบาท ตามด้วย (2) บริษัทขนาดกลางที่มีสินทรัพย์ถาวรมากกว่า 50 ล้านบาทแต่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และ (3) บริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ถาวรมากกว่า 200 ล้านบาท ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 : สัดส่วนจำนวนบริษัทขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

สัดส่วนจำนวนบริษัทขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

หากวัด “การลงทุนสุทธิ” (net investment) ของบริษัทด้วยการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ถาวร จะเห็นได้ชัดเจนว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของบริษัทในประเทศไทยลงทุนไม่เพียงพอต่อค่าเสื่อมของสินทรัพย์ถาวร กล่าวคือ การลงทุนสุทธิติดลบ โดยแม้ว่าบริษัทที่มีขนาดเล็กมีการลงทุนสุทธิติดลบมากที่สุด บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสุทธิติดลบก็มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : สัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบขอบบริษัทขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

สัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบขอบบริษัทขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

หากเปรียบเทียบสถานะทางการเงินรายบริษัทระหว่างบริษัทขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะพบว่า บริษัทขนาดเล็กซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนจากการใช้สินทรัพย์ทั้งหมด (return on asset: ROA) กลับเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบมากที่สุดและมีสัดส่วนการกู้ยืมจากภายนอกน้อยที่สุด (leverage ratio) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการกู้ยืมหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกที่น้อยกว่าของบริษัทขนาดเล็ก

เนื่องจาก ROA สามารถคำนวณได้จากผลคูณของ asset turnover ratio และ operating profit margin ดังนั้น ประสิทธิภาพของบริษัทขนาดเล็กที่มากกว่าจึงสามารถอธิบายได้ว่า บริษัทขนาดเล็กสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เห็นได้จาก asset turnover ratio ของบริษัทขนาดเล็กมีค่าสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าบริษัทขนาดเล็กจะมีความสามารถในการทำกำไรต่ำ (operating profit margin) ที่น้อยกว่า ทั้งนี้ การที่บริษัทขนาดเล็กมีกำไรน้อยกว่าสืบเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและบริหารจัดการต่าง ๆ ที่สูงกว่า ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลจากสาเหตุหลายประการ เช่น การที่บริษัทขนาดเล็กมีอำนาจการต่อรองในตลาดน้อยกว่า (market power) ทำให้ต้องเผชิญกับต้นทุนที่แพงกว่าหรือบริษัทขนาดเล็กกำลังอยู่ในช่วงจัดตั้งบริษัท ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดตั้ง สูงกว่า

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเกิดคำถามว่า ข้อจำกัดประการใดที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพดีมีการลงทุนสุทธิติดลบมากที่สุด?

หากเราพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรภายในตลาดทุน ซึ่งวัดได้จากการกระจายตัวของความสามารถในการสร้างรายได้ต่อหนึ่งหน่วยทุน (Marginal Revenue Product of Capital: MRPK) ระบบเศรษฐกิจที่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ MRPK ของแต่ละบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันควรมีค่าเท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งส่งผลให้การกระจายตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการกระจายตัวของ MRPK ของบริษัทไทยกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มมีข้อมูลการศึกษาในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน (รูปที่4)1 แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการกระจายตัวของ MRPK เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึง ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรของตลาดทุนไทยในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้นในแต่ละปี

รูปที่ 4: อัตราการเพิ่มขึ้นของการกระจายตัว (s.d.) ของ MRPK โดยใช้ปี พ.ศ. 2544 เป็นปีฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

อัตราการเพิ่มขึ้นของการกระจายตัว (s.d.) ของ MRPK โดยใช้ปี พ.ศ. 2544 เป็นปีฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556

ข้อแตกต่างระหว่าง “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก” และ “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นลบ”

เนื่องจาก “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก” และ “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นลบ” มีความสามารถในการลงทุนและลักษณะพื้นฐานของบริษัทแตกต่างกัน ในขั้นต่อไปจะทำการศึกษาทีละกลุ่มบริษัท เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่บริษัทไม่ลงทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบสถานะทางการเงินรายบริษัท (financial ratio) ดังแสดงในรูปที่ 5 จะพบว่า บริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวกมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากกว่า ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ (รูปที่ 5a : asset turnover ratio) และความสามารถในการทำกำไร (รูปที่ 5b : operating profit margin) ส่งผลให้ ROA (รูปที่ 5c) มีค่าสูงกว่าตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถสันนิษฐานได้จากสัดส่วนการกู้ยืมจากภายนอก (รูปที่ 5d : leverage ratio) ว่า กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวกมีความสามารถกู้ยืมหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกมากกว่ากลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นลบ โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวกมีความแข็งแกร่งกว่ากลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ ความสามารถในการทำกำไร และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอก จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทกลุ่มนี้จะสามารถเพิ่มปริมาณการลงทุนได้มากกว่า

รูปที่ 5: อัตราส่วนทางการเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556 ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ

อัตราส่วนทางการเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544–2556 ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ

สถานการณ์ของ “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก”

หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจมองไม่เห็นปัญหาของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนเป็นบวก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูง แต่เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึกแล้ว พบว่าบริษัทกลุ่มนี้ประสบปัญหาบางประการเช่นกันที่ทำให้การลงทุนไม่สูงกว่าที่เป็นอยู่

Limjaroenrat (2016) ทำการศึกษาเชิงลึกจากแบบจำลองที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า หากบริษัทไม่ได้เผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน (financial constraint) การลงทุนควรถูกขับเคลื่อนโดย Tobin’s Q เป็นหลัก2 แต่หากบริษัทกำลังเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน การลงทุนจะถูกขับเคลื่อนโดยแหล่งเงินทุนภายใน (เช่น เงินสด สินทรัพย์หมุนเวียน เป็นต้น) เนื่องจากบริษัทไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกได้

ผลการศึกษาจากแบบจำลองดังกล่าวพบว่า การลงทุนของบริษัทขนาดเล็กถูกขับเคลื่อนโดยแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทเป็นหลัก ในขณะที่การลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนภายนอกมากกว่า สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่พบจากข้อมูลสถานะทางการเงินรายบริษัท

ผลการศึกษาดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวกบางส่วนอาจถูกจำกัดด้วยปัญหาการจัดสรรทรัพยากร หรือ “เงินทุน” ซึ่งเป็นปัญหาด้านอุปทาน กล่าวคือ บริษัทที่มีขนาดเล็ก แม้มีประสิทธิภาพในการลงทุนและมี ROA สูงกว่า แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกหรือกู้ยืมจากธนาคารได้เพียงพอ ส่งผลให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทสำหรับการลงทุน ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจการต่อรองในตลาดมากกว่าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนกู้ยืมเงินได้มากกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบางอุตสาหกรรม แต่เป็นประจักษ์ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

สถานการณ์ของ “กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ”

เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบมีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของบริษัทไทยในแต่ละปี ดังนั้น จึงควรทำการศึกษาเชิงลึกถึงลักษณะเฉพาะของบริษัทกลุ่มนี้และสาเหตุที่บริษัทกลุ่มนี้ลงทุนไม่เพียงพอต่อค่าเสื่อม

หากพิจารณาสถานะทางการเงินรายบริษัทของบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ จะเห็นได้ว่าแม้บริษัทขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์มากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ดังแสดงในรูปที่ 6b ( asset turnover ratio)แต่ยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (รูปที่ 6a) ที่จะทำให้มีผลตอบแทนจากการใช้สินทรัพย์รวม (รูปที่ 7b) มากเพียงพอที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการลงทุนได้ เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กมีความสามารถในการทำกำไรต่ำกว่า

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้กลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีการลงทุนสุทธิติดลบจะมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์น้อยกว่ากลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (รูปที่ 6) แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์มากกว่ากลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก

รูปที่ 6: Asset turnover ratio ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (6.a) และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ (6.b)

Asset turnover ratio ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (6.a) และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ (6.b)

รูปที่ 7: Return on asset ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (6.a) และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ (6.b)

Return on asset ของกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก (6.a) และกลุ่มที่มีการลงทุนสุทธิติดลบ (6.b)

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำไปสู่สมมติฐานว่า การที่กลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่มีการลงทุนสุทธิติดจะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวกได้นั้น บริษัทกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากกว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสุทธิเป็นบวก เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กมีความสามารถในการทำกำไรน้อยกว่าในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติเบื้องต้นผ่านแบบจำลอง Tobin’s Q โดยใช้กลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนสุทธิติดลบสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวโดยพบว่า ข้อจำกัดทางการเงินไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ หากแต่มีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากข้อจำกัดทางการเงินที่ทำให้บริษัทเหล่านี้มีการลงทุนสุทธิติดลบ

เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่บริษัทมีการลงทุนสุทธิติดลบ ในขั้นต่อมาจึงได้ทำการศึกษาคำถามดังกล่าวผ่านแบบจำลอง logistic regression ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การที่บริษัทมีการลงทุนสุทธิติดลบอาจเป็นผลมาจาก (1) ข้อจำกัดทางการเงิน (2) บริษัทมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ หรือ (3) บริษัทขาดแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดี

ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาบ่งชี้ว่า บริษัทขนาดเล็กมีการลงทุนสุทธิติดลบ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีการลงทุนสุทธิติดลบเนื่องจากขาดแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดี โดยมองว่าตลาดยังคงซบเซาหรือมีความผันผวนสูง ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ยังไม่ต้องการเพิ่มปริมาณการลงทุน

ข้อสรุป

เบื้องหลังข้อมูลการลงทุนรวมระดับมหภาคของประเทศไทยที่เป็นบวกและอยู่ในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานานนั้น มากกว่าร้อยละ 60 ของบริษัทในประเทศไทยมีการลงทุนสุทธิติดลบหรือมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไร

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยอาจกำลังประสบปัญหาการจัดสรรทรัพยากร (ทุน) ระหว่างบริษัท โดยบริษัทแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่โดยรวมไม่ได้ประสบปัญหาด้านความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอก แต่การลงทุนที่ซบเซาสำหรับบริษัทกลุ่มนี้สะท้อนปัญหาด้านอุปสงค์เป็นหลัก กล่าวคือ บริษัทไม่ต้องการเพิ่มปริมาณการลงทุนเนื่องจากแนวโน้มกิจการไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจากภาวะตลาดที่ยังคงซบเซาหรือมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น นโยบายที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือจูงใจให้เกิดการลงทุน เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจให้บริษัทเพิ่มการลงทุนอาจเป็นคำตอบของบริษัทกลุ่มนี้

บริษัทขนาดเล็กซึ่งเป็นบริษัทส่วนใหญ่ของประเทศ บางกลุ่มมีการลงทุนสุทธิเป็นบวกและมีประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์สูง แต่เนื่องด้วยเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กจึงมีความสามารถในการต่อรองราคาต่ำและสามารถทำกำไรได้น้อยกว่า ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือกู้ยืมจากภายนอก บริษัทกลุ่มนี้แม้มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังคงไม่สามารถเพิ่มปริมาณการลงทุนได้เท่าที่ควร ดังนั้น นโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาด้านอุปทานทำให้บริษัทขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพดีเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้นอาจช่วยเร่งฟื้นฟูการลงทุนได้อย่างตรงจุด การใช้นโยบายกระตุ้นการลงทุนด้านอุปสงค์อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทกลุ่มนี้

อย่างไรก็ดี บริษัทขนาดเล็กจำนวนมากยังคงมีการลงทุนสุทธิติดลบ มีประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ไม่เพียงพอและต้องการการปฏิรูป จึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่ช่วยในการคัดกรองกลุ่มบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงออกจากกลุ่มบริษัทที่มีประสิทธิภาพต่ำ ส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถเข้าถึงทรัพยากรการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

Limjaroenrat, V. (2016): “Firm-Level Perspective of Thailand’s Low Investment Puzzle” PIER Discussion Paper. No.42


  1. การกระจายตัวของ MRPK ในที่นี้คำนวณจากค่าเฉลี่ยของการกระจายตัวของ MRPK ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม↩
  2. Tobin’s Q เป็นตัววัดจำนวนเงินที่ประมาณว่า สามารถจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรใหม่เพื่อนำมาทดแทนเครื่องจักรเดิม หรือมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต (ในที่นี้คำนวณจาก ค่าเฉลี่ยของ ROA ปัจจุบันและในอีก 2 ปีข้างหน้า)↩
Vorada Limjaroenrat
Vorada Limjaroenrat
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Topics: MacroeconomicsProductivity and Technological Change
Tags: coperate financeinvestmentresource misallocation
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email