Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Latest discussion Paper
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Latest aBRIDGEd
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
Latest PIER Economic Seminar
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
Latest PIER Research Exchange
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
Latest announcement
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/c17b5548fd0a300fcd65de05e68a8471/41624/cover.jpg
5 May 2020
20201588636800000

เข้าใจลำดับการผิดนัดชำระหนี้ครัวเรือนไทยจากข้อมูลเครดิตบูโร

ทำไมลูกหนี้บางคนจึงเลือกผิดนัดชำระสินเชื่อบ้านก่อนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล
เข้าใจลำดับการผิดนัดชำระหนี้ครัวเรือนไทยจากข้อมูลเครดิตบูโร
excerpt

การผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ โดยปกติแล้วเรามักจะคิดว่า หากต้องลำดับการผิดนัดชำระหนี้ ลูกหนี้ควรจะรักษาสินเชื่อบ้านและเลือกที่จะผิดนัดสินเชื่ออื่น ๆ ก่อน เนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศกลับพบว่า มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่เลือกจะหยุดชำระสินเชื่อบ้าน ในขณะที่ยังคงชำระสินเชื่อบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยโดย Saengchote and Samphantharak (2020) ได้ศึกษาพฤติกรรมการผิดนัดชำระหนี้ในบริบทของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลตัวอย่างเชิงสถิติรายเดือนในระดับบัญชีจากเครดิตบูโร (National Credit Bureau: NCB) ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2561 โดยเจาะจงไปยังผู้กู้ที่มีทั้งสินเชื่อบ้าน (housing) และสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งรูปแบบเงินก้อนและวงเงิน (non-housing) และวิเคราะห์การลำดับการผิดนัดชำระหนี้ว่าเกิดที่สินเชื่อประเภทใดก่อน ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงและเหตุผลของลำดับในการผิดนัดชำระหนี้ อันมีนัยต่อนโยบายด้านการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

ลำดับการผิดนัดชำระหนี้มีความหลากหลาย

Saengchote and Samphantharak (2020) วิเคราะห์ข้อมูลตัวอย่างเชิงสถิติรายเดือนในระดับบัญชีจาก National Credit Bureau (NCB) ของผู้กู้ที่สุ่มมา 1 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2561 พบว่ามีเพียงร้อยละ 9.4 เท่านั้นที่มีสินเชื่อทั้งสินเชื่อบ้าน (housing) และสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งรูปแบบเงินก้อนและวงเงิน (non-housing) แต่ผู้ที่มีสินเชื่อทั้งสองประเภทนี้คิดเป็นถึงร้อยละ 73 ของผู้มีสินเชื่อบ้านทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง

ในกลุ่มตัวอย่างผู้กู้ที่มีสินเชื่อทั้ง housing และ non-housing ประมาณร้อยละ 10.1 มีการผิดนัดชำระหนี้อย่างน้อยหนึ่งประเภท แบ่งเป็นผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกันร้อยละ 1.3 ผู้ผิดนัดเพียงสินเชื่อ non-housing ร้อยละ 6 และผู้ผิดนัดเพียงสินเชื่อบ้านร้อยละ 2.8 ทั้งนี้ การติดตามดูข้อมูลผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทอาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะความตึงตัวทางการเงินได้ เนื่องจากเหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดย รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์เฉพาะผู้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งก่อนเท่านั้น โดยไม่รวมผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกัน1 ซึ่งลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อบ้านก่อนคิดเป็นร้อยละ 30 ของลูกหนี้กลุ่มนี้

รูปที่ 1 สัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกัน

สัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกัน

หมายเหตุ: สัดส่วนคิดเป็นร้อยละของผู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้อย่างน้อยหนึ่งประเภทที่มา: Saengchote and Samphantharak (2020)

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกประเภทหนี้ที่หยุดชำระ

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงิน เราสามารถแบ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผิดนัดชำระหนี้ออกได้เป็น 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. ความสามารถในการชำระหนี้ (affordability channel) ซึ่งมักวิเคราะห์ด้วยการเปรียบเทียบจำนวนเงินผ่อนในแต่ละงวดของหนี้ในแต่ละประเภท ซึ่งในทางทฤษฎีคาดการณ์ได้ว่า ผู้กู้จะหยุดชำระหนี้ที่เป็นภาระที่สูงกว่าก่อน

  2. สภาพคล่อง (liquidity channel) ซึ่งวัดจากวงเงินที่เหลืออยู่ที่สามารถเบิกได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ในทางหนึ่ง ผู้กู้ที่มีวงเงินเหลือเยอะอาจจะยอมให้ยึดบ้านเพื่อรักษาวงเงินเอาไว้ก่อน เนื่องจากเมื่อมีหนี้เสียแล้ว การจะขอเปิดวงเงินใหม่ในอนาคตย่อมเป็นเรื่องยาก ในทางกลับกัน ผู้กู้อาจเอาวงเงินที่เหลือนั้นมาใช้ชำระสินเชื่อบ้านแทนก็ได้ ซึ่งผลคาดการณ์ก็จะตรงกันข้าม ดังนั้น ในทางทฤษฎี ลำดับของการผิดนัดชำระหนี้ผ่านช่องทางสภาพคล่องจึงไม่แน่ชัด

  3. ความเป็นเจ้าของในบ้าน (housing equity channel) ซึ่งวัดจากส่วนต่างของมูลค่าบ้านและมูลหนี้ของสินเชื่อบ้าน มีผลคาดการณ์ว่าผู้กู้ที่ได้ผ่อนเงินต้นมามากแล้ว ย่อมมีความเป็นเจ้าของมาก การถูกยึดบ้านไปจึงมีความเสียหายสูงกว่า ส่วนคนที่มูลค่าบ้านต่ำกว่ามูลหนี้ (negative equity) หากเป็นสินเชื่อที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ก็อาจจงใจทิ้งบ้านเพื่อล้างหนี้ได้ ซึ่งในต่างประเทศมักเรียกว่า strategic default2

ทั้งนี้ เราอาจเรียกช่องทางแรกว่าเป็น ability to pay ส่วนช่องทางที่สองและสามว่าเป็น willingness to pay ก็ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ เราได้ทดสอบอิทธิพลของทั้ง 3 ช่องทางต่อแนวโน้มที่จะเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านแทนการหยุดชำระสินเชื่อ non-housing

ลักษณะของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ตัดสินใจเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน

ในงานวิจัยนี้ เราวิเคราะห์เฉพาะผู้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งก่อนเท่านั้น ไม่รวมผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกัน ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนในช่วง 2010–2018 คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสาม ตามรูปที่ 2 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสัดส่วนนี้มีค่าประมาณร้อยละ 35 ในปี 2008 โดยผู้วิจัยอธิบายว่าน่าจะเป็นเพราะผู้กู้ต้องการที่จะรักษาวงเงินบัตรเครดิตไว้จับจ่ายใช้สอย เนื่องจากสินเชื่อบ้านในสหรัฐอเมริกามักจะเป็นสินเชื่อที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (non-recourse) ในกรณีที่ผู้ให้กู้ยึดบ้านมาขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องยอมความกันเท่านั้น จึงทำให้การทิ้งสินเชื่อบ้านแล้วรักษาวงเงินไว้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่าสำหรับผู้กู้ (Andersson et al. 2013 และ Cohen-Cole and Morse 2010) ในบริบทของประเทศไทยที่สุดท้ายแล้วเจ้าหนี้สามารถไล่เบี้ยสินเชื่อบ้านได้ เหตุผลหนึ่งที่ผู้กู้ยอมเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนอาจจะเป็นเพราะเมื่อผิดนัดชำระ แม้จะโดนยึดบ้านแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ต่อโดยที่หยุดชำระจนกระทั่งกระบวนการยึดทรัพย์สำเร็จ

รูปที่ 2 สัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน

สัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน

ที่มา: Saengchote and Sampantharak (2020)

ข้อมูลค่าเฉลี่ยของผู้ผิดนัดชำระหนี้ในตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าผู้ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกันมีปริมาณหนี้มากกว่า มีวงเงินเหลือน้อยกว่า และมีอายุของสินเชื่อบ้าน ณ วันผิดนัดชำระหนี้ น้อยกว่า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนกลุ่มที่หยุดชำระสินเชื่อ non-housing ก่อน ก็มีภาระผ่อนชำระสินเชื่อประเภทนั้นสูงกว่าด้วย แม้ว่าจะมีวงเงินเหลือมากกว่าก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าวงเงินที่เหลืออยู่ต่ำมาก ไม่ถึง 1 หมื่นบาทในทุกกรณี บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัวของทุกกลุ่ม

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยผู้ผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละกลุ่ม

ค่าเฉลี่ยผู้ผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละกลุ่ม

หมายเหตุ: ชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำคิดจากร้อยละ 10 ของจำนวนหนี้ ส่วนชำระสินเชื่อส่วนบุคคลขั้นต่ำคิดจากร้อยละ 5 ของจำนวนหนี้ที่มา: Saengchote and Sampantharak (2020)

Affordability Channel และ Housing Equity Channel มีอิทธิพลมากที่สุด

เราใช้แบบจำลอง logistic regression เพื่อวิเคราะห์บทบาทของแต่ละช่องทาง พบว่า affordability channel (วัดโดยอัตราส่วนระหว่างเงินงวดสินเชื่อบ้านรายเดือน หารด้วยผลรวมของเงินงวดรายเดือนและเงินผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อ non-housing) มีผลอย่างมาก ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์จากทฤษฎี และ housing equity channel (วัดโดยเงินต้นของสินเชื่อบ้านที่ได้ผ่อนไปแล้ว) ส่งผลให้ผู้กู้เลือกที่จะไม่หยุดชำระสินเชื่อบ้าน ในขณะที่ liquidity channel (วัดจากวงเงินที่เหลือ) ไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะมาจากการที่วงเงินที่เหลืออยู่มีน้อยมาก ค่าเฉลี่ยไม่ถึง 1 หมื่นบาท จึงทำให้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจมากนัก ในทางกลับกัน ระยะเวลาที่เจ้าหนี้ต้องใช้ในการดำเนินคดีเพื่อยึดบ้าน ก็อาจพิจารณาว่าเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้กู้ได้เหมือนกัน แต่เป็นการเสริมที่ให้ประโยชน์กับสินเชื่อ non-housing

ตารางที่ 2 สรุปอิทธิพลของแต่ละปัจจัยที่เพิ่มแนวโน้มการหยุดชำระสินเชื่อบ้าน

สรุปอิทธิพลของแต่ละปัจจัยที่เพิ่มแนวโน้มการหยุดชำระสินเชื่อบ้าน

ที่มา: Saengchote and Sampantharak (2020)

บทเรียนที่สำคัญของการวิเคราะห์นี้คือบทบาทของ housing equity ซึ่งสะท้อนความเป็นเจ้าของในบ้านต่อการตัดสินใจ ผู้กู้ที่มีความเป็นเจ้าของในบ้านมากกว่า (คือได้ผ่อนเงินต้นมาเยอะแล้ว จะเรียกว่าหนี้ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันต่ำก็ได้) มีแนวโน้มที่จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะมี willingness to pay มากกว่า

งานวิจัยของ Campbell et al. (2011) พบว่าบ้านที่ยึดแล้วขายทอดตลาดมักจะมีราคาต่ำกว่าทั่วไป และสามารถส่งผลในทางลบต่อราคาบ้านในละแวกรอบ ๆ ได้ อันอาจก่อให้เกิดวงจรเชิงลบเป็นทอด ๆ ได้ ดังนั้นสินเชื่อบ้านจึงมักได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพทางของระบบการเงิน มาตรการดูแลอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value ratio หรือ LTV ratio) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ LTV ratio ที่สูงหมายถึงความเป็นเจ้าของที่ต่ำนั่นเอง

กลุ่มที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญา และกลุ่มสินเชื่อ LTV สูง มีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน

ข้อมูลรายบัญชีที่กู้ทำให้เราสามารถแยกหมวดผู้กู้ตามพฤติกรรมการมีสินเชื่อบ้านได้ ซึ่งเราแยกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก ดังนี้

  1. กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านเพียงสัญญาเดียว
  2. กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญา ซึ่งอาจเป็นการเพิ่ม LTV ratio หากเป็นการกู้เงินจากการกู้สองสัญญาบนหลักทรัพย์เดียวกัน โดยสัญญาแรกมี LTV ratio มาตรฐาน และสัญญาที่สองเป็นสัญญาพ่วง ซึ่งในการศึกษานี้ เราเรียกสัญญาที่มีลักษณะนี้ว่ากลุ่มสินเชื่อ LTV สูง
  3. กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญาเพื่อซื้อหลายทรัพย์ เราเรียกว่ากลุ่มนักลงทุน

เราพบว่าผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญา (ทั้งกลุ่ม 2 และ 3) มีแนวโน้มที่จะหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน เมื่อเทียบผู้กู้ที่มีเพียงสัญญาเดียว (กลุ่ม 1) แต่ระหว่างกลุ่มสินเชื่อ LTV สูงกับกลุ่มนักลงทุน แนวโน้มในการหยุดชำระสินเชื่อบ้านไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ หากจำกัดคนในกลุ่มที่ 2 ให้มีสินเชื่อบ้าน 2 สัญญาเท่านั้น มีแนวโน้มว่าคนเหล่านั้นจริง ๆ แล้วมีสินเชื่อเพียงก้อนเดียว เมื่อนำคนกลุ่มนี้มาเทียบกับกลุ่มที่ 1 พบว่ากลุ่มสินเชื่อ LTV สูงมีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ซึ่งเป็นการย้ำถึงบทบาทของ LTV ratio ต่อพฤติกรรมของผู้กู้อีกด้วย

ผู้กู้ที่ผ่อนสินเชื่อบ้านมานานมีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าผู้กู้ที่มีอายุสินเชื่อสูงมีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์นั้นได้คำนึงผลของ housing equity แล้ว ผลการศึกษานี้อาจดูไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อผ่อนมานานกว่า ผู้กู้น่าจะมี housing equity มากกว่าด้วย คำอธิบายประการหนึ่งที่เป็นไปได้คือ อายุของสินเชื่อมีความเชื่อมโยงกับการ refinance สินเชื่อ

โดยทั่วไปแล้วประโยชน์ของการ refinance มักจะมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นบริบทในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านมักคงที่ แต่ในบริบทของประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านมักเป็นอัตราลอยตัว ซึ่งผู้กู้จะได้รับประโยชน์จากการลดของดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม การ refinance ก็อาจลดภาระของผู้กู้ได้จากช่องทางอื่น ๆ เช่น การได้คำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่ (reprice) เมื่อหลักประกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประกอบกับมูลหนี้ที่ลดลง ทำให้ LTV ratio ลดลง ความเสี่ยงลดลง และอัตราดอกเบี้ยลดลง นอกจากนี้ การหยุดชำระสินเชื่อบ้านอาจเกิดจากประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นที่มักจะมีในช่วงปีแรก ๆ ของสัญญาหมดลงในระยะต่อมาอีกด้วย

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

ในงานวิจัยนี้เราพบว่าผู้กู้ที่มีทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อ non-housing มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน แต่ยังชำระสินเชื่อ non-housing ต่อไป โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีทั้งเรื่อง ability to pay และ willingness to pay บทเรียนที่สำคัญของงานวิจัยนี้ คือ อิทธิพลของ willingness to pay ที่สะท้อนใน LTV ratio กับการตัดสินใจ “เลือก” หนี้ของผู้ที่กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ และพฤติกรรมของกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญารวมถึงกลุ่มสินเชื่อ LTV สูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ควรพิจารณาในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน

เอกสารอ้างอิง

Andersson, F., Chomsisengphet, S., Glennon, D., & Li, F. (2013). The changing pecking order of consumer defaults. Journal of Money, Credit and Banking,45(2‐3), 251–275.

Campbell, J. Y., Giglio, S., & Pathak, P. (2011). Forced sales and house prices. American Economic Review, 101(5), 2108–31.

Cohen-Cole, E., & Morse, J. (2010). Your house or your credit card, which would you choose? Personal delinquency tradeoffs and precautionary liquidity motives. Unpublished Working Paper.

Saengchote, Kanis & Krislert Samphantharak (2020). Delinquency Priority in Consumer Credit: Evidence from Thai Microdata, PIER Discussion Paper no.135.

ข้อสงวน

บทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัยนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จัดทำโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดไม่ยืนยันและไม่รับรองถึงความครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้องของข้อมูลจึงไม่รับผิดชอบต่อการนำเอาข้อมูล ข้อความ ความเห็น หรือบทสรุปที่กฎในรายงานฉบับนี้ไปใช้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่กฎในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ทำซ้ำดัดแปลงนำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นการล่วงหน้า

นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ บทวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด และต้องอ้างอิงถึงฉบับที่และวันที่ในเอกสารฉบับนี้ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด โดยชัดแจ้ง


  1. ในการศึกษานี้ เรานิยามว่ามีการผิดนัดชำระหนี้พร้อมกันหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง housing และ non-housing ภายในระยะเวลา 3 เดือน↩
  2. สินเชื่อบ้านในประเทศไทยนั้น ถึงแม้จะทำนิติกรรมเป็นสัญญาจำนองที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 กำหนดไว้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าหนี้มักให้ค้ำประกันในสัญญาเงินกู้ด้วย ทำให้ strategic default ไม่น่าจะเป็นประเด็น↩
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.
Topics: Law and EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: credit bureau datadefault priorityhousehold debt
Kanis Saengchote
Kanis Saengchote
Chulalongkorn University
Krislert Samphantharak
Krislert Samphantharak
University of California San Diego

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2023 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email