Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/63560530bb28a88aad9e44faf05b3262/e9a79/cover.png
3 March 2021
202116147296000001614729600000

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลกับความพร้อมของครัวเรือนไทยผ่านการศึกษา “Digital literacy”

ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับว่า คนไทยมีทักษะด้าน Digital literacy มากน้อยเพียงใด
Roongkiat Ratanabanchuen
ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลกับความพร้อมของครัวเรือนไทยผ่านการศึกษา “Digital literacy”
excerpt

ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literacy) ว่าจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด บทความนี้จึงเสนอวิธีการวัด Digital literacy เพื่อเป็นดัชนีกลางในการประเมินศักยภาพของครัวเรือนไทยในยุคดิจิทัล จากการวิจัยพบว่าครัวเรือนไทยบางส่วน (ประมาณร้อยละ 18) ยังมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ต่ำ (Digital illiterate) ซึ่งกลุ่มประชากรดังกล่าวมักจะตกงานหรือทำงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นปัจจัยใหม่ที่อาจซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและความมั่งคั่งปรับสูงขึ้น นโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น ส่งผลต่อรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง บทความวิจัยนี้จึงมุ่งหวังที่จะศึกษาความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการวัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ของครัวเรือนไทย ซึ่ง digital literacy เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย OECD (2019) ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเติบโตที่แท้จริงของ GDP ในกลุ่มประเทศ ASEAN ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น การทำการเกษตรตามฤดูกาล การมีกระบวนการผลิตด้วยแรงงานคน และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งหากประเทศไทยและกลุ่มประเทศ ASEAN เพียงแค่ต้องการจะรักษาอัตราการเติบโตไว้ในอัตราที่ใกล้เคียงเดิม การสนับสนุนธุรกิจแบบดั้งเดิมจะไม่เพียงพออีกต่อไป แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้วิจัยได้นิยามระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ว่า จะต้องมีองค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 ประการดังแสดงในภาพที่ 1 ได้แก่

  1. digital infrastructure หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายโทรคมนาคมที่พร้อมสำหรับการสื่อสารและดำเนินธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล
  2. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ และ
  3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการผลิต
ภาพที่ 1 นิยามระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

นิยามระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับความสามารถของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ผู้ประกอบการ และภาครัฐในการมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ทุกภาคส่วนจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงที่สุด

บทความวิจัยนี้จึงมุ่งเป้าในการวัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับครัวเรือน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการบริโภค การเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงศักยภาพของครัวเรือนในการประกอบธุรกิจด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างมากต่อวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (micro and small enterprises) ยกตัวอย่างเช่น e-commerce ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางแบบดั้งเดิม และสามารถขายสินค้าในลักษณะไร้พรมแดน ซึ่งบริการต่าง ๆ ที่เสนอโดย e-commerce platform ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “everything-as-a-service model” ที่ผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินลงทุนสูงในการสร้างหรือซื้อปัจจัยเพื่อการประกอบธุรกิจบางด้าน แต่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจผ่านการเช่าใช้บริการหรือเช่าใช้สินทรัพย์บางประเภทได้ทันทีจาก service providers ต่าง ๆ

งานวิจัยหลายฉบับต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก จนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่าง ๆ สามารถเอาชนะกับดักของรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ได้ในอนาคต (ERIA-OECD, 2014; Bain & Company, 2018; Deloitte, 2018).

การชี้วัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลนั้น เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก ซึ่งกรอบแนวคิดของการวัด digital literacy นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกจากความพยายามในการวัดความสามารถด้านเทคโนโลยีในช่วงปี ค.ศ. 1980 ที่เพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ชื่อทักษะในอดีตจึงอาจเรียกว่า ICT fluency, digital competency หรือ computer literacy เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนหลอมรวมเข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจอย่างแยกไม่ออก จึงเกิดแนวคิดของการวัด digital literacy แบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น อาทิ Stordy (2015) ที่กล่าวว่า digital literacy หมายถึง “the abilities a person or social group draws upon when interacting with digital technologies to derive or produce meaning, and the social, learning and work-related practices that these abilities are applied to” ขณะที่ Ng (2012) เสนอว่า digital literacy คือทักษะร่วมระหว่าง 1) technical skills 2) cognitive skills และ 3) social-emotional skills จน Spengler (2015) ต่อยอดแนวคิดว่า digital literacy คือการรวมกันของ 3 ทักษะได้แก่ 1) computer literacy 2) media literacy และ 3) information literacy

จากนิยามและกรอบแนวคิดที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทำให้ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการวัด digital literacy เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถนำไปขยายผลเพื่อวัดระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยได้ในวงกว้าง ซึ่งองค์ประกอบย่อย 4 ปัจจัยที่จะต้องมีการวัดเพื่อสร้างเป็นดัชนี digital literacy ประกอบด้วย

  1. digital technology access ซึ่งเป็นการวัดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์
  2. digital skills ที่มุ่งเน้นวัดทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
  3. digital knowledge ซึ่งวัดความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล และ
  4. cyber risk awareness ที่ประเมินการตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัล

การศึกษาระดับ digital literacy ของครัวเรือนไทยจึงเริ่มต้นจากการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธี stratified sampling ตามมิติของอายุเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุม 4 เจเนเรชั่นสำคัญ อันได้แก่ Baby boomers, Gen-X, Millennials และ Gen-Z นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างจะมีการกระจายตัวตามเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 500 กลุ่มตัวอย่าง ดังแสดงในภาพที่ 2 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างภายใต้การศึกษามีความครอบคลุมทั้งในมิติของกลุ่มอาชีพ ระดับการศึกษา และระดับรายได้

ภาพที่ 2 โครงสร้างการสุ่มตัวอย่าง

โครงสร้างการสุ่มตัวอย่าง

จากการศึกษาพบว่า ภาพรวมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology access) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน smartphone โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 เครื่องต่อครัวเรือน รองลงมาคือ laptop/notebook ที่ 1 เครื่อง นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับรายได้ ดังแสดงในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของครัวเรือนไทย

การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของครัวเรือนไทย

ในส่วนของทักษะด้านดิจิทัล (digital skills) พบว่าเจเนเรชั่น Millennials มีทักษะที่สูงกว่า Gen-Z ในทุกมิติ ยกเว้นมิติของการใช้ graphic software ดังแสดงในภาพที่ 4 สะท้อนให้เห็นว่าทักษะด้านดิจิทัลอาจไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติได้ แต่จะต้องอาศัยระบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะดังกล่าว สาเหตุที่ Gen-Z มีทักษะด้าน graphic software ที่สูง อาจเป็นผลจากความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่มักจะมีอาชีพในอุดมคติเป็น Blogger, Youtuber หรือ Influencer เป็นต้น

ภาพที่ 4 ระดับทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยจำแนกตามเจเนเรชั่นและรายได้

ระดับทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยจำแนกตามเจเนเรชั่นและรายได้

การเกิดขึ้นของ “digital divide” หรือความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลค่อนข้างเห็นได้ชัดในประเทศไทย เพราะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจเนเรชั่น Baby boomer และรายได้น้อยมีทักษะดิจิทัลที่ต่ำมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่น นอกจากนี้ หากจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามมิติของอาชีพจะค้นพบผลที่น่าสนใจว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพพื้นฐานต่าง ๆ เช่น แม่บ้าน คนขับรถ หรือคนที่ไม่มีงานทำเพราะตกงาน จะเป็นกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัลต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น ดังแสดงในภาพที่ 5 สะท้อนให้เห็นว่าทักษะดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประเภทอาชีพและโอกาสด้านรายได้ในอนาคต

ภาพที่ 5 ระดับทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยจำแนกตามอาชีพ

ระดับทักษะด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยจำแนกตามอาชีพ

ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอีกมิติคือ ด้านความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (digital knowledge) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Gen-Z มักจะประเมินตนเอง (self-assessment) ว่ามีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่สูง แต่เมื่อมีการทดสอบด้วยข้อสอบจะพบว่าคะแนนที่ได้จริงกลับลดต่ำลงมาก ดังแสดงในภาพที่ 6 ความมั่นใจที่ผิดที่คิดว่าตนเองมีความรู้ที่มากเพียงพอแล้วเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ผู้วางนโยบายจะต้องหากลไกและสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กรุ่นใหม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ภาพที่ 6 ระดับความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

ระดับความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

เมื่อวิเคราะห์ที่การตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ (cyber risk awareness) พบว่า เจเนเรชั่น Millennials มีวุฒิภาวะและความพร้อมในมิติของความเสี่ยงในโลกดิจิทัลที่สูงกว่า Gen-Z ในขณะที่ Gen-Z มีการตระหนักรับรู้ใกล้เคียงกับ Gen-X ดังแสดงในภาพที่ 7 ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องความเสี่ยงทาง Cyber ไม่ว่าจะเป็นมิติของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ควรปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่ควรปล่อยให้เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ

ภาพที่ 7 ระดับการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

ระดับการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทย

ข้อมูลจากการสำรวจที่มีการฉายภาพข้างต้น เป็นข้อมูลบางส่วนที่มาจากคำถามย่อยที่พัฒนาเพื่อวัด digital literacy ทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย เนื่องจากในแต่ละองค์ประกอบย่อยมีการวัดด้วยคำถามย่อยหลายคำถาม การสร้างเกณฑ์กลางหรือตัวแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นคะแนนหรือดัชนีที่วัด digital literacy จึงใช้กระบวนการทางสถิติที่เรียกว่า Principle Component Analysis (PCA) เพื่อรวบรวมคำถามย่อยต่าง ๆ ให้เป็นค่าดัชนีที่สะท้อนคะแนนในแต่ละองค์ประกอบย่อย

ภายหลังการทำ PCA ของทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย จะได้คะแนนในรูปแบบ Z-score (ตัวแปรมาตรฐานที่มีการกระจายตัวแบบปกติ) เมื่อหาความสัมพันธ์ของคะแนนทั้ง 4 องค์ประกอบย่อยได้ผลดังตารางที่ 1 พบว่า มิติของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมีค่าสหสัมพันธ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีที่วัดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลอื่น ๆ ดังนั้น นโยบายที่สนับสนุนให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลในต้นทุนที่ถูกไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ผู้วางนโยบายควรให้ความสำคัญ แต่เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นของการสร้างความพร้อมด้านดิจิทัลของประเทศเท่านั้น

ตารางที่ 1 ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยของ digital literacy

ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยของ digital literacy

เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย cross-sectional regression เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับของ digital literacy ในแต่ละมิติ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเจเนชั่น Millennials จะมีคะแนนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญโดดเด่นในทุกมิติของ digital literacy เมื่อเทียบกับเจเนเรชั่น Baby boomer ที่ตกงานและมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูงกว่า 500,000 บาทต่อปี และประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มที่เป็นผู้บริหารและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ต่างเป็นกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านดิจิทัล และการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านดิจิทัลที่โดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อให้สามารถฉายภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ครัวเรือนไทยลักษณะใดจะมีระดับ digital literacy ที่สูงหรือต่ำ งานวิจัยฉบับนี้จึงได้ทำการวิเคราะห์จำแนกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีทางสถิติที่เรียกว่า K-means cluster analysis เพื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามระดับคะแนน digital literacy ทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย

ผลของการวิเคราะห์ด้วย K-means clustering ทำให้สามารถจำแนกกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. Digital fluency
  2. Digital neutral และ
  3. Digital illiterate

โดยผลของคะแนนในแต่ละองค์ประกอบย่อยได้ผลดังตารางที่ 2 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 19 มีระดับ digital literacy ที่ต่ำ

ตารางที่ 2 ผลการจำแนกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี K-means clustering

ผลการจำแนกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี K-means clustering

เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย correspondence analysis เพื่อประเมินลักษณะเด่นของแต่ละกลุ่ม clusters ได้ผลดังตารางที่ 3 ซึ่งกลุ่ม Digital fluency จะเป็นกลุ่มที่สัมพันธ์กับเจเนเรชั่น Millennial เป็นหลัก ประกอบอาชีพในกลุ่ม professionals และมีรายได้สูงกว่า 5 แสนบาทต่อปี ในขณะที่กลุ่ม Digital neutral จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยเรียน หรือหากทำงานก็จะมีรายได้ปานกลาง

ตารางที่ 3 ผลการวิเคราะห์ Correspondence analysis

ผลการวิเคราะห์ Correspondence analysis

กลุ่ม Digital illiterate ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากังวลว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์กับ Gen-X และ Baby boomers ไม่ได้ทำงานเพราะไม่สามารถหางานได้ และมีรายได้ที่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่ม Digital illiterate ได้รับผลกระทบไปบ้างแล้วจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลในประเทศไทยได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ถึงแม้ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ใช่ความท้าทายหลัก แต่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ตกงาน หรือประกอบอาชีพพื้นฐานจะประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาขีดความสามารถ และรายได้หากขาดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลแบบองค์รวมที่เหมาะสม

ข้อสรุป

งานวิจัยฉบับนี้พบว่า สมมติฐานที่ทักษะด้านดิจิทัลจะสามารถพัฒนาขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการสนับสนุนให้ประชากรเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เป็นสมมติฐานที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า จะมีความเหมาะสมและสามารถนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การส่งเสริม digital literacy จะต้องให้ความสำคัญอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐานได้ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมักจะถูกใช้ไปเพื่อความบันเทิง และเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่ทักษะดิจิทัลหรือการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านข้อมูลดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น นโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่ทำงานในกลุ่มใช้แรงงาน ได้มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่งเช่นการทำเกษตรกรรม การหัตถกรรม หรือการประติมากรรมจึงไม่ใช่ทักษะความรู้เดียวที่ควรส่งเสริม แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ควรจัดสรรงบประมาณและร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างเข้มข้นพร้อมกันไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

Bain & Company. (2018). ADVANCING TOWARDS ASEAN DIGITAL INTEGRATION Empowering SMEs to Build ASEAN’s Digital Future. Bain & Co.

Deloitte. (2018). Everything as a Service A new era of value delivery. Monitor Deloitte.

ERIA-OECD. (2014). ASEAN SME Policy Index 2014: Towards competitive and innovative ASEAN SMEs. Jakarta: Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA).

Ng, W. (2012). Can we teach digital natives digital literacy? . Computers and Education, 59(3), 1065–1078.

OECD. (2019). Southeast Asia Going Digital: Connecting SMEs. OECD.

Spengler, S. (2015). Educators’ Perceptions of a 21st Century Digital Literacy Framework. Doctoral Dissertation, Walden University.

Stordy, P. (2015). Taxynomy of literacies. Journal of Documentation 71(3), 456–476.

Roongkiat Ratanabanchuen
Roongkiat Ratanabanchuen
Chulalongkorn Business School
Topics: Economics of EducationWelfare Economics
Tags: digital dividedigital economydigital literacy
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email