Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Latest discussion Paper
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Latest aBRIDGEd
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
Latest PIER Economic Seminar
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
Latest PIER Research Exchange
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
Latest announcement
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/1864fb4ef8cb0eac7d44367656fb35fe/41624/cover.jpg
11 January 2023
20231673395200000

การทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ

อัตลักษณ์ทางสังคมเพิ่มการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ
การทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ
excerpt

คณะผู้วิจัยศึกษาพฤติกรรมการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ (voluntary risk sharing) โดยใช้การทดลองในห้องปฏิบัติการทางเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าในทางทฤษฎี การเผชิญกับความผันผวนทางรายได้ที่คล้ายกันจะทำให้แรงจูงใจในการแบ่งปันความเสี่ยงลดลง แต่ในห้องปฏิบัติการกลับพบผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองเผชิญกับความผันผวนทางรายได้ในทิศทางเดียวกัน (positive correlation) ดังนั้น เพื่ออธิบายความขัดแย้งระหว่างผลการทดลองและทฤษฎี คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอทฤษฎีทางเลือกซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้ที่คล้ายคลึงกันจะก่อให้เกิดอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) ซึ่งอาจทำให้ความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น (altruism) สูงขึ้น

การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ

ครัวเรือนและผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ มีแหล่งที่มาของรายได้ต่างกัน และทำให้รายได้มีความไม่แน่นอนแตกต่างกันไป รายได้ของผู้รับจ้างรายวันย่อมมีความไม่แน่นอนสูงกว่าผู้ทำงานประจำ รายได้ของเกษตรกรที่ขึ้นอยู่กับทั้งปริมาณและราคาของผลผลิต มักจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด สภาวะตลาด เป็นต้น แม้ครัวเรือนสามารถลดความไม่แน่นอนด้านรายจ่ายโดยการซื้อประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติภัยได้ แต่ทางเลือกในการลดความเสี่ยงจากรายได้กลับมีไม่มากนัก ในบางชุมชนหรือบางกลุ่มผู้ประกอบอาชีพจึงต้องหันไปใช้วิธีการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจ (voluntary risk sharing) ซึ่งปราศจากสัญญาและข้อผูกมัดใด ๆ แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบของการให้เงิน สิ่งของ ผลผลิตหรือแรงงาน จากผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ในทางทฤษฎี การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในปัจจุบันไม่เชื่อว่าตนจะได้รับความช่วยเหลือในยามที่ตนเองต้องการในอนาคต ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจประสบความสำเร็จได้ จึงประกอบด้วยพฤติกรรมส่วนบุคคลและสภาพแวดล้อม โดยปัจจัยด้านพฤติกรรมนั้นเกิดจากความไว้วางใจระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือเป็นการตอบแทนในอนาคต ส่วนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมคือ สถานการณ์ความเสี่ยงที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเผชิญ เช่น ภัยธรรมชาติ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือโดยสมัครใจนั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้แบ่งปันความเสี่ยงได้รับผลกระทบต่อรายได้ที่แตกต่างกันเท่านั้น เพราะหากทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบเท่ากัน จะไม่มีใครอยู่ในสถานะที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าได้

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์ โดยใช้ข้อมูลจริงจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย ไนจีเรีย เคนยา ฟิลิปปินส์ และจีน1 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการแบ่งปันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริง แต่ข้อมูลที่เก็บมาโดยทั่วไปมีข้อจำกัด เนื่องจากยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมหรือไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ทางเลือกหนึ่งในการศึกษาคือ การใช้ข้อมูลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการหรือจากการทดลองภาคสนาม เพราะสามารถควบคุมปัจจัยภายนอกและอ้างอิงจากทฤษฎีได้มากกว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

บทความนี้ ซึ่งเป็นงานวิจัยของ Jindapon et al. (2022) มีเป้าหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสองปัจจัยข้างต้นในเชิงประจักษ์ คือ พฤติกรรมส่วนบุคคลและสภาพแวดล้อมว่าส่งผลต่อการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจอย่างไร จึงได้ออกแบบการทดลองและเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมที่สังเกตได้ในห้องปฏิบัติการ

ทฤษฎีการแบ่งปันความเสี่ยง

เนื่องจากการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจเป็นการตัดสินใจช่วยเหลือทางการเงินจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน แบบจำลองที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมดังกล่าวจึงมีรากฐานมาจากทฤษฎีเกม งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์เกมที่เล่นซ้ำอย่างไม่จำกัด (infinitely repeated game) ระหว่างผู้เล่นสองคน โดยสมมติว่ารายได้ของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลามีความไม่แน่นอน กล่าวคือ มีค่าที่เป็นไปได้สองค่าคือสูงหรือต่ำโดยมีความน่าจะเป็นเท่ากัน แต่รายได้ที่เกิดขึ้นจริงอาจมีค่าแตกต่างกัน (นั่นคือ คนหนึ่งมีรายได้สูงและอีกคนหนึ่งมีรายได้ต่ำ) นอกจากนี้ ยังสมมติว่าผู้เล่นแต่ละคนไม่สามารถสะสมรายได้เพื่อนำไปใช้ในอนาคต (กล่าวคือ ไม่มีการออม) ดังนั้น วิธีการเดียวที่ผู้เล่นสามารถลดความผันผวนจากรายได้ คือการแบ่งปันรายได้ระหว่างกันในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น

สมมติให้กลยุทธ์ที่แต่ละผู้เล่นใช้คือ เมื่อใดที่ผู้เล่นคนหนึ่งมีรายได้สูงและอีกคนหนึ่งมีรายได้ต่ำ ผู้ที่มีรายได้สูงจะโอนเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ หากในช่วงเวลาใดผู้ที่มีรายได้สูงไม่โอนเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำ ผู้เล่นทั้งสองคนจะไม่มีการโอนเงินให้แก่กันอีกต่อไปในอนาคต2 หากตราบใดที่ผู้มีรายได้สูงยังโอนเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำ การแบ่งปันความเสี่ยงระหว่างผู้เล่นทั้งสองจะคงอยู่ตลอดไป สิ่งที่จะทำให้ผู้มีรายได้สูงตัดสินใจโอนเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำคือ ความคาดหวังว่าในอนาคตหากตนเองเกิดมีรายได้ต่ำกว่า ตนเองจะได้รับเงินจากอีกฝ่ายเช่นกัน ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความน่าจะเป็นที่ผู้เล่นทั้งสองมีรายได้ที่แตกต่างกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งปันความเสี่ยงระหว่างกัน

งานวิจัยนี้ได้ออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาการแบ่งปันความเสี่ยงโดยความสมัครใจภายใต้ 3 สภาพแวดล้อม ซึ่งมีความน่าจะเป็นของแต่ละสถานการณ์ตามที่แสดงในตารางที่ 1 แม้ว่าในทุกสภาพแวดล้อม ความน่าจะเป็นที่ผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับรายได้สูงหรือต่ำนั้นคือ 1/2 เท่ากัน แต่ค่าสหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างรายได้ของผู้เล่นทั้งสองนั้นแตกต่างกันหมด กล่าวคือ ในสภาพแวดล้อมที่ 1 หนึ่งในผู้เล่นต้องมีรายได้สูงในขณะที่อีกคนหนึ่งต้องมีรายได้ต่ำ รายได้ที่ตรงข้ามกันเสมอนั้นทำให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) เป็น -1 ในสภาพแวดล้อมที่ 2 รายได้ของผู้เล่นทั้งสองเป็นอิสระต่อกันทำให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็น 0 ส่วนในสภาพแวดล้อมที่ 3 รายได้ของผู้เล่นทั้งสองมีแนวโน้มที่จะเท่ากัน (สูง-สูง หรือ ต่ำ-ต่ำ) มากกว่าที่จะแตกต่างกัน (สูง-ต่ำ หรือ ต่ำ-สูง) ทำให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็นบวก

ตารางที่ 1: ความน่าจะเป็นของแต่ละสถานการณ์ในแต่ละสภาพแวดล้อม

ความน่าจะเป็นของแต่ละสถานการณ์ในแต่ละสภาพแวดล้อม

ที่มา: Jindapon et al. (2022)

สภาพแวดล้อมที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สูงขึ้น จะทำให้โอกาสที่ผู้เล่นทั้งสองตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีรายได้แตกต่างกันลดลง ซึ่งทำให้โอกาสที่ผู้เล่นคนที่หนึ่งจะได้รับการตอบแทนจากอีกฝ่ายน้อยลง และทำให้ค่าคาดหวังของผลตอบแทนจากการโอนให้กับอีกฝ่ายจะน้อยลง เพราะฉะนั้น ในทางทฤษฎีแล้ว ปริมาณการแบ่งปันความเสี่ยงจะต่ำที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ 3 และสูงที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ 1

การทดลองการแบ่งปันความเสี่ยง

คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลอง ณ ห้องปฏิบัติการที่ University of Alabama โดยมีนักศึกษาปริญญาตรีจำนวน 180 คน เข้าร่วมการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนจะถูกสุ่มแยกไปเพื่อเข้าร่วมการทดลองในสภาพแวดล้อมแต่ละประเภทตามตารางที่ 1 ประเภทละ 60 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกสุ่มจับคู่กันโดยไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ผ่านโปรแกรม z-Tree3 โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะต้องเล่นเกมทั้งสิ้นเป็นจำนวนกี่รอบ ในแต่ละรอบผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกจับคู่กับผู้เล่นอีกคนหนึ่งผ่านคอมพิวเตอร์โดยไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ และจะมีโอกาส 9/10 ที่รอบถัดไปจะถูกจับคู่กับผู้เล่นคนเดิม และอีก 1/10 ที่จะถูกเปลี่ยนคู่4 คณะผู้วิจัยกำหนดให้รายได้ระดับสูงคือ 225 หน่วย และรายได้ระดับต่ำคือ 75 หน่วย

แต่ละรอบประกอบไปด้วยสามขั้นตอน ในขั้นตอนแรก คณะผู้วิจัยแจ้งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทราบว่าคู่ของตนคือคนเดิมจากรอบที่แล้วหรือไม่ รายได้ของตนเองในรอบนี้นั้นสูงหรือต่ำ และรายได้ของคู่ของตนในรอบนี้นั้นสูงหรือต่ำ ในขั้นตอนที่สอง ผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับคู่ของตน โดยจำนวนที่แบ่งให้นั้นต้องไม่เกินรายได้ของตนเองในรอบนั้น ๆ และในขั้นตอนที่สาม ผู้เข้าร่วมการทดลองถึงจะได้รับทราบจำนวนที่ได้รับจากคู่ของตนเอง การแบ่งปันความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นในรอบที่ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งสองคนมีรายได้แตกต่างกัน และผู้ที่มีรายได้สูงโอนส่วนหนึ่งของรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมิได้ชี้แนะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเห็นผลของการแบ่งปันความเสี่ยง และมิได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การแบ่งปันความเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งในขั้นตอนที่สองของแต่ละรอบของการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองไม่ว่าจะมีรายได้สูงหรือต่ำก็สามารถแบ่งรายได้ให้กับคู่ของตนได้ นอกจากนี้ เพื่อให้ผลการทดลองไม่มีความเอนเอียง (bias) ไปทางการแบ่งปันความเสี่ยง และเพื่อไม่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองคาดเดาวัตถุประสงค์ของการทดลองได้ ภายหลังจากการเล่นเกมจนครบทุกรอบแล้ว ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนจะได้รับผลตอบแทนจากเกมการทดลองเพียงรอบเดียวด้วยวิธีการสุ่ม ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงรายได้แต่ละรอบคือการแบ่งปันระหว่างกัน

ผลการทดลอง

ภาพที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนจากผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีรายได้ 225 หน่วยให้กับผู้ที่มีรายได้ 75 หน่วย ปรากฎว่าจำนวนการโอนจากผู้มีรายได้สูงไปยังผู้มีรายได้ต่ำในสภาพแวดล้อมที่ 1 (31.00 หน่วย) สูงกว่าในสภาพแวดล้อมที่ 2 (18.71 หน่วย) ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎี ในแต่ละรอบของสภาพแวดล้อมที่ 1 จะมีทั้งผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ โอกาสที่ผู้โอนให้ในปัจจุบันจะได้รับผลตอบแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจึงสูงที่สุดในสภาพแวดล้อมนี้ ค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนจึงสูงกว่าในสภาพแวดล้อมที่ 2

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนในสภาพแวดล้อมทั้งสาม กลับพบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนในสภาพแวดล้อมที่ 3 มีค่าสูงสุด ทั้ง ๆ ที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สูงสุดเช่นกัน คำถามที่เกิดขึ้นตามมาจากผลการทดลองนี้คือ สาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้มีรายได้สูงให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำมากที่สุดแม้ว่าโอกาสที่จะได้รับการตอบแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุด?

ภาพที่ 1: ค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนในสภาพแวดล้อมแต่ละประเภท

ค่าเฉลี่ยของจำนวนการโอนในสภาพแวดล้อมแต่ละประเภท

ที่มา: Jindapon et al. (2022)

ภาพที่ 2 แสดงสัดส่วนของจำนวนรอบหรือจำนวนครั้งที่มีและไม่มีการโอนจากผู้ที่มีรายได้สูงไปยังผู้มีรายได้ต่ำต่อจำนวนรอบทั้งหมด โดยในแต่ละคู่ประกอบไปด้วยทั้งผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำในแต่ละสภาพแวดล้อม ผลที่ได้นั้นสอดคล้องกับในภาพที่ 1 กล่าวคือ การมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความเสี่ยงนั้นสูงที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ 3 (78.6%) ตามมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ 1 (68.2%) และต่ำสุดในสภาพแวดล้อมที่ 2 (57.8%)

ภาพที่ 2: สัดส่วนของจำนวนครั้งที่มี (แท่งสีฟ้า) และไม่มี (แท่งสีเหลือง) การแบ่งปันความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมแต่ละประเภท

สัดส่วนของจำนวนครั้งที่มี (แท่งสีฟ้า) และไม่มี (แท่งสีเหลือง) การแบ่งปันความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมแต่ละประเภท

ที่มา: Jindapon et al. (2022)

ข้อสรุปจากการทดลอง

ประเด็นสำคัญที่สุดจากการทดลองนี้คือความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีและผลการทดลอง กล่าวคือ ในการทดลอง การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจกลับอยู่ในระดับสูงที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของผู้เล่นสูงที่สุด ดังนั้น Jindapon et al. (2022) จึงได้เสนอทฤษฎีทางเลือกเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า การที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้ร่วมกัน หรือได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน (มีรายได้สูง-สูง หรือ ต่ำ-ต่ำ) ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) สำหรับผู้เล่นทั้งสองคน ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นมีความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น (altruism) สูงขึ้น ความรู้สึกร่วมเช่นนี้ช่วยให้เกิดภาวะดุลยภาพที่มีการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจได้ แม้ว่าเหตุการณ์ที่ผู้เล่นทั้งสองมีรายได้แตกต่างกันจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยก็ตาม ทั้งนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง การแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจมักจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีความใกล้ชิดกัน หรืออาศัยในชุมชนเดียวกัน แม้ว่าอาจจะไม่อยู่ในสถานะที่ช่วยเหลือกันได้มากนัก เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมักจะได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือพร้อมกัน

นอกจากประเด็นสำคัญข้างต้น ผลการทดลองของงานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับผลการทดลองของ Charness & Genicot (2009) ซึ่งได้ศึกษาการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจที่ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของผู้เล่นทั้งสองเป็น -1 เท่านั้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมประเภทที่ 1 ตามตารางที่ 1 จากทั้งสองการทดลอง ทั้งสองงานวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้ชาย และผู้ที่ไม่ชอบความเสี่ยง (risk aversion) มักจะมีพฤติกรรมแบ่งปันความเสี่ยงมากกว่า ในทางทฤษฎี ผู้ที่มีความไม่ชอบความเสี่ยงสูงกว่า ย่อมมีแรงจูงใจเพื่อลดความผันผวนของรายได้มากกว่า จึงนำไปสู่การแบ่งปันความเสี่ยงที่มากกว่า สำหรับความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนั้น ในการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ผู้ชายแสดงความไว้ใจ (trust) มากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงแสดงการตอบแทน (reciprocity) มากกว่าผู้ชาย5 ดังนั้น จากการทดลองที่พบว่าผู้ชายมีพฤติกรรมการแบ่งปันความเสี่ยงโดยสมัครใจมากกว่าผู้หญิงนั้น จึงชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีพฤติกรรมการแบ่งปันความเสี่ยงเนื่องจากมีความไว้ใจว่า ตนจะได้รับการตอบแทนในอนาคตจากคู่ของตน มากกว่าการแบ่งปันความเสี่ยงเพื่อเป็นการตอบแทนคู่ของตนที่ได้เคยให้ความช่วยเหลือตนเองไว้ในอดีต

เอกสารอ้างอิง

Charness, G., & Genicot, G. (2009). Informal risk sharing in an infinite-horizon experiment. The Economic Journal, 119(537), 796–825.
Croson, R., & Gneezy, U. (2009). Gender differences in preferences. Journal of Economic Literature, 47(2), 448–474.
Fafchamps, M., & Lund, S. (2003). Risk-sharing networks in rural Philippines. Journal of Development Economics, 71(2), 261–287.
Jack, W., & Suri, T. (2014). Risk sharing and transactions costs: Evidence from Kenya’s mobile money revolution. American Economic Review, 104(1), 183–223.
Jindapon, P., Sujarittanonta, P., & Viriyavipart, A. (2022). Income Interdependence and Informal Risk Sharing: The Effects of Future Interactions and Directed Altruism (Discussion Paper No. 191). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Townsend, R. M. (1994). Risk and insurance in village India. Econometrica: Journal of the Econometric Society, 539–591.
Udry, C. (1994). Risk and insurance in a rural credit market: An empirical investigation in northern Nigeria. The Review of Economic Studies, 61(3), 495–526.
Wu, X., & Zhao, J. (2020). Risk sharing, siblings, and household equity investment: evidence from urban China. Journal of Population Economics, 33(2), 461–482.

  1. ตัวอย่างเช่น Townsend (1994), Udry (1994), Fafchamps & Lund (2003), Jack & Suri (2014), Wu & Zhao (2020)↩
  2. กลยุทธ์ที่ใช้นี้คือ Grim trigger strategy ในทฤษฎีเกม↩
  3. Z-Tree หรือ Zurich Toolbox for Readymade Economic Experiments คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ดำเนินการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ ผู้สนใจสามารถขอรับสิทธิ์เพื่อนำไปใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ https://www.ztree.uzh.ch↩
  4. คณะผู้วิจัยออกแบบการทดลองในรูปแบบนี้เพื่อสะท้อนถึงเกมที่เล่นซ้ำอย่างไม่จำกัดกับผู้เล่นอีกคนหนึ่งโดยใช้อัตราคิดลด (discount rate) ของผลตอบแทนในอนาคต 10% ต่อ 1 ช่วงเวลา↩
  5. ดูการทบทวนวรรณกรรมใน Croson & Gneezy (2009)↩
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.
Topics: Behavioral EconomicsGame TheoryDevelopment
Tags: risk sharingincome correlationinfinite horizon games
Paan Jindapon
Paan Jindapon
University of Alabama
Pacharasut Sujarittanonta
Pacharasut Sujarittanonta
Cramton Associates
Ajalavat Viriyavipart
Ajalavat Viriyavipart
American University of Sharjah

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2023 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email