ข้อจำกัดด้านการกู้ยืมและการตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการของครัวเรือนไทย

excerpt
ครัวเรือนในประเทศไทยเผชิญกับข้อจำกัดด้านการกู้ยืม ทำให้บางครัวเรือนที่มีความสามารถสูงแต่มีระดับสินทรัพย์ต่ำไม่สามารถรวบรวมเงินทุนได้เพียงพอที่จะเริ่มทำธุรกิจได้ นอกจากนี้ ธุรกิจของครัวเรือนจำนวนมากยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ครัวเรือนเหล่านี้กลับไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายกิจการได้ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการสนับสนุนครัวเรือนที่มีความสามารถสูงเหล่านี้ในการดำเนินกิจการ นโยบายที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ หรือ การร่วมลงทุน น่าจะมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ยังไม่ได้ช่วยให้คนบางกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
วิสาหกิจขนาดย่อม (small enterprises หรือ SEs) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมูลค่าผลผลิตจาก SEs ในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นร้อยละ 27.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และ SEs ก่อให้เกิดการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.5 ของการจ้างงานโดยวิสาหกิจทั้งหมด (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2558) ดังนั้น การสนับสนุนการดำเนินงานของ SEs และการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ จึงเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ บทความนี้จะนำเสนองานวิจัยที่ศึกษาการตัดสินใจทำธุรกิจของครัวเรือนและข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจโดยใช้ข้อมูลการสำรวจระดับครัวเรือนในประเทศไทย
Evans and Jovanovic (1989) เสนอแบบจำลองที่สามารถใช้อธิบายการตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการของครัวเรือน โดยในแบบจำลองดังกล่าว ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurial ability) และครัวเรือนที่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการสูงจะเลือกทำธุรกิจ ในขณะที่ครัวเรือนที่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการต่ำจะเลือกเป็นลูกจ้าง นอกจากนี้ ระดับสินทรัพย์ของครัวเรือนยังส่งผลต่อการตัดสินใจประกอบธุรกิจ เนื่องจากครัวเรือนจะเผชิญกับข้อจำกัดในการกู้ยืม (borrowing constraints) ทำให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูง แต่มีระดับสินทรัพย์ต่ำ อาจไม่สามารถรวบรวมเงินทุนได้เพียงพอที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำให้ธุรกิจมีขนาดเล็กกว่าขนาดที่เหมาะสมได้
Paulson and Townsend (2004) ศึกษาผลกระทบของข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจระดับครัวเรือนรายปี ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการ Townsend Thai Project โดยชุดข้อมูลดังกล่าวรวบรวมข้อมูลของครัวเรือนที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลใน 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ และ ศรีสะเกษ รวมกันทั้งสิ้น 2,880 ครัวเรือน
Paulson and Townsend (2004) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจโดยเปรียบเทียบลักษณะของครัวเรือนที่เริ่มธุรกิจใหม่ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2535–2540) กับครัวเรือนที่ไม่ได้ทำธุรกิจ ผลการศึกษาชี้ว่า ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนมีอายุน้อยกว่า มีระดับการศึกษาสูงกว่าและมีสินทรัพย์มากกว่า จะมีโอกาสในการเริ่มต้นทำธุรกิจมากกว่า นอกจากนี้ ระดับสินทรัพย์ของครัวเรือนยังช่วยเพิ่มระดับการลงทุนเริ่มต้นและลดโอกาสที่ครัวเรือนจะเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายขนาดของกิจการอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ว่า ครัวเรือนในประเทศไทยเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
Pawasutipaisit and Townsend (2011) เปรียบเทียบผลผลิตหน่วยสุดท้ายของทุน (marginal product of capital หรือ MPK) ของครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน โดย MPK เป็นตัวชี้วัดว่าครัวเรือนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเท่าใดจากการลงทุนเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย ซึ่งหากไม่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนแล้ว MPK ของทุกครัวเรือนควรจะเท่ากัน โดยมีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม Pawasutipaisit and Townsend (2011) พบว่า MPK ของครัวเรือนขึ้นอยู่กับระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์ต่ำจะมีค่า MPK สูงกว่าครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์สูง (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่าครัวเรือนเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ยังพบว่า MPK ของครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์ต่ำหลายครัวเรือนมีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากครัวเรือนในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยปกติเพื่อนำมาขยายกิจการจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศไทยลดลงร้อยละ 7.6 ในปี พ.ศ. 2541 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในปี พ.ศ. 2540 เป็นร้อยละ 7.3 ในปี พ.ศ. 2541 และส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานครั้งใหญ่ โดย Paulson and Townsend (2005) พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่ทำธุรกิจในชุดข้อมูล Townsend Thai Project เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 11 ในปี พ.ศ. 2540 เป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2541
Paulson and Townsend (2005) ได้ศึกษาผลของวิกฤตเศรษฐกิจต่อการตัดสินใจทำธุรกิจของครัวเรือน โดยในชุดข้อมูลแบ่งครัวเรือนที่ทำธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มตามช่วงเวลาที่เริ่มต้นทำธุรกิจ คือ กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และกลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจ1 โดย Paulson and Townsend (2005) พบว่า ระดับสินทรัพย์ของครัวเรือนไม่ส่งผลต่อโอกาสในการเริ่ม ทำธุรกิจในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตที่ระดับสินทรัพย์ของครัวเรือนช่วยเพิ่มโอกาสในการเริ่มทำธุรกิจ ผลดังกล่าวอาจสะท้อนว่า วิกฤตเศรษฐกิจช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของครัวเรือน แต่ Paulson and Townsend (2005) มองว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่เริ่มในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต แตกต่างจากธุรกิจที่เริ่มในช่วงก่อนเกิดวิกฤตอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของธุรกิจบ่อกุ้ง/บ่อปลาและร้านค้าซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48 ของธุรกิจที่เริ่มก่อนเกิดวิกฤต ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 13 ของธุรกิจที่เริ่มในช่วงวิกฤต และร้อยละ 14 ของธุรกิจที่เริ่มหลังวิกฤตตามลำดับ ในทางกลับกันสัดส่วนของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มจากร้อยละ 17 ในช่วงก่อนวิกฤต เป็นร้อยละ 47 ในช่วงวิกฤต ก่อนที่จะลดลงมาเหลือร้อยละ 25 ภายหลังวิกฤต นอกจากนี้ ระดับเงินลงทุนที่ใช้ในการเริ่มกิจการก็ลดลงเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยค่ามัธยฐานของระดับการลงทุนลดจาก 36,747 บาท ในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤต ลงมาเหลือ 1,350 บาทในช่วงวิกฤต (รายละเอียดในตารางที่ 1)
นอกจากนั้น Paulson and Townsend (2005) ยังพบว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ผลกำไรของธุรกิจที่เริ่มก่อนเกิดวิกฤต มีค่าสูงกว่าธุรกิจที่เริ่มในช่วงวิกฤตหรือหลังวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสะท้อนถึงระดับความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน โดย Paulson and Townsend (2005) เชื่อว่าจำนวนครัวเรือนที่ทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤตไม่ได้เป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของครัวเรือน แต่เป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ผลตอบแทนจากการเป็นลูกจ้างลดลง อันเนื่องมาจากค่าจ้างที่ลดลงหรือการถูกเลิกจ้าง จึงทำให้ครัวเรือนที่เคยเป็นลูกจ้างเปลี่ยนมาเริ่มทำธุรกิจมากขึ้น ถึงแม้ว่าความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการจะไม่สูงนัก
งานวิจัยที่นำเสนอในบทความนี้ ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนในประเทศไทยเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้บางครัวเรือนที่มีความสามารถสูงแต่มีสินทรัพย์ต่ำไม่สามารถรวบรวมทุนได้เพียงพอที่จะเริ่มทำธุรกิจ ผลการศึกษายังชี้ว่า ธุรกิจของครัวเรือนจำนวนมากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ครัวเรือนเหล่านี้กลับไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายกิจการได้ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการสนับสนุนครัวเรือนที่มีความสามารถสูงเหล่านี้ในการดำเนินกิจการนโยบายที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ หรือการร่วมลงทุน น่าจะมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังไม่ได้ช่วยให้คนบางกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2558. “รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558”
Evans, D. S. and B. Jovanovic (1989): “An Estimated Model of Entrepreneurial Choice under Liquidity Constraints,” Journal of Political Economy, 97(4): 808–827.
Paulson, A. L. and R. M. Townsend (2004): “Entrepreneurship and Financial Constraints in Thailand,” Journal of Corporate Finance, 10(2): 229–262.
Paulson, A. L. and R. M. Townsend (2005): “Financial Constraints and Entrepreneurships: Evidence from the Thai Financial Crisis,” Federal Reserve Bank of Chicago Economic Perspectives, 29(3): 34–48.
Pawasutipaisit, A. and R. M. Townsend (2011): “Wealth Accumulation and Factors Accounting for Success,” Journal of Econometrics, 161(1): 56–81.
- กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หมายถึง ครัวเรือนที่เริ่มทำธุรกิจระหว่างปี พ.ศ. 2535–2540 กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หมายถึง ครัวเรือนที่เริ่มทำธุรกิจในปี พ.ศ. 2541 และกลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หมายถึง ครัวเรือนที่เริ่มทำธุรกิจระหว่างปี พ.ศ. 2542–2544↩