Digital technology กับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
excerpt
บทความนี้ศึกษาโอกาสและความท้าทายของการนำ digital technology เข้ามาช่วยเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย โดยการสังเคราะห์ศักยภาพและกลไกการเติบโตของ digital technology สำหรับภาคเกษตรในต่างประเทศ และศึกษาพัฒนาการของ digital technology ในภาคเกษตรไทย ทั้งจากการประมวลและทดสอบแอปพลิเคชันเกษตรทั้งหมดบนมือถือ จากการศึกษากลไกการพัฒนาของ agritech startup ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเหล่านี้ และจากการทำวิจัยภาคสนามกับเกษตรกร
ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรส่วนใหญ่ของเรา Attavanich et al. (2019) แสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และกว่าครึ่งของครัวเรือนเกษตรมีแรงงานสูงวัย ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่ของเราเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมักทำให้ขาดการประหยัดจากขนาด (economies of scale) ในการเข้าถึงทรัพยากร เทคโนโลยี และขาดอำนาจต่อรองในระบบตลาดที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว และการส่งผ่านนโยบายส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐก็อาจยังไม่มีประสิทธิภาพและแพร่หลายนัก ซึ่งผลจากความท้าทายข้างต้นเมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของเรายังคงมีผลิตภาพและกำไรสุทธิจากการทำเกษตรต่ำ และยังคงต้องพึ่งพิงภาครัฐ
งานวิจัยหลายชิ้นและประสบการณ์จากหลายประเทศได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรได้ การส่งเสริมให้เกษตรกรกรนำข้อมูล องค์ความรู้ไปใช้ในการตัดสินใจในการเพาะปลูก การใช้ปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ที่มีคุณภาพสูง การใช้นวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ จะสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพผลผลิตต่อแรงงานและต่อพื้นที่ที่มีจำกัดได้ นอกจากนี้ ข้อมูลและเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงและเข้าใจตลาด ก็สามารถเพิ่มช่องทางในการขายผลิตผลเกษตร และเพิ่มอำนาจต่อรองราคาให้แก่เกษตรกรได้ เป็นต้น
แต่เหตุใดเกษตรกรของเรายังคงไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกันอย่างกว้างขวาง? คำถามนี้อาจสะท้อนสองประเด็นความท้าทายทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์
ประเด็นแรก เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันเหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละรายมากน้อยเพียงใด? การศึกษาภาคเกษตรโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีทั้งความละเอียดและครอบคลุมทั่วประเทศของ Attavanich et al. (2019) ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำเกษตรของไทยมีความแตกต่างกันมากทั้งในมิติของพื้นที่ พืชที่ปลูก สภาพภูมิอากาศ และลักษณะของครัวเรือนและตัวเกษตรกรเอง ดังนั้นพืชและวิธีการทำการเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่หนึ่งจึงอาจไม่เหมาะสมในต่างพื้นที่ เช่นเดียวกับข้อมูลราคากลางของผลผลิตในระดับจังหวัด ก็อาจจะไม่มีประโยชน์กับเกษตรกรในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและไม่สามารถไปขายในแหล่งรับซื้อกลางนั้น ๆ ได้ เป็นต้น นั่นก็หมายถึงว่าหากเรานำเทคโนโลยีหรือการส่งเสริมการเกษตรวิธีการเดียวกันไปใช้ทั่วประเทศ ก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของเกษตรกรบางกลุ่ม
ประเด็นที่สอง กระบวนการถ่ายทอดและส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรแต่ละรายในปัจจุบันมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่? ในเมื่อเทคโนโลยีมีต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงโดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย ประกอบกับความแตกต่างของปัจจัยจากตัวเกษตรกรเอง ไม่ว่าจะเป็นความสูงวัย ความสามารถในการเรียนรู้ แรงจูงใจ และความโน้มเอียงทางพฤติกรรม (behavioral bias) ซึ่งในงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแสดงให้เห็นว่ามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนและหันมาใช้เทคโนโลยีของเกษตรกร ดังนั้นการส่งผ่านเทคโนโลยีโดยมองข้ามปัจจัยเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้อย่างแพร่หลาย
บทความนี้ศึกษาศักยภาพของ digital technology ในการปลดล็อคสองประเด็นท้าทายข้างต้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มความสามารถของภาคเกษตรไทย โดยเราพบว่า
Digital technology อาจสามารถช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีเหมาะสมกับเกษตรกรมากขึ้น การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้เราสามารถสร้าง เก็บ เชื่อมโยงและประมวลข้อมูลที่ละเอียดระดับแปลงและเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง ประกอบกับการพัฒนาของเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล จะทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการของเกษตรกรแต่ละราย และช่วยในการเลือกใช้เทคโนโลยีและออกแบบแนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เจาะจง (personalized) ต่อเกษตรกรแต่ละรายได้
Digital technology ยังอาจสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกร โดยการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันในการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ และสามารถสื่อสารแบบสองทางกับเกษตรกรโดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรถามหรือให้ข้อมูลตอบกลับได้ ตลอดถึงสามารถใช้สื่อที่หลากหลายที่ทั้งช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ เช่น ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่เข้าใจง่ายและผ่านช่องทาง social media ที่เกษตรกรใช้งานเป็นอยู่แล้ว และช่วยดึงดูดและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้ เช่น การถ่ายทอดในรูปแบบเกม (gamification) นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสามารถใช้ช่วยส่งเสริมการแบ่งปันทางเศรษฐศาสตร์ หรือ sharing economy ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นที่กลางให้ผู้เช่าและผู้ให้เช่าในตลาดเช่าเครื่องจักรกลมาเจอกัน ซึ่งก็สามารถลดต้นทุนในการเข้าถึงเครื่องจักรกลสมัยใหม่ให้เกษตรกรรายย่อยได้ เป็นต้น
ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้ digital technology ในภาคเกษตรกันอย่างแพร่หลาย ส่วนในวงการวิชาการเอง นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาในต่างประเทศต่างเริ่มหันมาสนใจศึกษาและทดลองนำ digital technology ไปช่วยส่งผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรรายย่อย โดยยึดหลักคิด Netflix for agriculture ของนักเศรษฐศาสตร์พัฒนา Michael Kremer ที่มองการใช้ digital technology ในภาคเกษตรเหมือนกับแพลตฟอร์มให้บริการภาพยนตร์ Netflix ที่นำข้อมูลและพฤติกรรมการที่ผู้ใช้ใส่เข้าไปมาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มทั้งความแม่นยำในการให้บริการ และดึงดูดให้เข้ามาใช้มากขึ้น ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากขึ้นเท่านั้น
ในภาคเกษตร digital technology จึงมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นทั้งผู้ใช้และผู้มีส่วนร่วมในการสร้างข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ไม่เพียงแต่กับตัวเกษตรกรเอง แต่กับเกษตรกรคนอื่น ๆ ด้วย และสามารถขยายวงกว้างต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทั้งมีคุณภาพและเหมาะสมกับเกษตรกรในวงกว้างอย่างแท้จริงได้
Digital technology 6 ประเภทหลักที่มีศักยภาพในการช่วยยกระดับการทำเกษตรได้ คือ
เทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลระยะใกล้จาก sensor ที่วัดสภาพดินและค่าต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูก การเก็บข้อมูลระยะกลางจากกล้องที่ติดกับโดรน และการเก็บข้อมูลระยะไกลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่สามารถนำมาใช้ระบุสภาพพื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืช สถานะการเจริญเติบโต และปัญหาต่าง ๆ ได้าละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร
ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data ที่สามารถสะท้อนรายละเอียดของสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการทำเกษตรในระดับแปลงและเกษตรกรทั้งในปัจจุบันและย้อนหลังไปในอดีตในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันของเกษตรกรได้
Internet of Things (IoT) ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของเครื่องวัดและอุปกรณ์ทำการเกษตรต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถสั่งงานการทำกิจกรรมการเกษตร เช่น รดน้ำและใส่ปุ๋ยตามเวลาและปริมาณที่กำหนดอย่างแม่นยำโดยไม่ต้องใช้คน และสามารถติดตามสภาวะและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูกได้อย่างรวดเร็ว
Mobile technology ที่ช่วยเชื่อมต่อเกษตรกรเข้ากับตลาด ผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้บริโภค เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และช่วยให้เกษตรกรสามารถช่วยสร้างและเข้าถึงข้อมูลและความรู้ เช่น ราคา พยากรณ์อากาศ และวิธีการแก้ปัญหาโรคพืช ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง
การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีทาง data analytics อย่าง machine learning และ artificial intelligence (AI) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกับ big data ในมิติต่าง ๆ จะสามารถช่วยหาแนวทางในการทำการเกษตรที่เหมาะสม แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อพื้นที่และเกษตรกรนั้น ๆ หรือ precision farming
แพลตฟอร์ม ที่จะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ให้บริการไปยังเกษตรกรผู้ใช้งาน และเชื่อมต่อผู้ใช้งานแต่ละประเภทเข้าด้วยกัน เช่น เกษตรกรกับผู้ซื้อผลผลิต ผู้ขายหรือให้เช่าปัจจัยการผลิต ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร หรือกับเกษตรกรด้วยกัน ซึ่งสามารถส่งเสริม sharing economy ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทั้ง internet และ mobile technology
ประสบการณ์จากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า digital technology สามารถช่วยปลดล็อคปัญหาของเกษตรกรรายย่อยได้ใน 4 มิติหลัก คือ
จากเดิมที่ข้อมูลและการส่งเสริมการเกษตรมักเป็นแบบ one size fit all และไม่ค่อยมีประโยชน์กับเกษตรกร ในปัจจุบันเกษตรกรสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการเพาะปลูก การตลาดและบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์ม และ mobile technology มาช่วยในการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคนิคการเพาะปลูกและวิธีการแก้ปัญหาได้ง่าย ต้นทุนต่ำและรวดเร็ว และสามารถทำเกษตรแม่นยำ หรือ precision farming โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลแปลงที่เก็บด้วย sensor ต่าง ๆ ร่วมกับ big data และแบบจำลองคาดการณ์ผลผลิตที่วิเคราะห์ได้ละเอียดในระดับรายแปลงเพาะปลูก (Aker and Mbiti, 2010; Overa, 2006)
Farmers Business Network (FBN) เป็นตัวอย่างของบริษัทเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายข้อมูลทางการเกษตรออนไลน์และใช้กันแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย FBN จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลูกทั้งหมดรายแปลงจากเกษตรกรสมาชิก นำมาปกปิดตัวตน แล้ววิเคราะห์ด้วยวิธีการทาง data science เพื่อให้ข้อมูลกลับแก่สมาชิกในรูปแบบผลการวิเคราะห์เชิงลึกที่ personalized กับเกษตรกรแต่ละราย เช่น เกษตรกรสามารถเปรียบเทียบผลิตภาพของตัวเองกับเกษตรกรอื่นที่ปลูกพืชชนิดเดียวกัน เพื่อนำมาปรับปรุงการเลือกเมล็ดพันธุ์ การเลือกซื้อปัจจัยการผลิต และการเลือกช่วงเวลาการเพาะปลูกตามสภาพอากาศให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดได้ และสามารถดูการเก็บเกี่ยวที่เกิดขึ้นจริงได้แบบ real time เพื่อจะได้วางแผนการเก็บเกี่ยวของตัวเองไม่ให้มีผลิตผลที่เหมือนกันออกมาพร้อมกันจนได้ราคาไม่ดีหรือขายไม่ได้ ในประเทศกำลังพัฒนา โครงการ Precision Agriculture for Development พบว่าการให้ความรู้ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรในอินเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นปีละ 100 เหรียญสหรัฐ และมี benefit-cost ratio อยู่ที่ 10 เท่า (Cole and Fernando, 2016)
จากเดิมที่การเข้าถึงเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงโดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อย ในปัจจุบันระบบแพลตฟอร์มได้ถูกนำมาช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์จาก economies of scale โดยการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทำนองเดียวกับ Airbnb และ Uber โดยการจับคู่เกษตรกรที่มีรถแทรกเตอร์หรือโดรนให้เช่า กับเกษตรกรผู้อยากเช่าเครื่องจักรกลเหล่านี้ สร้างระบบตลาดเช่าที่สมบูรณ์ หรือสามารถช่วยให้เกิดการระดมทุนซื้อเทคโนโลยีที่มีราคาสูงได้ด้วยวิธีการ crowdsourcing
Farmsurge เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มเช่าเครื่องจักรกลทางการเกษตรในต่างประเทศ ซึ่งเปิดให้เกษตรกรนำอุปกรณ์การเกษตรของตัวเองมาให้เช่าเพื่อเพิ่มรายได้ และให้เกษตรกรที่ต้องการเครื่องจักรกลสามารถเช่าจากเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงได้ โดยมีการแสดงข้อมูลจุดพิกัดของเกษตรกรและผู้ให้บริการประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่ และเปิดให้เกษตรกรให้คะแนนและความเห็นแก่บริการที่ได้ใช้ไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานคนอื่นในการเปรียบเทียบข้อมูล
จากเดิมที่เกษตรกรอาจยังไม่ได้ประโยชน์จากระบบตลาดมากนักเนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานยาว ช่องทางการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตมีจำกัดและผูกขาดกับคนกลางไม่กี่ราย ในปัจจุบันแพลตฟอร์ม e-commerce สามารถเข้ามาช่วยเชื่อมต่อเกษตรกรรายย่อยเข้ากับผู้ขายปัจจัยการผลิตและผู้บริโภคโดยตรงแบบไม่ต้องตัดตอนผ่านพ่อค้าคนกลาง และยังช่วยเปิดตลาดใหม่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงฐานผู้บริโภคในวงกว้างอย่างไม่จำกัดพรมแดน ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร (Donovan, 2017; Urquieta and Alwang, 2012)
ตลาดสินค้าเกษตรเสมือนจริง (virtual marketplace) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จสองอัน คือ Esoko ในแอฟริกาและ Maano ในประเทศแซมเบีย ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับตลาดและราคาผลผลิตทางการเกษตรจากแต่ละแหล่งรับซื้อแบบ real time และให้เกษตรกรขายสินค้าได้โดยตรงกับผู้บริโภค ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการที่เกษตรกรจำเป็นต้องขายผลผลิตในตลาดท้องถิ่นและถูกกดราคา และช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้และได้รับเงินตรงเวลา ผลจากการทดลองใช้ในปี 2560 พบว่า Maano ได้ช่วยเกษตรกรขายผลผลิตไปแล้วมากกว่า 150 ตันคิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ (World Food Programme, 2018) ส่วน Esoko มีราคาของสินค้ากว่า 800,000 รายการจากตลาดกว่า 500 แห่งใน 10 ประเทศ และเกษตรกรรายงานว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20–40 จากการใช้งาน (Syngenta Foundation, 2011; World Bank, 2017) นอกจากนี้แพลตฟอร์ม e-commerce อย่าง Shopee หรือ Lazada ก็เป็นช่องทางสำคัญให้เกษตรกรบ้านเราขายสินค้าเกษตรต่าง ๆ เช่น ทุเรียน ไปต่างประเทศ เป็นต้น
เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาอาจยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น เช่น สินเชื่อหรือประกันภัยพืชผล เนื่องจากสองปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ คือ information asymmetry โดยผู้ให้บริการทางการเงินไม่มีข้อมูลความเสี่ยงที่แท้จริงของเกษตรกรจึงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ หรือจำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อที่ดอกเบี้ยสูงและขายประกันภัยในราคาสูงเพื่อป้องกันปัญหา adverse selection และ moral hazard ปัญหาที่สองคือ transaction cost ของการใช้บริการทางการเงินที่สูง เพราะอยู่ห่างไกล เป็นต้น
Digital technology อย่างข้อมูลที่เก็บจาก sensor และภาพถ่ายดาวเทียม ประกอบกับ big data อื่น ๆ และ digital footprint ที่ได้จากการใช้แพลตฟอร์มจะสามารถช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถประเมินความเสี่ยงของเกษตรกร และติดตามพฤติกรรมการทำเกษตรของเกษตรกรได้ และสามารถให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมและทั่วถึงขึ้น นอกจากนี้การทำธุรกรรมทางการเงินอิเล็คทรอนิคยังช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงบริการทางการเงินอีกด้วย
โครงการ Kilimo Salama1 ซึ่งเริ่มต้นในประเทศเคนยา เป็นผลิตภัณฑ์ประกันต้นทุนการผลิตจากภัยธรรมชาติที่เกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อประกันและรับโอนค่าสินไหมทดแทนได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงประกัน และเพิ่มความมั่นคงทางรายได้จากการลดความเสียหายจากภัยต่าง ๆ ผลการสำรวจในปี 2555 พบว่าโครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีเงินเหลือที่จะลงทุนในไร่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และบริษัท Ricult ในประเทศปากีสถานได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม big data และพฤติกรรมของเกษตรกรที่ได้จากการใช้งานบนแพลตฟอร์มไปวิเคราะห์หาความเสี่ยงทางการเงินของเกษตรกร (alternative credit scoring) ซึ่งช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรที่เดิมไม่มีข้อมูลได้
กลไกการขยายตัวของ digital technology ในภาคเกษตรมีความต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยเราพบว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ให้บริการ digital technology สำหรับภาคเกษตรจะเป็นภาคเอกชน ซึ่งส่วนน้อยจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในภาคเกษตรอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะเป็น agritech startup ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผู้ให้บริการจำนวนมากจากการลงทุนของภาคเอกชนและธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital) ที่มองเห็นโอกาสของผลตอบแทนจากภาคเกษตรที่ยังไม่ถูก digital disruption มากนัก รูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่มักทำครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต และมีผู้ใช้บริการเป็นเกษตรกรรายใหญ่ เช่น FBN ที่เริ่มต้นจากการเป็น startup และใช้เงินทุนจากนักลงทุนเอกชน เช่น GV (Google Ventures เดิม) และ Temasek Holdings โดย FBN ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่คำแนะนำด้านการเพาะปลูก คำแนะนำด้านการตลาด ไปจนถึงบริการสินเชื่อเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต และประกันภัยพืชผล
ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนา การนำ digital technology มาใช้กับเกษตรกรมักริเริ่มมาจากภาครัฐหรือองค์กรด้านการพัฒนา โดยมุ่งเน้นไปที่เกษตรกรรายย่อย และให้บริการหรือผลิตภัณฑ์จำเพาะด้าน เช่น โครงการ Precision Agriculture for Development (PAD) ที่ให้บริการความรู้และคำแนะนำทางการเกษตรแก่เกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย เคนยา และปากีสถาน PAD เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งโดยนักวิชาการและนักวิจัยด้านการเกษตร และดำเนินการโดยใช้เงินบริจาคและการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรในประเทศที่นำผลิตภัณฑ์ออกใช้ เป็นต้น
ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังมีผู้ให้บริการแบบ agritech startup ไม่มากนัก และโตยาก เพราะลูกค้าเป็นเกษตรกรรายย่อย และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทำธุรกิจอย่างครบวงจรจนมีผลกำไร เราจึงพบว่าส่วนใหญ่จึงดำเนินกิจการแบบกิจการเพื่อสังคมที่ยังต้องพึ่งพิงเงินสนับสนุนจากภายนอก
ในประเทศกำลังพัฒนาที่มี agritech startup เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมักเป็นประเทศที่ภาครัฐส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงฐานเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่มาร่วมแข่งด้วย ประเทศจีนและอินเดียเป็นอย่างน้อยสองประเทศที่เราพบว่ามี agritech startup เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาเกือบจะทัดเทียมหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นเกษตรกรรายย่อย กลไกการขยายตัวของ startup ไปสู่เกษตรกรในวงกว้างในประเทศเหล่านี้ยังเกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐที่เปิดโอกาสให้ startup เข้ามาแข่งกันช่วยภาครัฐให้บริการต่าง ๆ กับเกษตรกรฐานใหญ่ของประเทศ เช่นในประเทศอินเดีย กระทรวงเกษตรได้ให้ startup แข่งขันกันและเลือกอย่างน้อย 4 แห่งเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลการผลิตรายแปลงของเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม โดรน และการถ่ายรูปจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ startup เหล่านี้จะได้ฐานลูกค้า และข้อมูลสำคัญไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่หลากหลายและเหมาะสมกับเกษตรกร ซึ่งผลสุดท้ายประโยชน์ก็ตกอยู่ที่เกษตรกร
สำหรับประเทศไทย เราเห็นความตื่นตัวทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนา digital technology เพื่อภาคเกษตรไทย ดังที่เห็นได้ชัดจากตลาดแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่ให้บริการไม่ครบวงจร คุณภาพไม่ดีนัก และยังมีผู้ใช้งานน้อย จากการสืบค้นแอปพลิเคชันใน Play store ด้วยคำค้นว่า “เกษตร” พบว่ามีแอปพลิเคชันของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งหมด 61 แอปพลิเคชัน (ณ พฤษภาคม 2562) แบ่งออกเป็นจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 37 แอปพลิเคชัน และจากเอกชน 24 แอปพลิเคชัน โดยส่วนใหญ่เน้นการให้บริการเฉพาะด้านการส่งเสริมการทำเกษตรกรรม การให้ความรู้ และการให้ข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่แอปพลิเคชันด้านการตลาด การแบ่งปันทรัพยากร และการเงินยังน้อยมาก อีกทั้งไม่มีแอปพลิเคชันใดเลยที่ให้บริการครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (รูปที่ 2)
เมื่อนำแอปพลิเคชันทั้งหมดมาทดสอบการใช้งานจริง เราพบว่าคุณภาพและคุณประโยชน์แตกต่างกันอย่างมาก แอปพลิเคชันที่ดีครบส่วนใหญ่เป็นของเอกชน โดยเราพิจารณาจากเกณฑ์ 5 ด้าน คือ
- แอปพลิเคชันเปิดใช้งานได้หรือไม่ (usability)
- คุณภาพการทำงานและความรวดเร็ว (software)
- การออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย (user interface: UI และ user experience: UX)
- ประโยชน์ต่อเกษตรกร (usefulness) และ
- การบำรุงรักษาและปรับปรุงข้อมูล (maintenance)
จากการทดสอบกับโทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ ที่เกษตรกรนิยมใช้ เราพบว่ามีที่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้เลยถึงเกือบ 1 ใน 5 และมีแอปพลิเคชันที่ได้คะแนนเต็มในทุกด้านเพียง 4 แอปพลิเคชันเท่านั้น โดย 3 จาก 4 เป็นของเอกชน (รูปที่ 3)
โดยถึงแม้จะมีแอปพลิเคชันเกษตรจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มีผู้ดาวน์โหลดไปใช้จริงน้อยมาก ยกเว้นแอปพลิเคชันจากภาครัฐหรือองค์กรขนาดใหญ่ และการใช้งานกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่แอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูง (รูปที่ 4 และ 5) แอปพลิเคชันที่มีจำนวนดาวน์โหลดสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ BAAC A-Mobile ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) Farmbook ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ Farmer Info ของ Dtac ผลการศึกษาข้างต้นอาจสะท้อนถึงกลไกการถ่ายทอดอาจยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ? หรือเทคโนโลยีที่มียังคงไม่มีคุณภาพ ยังไม่มีประโยชน์กับเกษตรกร? หรืออุปสงค์ของ digital technology เพื่อการเกษตรไทยยังเติบโตไม่ทันฝั่งอุปทานจริง ๆ?
เกษตรกรค่อนข้างมีความพร้อมในการใช้ digital technology ซึ่งสะท้อนจากการใช้ smartphone และแอปพลิเคชันยอดฮิต แต่ไม่ค่อยรู้จักแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร Chantarat et al. (2019) ได้สำรวจเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดปทุมธานีและกาฬสินธุ์จำนวน 313 ราย ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งขนาดพื้นที่เกษตร รูปแบบการทำเกษตร อายุ และเพศ และพบว่าเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64 มี smartphone และใช้แอปพลิเคชัน แต่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารและติดตามเครือข่ายสังคมมากกว่าเพื่อการทำเกษตร (รูปที่ 6) โดยแอปพลิเคชันที่เกษตรกรใช้มากที่สุด ได้แก่ LINE Facebook และ YouTube คิดเป็นร้อยละ 55 48 และ 40 ตามลำดับ มีเกษตรกรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้จักและใช้แอปพลิเคชันเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร
ผลจากการลงพื้นที่ทำ focus group discussion กับกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่านจำนวนกว่า 40 ราย เกี่ยวกับการใช้ mobile technology ก็สามารถนำมาสนับสนุนผลข้างต้นเป็นอย่างดี โดยเราพบว่า เกษตรกรเกือบทุกรายที่มีสมาร์ทโฟนจะใช้ LINE เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร ส่งต่อข้อมูล และกระจายข่าว ทั้งระหว่างเพื่อนเกษตรกร กับหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าชุมชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกษตร ทักษะการใช้งาน LINE ของเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีแม้จะมีอายุมาก เกษตรกรมีการลงรูปการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกใน Facebook ให้เพื่อนดู และเรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกใหม่ ๆ และค้นคว้าข้อมูลเวลามีปัญหาด้านการเกษตรโดยใช้ YouTube สิ่งที่น่าสนใจคือเกษตรกรทั้งในและนอกเขตเมืองมีการถ่ายรูปภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง แล้วส่งเข้า LINE group เพื่อแจ้งข่าวและแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบได้ทันที แอปพลิเคชันที่เกษตรกรนิยมใช้รองลงมาคือ Shopee และ Lazada
ผลที่พบแสดงให้เห็นทั้งความพร้อมของเกษตรกรเราในการใช้ digital technology และการเปิดใจใช้งานโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เห็นว่ามีประโยชน์และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างความตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีสำหรับการทำเกษตรไปสู่เกษตรกรอย่างแพร่หลายยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ
และในบางเทคโนโลยี การสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมลำเอียงต่าง ๆ ของเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน ก็มีความจำเป็น Chantarat et al. (2019) ยังพบอีกว่า เกินกว่าครึ่งระบุว่ารู้จักโดรนและภาพถ่ายดาวเทียม แต่มีบางส่วนที่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของเทคโนโลยีภาพถ่ายทางไกลในการช่วยการทำเกษตร (รูปที่ 7) โดยมีเกษตรกรร้อยละ 15 และ 14 ที่รู้จักแต่ไม่เชื่อมั่นในความสามารถของโดรนและภาพถ่ายดาวเทียม อีกอย่างที่น่าสนใจคือเกษตรกรรู้จักและเชื่อมั่นในความสามารถของโดรนซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและจับต้องได้มากกว่าภาพถ่ายดาวเทียมที่เกษตรบางรายไม่เคยเห็น ผลที่พบแสดงให้เห็นว่า การสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมลำเอียงต่าง ๆ ของเกษตรกรก็เป็นความท้าทายสำคัญ
ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการใช้ digital technology ของเกษตรกร จาก focus group กับเกษตรกรในจังหวัดน่าน เราพบว่า สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตยังมีความเร็วต่ำ ไม่เสถียร และไม่มีสัญญาณโดยเฉพาะในแปลงเกษตรซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชุมชน ซึ่งเป็นที่ที่เกษตรกรน่าจะใช้ประโยชน์จาก digital technology ในการทำเกษตร นอกจากนี้เรายังพบว่า เกษตรกรสูงวัยก็มีปัญหาในการใช้ mobile technology ด้วย
เกษตรกรต้องการ digital technology ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ และเหมาะสมกับการทำเกษตรของตนเอง เมื่อสอบถามข้อมูลที่เกษตรกรในจังหวัดน่านอยากได้เพิ่มเติมจากการใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน พบว่าเกษตรกรต้องการข้อมูลและคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงต่อพื้นที่และการเพาะปลูกของตน เช่น พยากรณ์อากาศที่ละเอียดในระดับหมู่บ้าน ข้อมูลผลผลิตของเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มูลค่าเพิ่มเหนือไปกว่าข้อมูลที่สามารถหาได้ทั่วไป เช่น การเปรียบเทียบราคาระหว่างแต่ละตลาด การคาดการณ์ราคาในอนาคต และเครื่องคำนวณส่วนผสมปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืชที่ปลูก เป็นต้น
โดยสรุป ผลจากการศึกษาทั้งฝั่งอุปทานและอุปสงค์ของ digital technology สำหรับภาคเกษตรไทย เราพบว่าเกษตรกรไทยค่อนข้างมีความพร้อมในการเปิดรับ digital technology หากเห็นว่ามีประโยชน์ และกลไกกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญในฝั่งอุปสงค์คือ
- การสร้างความตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรให้เกษตรกรอย่างแพร่หลายในวงกว้าง
- การให้ความสำคัญกับความเข้าใจถึงปัญหาพฤติกรรมลำเอียงของเกษตรกร และแนวทางในการนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาแก้ไข เช่น การใช้ nudge มา “ดุน” ให้เกษตรกรหันมาใช้ เป็นต้น และ
- โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตซึ่งยังอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่ง แต่เราพบว่าการพัฒนา digital technology สำหรับภาคเกษตรที่มีคุณภาพ เหมาะสม และตอบโจทย์เกษตรกรไทย กลับเป็นความท้าทายที่สำคัญไม่แพ้กัน
แท้จริงแล้วประเทศไทยก็มี agritech startup จำนวนหนึ่ง ที่พยายามนำ digital technology มาช่วยเกษตรกร และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพสูง และมีประโยชน์กับเกษตรกร แต่เทคโนโลยีของพวกเขาอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักกับเกษตรกรในวงกว้าง และอาจเผชิญกับความท้าทายในการถ่ายทอด และขยับขยายไปสู่เกษตรกรอย่างแพร่หลาย บทความนี้พยายามสังเคราะห์บทเรียนจาก agritech startup 3 แห่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในวงการเกษตรและวงการ startup ของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง คือ Ricult, ListenField และ FARMTO
Ricult Farmer ให้บริการข้อมูลการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ผลวิเคราะห์สถานการณ์เพาะปลูกรายแปลง และความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก โดยได้ถูกพัฒนาโดยบริษัท Ricult ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมด้านเทคโนโลยีการเกษตร ข้อมูลที่ให้แก่เกษตรกรได้มาจากการนำข้อมูลหลายแหล่งประกอบกัน เช่น จากสถานีวัดสภาพอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง อย่าง Sentinel และ Landsat มาประมวลผลโดยใช้ machine learning และ AI เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายแปลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช หรือเก็บเกี่ยว Ricult ยังได้พัฒนาแบบจำลองที่ช่วยเกษตรกรเลือกวันปลูกข้าวโพดที่ดีที่สุดของแปลงตัวเอง โดยเทียบความต้องการน้ำและอุณหภูมิในแต่ละช่วงของการเติบโตกับการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยงในการประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหรือแล้ง
จากการเปิดแอปพลิเคชัน Ricult Farmer ให้ใช้งานเมื่อเดือนตุลาคม 2561 พบว่ามีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปกว่า 44,000 ดาวน์โหลด มีผู้ลงทะเบียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 (รูปที่ 8) โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีการประชาสัมพันธ์ (รูปที่ 8a) ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งานเป็นเกษตรกรที่มีขนาดพื้นที่เพาะปลูกต่ำกว่า 10 ไร่ (รูปที่ 8b) จำนวนผู้ใช้งานจริงในแต่ละช่วงเวลาค่อนข้างผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจะมีการใช้แอปพลิเคชันมากขึ้นในฤดูกาลหว่านเมล็ดพืชในเดือนมีนาคม-เมษายน ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังมีการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นบางช่วงจากการจัด workshop ให้กับเกษตรกร
Ricult เข้าถึงฐานลูกค้าเกษตรกรรายย่อยจากการทำความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ส่วนใหญ่จากการพัฒนาเทคโนโลยีข้างต้นให้กับบริษัทขนาดใหญ่ สองความท้าทายหลักที่ Ricult พบคือ 1) การเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูงและเหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น และ 2) การเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกษตรกรหันมาใช้แอปพลิเคชันนั้นทำได้ค่อนข้างยาก โดยครึ่งหนึ่งของเกษตรกรที่ได้แนะนำ Ricult Farmer ให้ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันต่อ และมีเพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่ใช้อย่างต่อเนื่อง Ricult จึงได้แก้ปัญหาด้วย 3 วิธี คือ เพิ่มการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันให้เกษตรกรเข้ามาใช้งานเมื่อถึงเวลา การใช้ LINE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เกษตรกรคุ้นเคยดีและใช้เป็นประจำอยู่แล้วในการเผยแพร่ข้อมูลง่าย ๆ และมีลิงก์เชื่อมต่อไปยัง Ricult Farmer หากเกษตรกรต้องการข้อมูลที่ลึกหรือละเอียดขึ้น และการเปลี่ยนมาให้ข้อมูลผ่านทาง SMS และทางโทรศัพท์อัตโนมัติสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มการใช้ให้แพร่หลายขึ้นได้
FarmAI ของบริษัท ListenField เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเกษตรกรในการทำเกษตรแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มและเพิ่มผลิตภาพให้แก่เกษตรกร โดยให้บริการข้อมูลสภาพอากาศและการประมาณการผลผลิตจากแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นเอง โดยใช้ deep neural network และ machine learning และใช้ข้อมูลจากทั้งภาพถ่ายทางอากาศประกอบกับข้อมูลที่เก็บได้จากในแปลงเพาะปลูกด้วย IoT และมีแพลตฟอร์มสำหรับให้เกษตรกรบันทึกกิจกรรมเพาะปลูกและบัญชีค่าใช้จ่าย รวมถึงระบบตรวจสอบการเพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อใช้ในการขอรับรองมาตรฐานประเภทต่าง ๆ
จากการเปิดใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 7,200 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 26,000 ไร่ทั่วประเทศไทย ทั้งพืชไร่ พืชสวน ดอกไม้ และสมุนไพร รวมกว่า 80 ชนิด พืชหลัก 3 ลำดับแรกตามจำนวนพื้นที่ปลูกได้แก่ ข้าว ทุเรียน และ ผักชี มีผู้ใช้ประจำรายเดือนกว่า 2,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.4 ของผู้ใช้งานทั้งหมด ผลตอบรับจากเกษตรกรหลังใช้งานมีทั้งการแจ้งปัญหาเพื่อให้ปรับแก้ระบบและการขอให้เพิ่มฟังก์ชันต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่าเกษตรกรได้ใช้งานจริง
FarmAI เข้าถึงฐานลูกค้าเกษตรกรรายย่อยโดยเริ่มต้นกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง และมีความเปิดใจที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ แต่สองความท้าทายสำคัญคือ 1) การหาฐานลูกค้าเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งยังอาจไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ และ 2) ปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างของไทยที่ขาดการบูรณาการทางข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐจากภาคเอกชน ทำให้ทางบริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลกันใหม่ ทำให้มีความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเกษตรกร
FARMTO เป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินค้าเกษตรที่เชื่อมต่อเกษตรกรรายย่อยกับผู้บริโภคโดยตรงผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยพยายามจะช่วยลดอุปสรรคหลักที่เกษตรกรต้องเผชิญใน 2 ด้าน คือ 1) ลดปัญหาการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนของเกษตรกร โดยการให้ผู้บริโภคชำระเงินล่วงหน้าเพื่อสั่งจองผลผลิต และเงินส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนเริ่มต้นในการเพาะปลูก และ 2) การสั่งจองผลผลิตล่วงหน้าทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าผลผลิตมีตลาดรองรับและสามารถวางแผนการผลิตได้
FARMTO ดึงดูดผู้บริโภคด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการผลิตและควบคุมคุณภาพผลผลิต โดยผู้บริโภคสามารถทราบพิกัดพื้นที่เพาะปลูก ติดตามสถานการณ์เพาะปลูก และสื่อสารกับเกษตรกรได้โดยตรงตลอดกระบวนการผลิตผ่านแพลตฟอร์ม รวมถึงสามารถไปเยี่ยมชมพื้นที่การเพาะปลูกในสถานที่จริงได้อีกด้วย
แพลตฟอร์มนี้สามารถขยายตัวได้ดีในฝั่งเกษตรกรเนื่องจากใช้งานง่ายและช่วยลดอุปสรรคในการทำการเกษตร แต่การขยายตัวทางฝั่งผู้บริโภคยังจำเป็นต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกจำนวน 475 ราย โดยเป็นเกษตรกรจำนวน 124 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ขายผลผลิตทางการเกษตรและให้บริการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลิตผลที่ขาย เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ อโวคาโดอินทรีย์ เมล็ดกาแฟ และไข่ไก่ และผู้บริโภคของ FARMTO ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเชียงใหม่ โดยได้เปิดบริการแพลตฟอร์มในรูปแบบแอปพลิเคชันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยมียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 900 ดาวน์โหลด (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2562)
โดยสรุป เราได้เห็นแล้วว่าประเทศไทยก็มี agritech startup ดี ๆ ที่พยายามพัฒนา digital technology มาช่วยยกระดับการทำเกษตรให้เกษตรกรไทย แต่ยังมีอุปสรรคหลากหลายประการต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเกษตรกรในวงกว้าง (เช่น การเข้าถึงฐานข้อมูลรายแปลงรายเกษตรกรที่เก็บไว้แล้วโดยหน่วยงานภาครัฐ) และต่อการสร้างความตระหนักรู้และขยายฐานลูกค้าเกษตรกรไปในวงกว้าง
จากประสบการณ์ของทั้งต่างประเทศและไทย เราสามารถสรุปโอกาสการนำ digital technology เข้ามาใช้ช่วยเพิ่มผลิตภาพและยกระดับภาคเกษตรได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้ตามรูปที่ 9
ในด้านการผลิต digital technology สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตร การพยากรณ์ผลผลิตด้วยแบบจำลอง การทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูง การเช่าเครื่องจักรกลสมัยใหม่ผ่านแพลตฟอร์ม และการดูแลบริหารจัดการฟาร์มด้วย IoT และโดรน โดย
- การส่งเสริมการเกษตรออนไลน์ (e-extension services) เกษตรกรสามารถค้นหาข้อมูล และเจ้าหน้าที่การเกษตรสามารถเผยแพร่ความรู้ที่เจาะจงรายบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต
- การทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำ สามารถทำได้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพยากรณ์อากาศ พันธุ์พืช สภาพดิน รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียมด้วย machine learning และ AI เพื่อให้ได้คำแนะนำทางการเกษตรที่แม่นยำและ personalized ในระดับรายเกษตรกรและรายแปลง
- การแบ่งปันใช้ทรัพยากรร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเครื่องจักรกลสามารถเช่าจากเกษตรกรรายอื่นได้ การทำให้ตลาดเช่าเครื่องจักรกลจากออฟไลน์มาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลยังสามารถช่วยขยายฐานเครื่องจักรกลที่ปล่อยให้เช่าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจับคู่ผู้ให้เช่ากับผู้เช่า และ
- โดรนและ IoT สามารถนำมาใช้ช่วยดูแลและบริหารจัดการแปลงปลูกได้
ในด้านการตลาด แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ การเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดแบบ crowdsourcing และการเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อขอมาตรฐานสินค้า (traceability) จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดและขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น โดย
- แพลตฟอร์ม e-commerce จะช่วยเชื่อมต่อให้เกษตรกรสามารถซื้อขายโดยตรงกับผู้ซื้อผลผลิตและผู้ขายปัจจัยการผลิตโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาที่ถูกลง ขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น และยังสามารถทำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้ากันได้ผ่านแพลตฟอร์ม เป็นการรับประกันว่าจะมีผู้รับซื้อเมื่อได้ผลผลิตแล้ว
- การระดมข้อมูลจากคนจำนวนมากผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำมาใช้สร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลราคาตลาดและแหล่งรับซื้อผลผลิตจากคนในพื้นที่จริงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองราคา และลดต้นทุนการค้นหาตลาดและค้นหาราคา
- การเก็บข้อมูลในแต่ละขั้นตอนการเพาะปลูกจากการใช้งานบนแพลตฟอร์ม หากสามารถนำไปเป็นหลักฐานประกอบการขอมาตรฐานหรือใบรับรองการทำเกษตร เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ ก็จะช่วยให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเกษตรกรขายได้ราคาดีกว่าเดิม แพลตฟอร์มยังสามารถเป็นผู้ช่วยตรวจสอบและยืนยันว่าการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้นผ่านตามเกณฑ์ของมาตรฐานได้อีกด้วย ดังเช่นกรณีตัวอย่างของ FarmAI
ในด้านการเงิน digital technology สามารถนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการประกันภัยพืชผลและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน information-based lending และการระดมทุนออนไลน์ โดย
- สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการประกันภัยพืชผลในปัจจุบัน โดยภาพถ่ายดาวเทียม โดรน และการใช้ภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟนมาประมวลผล ที่สามารถนำมาใช้สร้างข้อมูลความเสี่ยงและตรวจสอบความเสียหายของพืชผลจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละแปลงแทนการส่งคนลงพื้นที่ตรวจสอบ ย่นระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบ และบริษัทประกันสามารถพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส ตลอดถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อขายและเคลมประกันผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชัน ก็จะช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและเร็วขึ้น เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงประกันได้มากขึ้น
- การใช้ข้อมูลความเสี่ยงข้างต้น และ digital footprint ในการทำเกษตรที่เก็บได้ ในการประเมินความเสี่ยงเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบัน ก็อาจสามารถเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรคุณภาพดีได้
- การระดมทุนจากคนจำนวนมากผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และการกู้ยืมโดยตรงแบบ peer-to-peer (P2P) lending จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้นสำหรับการขยายธุรกิจ ซื้อที่ดินเพิ่ม หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ดังตัวอย่างการ crowdfunding เพื่อซื้อแพะและไก่ผ่านกลุ่มกิจการเพื่อสังคม The Basket ในประเทศไทย ที่ให้ผลตอบแทนคืนแก่ผู้ลงทุนเป็นผักและไข่ไก่
การจะสร้าง digital technology เพื่อการเกษตรให้เกิด โต และสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบการณ์จากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า จะสำเร็จได้ต้องมีปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ง่าย ทำซ้ำได้ ขยายผลได้ และยั่งยืน2
Digital technology ต้องเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และใช้งานง่าย เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ใช้งานยอมรับ ใช้งานเป็น และตระหนักถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรได้อย่างครบวงจร จึงจะสามารถจูงใจให้เกษตรกรใช้อย่างยั่งยืน
Digital technology ต้องสามารถใช้งานได้ดีโดยไม่จำกัดเฉพาะแค่บางพืชหรือบางพื้นที่ เทคโนโลยีที่ได้ผลกับพืช พื้นที่ หรือเกษตรกรกลุ่มหนึ่ง ๆ ต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืช พื้นที่ หรือเกษตรกรกลุ่มอื่นได้ด้วย โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับเกษตรกรกลุ่มใหม่ทุกครั้ง
Digital technology ที่ประสบความสำเร็จกับการทดลองใช้ในกลุ่มตัวอย่างหรือพื้นที่เล็ก ๆ ต้องสามารถขยายผลไปใช้ในวงกว้างได้ดีเช่นเดียวกัน และการดำเนินงานของผู้ให้บริการต้องสามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้ จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์จริงต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ
การให้บริการ digital technology ต้องสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน มีฐานเกษตรกรผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีช่องทางการหารายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอและคุ้มต้นทุน และเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐหรือองค์กรภายนอกตลอดเวลา
สองกลไกที่จะช่วยให้การนำ digital technology มาใช้กับภาคเกษตรได้สำเร็จผล คือการคำนึงถึงเกษตรกรผู้ใช้งานเป็นหลัก และการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่ทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลในการสร้าง digital technology ที่เข้าใจเกษตรกรและสามารถแก้ปัญหาภาคเกษตรได้จริง ไม่ว่าจะเป็น startup หรือผู้สร้างนวัตกรรมที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัลและยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการทดลองที่ล้มเหลว บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สามารถให้การสนับสนุนเงินทุน บุคคล และเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐและสถาบันการเงินที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนา digital technology เพื่อการเกษตร และมีเครือข่ายเชื่อมต่อกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งจำเป็นต่อการนำผลิตภัณฑ์และบริการออกใช้
บทความนี้แสดงถึงศักยภาพของ digital technology ในภาคเกษตร ผลการศึกษาของเราสะท้อนห้าประเด็นชวนคิดและชวนร่วมแก้ไข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยด้วย digital technology
เราพบว่าเกษตรกรไทยค่อนข้างมีความพร้อมในการเปิดรับ digital technology หากเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ความท้าทายที่สำคัญ คือ 1) การสร้างความตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรให้เกษตรกรอย่างแพร่หลาย 2) การให้ความสำคัญกับความเข้าใจถึงปัญหาพฤติกรรมลำเอียงของเกษตรกร และแนวทางในการนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาแก้ไข และ 3) การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของภาคเกษตรไทยซึ่งอาจสร้างข้อจำกัดในการเรียนรู้
เราพบว่า ความจำกัดของข้อมูลภาคเกษตรไทยซึ่งอาจยังมิได้มีการเก็บไว้อย่างละเอียด มีคุณภาพและเป็นระบบพอ ประกอบกับการที่ภาครัฐไม่เปิดให้ภาคเอกชนได้นำข้อมูลฐานใหญ่ที่สำคัญ ๆ ไปใช้ เป็นหนึ่งในข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนา digital technology เกษตรของไทย และถึงแม้ว่าโครงการภาครัฐต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เนตชุมชน ตลอดถึงความแพร่หลายของ smartphone ได้เพิ่มการเข้าถึงโลกดิจิทัลให้กับเกษตรกรได้มากขึ้นแล้ว แต่เรายังพบว่าสัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจยังมีการกระจุกตัวในชุมชนและไม่ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรซึ่งอาจเป็นที่ที่เกษตรกรต้องการใช้
เราพบว่า จะพัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เหมาะสมและตอบโจทย์เกษตรกร เราจำเป็นต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาทำ และฟันเฟืองที่สำคัญในต่างประเทศ คือ agritech startup ซึ่งมีทั้งความเชี่ยวชาญและความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และยั่งยืนกับเกษตรกรเพื่อให้ธุรกิจยั่งยืนด้วย ซึ่งการจะสนับสนุนผู้ให้บริการกลุ่มนี้ในประเทศไทย เราจำเป็นต้อง 1) ส่งเสริมให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่อาจมีต้นทุนที่สูงสำหรับธุรกิจ startup หรือบริษัทขนาดเล็ก เช่น ฐานข้อมูลที่มีความละเอียดสูง เช่น รายแปลง รายเกษตรกร ที่ถูกเก็บไว้แล้วในหลายหน่วยงานภาครัฐ (หรือแม้แต่จากภาคเอกชนขนาดใหญ่) 2) ส่งเสริมให้เข้าถึงฐานลูกค้าเกษตรกรรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เข้ามาให้บริการเกษตรกรแทนภาครัฐเหมือนประเทศอินเดีย ส่งเสริมให้สามารถสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกร หรือบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น และสำคัญที่สุด คือ 3) ส่งเสริมให้แข่งได้ เราจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการขนาดเล็กยังมีอุปสรรคในการเข้าไปให้บริการในหลาย ๆ ด้านของภาคเกษตรไทย เช่น การปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืนขึ้น หรือ การขายปัจจัยการผลิต เป็นต้น เนื่องจากไม่สามารถแข่งกับภาครัฐ หรือบริษัทขนาดใหญ่ได้
รัฐควรหันมาเน้นทำหน้าที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การสร้างฐานข้อมูลภาคเกษตรที่ละเอียดขึ้นและมีคุณภาพ การพัฒนาสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต การปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย การสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่ทั้งบริษัทเอกชน ธุรกิจเพื่อสังคม การสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการแข่งขัน และการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมใหม่ ๆ และงานวิจัยที่จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการสนับสนุนในด้านอุปสงค์ ได้แก่ การพัฒนาทักษะและความรู้ทางดิจิทัลของเกษตรกรรายย่อย และการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้เกษตรกรหันมาใช้ digital technology ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง
โดยเราก็ได้เห็นว่ามีการริเริ่มนโยบายดี ๆ ไปบ้างแล้ว เช่น กิจกรรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโตให้แก่ startup ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นผู้พัฒนาและให้บริการ หรือการใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในการเชื่อมต่อกลุ่มคน เช่น โครงการ Young Smart Farmer ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นและสนใจด้านเกษตรกรรมให้มาพบกัน เพื่อจุดประกายให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่นำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ รวมถึงการเริ่มจัดทำแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดภาครัฐ (open data) รวบรวมข้อมูลไว้ที่เดียวกันเพื่อให้คนมาใช้งานง่ายขึ้น แต่การส่งเสริมของภาครัฐในปัจจุบันดูเหมือนจะเอนเอียงไปทางด้านอุปทานมากกว่า เช่น โครงการอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ผู้ประกอบการ ผู้นำภาคเกษตร และ startup มากกว่าตัวเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ข้อมูลที่เปิดให้เอกชนใช้ได้ยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นข้อมูลมหภาคระดับประเทศที่ไม่สามารถใช้วิเคราะห์ลักษณะของเกษตรกรรายย่อยที่แตกต่างกันได้ อาจไม่มีประโยชน์นักในการใช้พัฒนา digital technology ของภาคเอกชน
การพัฒนา digital technology ที่เหมาะสมกับเกษตรกร และนำไปให้เกษตรกรใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ จนถึงตัวเกษตรกรเอง ซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นมากนักในประเทศไทย ประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่าโครงการ digital technology ด้านการเกษตรที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกรในรูปแบบ Public Private Partnership โดยให้บริษัทเอกชนเป็นผู้นำโครงการให้ผลที่ดีกว่ารัฐทำแต่เพียงผู้เดียว (Dawe et al., 2014)
กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้เขียนขอขอบคุณ คุณอาทิตย์ จันทร์นนทชัย ผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มโตะ คุณพลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา คุณดานิช จันทรวิโรจน์ จากรีคัลท์ และเกษตรกรในจังหวัดน่านที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์กลุ่มย่อยทุกท่าน ที่ช่วยให้ข้อมูลและความคิดเห็นอันประโยชน์อย่างยิ่งต่อบทความนี้ ขอขอบคุณ ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และทีมงานสำหรับการลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมของเกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีและกาฬสินธุ์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น TDRI และธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขอขอบคุณทีม KM ของ TDRI สำหรับรูปปก และกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอจังหวัดน่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ช่วยประสานงานให้การลงพื้นที่ในจังหวัดน่าน
Aker, J. C., & Mbiti, I. M. (2010). Mobile phones and economic development in Africa. Journal of Economic Perspectives, 24(3), 207–32.
Attavanich, W., Chantarat, S., Chenphuengpawn, J., Mahasuweerachai, P., & Thampanishvong, K. (2019) Farms, Farmers and Farming: a Perspective through Data and Behavioral Insights. BOT Symposium Discussion Paper.
Chantarat S., A. Lamsam and C. Rittinon. (2019) Farmers’ financial attitude, behavior and the roles of behavioral bias. Forthcoming PIER Discussion Paper.
Cole, S. A., & Fernando, A. (2016). ‘Mobile’izing Agricultural Advice: Technology Adoption, Diffusion and Sustainability. Harvard Business School Finance Working Paper, (13–047).
Dawe, David; Jaffee, Steven; Santos, Nuno; Dawe, David; Jaffee, Steven; Santos, Nuno. (2014). Rice in the shadow of skyscrapers: Policy choices in a dynamic East and Southeast Asian setting (English). Washington, DC: World Bank Group.
Overa, R. (2006). Networks, distance, and trust: Telecommunications development and changing trading practices in Ghana. World Dev., 34(7), 1301– 1315.
Syngenta Foundation. (2011). Mobile applications in agriculture.
Urquieta, N. R. A., & Alwang, J. (2012). Women rule: potato markets, cellular phones and access to information in the Bolivian highlands. Agricultural Economics, 43(4), 405–415.
World Bank. (2012). Mobile applications for agriculture and rural development (English). Washington, DC: World Bank Group.
World Bank. (2017). ICT in Agriculture: Connecting Smallholders to Knowledge, Networks, and Institutions. Updated Edition. Washington, DC: World Bank.
World Food Programme (WFP). (2018). Virtual Farmers’ Market: A digital solution connecting farmers to markets. Factsheet.
- สรุปจาก World Bank (2012) และ https://www.syngentafoundation.org/agricultural-insurance-kenya↩
- แนวคิดนี้ได้จากการเข้าร่วมงาน Agriculture Insuretech Forum ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562↩