เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 2 แรงงานทักษะสูง
excerpt
บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ของชุดบทความเปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย โดยในตอนนี้จะมุ่งศึกษาโครงสร้างการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูง (high-skilled foreign workers) รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้า ผลการศึกษาชี้ว่า ตลาดแรงงานไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ (low-skilled foreign workers) โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตขนาดใหญ่ที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI) นอกจากนี้พบว่า กิจกรรมที่ใช้ทักษะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา ต้องการแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างมาก ดังนั้น การมีนโยบายการบริหารจัดการและดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ชัดเจนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งในระยะสั้นที่การระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ และในระยะยาวที่โลกเข้าสู่ยุคความปกติใหม่ (new normal)
การดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่เปิดรับแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในสาขาที่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในสาขาไอที (information technology) สาธารณสุข การศึกษา และงานวิชาชีพอื่น ๆ (McLaughlan & Salt, 2002) แรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยเติมเต็มแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้กับประเทศ ทำให้ค่าจ้างในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศปลายทาง (Grossman, 2016) สำหรับประเทศไทย แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (Asian financial crisis) ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จนในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว
บทความนี้ จึงมุ่งศึกษาภาพรวมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทย โดยใช้ข้อมูลผู้ประกันตนภาคบังคับจากสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ การแบ่งกลุ่มแรงงานจะใช้เกณฑ์ค่าจ้าง ซึ่งแรงงานต่างด้าวทักษะสูง คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน1 (ซึ่งเป็นเพดานเงินเดือนสำหรับคำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม) ขณะที่แรงงานทักษะต่ำ คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ข้อมูลนี้แสดงภาพลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 8 หมื่นคน ครอบคลุมร้อยละ 53.7 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ถูกกฎหมายทั้งหมด2 โดยเราสนใจศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ระดับการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะสูง รวมถึงอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งนำเสนอในรูปแบบของข้อเท็จจริง 4 ประการ ดังนี้
1. จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด
หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทยในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสัญชาติหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอังกฤษ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจาก 17,526 คน ในปี 2002 มาเป็น 86,830 คน ในปี 2019 โดยเพิ่มขึ้นในทุกสัญชาติ แม้จะมีบางช่วงที่การจ้างงานทรงตัวบ้าง แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008–2009
ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนแรงงานแยกตามสัญชาติ พบว่า แรงงานจีนและฟิลิปปินส์ถือว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วงปี 2002 ถึง 2019 แรงงานจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 19 โดยเฉพาะในภาคการผลิต การค้า ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับข้อมูล FDI จากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในประเภทธุรกิจเหล่านี้ (BOT, 2020) ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้นักธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศ (going-out policy) รวมถึงในช่วงปี 2013 จีนต้องการลดแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา (anti-dumping) โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยาง จึงทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น (ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน, 2015) ในส่วนของแรงงานฟิลิปปินส์ พบว่ามีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการว่างงานที่สูงและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ
ในขณะที่แรงงานจีนและฟิลิปปินส์มีบทบาทมากขึ้น แรงงานญี่ปุ่นซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกลุ่มหลักในไทยกลับเริ่มมีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 29 ในปี 2002 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2019 สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่า FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิต (BOT, 2020) นอกจากนี้ข้อมูลในระบบประกันสังคมยังชี้ว่าจำนวนนายจ้างที่จ้างแรงงานญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากไทยมากขึ้น
ในภาพรวม หากเปรียบเทียบแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกับแรงงานทั้งหมดยังถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อย จากรูปที่ 2 พบว่า ในช่วงแรกแรงงานต่างด้าวทักษะสูงและทักษะต่ำมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ในระยะหลังกลับพบว่าสัดส่วนของแรงงานทั้งสองกลุ่มต่างกันค่อนข้างมาก โดยแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในปี 2019 จากผลของนโยบายสำคัญ3 คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2011 และการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2018 ขณะที่นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแต่อย่างใด สะท้อนจากสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนอย่าง แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์4 และสหรัฐอเมริกาพบว่ามีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก อยู่ที่ร้อยละ 53, 41, 37, 29 และ 25 ตามลำดับ (OECD, 2016)
2. แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศนั้น ๆ ขณะที่กิจการขนาดเล็กยังมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย
เมื่อพิจารณาลักษณะงานของแรงงานแต่ละสัญชาติ ดังแสดงในรูปที่ 3 พบว่า แรงงานญี่ปุ่นและจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิต โดยญี่ปุ่นจะเน้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่จีนจะเน้นที่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (BOT, 2020) นอกจากนี้ ยังมีการจ้างแรงงานจีนในภาคการค้า กิจกรรมบริหารและการบริการสนับสนุน (ธุรกิจนำเที่ยว) และอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากแต่จำนวนแรงงานจีนในกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับแรงงานอินเดียจะกระจายไปในประเภทธุรกิจต่าง ๆ โดยอยู่ในภาคการผลิต (ยางและเคมีภัณฑ์) การค้า และธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (โดยเฉพาะการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ขณะที่แรงงานฟิลิปปินส์และอังกฤษค่อนข้างกระจายไปในภาคการค้าและบริการ โดยแรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี รวมทั้งกิจกรรมด้านสุขภาพ (โดยเฉพาะงานพยาบาล) ขณะที่แรงงานอังกฤษส่วนใหญ่อยู่ในกิจกรรมทางวิชาชีพ (โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ กิจกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม) รวมถึงอยู่ในกิจกรรมการศึกษา
จะเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่อยู่ในกิจการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยบริษัทขนาดเล็กยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดบางประการ เช่น นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะต้องมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อคนไทย 1 ต่อ 4 คน (กระทรวงแรงงาน, 2020) ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ที่ต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงได้
จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจแต่ละประเภทมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนที่แตกต่างกัน รูปที่ 4 แสดงจำนวนและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในธุรกิจหนึ่ง ๆ โดยแกนนอนแสดงจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ส่วนแกนตั้งแสดงสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงต่อแรงงานทักษะสูงทั้งหมด (รวมคนไทย) ในธุรกิจนั้น จากรูปจะเห็นได้ว่า ภาคการผลิตและขายส่งขายปลีกมีจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานไทยแล้ว พบว่าธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในภาคการผลิตอาจไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะบางประการซึ่งหายากในไทย จึงต้องอาศัยการจ้างแรงงานต่างด้าว
หากเราแบ่งกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าค่าเฉลี่ย6 จะได้กลุ่มธุรกิจที่แสดงด้วยเครื่องหมายสามเหลี่ยม ดังรูปที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างมาก ได้แก่
- กิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เช่น ตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟแวร์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
- ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม และงานบริการอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ
- งานวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคนิค เช่น ตำแหน่งวิศวกร ที่ปรึกษา และนักวิทยาศาสตร์ และ
- กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน เช่น กิจกรรมนำเที่ยว และธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่เป็นที่ต้องการในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา
ในบรรดาธุรกิจเหล่านี้ กลุ่มกิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร หรืองานที่อาศัยทักษะดิจิทัล เช่น ทักษะการเขียนโปรแกรม หรือการจัดการกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2017–2018 พบว่า ภาคธุรกิจยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจำเป็นต้องย้ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการวิจัยไปในประเทศที่มีนโยบายการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นและเสรีกว่า เช่นสิงคโปร์ (พงศ์ศรัณย์ และพัชรพร, 2018)
4. แรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ (S-Curve) มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 ย่อมต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจึงสนใจว่าแรงงานเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใดที่อยู่ในอุตสาหกรรมสำคัญในอนาคต รูปที่ 5 แสดงการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (first S-Curve)7 และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (new S-Curve)8 โดยภาพรวม การจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น นั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) รองลงมา คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) ที่ร้อยละ 4 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับแรงงานไทยทักษะสูง
นอกจากนี้ พบว่า ในปี 2019 สัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีเพียงประมาณร้อยละ 33.5 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมดเท่านั้น โดยอยู่ใน First S-Curve และ New S-Curve เท่ากับร้อยละ 15.5 และ 18.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่ม First S-Curve มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่ในกลุ่ม New S-Curve มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.9 เป็น 18.0 จากอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นสำคัญ
ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเรายังมีแรงงานทักษะสูงอีกเกือบร้อยละ 70 ที่กระจายอยู่ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยตรง ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีการวางแผนการดึงดูดแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่จำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากขึ้น
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมีแนวโน้มทำได้ยากขึ้น หลายประเทศควบคุมการระบาดด้วยการปิดพรมแดน และจำกัดการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แม้ว่าในระยะสั้นจะมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ในระยะยาวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงานทักษะสูงยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการวางแผนกำลังแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งแผนการพัฒนาแรงงานในประเทศและการวางนโยบายดึงดูดแรงงานทักษะจากต่างประเทศ
จากผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยยังต้องการแรงงานทักษะสูงจำนวนมากในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา การวางแผนพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้และทักษะเหล่านี้ย่อมช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะได้ อย่างไรก็ตาม การผลิตแรงงานในประเทศให้เพียงพอ ทันเวลา และตรงตามความต้องการเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงงานจำเป็นต้องมีทักษะมากขึ้นกว่าในอดีตเพื่อให้สามารถรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการทำงานรูปแบบใหม่ แต่โครงสร้างทักษะแรงงานของไทยกว่าร้อยละ 70 เป็นกลุ่มทักษะปานกลางถึงต่ำและแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นแล้วการดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูงจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ในระยะยาวการพึ่งพิงแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราควรเน้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่แรงงานไทย ซึ่งในปัจจุบันเรามีกระบวนการที่ให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับเข้าฝึกอบรมทักษะในโรงงานต่างประเทศแลกกับการเข้ามาของแรงงานต่างชาติแต่ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ
ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเข้ามาทำงานในไทยได้ เช่น การผ่อนคลายด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ โดยกฎระเบียบที่มากเกินไปนั้นทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและประเทศอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น นายจ้างที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวได้นั้น ต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะต้องมีสัดส่วนต่างด้าวต่อคนไทยประมาณ 1 ใน 4 ทำให้บริษัทขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) อาจไม่สามารถจ้างแรงงานทักษะสูงได้ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ เช่น การจัดโครงการแข่งขัน Startup การฝึกอบรม หรือการสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เนื่องด้วยเรายังขาดแรงงานทักษะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งกระบวนการสร้างระบบนิเวศน์นั้นควรดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างแรงจูงใจด้วยการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อวีซ่า การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิ์ของแรงงาน และรวมไปถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และความมั่นคงปลอดภัยด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวข้างต้นควรทำควบคู่ไปกับการรักษาโอกาสในการทำงานของแรงงานไทยด้วยการกำหนดระยะเวลาของวีซ่า กำหนดรายได้ขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งต้องไม่มีแรงงานในประเทศในตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งงานแรงงานในประเทศ อีกทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อแรงงานในประเทศได้ทันท่วงที และสำคัญที่สุดคือการยกระดับแรงงานในประเทศให้สามารถแข่งขันได้และมีนโยบายที่ดึงแรงงานไทยที่มีทักษะที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาทำงานช่วยประเทศตนเอง ดังเช่นตัวอย่างในประเทศอินเดียและจีน
BOT. (2020). “Foreign direct investment classified by country.” Available at https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=855&language=th
Grossmann, V. (2016). “How immigration affects investment and productivity in host and home countries.” IZA World of Labor.
Jiajia Li, A. (2020). “The invisible during the pandemic.” Available at: https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/invisible-during-pandemic
McLaughlan, G., & Salt, J. (2002). “Migration policies towards highly skilled foreign workers
OECD.” (2016). “Database on Immigrants in OECD and non-OECD Countries: DIOC.” Available at http://www.oecd.org/els/mig/dioc.htm
Singapore, Ministry of Manpower. (2019). “Statistical Table: Labor Force.” Available at https://stats.mom.gov.sg/Pages/LabourForceTimeSeries.aspx
S-Curve Hub. (2020). อุตสาหกรรม S-Curve. เข้าถึงได้จาก https://www.scurvehub.com/about
กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2017). รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายรายงาน. เข้าถึงได้จาก https://www.ipthailand.go.th/th/
กระทรวงแรงงาน. (2020). การขออนุญาตทำงาน. เข้าถึงได้จาก https://www.mol.go.th/
พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ, และพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์, (2018). เมื่อโลกกำลังทำสงครามแย่งชิงคนเก่ง ประเทศไทยทำอะไรอยู่. เข้าถึงได้จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน. (2015). มารู้จักยางยักษ์ใหญ่ของมณฑลซานตง “Linglong Tyres”. เข้าถึงได้จาก https://thaibizchina.com/
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (2019). สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน กรกฎาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.doe.go.th/
- ไม่นับรวมแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชา ไร้สัญชาติ และชนกลุ่มน้อย เนื่องจากลักษณะงานของแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างใช้ทักษะพื้นฐาน ↩
- แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายมาจากจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (2019) ↩
- สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความฉบับแรก (เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 1 แรงงงานทักษะต่ำ)↩
- สิงคโปร์ไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทักษะสูงโดยตรง จึงประมาณการตัวเลขจาก Singapore, Ministry of Manpower (2019) และ Jiajia Li A. (2020)↩
- ในส่วนของภาคการศึกษาพบว่ามีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน โดยเฉพาะครูสอนภาษา แต่หากพิจารณาในแง่จำนวนแรงงานยังมีไม่มากนัก และส่วนหนึ่งที่เห็นว่าสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวต่อคนไทยค่อนข้างสูงอาจเนื่องมาจากครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบประกันสังคม↩
- ค่าเฉลี่ยของจำนวนแรงงานต่างด้าวในแต่ละธุรกิจอยู่ที่ 4,000 คน และค่าเฉลี่ยของสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงต่อแรงงานทักษะสูงทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 3↩
- First S-Curve เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (next-generation automotive) 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (agriculture and biotechnology) และ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (food for the future) จากข้อมูล S-Curve Hub (2020)↩
- New S-Curve เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (new growth engines) ของประเทศ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (aviation and logistics) 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (biofuels and biochemicals) 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) และ 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)↩
- การแบ่งในระดับนี้ ยังไม่สามารถแยกระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ชัดเจนนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว↩