Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/6be97177a73268132b563d0ceeb1678a/e9a79/cover.png
1 October 2018
20181538352000000

มองโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบทผ่านข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey

ความหลากหลายของครัวเรือนในชนบทไทย
Narapong SrivisalArchawa PaweenawatWasinee JantornFairus Abdul-loh
มองโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบทผ่านข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey
excerpt

บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบทจากข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey โดยข้อมูลสะท้อนความแตกต่างที่น่าสนใจหลายประการที่ไม่อาจเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี อาทิ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัดและไม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลาเหมือนที่พบจากข้อมูลรวมของทุกจังหวัด รูปแบบการเคลื่อนไหวประชากรในแต่ละช่วงปีที่มาจากวัยทำงาน ความแตกต่างขององค์ประกอบครัวเรือนแยกตามวัยและการกระจายตัวของระดับการศึกษาในแต่ละจังหวัด เป็นต้น

หากพิจารณาโครงสร้างประชากรไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยมีแนวโน้มของอัตราการเกิดที่ลดลงและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเพิ่มของประชากรไทยค่อนข้างต่ำ ดังข้อมูลทางสถิติจากสำนักการบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่แสดงไว้ในรูปที่ 1 ในบทความนี้ เราจะนำเสนอรูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของครัวเรือนไทยในชนบท จากฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลแบบซ้ำรายเดือนระดับครัวเรือนที่สร้างมาจากข้อมูล Townsend Thai Monthly Survey (TTMS) โดย TTMS เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Townsend Thai Project ที่ทำการเก็บข้อมูลครัวเรือนในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 25401

รูปที่ 1 อัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตของประชากรไทย

อัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตของประชากรไทย

ที่มา: สำนักการบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

เนื่องจาก TTMS เป็นการสำรวจซ้ำครัวเรือนเดิม เราจึงไม่อาจนำมาศึกษาเปรียบเทียบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากรในภาพรวมได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ข้อมูล TTMS ชี้ว่า ครัวเรือนมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยของขนาดครัวเรือนลดลงจากประมาณ 4.1 คนในปี พ.ศ. 2542 เป็นประมาณ 3.5 คน ณ สิ้นปี พ.ศ. 2555 ซึ่งแนวโน้มการลดลงนี้สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งทำการสำรวจทุกสิบปีและพบว่าครัวเรือนไทยมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 4.4, 3.8, และ 3.2 คน ในปี พ.ศ. 2533, 2543, และ 2553 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบตัวเลขจำนวนสมาชิกในครัวเรือนจะพบว่าข้อมูลจาก TTMS มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างของประชากร โดย TTMS เป็นการสำรวจครัวเรือนเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งต่างจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่รวมทั้งพื้นที่ชนบทและในตัวเมืองที่มักอาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว

รูปที่ 2 ขนาดของครัวเรือนในข้อมูล TTMS

ขนาดของครัวเรือนในข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูล TTMS เป็นรายเดือน ดังแสดงในรูปที่ 2 จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนาดของครัวเรือนในแต่ละช่วงของปี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของการสำรวจข้อมูล ที่ขนาดครัวเรือนมักเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี และเนื่องจาก TTMS ไม่ได้นับจำนวนสมาชิกตามทะเบียนบ้านแต่นับจากจำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่จริงมากกว่า 15 วันในแต่ละเดือน ข้อมูลนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการย้ายถิ่นฐานของประชากรไทยในชนบทได้ดี อนึ่งหากพิจารณาจำนวนสมาชิกของครัวเรือนโดยแยกตามช่วงวัย ดังแสดงในรูปที่ 3 จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดของครัวเรือนในแต่ละช่วงของปีมาจากประชากรในวัยทำงานเป็นหลัก ส่วนประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นบันไดเนื่องจากข้อมูล TTMS ไม่ได้ถามวันเกิด แต่ถามเพียงอายุของสมาชิกแต่ละคนตอนเริ่มต้นสัมภาษณ์หรือตอนเข้ามาเป็นสมาชิกครัวเรือนครั้งแรก ดังนั้นฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมจึงทำการปรับอายุของสมาชิกครัวเรือนแต่ละคนตอนเริ่มต้นปีปฏิทินใหม่ ซึ่งทำให้มีการปรับจำนวนสมาชิกครัวเรือนวัยเด็กเป็นวัยทำงานและวัยทำงานเป็นวัยสูงอายุเฉพาะตอนเริ่มต้นปีปฏิทิน อย่างไรก็ตาม รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการลดลงของประชากรวัยเด็กและแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักการบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดังแสดงในรูปที่ 1 ข้างต้น ที่พบว่าอัตราการเกิดลดลง และสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้สูงอายุของประชากรไทย2 และสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

รูปที่ 3 จำนวนสมาชิกของครัวเรือนแบ่งตามช่วงอายุจากข้อมูล TTMS

จำนวนสมาชิกของครัวเรือนแบ่งตามช่วงอายุจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

เมื่อพิจารณาข้อมูล TTMS โดยแยกรายจังหวัด (รูปที่ 4) จะพบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างไปจากรูปแบบที่เห็นในภาพรวม ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยครัวเรือนที่ TTMS ทำการสำรวจในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่มีอาชีพเพาะปลูก และมีการย้ายถิ่นของสมาชิกวัยแรงงานไปทำงานในเมืองช่วงนอกฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว จึงสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกครัวเรือนในลักษณะตามฤดูกาล (seasonal) ได้ค่อนข้างชัดกว่าครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งหลายครัวเรือนมีรายได้หลักจากการเลี้ยงกุ้งและปลา นอกจากนั้น ยังพบว่าแนวโน้มการลดลงของขนาดครัวเรือนในแต่ละจังหวัดยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

จำนวนสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทราลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและปลามีการย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพอื่นทดแทนรายได้ที่ลดลงจากเหตุการณ์ที่สหภาพยุโรปห้ามการนำเข้ากุ้งกุลาดำจากประเทศไทยตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2545 และเหตุการณ์แม่น้ำบางปะกงเน่าเสียในปีถัด ๆ มา อย่างไรก็ดี ขนาดครัวเรือนในจังหวัดฉะเชิงเทรากลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2551–2552 เนื่องจากการทำประมงในจังหวัดฉะเชิงเทราได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงหลังเมื่อเกษตรกรมีการปรับตัวโดยเปลี่ยนชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและจากการขยายธุรกิจประมงเชิงรุกของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในลักษณะเกษตรพันธสัญญา (contract farming) นอกจากนี้ ขนาดครัวเรือนในปีหลัง ๆ เริ่มมีแนวโน้มที่คงที่ และเมื่อเปรียบเทียบขนาดครัวเรือนเฉลี่ยของทั้งสี่จังหวัดยังพบว่าฉะเชิงเทรามีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าอีกสามจังหวัด ถึงแม้ว่าจังหวัดฉะเชิงเทราจะอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ใกล้เขตพื้นที่อุตสาหกรรมและมีความเป็นเมืองมากกว่าอีกสามจังหวัดที่เหลือ

รูปที่ 4 ขนาดของครัวเรือนโดยแยกรายจังหวัดจากข้อมูล TTMS

ขนาดของครัวเรือนโดยแยกรายจังหวัดจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

จากรูปที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงขนาดครัวเรือนของทั้งสี่จังหวัดยังพบความแตกต่างที่น่าสนใจอีกหลายประการ เช่น ความผันผวนของขนาดครัวเรือนในจังหวัดบุรีรัมย์ที่สูงกว่าจังหวัดอื่นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของการสำรวจข้อมูล การขยายขนาดครัวเรือนในจังหวัดบุรีรัมย์ในระยะสั้น (ช่วงปี พ.ศ. 2549–2551) การที่ครัวเรือนในจังหวัดลพบุรีที่มีขนาดครัวเรือนค่อนข้างคงที่ในช่วงแรกของการสำรวจข้อมูลและมีแนวโน้มลดลงที่ช้ากว่าจังหวัดอื่น ๆ และการเพิ่มขึ้นชั่วคราวของจำนวนสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดศรีสะเกษอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2550 และ 2551 เป็นต้น อนึ่ง หากพิจารณาการเปรียบเทียบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงขนาดครัวเรือนของทั้งสี่จังหวัดแยกตามช่วงอายุดังรูปที่ 5 ยังสามารถสรุปได้เหมือนในภาพรวมของข้อมูลรวมสี่จังหวัดว่า การเคลื่อนไหวของประชากรในแต่ละช่วงของปีมาจากประชากรในวัยทำงานเป็นหลัก แต่ประเด็นน่าสนใจที่เพิ่มเติมคือจำนวนสมาชิกในวัยเด็กโดยเฉลี่ยของจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสองจังหวัดมีค่ามากกว่าในจังหวัดฉะเชิงเทราและลพบุรี นอกจากนั้นยังพบว่าจำนวนสมาชิกวัยสูงอายุโดยเฉลี่ยของจังหวัดฉะเชิงเทราเริ่มมากกว่าจำนวนสมาชิกวัยเด็กมาเป็นระยะเวลาเกินสิบปี ในขณะที่รูปแบบดังกล่าวเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในสามจังหวัดที่เหลือ ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ หรือเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์หรือนโยบายของภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของข้อมูลระดับจุลภาคที่สะท้อนถึงความแตกต่างที่น่าสนใจที่ไม่อาจเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี

รูปที่ 5 จำนวนสมาชิกครัวเรือนแยกตามช่วงวัยของแต่ละจังหวัดจากข้อมูล TTMS

จำนวนสมาชิกครัวเรือนแยกตามช่วงวัยของแต่ละจังหวัดจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

หัวหน้าครัวเรือนในข้อมูล TTMS มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในทั้งสี่จังหวัดที่ทำการสำรวจ ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยแนวโน้มดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่ครัวเรือนในฐานข้อมูลมีการเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนไม่บ่อยครั้งในช่วงที่ทำการสำรวจ นอกจากนั้น ยังพบว่าหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และเมื่อพิจารณาโดยแยกรายจังหวัด ดังแสดงในรูปที่ 7 จะพบว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีอัตราส่วนหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายน้อยที่สุดในสี่จังหวัด โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการสำรวจข้อมูล จังหวัดฉะเชิงเทรามีหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่จังหวัดบุรีรัมย์และศรีสะเกษมีหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นเพศชายเกือบร้อยละ 80 และจังหวัดลพบุรีมีอัตราส่วนดังกล่าวเกินร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นเพศชายต่อครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นเพศหญิงลดลงเรื่อย ๆ ในทุกจังหวัด เนื่องจากสาเหตุของการเปลี่ยนหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นเพราะหัวหน้าครัวเรือนเดิมที่เป็นเพศชายเสียชีวิตหรือย้ายไปทำงานต่างพื้นที่และภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนเดิมรับภาระการเป็นหัวหน้าครัวเรือนต่อจากสามี

รูปที่ 6 อายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนแยกตามจังหวัดจากข้อมูล TTMS

อายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนแยกตามจังหวัดจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน
รูปที่ 7 สัดส่วนของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเพศชายและเพศหญิงแยกตามจังหวัดจากข้อมูล TTMS

สัดส่วนของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเพศชายและเพศหญิงแยกตามจังหวัดจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับครัวเรือนในข้อมูล TTMS คือระดับการศึกษา โดยวัดจากจำนวนปีการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ส่วนการศึกษาในระดับอนุบาล 1, อนุบาล 2, และอนุบาล 3 จะนับเป็น 0.1, 0.2, และ 0.3 ปีตามลำดับ โดยหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนแล้วจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ทำการสำรวจ เนื่องจากครัวเรือนที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าครัวเรือนมีจำนวนไม่มากนัก และหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่หยุดการศึกษาและเข้าสู่วัยทำงานแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มทำการสำรวจข้อมูล ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่พบจากข้อมูล TTMS นี้ คือ หัวหน้าครัวเรือนซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลักในการบริหารจัดการภายในครัวเรือนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาน้อย โดยมากกว่าสองในสามของครัวเรือนทั้งหมดในฐานข้อมูลนี้ได้รับการศึกษาเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 และมีหลายครัวเรือนโดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ที่หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้รับการศึกษาเลย ดังแสดงในรูปที่ 8

รูปที่ 8 จำนวนปีการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนจากข้อมูล TTMS

จำนวนปีการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

อย่างไรก็ตาม หลายครัวเรือนในชนบทไทยเคารพความอาวุโส ดังนั้นหัวหน้าครัวเรือนมักเป็นผู้ที่อาวุโสในบ้านที่ยังแข็งแรง ทำงานได้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เกิดและเติบโตในช่วงเวลาที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่พัฒนาอย่างในปัจจุบัน ประชาชนส่วนมากโดยเฉพาะในชนบทไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการได้ง่ายนักและประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการศึกษาขั้นต่ำของประชาชน เพราะฉะนั้น การพิจารณาจำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกในครัวเรือนอาจจะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับการศึกษาที่ประชาชนไทยได้รับได้ดีกว่าระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน

รูปที่ 9 แสดงจำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือน ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2542 เทียบกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 โดยจะพบว่า จำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือนในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษส่วนมากกระจายตัวอยู่ในช่วง 4–12 ปี ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในขณะที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีจำนวนครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าอีกสามจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่พบจากรูปที่ 9 คือ มีหลายครัวเรือนในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่มีการศึกษาสูงสุด 7, 8, 10, และ 11 ปี ซึ่งหมายถึงการยุติการศึกษาในระหว่างทาง ไม่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (9 ปี) หรือหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (12 ปี) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปี พ.ศ. 2542 กับปี พ.ศ. 2555 ยังพบการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 ในจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งอาจเป็นเพราะการย้ายถิ่น (migration) ของสมาชิกวัยทำงานที่มีการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษาปีที่ 4 ไปทำงานในพื้นที่อื่น เหลือเพียงสมาชิกวัยสูงอายุหรือเด็กอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดิม

รูปที่ 9 จำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือนจากข้อมูล TTMS

จำนวนปีการศึกษาสูงสุดของสมาชิกครัวเรือนจากข้อมูล TTMS

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

บทสรุป

บทความนี้นำเสนอข้อเท็จจริงและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของครัวเรือนในชนบทไทยที่ได้จากข้อมูล TTMS เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโจทย์วิจัยหรือแนวนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลระดับจุลภาค ดังเช่นข้อมูล TTMS เนื่องจากครัวเรือนไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา ซึ่งไม่สามารถเห็นได้จากข้อมูลระดับมหภาคหรือข้อมูลรายปี ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของครัวเรือนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและนโยบายหรือข้อสรุปหนึ่ง ๆ อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่มครัวเรือน

note

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลเพื่อการวิจัยสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เอกสารอ้างอิง

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ วีระชาติ กิเลนทอง (2558) “ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data” PIER aBRIDGEd Issue 14/2015.

นราพงศ์ ศรีวิศาล, อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ, อาชว์ ปวีณวัฒน์ และ สุธีรา พงศ์เทพูปถัมภ์. 2559. ฐานข้อมูลบัญชีครัวเรือนเพื่อการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย RDG5940003.


  1. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ วีระชาติ กิเลนทอง (2558) นำเสนอที่มาและข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ Townsend Thai Project↩
  2. ดัชนีผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2548–2578 จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล↩
Narapong Srivisal
Narapong Srivisal
Chulalongkorn Business School
Archawa Paweenawat
Archawa Paweenawat
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Wasinee Jantorn
Wasinee Jantorn
University of the Thai Chamber of Commerce
Fairus Abdul-loh
Fairus Abdul-loh
University of the Thai Chamber of Commerce
Topics: Labor and Demographic EconomicsDevelopment Economics
Tags: micro survey datathai rural householdtownsend thai project
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email