Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Latest discussion Paper
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Latest aBRIDGEd
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
Latest PIER Economic Seminar
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
Latest PIER Research Exchange
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
Latest announcement
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/0f552aac45660f7a9081b7a138144fbd/e9a79/cover.png
21 June 2022
20221655769600000

เจาะลึกโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านรูปแบบตลาดที่ธุรกิจเผชิญ

การเข้าใจการแข่งขันและแนวโน้มการเติบโตที่ต่างกันของแต่ละตลาดจะนำไปสู่การออกนโยบายช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด
เจาะลึกโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านรูปแบบตลาดที่ธุรกิจเผชิญ
excerpt

บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในมิติของสภาพตลาดที่ภาคธุรกิจเผชิญ โดยจัดกลุ่มรูปแบบตลาดของ 186 อุตสาหกรรมใน 77 จังหวัดโดยพิจารณาใน 3 มิติ คือ (1) อัตราการเข้าของธุรกิจ (2) อัตราการออกของธุรกิจ (3) อำนาจตลาดของธุรกิจ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสภาพการแข่งขันและแนวโน้มการเติบโต และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนนโยบายช่วยเหลือหรือส่งเสริมธุรกิจได้ตรงจุดมากขึ้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด 19 โดยในช่วงระหว่างปี 2549 และปี 2559 หลายอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่เผชิญกับภาวะตลาดซบเซา ตลาดผู้ขายน้อยราย และตลาดผูกขาดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย และแนวทางแก้ไขที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปในทั้งสองด้าน

สถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยอย่างมาก สะท้อนจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2563 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมหดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเห็นการหดตัวในภาคเกษตร 3.5% และในอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตร 6.4% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อาทิ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารหดตัว 37.5% ธุรกิจขนส่งหดตัว 22.9% ธุรกิจกิจกรรมการบริหารและการสนับสนุนหดตัว 22% ธุรกิจด้านศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการหดตัว 13% ประกอบกับข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2563 พบว่าการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่หดตัวมากถึง 11.4%

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยนั้นไม่ได้เพิ่งประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด 19 เท่านั้น แต่ได้เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน ทั้งปัญหาทางด้านอุปสงค์และทางด้านอุปทาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสภาพตลาดในหลายอุตสาหกรรมในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านรูปแบบตลาดที่ธุรกิจเผชิญ โดยวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2560 จำนวน 816,192 ธุรกิจ บทความนี้จัดกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยในแต่ละปีตามขอบเขตของตลาด โดยนิยามว่าธุรกิจต่าง ๆ อยู่ในตลาดเดียวกันหากผลิตสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมเดียวกัน1 และจดทะเบียนในจังหวัดเดียวกัน และผลการศึกษาที่นำเสนอในบทความนี้มาจากตลาดของ 186 อุตสาหกรรมย่อยใน 77 จังหวัด2

ถึงแม้ว่าการศึกษานี้จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่ได้สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายข้อของภาคธุรกิจไทย โดยข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งของข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานี้คือจังหวัดที่ธุรกิจจดทะเบียนอาจไม่ใช่จังหวัดที่ธุรกิจประกอบกิจการ รวมถึงธุรกิจอาจจะประกอบกิจการในหลายจังหวัด อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่จดทะเบียนนอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่จะประกอบกิจการในจังหวัดนั้น ๆ ส่วนข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือการจำแนกตลาดตามหมวดหมู่อุตสาหกรรมและจังหวัดอาจไม่สะท้อนถึงขอบเขตของตลาดที่เป็นจริง โดยเฉพาะสินค้าที่มีการค้าขายข้ามเขตจังหวัด แต่การวิเคราะห์ผลการศึกษานี้ร่วมกับงานศึกษาอื่น ๆ สามารถช่วยเติมเต็มองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างภาคธุรกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น

อัตราการเข้า อัตราการออก และอำนาจตลาดของธุรกิจไทย

ผลการศึกษาอัตราการเข้า อัตราการออก และอำนาจตลาดของธุรกิจไทย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยหลายประการ

  1. ตลาดสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเข้าของธุรกิจรายใหม่ลดลง แต่มีอัตราการออกของธุรกิจเพิ่มขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งแต่ละจุดแสดงอัตราการเข้าและอัตราการออกของธุรกิจรายตลาด โดยแกนนอนแสดงอัตราการเข้าและออกเฉลี่ยในช่วงปี 2549–51 แกนตั้งแสดงอัตราการเข้าและออกเฉลี่ยในช่วงปี 2557–59 โดยจุดที่อยู่ต่ำกว่า (สูงกว่า) เส้น 45 องศาหมายถึงมีอัตราการเข้าหรือออกในช่วงปี 2557–59 ต่ำกว่า (สูงกว่า) ในช่วงปี 2549–51 อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดจำนวนหนึ่งที่มีอัตราการเข้าของธุรกิจสูงขึ้นในช่วงหลัง เช่น ตลาดในอุตสาหกรรมขายปลีกแบบไม่มีหน้าร้านหรือการขายออนไลน์ในทุกภูมิภาค อุตสาหกรรมผลิตชาและกาแฟโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนตลาดที่มีอัตราการออกของธุรกิจสูงได้แก่ ตลาดในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเล การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า การผลิตเครื่องกีฬา การหล่อเหล็กและเหล็กกล้า การตัด ขึ้นรูป และการแต่งสำเร็จหิน การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การผลิตสตาร์ชและผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช เป็นต้น
รูปที่ 1: อัตราการเข้าและอัตราการออกของธุรกิจรายตลาดในช่วงปี 2549–51 และปี 2557–59

อัตราการเข้าและอัตราการออกของธุรกิจรายตลาดในช่วงปี 2549–51 และปี 2557–59

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: ธุรกิจในตลาดเดียวกัน หมายถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนนิติบุคคลในจังหวัดเดียวกัน
  1. อำนาจตลาดของธุรกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ โดยหากเรานิยามอำนาจตลาดว่าคือ ความสามารถของธุรกิจในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการของตนเอง ซึ่งคำนวณได้จากสัดส่วนระหว่างราคาขายและต้นทุนหน่วยสุดท้าย หรือ markup (De Loecker & Warzynski, 2012) รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้วอำนาจตลาดของธุรกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น3 และมีความแตกต่างในเชิงพื้นที่
รูปที่ 2: การเปลี่ยนแปลงของอำนาจตลาดเฉลี่ยและการกระจายตัวของอำนาจตลาดในเชิงพื้นที่

การเปลี่ยนแปลงของอำนาจตลาดเฉลี่ยและการกระจายตัวของอำนาจตลาดในเชิงพื้นที่

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: อำนาจตลาดวัดจาก markup โดยภาพซ้ายแสดง markup เฉลี่ยจากทุกธุรกิจในแต่ละปี ภาพขวาแสดง markup เฉลี่ยจากทุกธุรกิจในแต่ละจังหวัดในปี 2560 ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยคำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักด้วยต้นทุน
  1. ตลาดที่ธุรกิจมีอำนาจตลาดสูงมักเป็นตลาดในภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะตลาดของการบริการอาหารและที่พักแรมระยะสั้นที่มีอำนาจตลาดสูงในทุกภูมิภาค ส่วนตลาดอื่น ๆ ที่ธุรกิจมีอำนาจตลาดสูงในทุกภูมิภาคเช่นกันได้แก่ ตลาดสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำและทางบก การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ การโทรคมนาคมแบบไร้สาย การจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังพบว่ามีตลาดในบางอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงกว่าตลาดในอุตสาหกรรมอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง และตลาดเภสัชภัณฑ์ในภาคเหนือ ตลาดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และตลาดในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลาดในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเส้นใยประดิษฐ์ในภาคใต้ เป็นต้น

ธุรกิจในแต่ละจังหวัดเผชิญตลาดรูปแบบใด

ตลาดของอุตสาหกรรมย่อยในแต่ละจังหวัดในแต่ละปี สามารถแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบ ตามอัตราการเข้า อัตราการออก และอำนาจตลาดของธุรกิจเฉลี่ยในแต่ละตลาด ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งสะท้อนโครงสร้างตลาดสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจไทย

ตารางที่ 1: การจัดกลุ่มรูปแบบตลาด
อัตราการเข้าของธุรกิจสูงอัตราการเข้าของธุรกิจต่ำ
อัตราการออกของธุรกิจสูงA1 อำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำ: ตลาดแข่งขันC1 อำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำ: ตลาดดาวร่วง
A2 อำนาจตลาดเฉลี่ยสูง: ตลาดกึ่งแข่งขันC2 อำนาจตลาดเฉลี่ยสูง: ตลาดผู้ขายน้อยราย
อัตราการออกของธุรกิจต่ำB1 อำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำ: ตลาดเติบโตได้D1 อำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำ: ตลาดซบเซา
B2 อำนาจตลาดเฉลี่ยสูง: ตลาดดาวรุ่งD2 อำนาจตลาดเฉลี่ยสูง: ตลาดผูกขาด
หมายเหตุ: 1. ขอบเขตของตลาดนิยามโดยสถานที่ตั้งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (อุตสาหกรรม x จังหวัด) 2. เราจัดกลุ่มตลาดเป็นตลาดที่มีอัตราการเข้า (ออก) ของธุรกิจสูงและต่ำ โดยใช้ค่ามัธยฐานของอัตราการเข้า (ออก) ของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม 3. อำนาจตลาดเฉลี่ยของแต่ละตลาดในแต่ละปี (อุตสาหกรรม x จังหวัด x ปี) คำนวณจากค่าเฉลี่ยของ markup ของทุกธุรกิจในตลาดนั้น ๆ ในปีนั้น ๆ ถ่วงน้ำหนักด้วยต้นทุน 4. เราจัดกลุ่มตลาดเป็นตลาดที่มีอำนาจตลาดสูงและต่ำ โดยใช้ค่ามัธยฐานของอำนาจตลาดของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม
  • ตลาดในกลุ่ม A เป็นตลาดที่มีทั้งอัตราการเข้าและอัตราการออกของธุรกิจที่สูง หรือเป็นตลาดที่มีพลวัต (dynamism) สูง อย่างไรก็ตาม ตลาดในกลุ่มนี้มีความแตกต่างกัน โดยกลุ่ม A1 เป็นกลุ่มตลาดที่มีอำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของ ตลาดแข่งขัน ที่การเข้าและออกของธุรกิจที่ง่ายทำให้ธุรกิจที่ประกอบกิจการในตลาดนี้ไม่สามารถทำกำไรที่สูงได้ ในขณะที่ตลาดในกลุ่ม A2 มีอำนาจตลาดเฉลี่ยสูง จึงอาจจัดอยู่ในรูปแบบ ตลาดกึ่งแข่งขัน ที่ถึงแม้ว่าธุรกิจสามารถเข้าและออกได้ง่าย แต่ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ยังสามารถทำกำไรได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตแต่ละรายมีความแตกต่างบางประการและไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (differentiated products)

  • ตลาดในกลุ่ม B มีอัตราการเข้าของธุรกิจที่สูงและมีอัตราการออกของธุรกิจที่ต่ำ จึงเป็นตลาดที่ยังมีการขยายตัว โดยกลุ่ม B1 เป็นกลุ่มตลาดเติบโตได้ ที่มีการขยายตัวจากผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาในตลาดเพิ่ม แม้ว่าธุรกิจทำกำไรได้ไม่สูงมากและมีอำนาจตลาดเฉลี่ยที่ต่ำก็ตาม ในขณะที่ตลาดในกลุ่ม B2 เป็นตลาดที่มีอำนาจตลาดเฉลี่ยสูง ซึ่งอาจมาจากความต้องการของตลาดที่ยังมากกว่าความสามารถในการผลิตของธุรกิจที่มีอยู่มาก และดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามา รูปแบบตลาดนี้จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ตลาดดาวรุ่ง

  • ตลาดในกลุ่ม C มีอัตราการเข้าของธุรกิจต่ำและอัตราการออกของธุรกิจสูง จึงเป็นตลาดที่จำนวนผู้ผลิตมีแนวโน้มลดลง* ซึ่งแม้ว่าจำนวนธุรกิจในตลาดของกลุ่ม C1 จะลดลง ธุรกิจที่เหลืออยู่ยังไม่สามารถทำกำไรที่สูงได้และมีอำนาจตลาดต่ำ สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการสินค้าและบริการในตลาดนี้ที่ลดลง ซึ่งเป็นลักษณะของ ตลาดดาวร่วง ส่วนตลาดในกลุ่ม C2 จำนวนธุรกิจในตลาดมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตที่เหลืออยู่ในตลาดมีอำนาจตลาดเฉลี่ยที่สูง สะท้อนว่าอาจมีผู้ผลิตบางรายที่มีอำนาจตลาดสูงจนสามารถกีดกันไม่ให้ธุรกิจรายใหม่เข้ามาและบีบให้คู่แข่งออกจากตลาดได้ ตลาดในกลุ่มนี้จึงสอดคล้องกับ ตลาดผู้ขายน้อยราย

  • ตลาดในกลุ่ม D มีทั้งอัตราการเข้าและอัตราการออกของธุรกิจต่ำ หรือเป็นตลาดที่มีพลวัตต่ำ โดยธุรกิจในตลาดกลุ่ม D1 ยังมีอำนาจตลาดเฉลี่ยต่ำด้วย นั้นคือ ตลาดอยู่ในสภาวะนิ่ง มีการเข้าออกของธุรกิจน้อยในขณะที่ธุรกิจที่ยังอยู่ในตลาดก็ไม่มีความสามารถทำกำไรได้มากนัก เรียกได้ว่าตลาดในกลุ่มนี้เป็น ตลาดซบเซา ส่วนธุรกิจในตลาดกลุ่ม D2 มีอำนาจตลาดสูง ไม่ออกจากตลาด และธุรกิจรายใหม่เข้ามาแข่งขันน้อย ซึ่งอาจมาจากการที่มีบางธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่มีกำไรสูงสามารถกีดกันการเข้ามาแข่งขันของธุรกิจรายใหม่ ทำให้ตลาดกลุ่มนี้มีลักษณะสอดคล้องกับ ตลาดผูกขาด

ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของภาคธุรกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งสะท้อนได้จากรูปแบบตลาดที่ธุรกิจไทยเผชิญตามการจำแนกรายอุตสาหกรรมย่อย 187 อุตสาหกรรมในแต่ละ 77 จังหวัดในแต่ละปี ผลการศึกษาที่น่าสนใจบางประการ ได้แก่

  1. สัดส่วนตลาดสินค้าและบริการในประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นตลาดซบเซา ตลาดดาวร่วง ตลาดผู้ขายน้อยราย และตลาดผูกขาดมากขึ้นตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด 19 ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งเปรียบเทียบโครงสร้างตลาดในประเทศไทยระหว่างปี 2549 และ 2559 โดยแบ่งตามกลุ่มต่าง ๆ 8 กลุ่มข้างต้น ทั้งนี้ สัดส่วนตลาดซบเซา เพิ่มขึ้นจากตลาดในกลุ่มธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป การขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ธุรกิจผลิตปุ๋ยเคมี ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนตลาดผู้ขายน้อยราย เพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารทางบก การโฆษณา ธุรกิจขายส่ง สัดส่วนตลาดดาวร่วง เพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดของธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง การก่อสร้างอาคาร การก่อสร้างถนนและทางรถไฟ การขนส่งผู้โดยสารทางบก และสัดส่วนตลาดผูกขาด เพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจร้านขายปลีกคอมพิวเตอร์ การผลิตเครื่องจักร การขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งเพชรพลอย ร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์

  2. ประมาณ 1 ใน 4 ของตลาดที่เกิดใหม่มีรูปแบบเป็นตลาดผูกขาด นอกจากนี้ รูปที่ 4 ยังแสดงให้เห็นว่า ยังพบว่าตลาดในประเทศไทยมีการเปลี่ยนรูปแบบค่อนข้างมาก โดยตลาดที่รูปแบบในปี 2559 เหมือนกับรูปแบบในปี 2549 มีไม่ถึงร้อยละ 15

รูปที่ 3: สัดส่วนรูปแบบตลาดในปี 2549 และปี 2559

สัดส่วนรูปแบบตลาดในปี 2549 และปี 2559

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: ธุรกิจในแต่ละตลาด หมายถึง ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนนิติบุคคลในจังหวัดเดียวกัน
รูปที่ 4: การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบตลาดระหว่างปี 2549 และปี 2559

การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบตลาดระหว่างปี 2549 และปี 2559

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: ขอบเขตของตลาดคือสถานที่ตั้งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจในตลาดเดียวกันหมายถึงธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลในจังหวัดเดียวกันและอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวนตลาดทั้งสิ้น 14,322 ตลาด (186 อุตสาหกรรม x 77 จังหวัด) ตลาดที่ไม่มีข้อมูลหมายถึงในจังหวัดหนึ่ง ๆ ไม่มีธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เลย
  1. แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายอุตสาหกรรมมีการขยายสู่ตลาดในภูมิภาคมากขึ้น แต่ตลาดเหล่านี้จำนวนมากเป็นตลาดที่มีอัตราการเข้าของธุรกิจต่ำ รูปที่ 5 แสดงสัดส่วนรูปแบบตลาดต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค พบว่ารูปแบบตลาดในกลุ่มที่มีอัตราการเข้าสู่ตลาดต่ำ (สีแดงและสีเหลือง) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในขณะที่รูปแบบตลาดในกลุ่มที่มีอัตราการเข้าสู่ตลาดสูง (สีเขียว) ลดลง ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่หนังสือ การขายส่งเพชรพลอย การขนส่งทางบก การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา ร้านขายปลีกคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิงยานยนต์ เป็นต้น

    สำหรับตลาดที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่า สัดส่วนตลาดแข่งขันที่ลดลงมากที่สุดอยู่ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร นครสวรรค์ ลพบุรี หนองคาย สัดส่วนตลาดซบเซาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในจังหวัด อุตรดิตถ์ ชลบุรี มหาสารคาม กระบี่ เพชรบูรณ์ สัดส่วนตลาดผู้ขายน้อยราย เพิ่มขึ้นมากที่สุดในจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด กระบี่ พิจิตร และสัดส่วนตลาดผูกขาดเพิ่มขึ้นมากที่สุดในจังหวัด อุตรดิตถ์ สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา แม่ฮ่องสอน พิจิตร ตามลำดับ

รูปที่ 5: สัดส่วนรูปแบบตลาดรายภาคในปี 2549 และปี 2559

สัดส่วนรูปแบบตลาดรายภาคในปี 2549 และปี 2559

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: ขอบเขตของตลาดคือสถานที่ตั้งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจในตลาดเดียวกันหมายถึงธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลในจังหวัดเดียวกันและอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวนตลาดทั้งสิ้น 14,322 ตลาด (186 อุตสาหกรรม x 77 จังหวัด) ตลาดที่ไม่มีข้อมูลหมายถึงในจังหวัดหนึ่ง ๆ ไม่มีธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เลย

สำรวจตลาดของสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย

เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งสะท้อนจากรูปแบบตลาดของอุตสาหกรรมผลิตและบริการสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะธุรกิจขายปลีกที่มีแนวโน้มเป็นตลาดผูกขาดและตลาดผู้ขายน้อยรายมากขึ้นในช่วงระหว่างปี 2549 และปี 2559 ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเติบโตได้ในช่วงเดียวกัน แต่หลายธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานเริ่มเผชิญกับตลาดผู้ขายน้อยรายและตลาดผูกขาดมากขึ้น

  1. ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเป็นตลาดผูกขาดและตลาดผู้ขายน้อยรายมากขึ้น รูปที่ 6 แสดงสัดส่วนรูปแบบตลาดรายอุตสาหกรรมในปี 2549 และปี 2559 โดยพบว่าธุรกิจที่มีสัดส่วนตลาดผูกขาดและตลาดผู้ขายน้อยรายเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยร้านขายปลีกสินค้าทั่วไป ร้านขายปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และร้านขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้องในหลายอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งประเทศและภูมิภาค
รูปที่ 6: สัดส่วนรูปแบบตลาดรายอุตสาหกรรม

สัดส่วนรูปแบบตลาดรายอุตสาหกรรม

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย จากข้อมูลงบการเงินของธุรกิจรายนิติบุคคล กระทรวงพาณิชย์หมายเหตุ: ขอบเขตของตลาดคือสถานที่ตั้งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจในตลาดเดียวกันหมายถึงธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลในจังหวัดเดียวกันและอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวนตลาดทั้งสิ้น 14,322 ตลาด (186 อุตสาหกรรม x 77 จังหวัด) ตลาดที่ไม่มีข้อมูลหมายถึงในจังหวัดหนึ่ง ๆ ไม่มีธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เลย
  1. ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 ภาพรวมของอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่พักแรมระยะสั้น หรือร้านอาหาร ยังคงเติบโตได้ ดังจะเห็นได้จากแท่งสีเขียวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่พักแรมระยะสั้นที่มีจำนวนสถานประกอบการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยสถานประกอบการที่เปิดใหม่ส่วนมากเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจตัวแทนนำเที่ยวซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เริ่มเผชิญกับภาวะตลาดผูกขาด ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปจากการเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เป็นการท่องเที่ยวด้วยตัวเองและหันมาใช้บริการในรูปแบบ online travel agency (OTA) มากขึ้น ทำให้ธุรกิจตัวแทนนำเที่ยวที่มีสายป่านน้อยในกลุ่มรายกลางและเล็กออกจากตลาดไป เหลือเพียงธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่บางรายที่ยังอยู่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด 19 นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้นักลงทุนจีนมองเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจตัวแทนนำเที่ยว โรงแรม หรือ ร้านอาหาร ซึ่งงานศึกษาของสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย4 พบว่า แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ต มีทุนจีนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะในธุรกิจตัวแทนนำเที่ยว ซึ่งจากการที่ทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายกลางและเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำและไม่มีสายสัมพันธ์กับตัวแทนนำเที่ยวจีนถูกกินส่วนแบ่งตลาดและถูกกีดกันออกจากตลาดไป

  1. อุตสาหกรรมผลิตสุรามีสัดส่วนตลาดผูกขาดมากขึ้น และมีสัดส่วนตลาดแข่งขันและตลาดกึ่งแข่งขันลดลง เนื่องจากอัตราการเข้าของธุรกิจลดลง นอกจากนี้ การผลิตการกระจุกตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (จากแท่งสีเทาในรูปที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้กฎหมายและข้อจำกัดที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายย่อยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งปริมาณขั้นต่ำของการผลิตและภาษีที่สูง อีกทั้งข้อกฎหมายในการปิดกั้นช่องทางการขายและการให้ข้อมูลสินค้าที่เกินไปกว่าการห้ามโฆษณา จนอาจทำให้ผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามาในธุรกิจนี้ได้ยาก5

บทสรุป

ภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 การขยายตัวของตลาดซบเซาและตลาดดาวร่วงที่อัตรากำไรต่ำ ความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง ผู้ผลิตรายใหม่ไม่มีแรงจูงใจในการเข้ามาผลิต สะท้อนถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตช้า นอกจากนี้ ภาคธุรกิจไทยเผชิญกับตลาดผูกขาดและตลาดผู้ขายน้อยรายมากขึ้นในทุกภูมิภาคและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการพัฒนาและขยายตลาดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกทั้งอาจทำให้ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงกว่าไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่รวมถึงตัดโอกาสการเข้าสู่ตลาดใหม่ของธุรกิจใหม่ ตลอดจนสร้างความเหลื่อมล้ำในแต่ละภาคอุตสาหกรรม

นโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจต้องพิจารณาทั้งด้านการผลิตและด้านการแข่งขัน โดยส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ธุรกิจมีการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่ทันยุคสมัย และส่งเสริมการแข่งขันเพื่อให้มีความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการลดต้นทุนในการเข้าและออกจากตลาดของธุรกิจเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ สภาพตลาดของภาคธุรกิจไทยมีความหลากหลายทั้งในมิติเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคจึงไม่อาจละเลยมิติใดมิติหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาทั้งสองมิติควบคู่กันไปพร้อม ๆ กัน

เอกสารอ้างอิง

Apaitan, T., Banternghansa, C., Paweenawat, A., & Samphantharak, K. (2020). Common Ownership, Domestic Competition, and Export: Evidence from Thailand (Discussion Paper No. 140). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
De Loecker, J., & Warzynski, F. (2012). Markups and firm-level export status. American Economic Review, 102(6), 2437–2471.
สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค. (2019). อยู่อย่างไรกับกระแสทุนจีน. ธนาคารแห่งประเทศไทย.

  1. การวิเคราะห์นี้ได้แบ่งสินค้าและบริการตามการจัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมตามระบบ International Standard Industrial Classification หรือ ISIC 4 หลัก↩
  2. การศึกษานี้ไม่รวมอุตสาหกรรมที่มีจำนวนธุรกิจทั้งประเทศเฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 50 ธุรกิจ และไม่รวมธุรกิจที่มีการรายงานรายได้ ต้นทุน สินทรัพย์ต่ำกว่า 30,000 บาท และจำนวนตลาดที่นำมาวิเคราะห์ในการศึกษานี้อาจแตกต่างไปในแต่ละปี เนื่องจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ อาจมีธุรกิจจดทะเบียนไม่ครบทุกจังหวัด↩
  3. ผลการศึกษาของ Apaitan et al. (2020) ซึ่งใช้ข้อมูลชุดเดียวกันกับการศึกษานี้พบว่า การเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่บริษัทเดิมมี markup สูงขึ้น มากกว่าการที่บริษัทที่มี markup สูงมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นหรือบริษัทที่เข้ามาใหม่มี markup สูงกว่าบริษัทเดิม↩
  4. “อยู่อย่างไรกับกระแสทุนจีน” (สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค, 2019)↩
  5. งานสัมมนากับนักวิชาการและผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง ทิศทางและอนาคตธุรกิจสุราไทย โดย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสุรา ณ วันที่ 12 กันยายน 2563↩
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.
Topics: DevelopmentIndustrial Organization
Tags: business dynamismcompetitionmarket powerregional economics
Tanaporn Supphasetthasiri
Tanaporn Supphasetthasiri
Bank of Thailand
Krislert Samphantharak
Krislert Samphantharak
University of California San Diego
Archawa Paweenawat
Archawa Paweenawat
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2023 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email