Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Latest discussion Paper
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Latest policy forum
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
Latest PIER Economics Seminar
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/4dd8d56aba0ff239f2cbc564fcd05ede/41624/cover.jpg
26 October 2023
20231698278400000

เศรษฐศาสตร์ “เงินให้เปล่า”: หลากมิติที่รัฐต้องคิดให้กระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เงินให้เปล่า” จะช่วยกระจายรายได้ได้ดีเพียงใด ย่อมขึ้นกับที่มาของเงินและเกณฑ์การให้เงินให้เปล่าที่รัฐเลือกใช้
Phitawat Poonpolkul
เศรษฐศาสตร์ “เงินให้เปล่า”: หลากมิติที่รัฐต้องคิดให้กระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
excerpt

นโยบาย “เงินให้เปล่า” หรือ cash transfers ในทางทฤษฎีเป็นเครื่องมือกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนในรุ่นเดียวกัน1 โดยมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระทางการคลังให้ลูกหลานในอนาคต โดยเงินให้เปล่าจะช่วยกระจายรายได้ได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับว่ารัฐเก็บภาษีจากใคร และรัฐนำเงินไปให้ใคร การออกแบบนโยบายเงินให้เปล่าในบริบทของประเทศกำลังพัฒนามีความท้าทายอยู่หลายมิติ เพราะรัฐจัดเก็บภาษีได้ต่ำและไม่มีข้อมูลรายได้และทรัพย์สินของประชาชนทั้งประเทศ บทความนี้จะเล่าถึงการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบเงินให้เปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บภาษีกับการบิดเบือนแรงจูงใจ เรื่องการให้เงินแบบถ้วนหน้าหรือให้แบบคัดกรอง เรื่องปัญหาตกหล่นและรั่วไหลเมื่องบประมาณมีจำกัด รวมถึงเรื่องกลไกต่าง ๆ ที่นำมาใช้คัดกรองผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อข้อมูลไม่สมบูรณ์

“เงินให้เปล่า” กับการลดความยากจนเฉพาะหน้า

นโยบายเงินให้เปล่า (cash transfers) เป็นหนึ่งในนโยบายที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อลดความยากจนเฉพาะหน้า ปัจจุบันมีประเทศรายได้ต่ำและประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ให้เงินให้เปล่ากับครอบครัวที่ยากจน (Banerjee et al., 2022) โดยกลไกของเงินให้เปล่าคือการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรในเศรษฐกิจใหม่โดยภาครัฐ หรืออาจกล่าวง่าย ๆ ได้ว่าเป็นการนำเงินจากคนรวยไปให้คนจนเพื่อช่วยสร้างความคุ้มครองทางสังคมและลดความยากจนของประเทศในภาพรวม ข้อดีของเงินให้เปล่าคือให้ผลที่รวดเร็ว จึงมีประสิทธิภาพในการลดความยากจนเฉพาะหน้า อย่างไรก็ดี การออกแบบนโยบายมีรายละเอียดและความท้าทายหลายด้านที่รัฐต้องคิดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยที่ข้อมูลรายได้ไม่สมบูรณ์และรัฐจัดเก็บภาษีได้ต่ำ

“เงินให้เปล่า” ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนที่ต้นเหตุ

เรามักนิยามคนจนว่าเป็นกลุ่มคนที่มีระดับรายได้หรือการบริโภคที่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง ๆ (เช่น เส้นความยากจน) ดังนั้นเราจึงอาจคิดว่าการให้เงินจะเป็นวิธีพาคนกลุ่มนี้ออกจากความยากจน อย่างไรก็ดี ความจนเป็นปัญหาซึ่งมีหลายแง่มุมกว่าปัญหาของการไม่มีเงิน งานศึกษาหลายชิ้นพบว่าทางออกที่ยั่งยืนจากความยากจนคือการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การบริการทางการแพทย์ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการออกและบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม งานศึกษาของ Page & Pande (2018) นิยามสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “โครงสร้างพื้นฐานที่มองไม่เห็น (invisible infrastructure)” ที่รัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดสรรเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่และผลักดันตัวเองให้หลุดพ้นออกจากความยากจน เมื่อมองปัญหาความจนในลักษณะนี้แล้ว เงินให้เปล่าจึงเปรียบเสมือนการรักษาอาการเฉพาะหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

“เงินให้เปล่า” ควรมาจากไหน?

นโยบายเงินให้เปล่าในทางทฤษฎีจัดเป็นนโยบายกระจายรายได้ กล่าวคือ รัฐนำเงินจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งในปีเดียวกัน (intra-temporal redistribution) โดยจะเป็นการออกแบบการให้เงินควบคู่ไปกับการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ตามที่รัฐต้องการ นโยบายลักษณะนี้ตามหลักการแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อดุลการคลังหรือหนี้สาธารณะของภาครัฐ เพราะรัฐเพียงแต่ทำบทบาทในการโยกย้ายรายได้จากคนรวยไปให้คนจนเพื่อสร้างความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน โดยที่ยังคำนึงถึงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม (economic efficiency)2 รวมถึงวินัยทางการคลัง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐใช้นโยบายเงินให้เปล่าโดยไม่ได้เก็บภาษีหรือไม่หารายได้เพิ่ม? นโยบายด้านการคลังเมื่อมองจากมุมมองระหว่างรุ่นแล้วจะมีลักษณะของเกมผลรวมศูนย์ (zero-sum game) กล่าวคือ เมื่อมีคนรุ่นหนึ่งได้ประโยชน์ ก็จะต้องมีคนอีกรุ่นหนึ่งที่เสียประโยชน์ โดยหากเรานิยามให้ภาษีสุทธิคือภาษีที่รัฐเก็บได้หักด้วยเงินให้เปล่าที่รัฐจ่ายออกไป กรอบคิด Generational Accounting ของ Auerbach et al. (1994) สามารถแสดงข้อจำกัดทางการคลังระยะยาว (intertemporal budget constraint) ที่ทำให้รัฐไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ว่า

ภาษีสุทธิของคนในปัจจุบัน + ภาษีสุทธิของคนในอนาคตทั้งหมด
= ค่าใช้จ่ายรัฐในปัจจุบันและอนาคตทั้งหมด + หนี้ภาครัฐ - สินทรัพย์ภาครัฐ3

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการให้เงินให้เปล่ามากกว่าภาษีที่รัฐเก็บจากคนในปัจจุบัน ก็จะทำให้รัฐต้องเก็บภาษีจากคนรุ่นหลังเพิ่มขึ้นกว่าเงินให้เปล่าโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การใช้งบประมาณเกินกรอบจึงเป็นการกระจายรายได้โดยใช้เงินทั้งของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกหลานในอนาคต (inter-generational/temporal redistribution)

ถามต่อไปอีกว่าแล้วการกระจายรายได้ข้ามรุ่นข้ามปีมีผลเสียอย่างไร? โดยปกติแล้ว หากเรากู้เงินเพื่อใช้จ่ายเกินรายได้ในปัจจุบัน การกู้ดังกล่าวมักเป็นการตัดสินใจเพื่อเกลี่ยรายรับรายจ่ายในช่วงชีวิตตามที่เรามองว่าทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น โดยยังคำนึงถึงการที่เราจะต้องจ่ายหนี้คืนด้วยตัวเราเองในอนาคต อย่างไรก็ดี เมื่อผู้กู้เป็นภาครัฐ รัฐอาจกู้เงินเพื่อนำมาให้เป็นเงินให้เปล่ากับคนกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน แต่รัฐต้องชำระหนี้ (บวกดอกเบี้ย) โดยเก็บเงินจากคนอีกกลุ่มหนึ่งในอนาคต ทั้งนี้ หากพิจารณาอรรถประโยชน์ในภาพรวม (social welfare) เราจะไม่พบเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนว่าทำไมรัฐจึงต้องกระจายรายได้จากคนในอนาคตมาให้คนในปัจจุบัน ยกเว้นในกรณีที่เกิดวิกฤติ4 ขณะที่ในสถานการณ์เศรษฐกิจปกติ รัฐสามารถออกแบบระบบกระจายรายได้เพื่อดูแลคนจนจากคนรวยในปีเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างภาระให้กับคนในอนาคต

แล้วหากรัฐไม่กู้เพิ่ม แต่โยกงบประมาณโดยการตัดรายจ่ายด้านอื่นแทน จะมีผลเสียอย่างไร? จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเงินให้เปล่าเป็นการแก้ความยากจนเฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ความยากจนที่ต้นเหตุ ดังนั้นการใช้เงินที่มีจำกัดในการรักษาอาการในปัจจุบันมากเกินไปหรือให้เงินกับคนที่ไม่จนอยู่แต่แรก ก็จะเสียโอกาสในการนำทรัพยากรหรืองบประมาณของภาครัฐไปใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนที่ต้นเหตุหรือใช้ในการลงทุนที่สร้างประโยชน์ในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติมเรื่องกรอบการพิจารณานโยบายด้านรายจ่ายภาครัฐได้ใน Stiglitz & Rosengard (2015) และ Hindriks & Myles (2013))

ผลดีจากการกระจายรายได้หรือผลเสียต่อประสิทธิภาพ (redistributive gain vs efficiency cost)?

แม้ว่านักวิชาการจะเห็นสอดคล้องกันว่าเงินให้เปล่าควรเป็นนโยบายที่กระจายรายได้ในรุ่นเดียวกันโดยไม่กระทบดุลการคลังในภาวะปกติ แต่ยังมักมีการถกเถียงกันระหว่างผลดีกับผลเสียของนโยบายเงินให้เปล่า ในด้านดี เงินให้เปล่าช่วยกระจายรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่กับคนจน และอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยของคนในสังคมปรับดีขึ้น บนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเมื่อคนบริโภคสินค้าบริการเพิ่มขึ้นทีละหน่วยแล้ว อรรถประโยชน์หรือความพอใจส่วนเพิ่มจากการบริโภคจะลดลง ดังนั้นเมื่อนำเงินจากคนรวยที่บริโภคมากอยู่แล้วไปให้คนจนที่บริโภคน้อยกว่า จึงเป็นการเพิ่มอรรถประโยชน์ในภาพรวม แต่ในทางกลับกัน เงินให้เปล่าอาจลดประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการที่คนได้รับเงินให้เปล่ามีแรงจูงใจในการทำงานเองลดลง หรือการปรับขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาใช้อาจบิดเบือนแรงจูงใจในการทำงานของผู้เสียภาษี เช่น หากคนได้รับผลตอบแทนตามความสามารถ การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจึงไปลดแรงจูงใจในการทำงานของคนที่มีความสามารถสูงเพราะทำมากไปก็ได้ผลตอบแทนหลังหักภาษีไม่ต่างกันนัก จึงทำให้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจในภาพรวมลดลง โดยอาจเป็นการลดชั่วโมงการทำงาน (intensive margin) หรืออาจจะเป็นการตัดสินใจว่าจะไม่ทำงานเลย (extensive margin) (Heckman, 1993) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การเข้าใจพฤติกรรมการตอบสนองของครัวเรือนต่อนโยบายเงินให้เปล่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบรายละเอียดนโยบายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Saez, 2002)

โดยงานวิจัยที่ศึกษาตลาดแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่พบว่าเงินให้เปล่าส่งผลลบต่ออุปทานแรงงานและแรงจูงใจในการทำงาน5 อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษามากนักในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา โดยการศึกษาส่วนใหญ่ไม่พบว่าเงินให้เปล่าส่งผลต่อการทำงานมากนัก6 ซึ่งอาจสะท้อนมูลค่าของเงินให้เปล่าในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สูงหรือความยืดหยุ่น (elasticity) ของการทำงานต่อเงินให้เปล่าที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ผลกระทบต่อแรงจูงใจอาจจะต่างกันออกไปตามความต่อเนื่องของการให้เงิน โดยเงินให้เปล่าที่ให้อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income: UBI) อาจกระทบต่อแรงจูงใจมากกว่าเงินให้เปล่าที่ให้แบบครั้งเดียว เช่น เงินเยียวยา

การออกแบบ “เงินให้เปล่า” เพื่อกระจายรายได้

ในส่วนนี้จะพามาทำความเข้าใจกลไกของนโยบายเงินให้เปล่าต่อการกระจายรายได้ในบริบทต่าง ๆ โดยจะมีข้อสมมติเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย คือ สมมติให้รัฐกระจายรายได้ในปีเดียวกันโดยที่ไม่มีการกู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งเป็นหลักการปกติของนโยบายกระจายรายได้อยู่แล้ว และสมมติให้การปรับเปลี่ยนภาษีเป็นไปเพื่อให้งบสมดุลกับรายจ่ายของนโยบายเงินให้เปล่าเท่านั้น

การกระจายรายได้ของ “เงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้า” เมื่อรัฐทราบข้อมูลรายได้ของทุกคน

ผลลัพธ์ต่อการกระจายรายได้ของนโยบายเงินให้เปล่ามาจากสองส่วน 1) ให้เงินให้เปล่ากับใคร และ 2) เก็บเงินที่นำมาให้จากใคร ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้าที่ให้เงินกับทุกคนเท่า ๆ กันโดยไม่คำนึงถึงรายได้ รัฐก็ยังสามารถทำให้การกระจายรายได้เกิดขึ้นได้ ผ่านแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ เช่น หากนำเงินมาจากการขึ้นภาษีเงินได้ที่เป็นอัตราก้าวหน้า (อัตราภาษีสูงขึ้นเมื่อรายได้สูงขึ้น) หรือนำเงินมาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภค (คนรายได้สูงบริโภคมากกว่าคนรายได้ต่ำ) ก็จะยังทำให้มีการกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจน7

รูปที่ 1: ตัวอย่างการกระจายรายได้ในกรณีเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้า เมื่อรัฐมีข้อมูลรายได้สมบูรณ์
เงินให้เปล่า:2.55 บาท
ตัวอย่างการกระจายรายได้อยู่บนข้อสมมติ 1) ให้รายได้คนมีค่าอยู่ที่ 1–10 บาท 2) ให้อัตราภาษีเงินได้เป็นแบบก้าวหน้าตามสูตร ภาษีต่อรายได้=αรายได้\text{ภาษีต่อรายได้} = \alpha \sqrt{\text{รายได้}}ภาษีต่อรายได้=αรายได้​ โดย α\alphaα เป็นตัวแปรที่ปรับให้งบการคลังสมดุล 3) ให้คนในแต่ละกลุ่มรายได้มีสัดส่วนเท่ากัน

เพื่อให้เห็นภาพของการกระจายรายได้ สมมติว่ารัฐมีข้อมูลรายได้ของคนทุกคน ซึ่งคล้ายกับในกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว เราสามารถแสดงภาพดังกล่าวตามกรอบคิดในงานศึกษาของ Saez (2002) โดยรูปที่ 1a แสดงรายได้เรียงจากน้อยไปมากก่อนได้รับเงินให้เปล่าและจ่ายภาษี (แกนนอน) และหลังได้รับเงินให้เปล่าและจ่ายภาษี (แกนตั้ง) โดยคนที่อยู่บนเส้น 45 องศา (เส้นประสีดำ) คือคนที่มีรายได้ก่อนและหลังถูกเก็บภาษีและได้รับเงินให้เปล่าเท่ากัน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการกระจายรายได้ ขณะที่คนที่อยู่เหนือ (ใต้) เส้น 45 องศาหมายถึงคนที่ได้รับ (เสีย) ประโยชน์จากนโยบายเงินให้เปล่า โดยระยะในแนวตั้งจากเส้น 45 องศาสะท้อนจำนวนเงินที่เสียหรือได้รับสุทธิ

สมมติให้ทุกคนได้รับเงินให้เปล่าเท่า ๆ กัน โดยรัฐนำเงินมาจากการปรับขึ้นภาษีรายได้ที่เป็นอัตราก้าวหน้า เราจะเห็นได้ว่าการใช้นโยบายลักษณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจสองอย่าง คือ

  1. การได้รับเงินให้เปล่าทำให้รายได้ของคนทุกกลุ่มสูงขึ้นจากก่อนหน้า (เส้นสีน้ำเงิน) และ
  2. เงินที่รัฐนำมาให้เปล่าต้องมาจากการเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งการเก็บอัตราภาษีแบบก้าวหน้าทำให้คนที่มีรายได้สูงต้องรับภาระมากขึ้น และส่งผลให้รายได้หลังภาษีและเงินให้เปล่า (เส้นสีส้ม) ของกลุ่มคนรายได้สูงนั้นลดต่ำลงกว่าก่อนมีนโยบายด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงผลทั้งสองทาง จะเห็นได้ว่านโยบายเงินให้เปล่าที่ใช้เงินจากการขึ้นภาษีเงินได้ลักษณะนี้เป็นการโยกเงินจากคนรวยไปสู่คนจน (รูป 1b)

“เงินให้เปล่า” แบบถ้วนหน้าหรือแบบคัดกรองกระจายรายได้ได้ดีกว่ากัน ?

ถึงแม้การให้เงินแบบถ้วนหน้าจะมีข้อดีคือดำเนินการได้ง่ายและมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำ แต่ผลต่อการกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับฝั่งการปรับภาษีเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดในการออกแบบการกระจายรายได้ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม โดยปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ที่ในโลกที่ให้เงินในลักษณะถ้วนหน้า และมักจะเป็นการให้เนื่องจากปัจจัยเฉพาะ เช่น ในอะแลสกา ซึ่งมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้น ๆ ในสหรัฐฯ มีการนำรายได้จากน้ำมันมาให้กับประชาชนอะแลสกาทุกคน เป็นต้น เงินให้เปล่าในประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นการให้แบบคัดกรอง กล่าวคือเป็นการให้เฉพาะกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ซึ่งมักจะใช้เกณฑ์รายได้ที่แบ่งได้เป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ การให้เงินเมื่อรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เท่านั้น (cutoff) และการให้แบบทยอยลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ (tapering) โดยแบบหลังจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงานของคนน้อยกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ดำเนินการได้ยากกว่าในบริบทที่ข้อมูลรายได้ไม่สมบูรณ์

การให้แบบคัดกรองสามารถกระจายรายได้ทั้งในฝั่งของการให้เงินและฝั่งการเก็บภาษี จึงสามารถออกแบบการกระจายรายได้ได้ละเอียดกว่า ซึ่งทำให้นโยบายเงินให้เปล่ามีประสิทธิภาพกว่า ยกตัวอย่าง สมมติว่ารัฐต้องการให้เงินให้เปล่ากับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน วิธีการให้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการให้แบบ tapering เพื่อให้แต่ละคนมีรายได้ขึ้นมาอยู่บนเส้นความยากจน และไม่ให้เงินกับคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนอยู่แล้ว จากรูปที่ 2 เห็นได้ว่านโยบายคัดกรองลักษณะนี้สามารถลดความยากจนได้และใช้งบประมาณน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการให้แบบถ้วนหน้าที่ต้องการลดความยากจนในกลุ่มคนเดียวกัน ส่งผลให้รัฐไม่ต้องขึ้นภาษีมากเท่า

รูปที่ 2: ตัวอย่างการกระจายรายได้ในกรณีเงินให้เปล่าแบบคัดกรอง เมื่อรัฐมีข้อมูลรายได้สมบูรณ์
เงินให้เปล่า/เส้นความยากจน:2.55 บาท
ตัวอย่างการกระจายรายได้อยู่บนข้อสมมติ 1) ให้รายได้คนมีค่าอยู่ที่ 1–10 บาท 2) ให้อัตราภาษีเงินได้เป็นแบบก้าวหน้าตามสูตร ภาษีต่อรายได้=αรายได้\text{ภาษีต่อรายได้} = \alpha \sqrt{\text{รายได้}}ภาษีต่อรายได้=αรายได้​ โดย α\alphaα เป็นตัวแปรที่ปรับให้งบการคลังสมดุล 3) ให้คนในแต่ละกลุ่มรายได้มีสัดส่วนเท่ากัน 4) ให้เงินให้เปล่ามูลค่าเท่ากับเส้นความยากจน

อย่างไรก็ดี แม้การคัดกรองในทางทฤษฎีจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้แบบถ้วนหน้า แต่การคัดกรองก็มีต้นทุนหลายอย่างที่ต้องพิจารณา เช่น อาจบิดเบือนแรงจูงใจในการทำงานของผู้ได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่าการให้แบบถ้วนหน้า มีต้นทุนบริหารจัดการมากกว่าทั้งในแง่ของงบประมาณและบุคลากร รวมถึงอาจได้รับเสียงสนับสนุนทางการเมืองน้อยกว่าการให้แบบถ้วนหน้า เพราะคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะสนับสนุนนโยบายหากตนเองได้รับประโยชน์ด้วย (Coady & Le, 2020) นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่เกิดจากการ “ตกหล่น” และ “รั่วไหล”8 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

ความท้าทายของ “เงินให้เปล่า” ในประเทศกำลังพัฒนา

เงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้าเมื่อรัฐไม่มีข้อมูลรายได้ของแรงงานนอกระบบ

ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยมีแรงงานนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของแรงงานรวม โดยแรงงานนอกระบบมีสองคุณลักษณะที่ท้าทายกับนโยบายเงินให้เปล่า คือ 1) รัฐไม่มีข้อมูลรายได้ของแรงงานกลุ่มนี้ ทำให้ไม่สามารถคัดกรองตามเกณฑ์รายได้อย่างแม่นยำเท่ากับกลุ่มแรงงานในระบบ และ 2) แรงงานนอกระบบไม่ชำระภาษีเงินได้ ทำให้การปรับภาษีภาครัฐเพื่อมาใช้เป็นเงินให้เปล่ามีข้อจำกัดมากขึ้น สองคุณลักษณะดังกล่าวทำให้นโยบายเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้าส่งผลต่อการกระจายรายได้ต่างออกไปจากกรณีข้างต้น งานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) วาดภาพการกระจายรายได้ของนโยบายเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้าผ่านการเก็บภาษีเงินได้ในประเทศที่มีแรงงานนอกระบบสูง (รูปที่ 3) ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจคือ 1) เนื่องจากฐานภาษีเงินได้ที่แคบ รัฐจึงต้องขึ้นภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก ซึ่งอาจไปลดทอนประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการทำงานของแรงงานในระบบ และ 2) คนนอกระบบทั้งหมดจะได้รับเงินให้เปล่าในมูลค่าเท่า ๆ กันไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งอาจไม่ใช่การกระจายรายได้แบบที่รัฐต้องการ นอกจากนี้ ฐานภาษีเงินได้ที่แคบทำให้งบประมาณของประเทศมีค่อนข้างน้อยอีกด้วย ด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษีดังกล่าว การใช้เงินจากภาษีการบริโภคอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา

รูปที่ 3: ตัวอย่างการกระจายรายได้ในกรณีเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้า และไม่มีข้อมูลรายได้ของแรงงานนอกระบบ
เงินให้เปล่า:2.55 บาท
สัดส่วนแรงงานนอกระบบ:20.0%
ตัวอย่างการกระจายรายได้อยู่บนข้อสมมติ 1) ให้รายได้คนมีค่าอยู่ที่ 1–10 บาท 2) ให้อัตราภาษีเงินได้เป็นแบบก้าวหน้าตามสูตร ภาษีต่อรายได้=αรายได้\text{ภาษีต่อรายได้} = \alpha \sqrt{\text{รายได้}}ภาษีต่อรายได้=αรายได้​ โดย α\alphaα เป็นตัวแปรที่ปรับให้งบการคลังสมดุล 3) ให้คนในแต่ละกลุ่มรายได้มีสัดส่วนเท่ากัน 4) ให้แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย

การคัดกรองจากคุณลักษณะที่มองเห็นได้แทนรายได้ที่มองไม่เห็น

การที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้ของแรงงานนอกระบบทำให้การใช้นโยบายเงินให้เปล่าแบบคัดกรองทำได้ยากขึ้น โดยรัฐต้องใช้วิธีประมาณรายได้จากคุณลักษณะที่มองเห็นได้แทน (observable characteristics) หรือสร้างกลไกคัดกรองให้คนจนมีโอกาสเข้าร่วมรับเงินให้เปล่ามากกว่าคนรวย แม้ว่าวิธีและกลไกเหล่านี้จะไม่สมบูรณ์และไม่แม่นยำเท่ากับกรณีที่รัฐมีข้อมูลรายได้ของทุกคน แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องออกแบบเพื่อให้นโยบายเงินให้เปล่ามีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างกลไกคัดกรองเมื่อรัฐไม่ทราบรายได้ประกอบด้วย

  • คะแนนความยากจน (proxy means test: PMT) PMT คือการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคล เช่น พื้นที่ของที่อยู่อาศัย ลักษณะของที่อยู่อาศัย สินทรัพย์ที่มี (เช่น บ้าน โทรศัพท์ แอร์ปรับอากาศ) มาประมาณระดับรายได้ของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งระดับรายได้ดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์คัดกรองการให้เงินให้เปล่า อย่างไรก็ดี PMT มีข้อจำกัด เนื่องจากการประมาณรายได้จากคุณลักษณะบุคคลอาจไม่แม่นยำนักเพราะความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องชี้ที่นำมาใช้กับรายได้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อีกทั้งข้อมูลคุณลักษณะของบุคคลยังไม่สามารถเก็บได้สม่ำเสมอและอาจมีความคลาดเคลื่อนเพราะมักเป็นการเก็บในลักษณะของสำมะโน นอกจากนี้ น้ำหนักที่ให้กับคุณลักษณะสำคัญที่รัฐนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการได้รับสิทธิเงินให้เปล่าควรเป็นความลับและมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสที่ผู้สมัครที่มีรายได้สูงจะพยายามปรับเปลี่ยนคุณลักษณะให้เข้าเกณฑ์

  • การเลือกด้วยตนเอง (self-select) แทนการให้แบบอัตโนมัติ (automatic enrollment) การคัดกรองผ่านตัวผู้สมัครเอง โดยรัฐสามารถสร้างกลไกที่ทำให้เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐต้องการมีโอกาสเข้ารับเงินมากกว่า โดยพยายามให้ตัวผู้สมัครเปิดเผยรายได้หรือความจำเป็นที่จะต้องรับเงินให้เปล่าออกมาเอง ซึ่งอาจแบ่งกลไกกว้าง ๆ ได้สองลักษณะ

    1. ออกแบบให้ผู้ต้องการรับเงินให้เปล่ามีต้นทุนในการสมัคร เช่น เข้าคิวนาน กรอกเอกสารที่ใช้เวลานาน หรือต้องผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ ดังนั้นคนที่รายได้น้อยอาจยินยอมที่จะจ่ายต้นทุนในรูปของความพยายามและเวลามากกว่าคนรายได้สูง อีกตัวอย่างหนึ่งที่หลายประเทศใช้กันคือ workfare หรือการออกเกณฑ์ให้คนต้องทำงานแลกกับค่าตอบแทน โดยงานอาจจะไม่น่าพิศมัยนักหรือค่าตอบแทนไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งทำให้คนเลือกรับเงินเป็นกลุ่มคนรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่

    2. ให้ในรูปสิ่งของหรือบริการที่ไม่ใช่รูปของตัวเงิน ซึ่งรัฐสามารถเลือกการให้สิ่งของหรือบริการดังกล่าวที่ตอบโจทย์คนจนขณะที่คนรวยไม่ต้องการนัก ตัวอย่างนี้ในไทยคือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้สิทธิรักษาพยาบาลกับประชาชนไทยทุกคน แต่คนที่มีกำลังทรัพย์ก็ยังอาจเลือกซื้อประกันสุขภาพหรือจ่ายค่ารักษาเองเพื่อให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น จึงต่างจากนโยบายที่ให้เป็นตัวเงินเช่นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่มีกลไก self-select และไม่ว่าคนจนหรือรวยก็เลือกที่จะรับ

      ทั้งนี้ กลไกทั้งสองลักษณะดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนตามมูลค่าเงินให้เปล่า เพราะผู้สมัครจะประเมินความคุ้มค่าของต้นทุนที่เสียไปกับเงินให้เปล่าที่จะได้รับ หากเงินให้เปล่ามีมูลค่าสูง การคัดกรองแบบ self-select ก็จำเป็นต้องเข้มงวดขึ้นตามเช่นกัน

การสร้างต้นทุนให้กับผู้สมัครอีกทางเลือกง่าย ๆ คือการให้คนแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการเองแทนที่รัฐจะให้ทุกคนเข้าร่วมอัตโนมัติ จากนั้นจึงใช้ขั้นตอน PMT ในการคัดกรองอีกครั้ง ซึ่ง Banerjee et al. (2022) อธิบายว่าการใช้นโยบายลักษณะนี้ช่วยให้คนคัดกรองด้วยตนเองเบื้องต้นว่าตนเองเข้าเกณฑ์การได้รับเงินให้เปล่าหรือไม่ ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนที่รัฐมองไม่เห็นแต่ผู้สมัครทราบเกี่ยวกับรายได้ที่แท้จริงของตนเอง งานศึกษาของ Alatas et al. (2016) พบว่าการใช้นโยบายลักษณะนี้ในกรณีของประเทศอินโดนีเซียทำให้เข้าถึงคนจนได้ครบถ้วนมากขึ้น ทั้งยังลดการให้เงินกับกลุ่มคนรวย เนื่องจากคนที่คิดว่าตัวเองอาจไม่ผ่าน PMT อาจไม่สมัครเข้าร่วมตั้งแต่แรก

นอกจากสองกลไกข้างต้น ยังมีการคัดกรองในลักษณะอื่น เช่น การคัดกรองตามพื้นที่ การให้ชุมชนเป็นผู้คัดกรอง หรือการคัดกรองโดยใช้เงินให้เปล่าแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้9

“ตกหล่น” และ “รั่วไหล” สองปัญหาที่มากับการคัดกรอง

เมื่อรัฐไม่รู้รายได้ที่แท้จริงขณะที่การประมาณการรายได้ก็อาจจะไม่แม่นยำนัก นโยบายเงินให้เปล่าแบบคัดกรองจึงมีความคลาดเคลื่อนได้จาก 1) ปัญหา “ตกหล่น” หมายถึงมีคนจนที่รัฐอยากให้ได้รับเงินให้เปล่าแต่ไม่ได้รับ และ 2) ปัญหา “รั่วไหล” หมายถึงมีคนรวยที่รัฐไม่ต้องการให้ได้รับเงินแต่กลับได้รับ แม้ว่าการออกแบบกลไกการคัดกรองที่ดีช่วยให้รัฐประเมินรายได้แท้จริงของคนได้แม่นยำขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาทั้งสองได้ในระดับหนึ่ง แต่จะไม่สามารถขจัดปัญหาทั้งสองไปได้โดยสมบูรณ์ รวมถึงฝั่งผู้รับประโยชน์เองก็มีแรงจูงในที่จะบิดเบือนรายได้ของตนเพื่อให้ได้รับเงินให้เปล่า ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องเลือกว่าจะยอมรับปัญหาตกหล่นและรั่วไหลในระดับใด

สมมติว่ารัฐออกแบบกลไกคัดกรองโดยไม่มีข้อมูลรายได้อย่างดีที่สุดแล้ว รัฐยังจำเป็นต้องเลือกเกณฑ์รายได้ (cutoff) ว่าจะยอมรับปัญหาตกหล่นและรั่วไหลมากน้อยแค่ไหน โดยต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียในสองมิติ คือ 1) ยิ่งเกณฑ์รายได้สูง (แทบทุกคนได้รับเงิน) ก็ยิ่งมีปัญหาตกหล่นน้อย แต่ก็จะมีปัญหารั่วไหลมาก ในทางกลับกันหากเกณฑ์รายได้ต่ำ (แค่บางคนได้รับเงิน) ปัญหารั่วไหลก็จะน้อยแต่จะมีคนจนที่ไม่ได้รับเงินเป็นจำนวนมาก และ 2) ด้วยงบประมาณที่เท่ากัน เกณฑ์รายได้ที่ต่ำทำให้คนจนแต่ละคนได้รับเงินก้อนที่ใหญ่กว่า รูป 4 แสดงกรอบการชั่งน้ำหนักในสองมิติจากงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) ที่ศึกษานโยบายเงินให้เปล่าในประเทศเปรูและประเทศอินโดนีเซีย

รูปที่ 4: ตัวอย่างการชั่งน้ำหนักเรื่องปัญหาตกหล่นและรั่วไหล และเรื่องเกณฑ์รายได้กับมูลค่าเงินให้เปล่าต่อหัว

ตัวอย่างการชั่งน้ำหนักเรื่องปัญหาตกหล่นและรั่วไหล และเรื่องเกณฑ์รายได้กับมูลค่าเงินให้เปล่าต่อหัว

ที่มา: Hanna & Olken (2018)

สุดท้ายแล้ว รัฐควรกำหนดเกณฑ์รายได้อย่างไร?

ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากเราสมมติว่ารัฐมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสวัสดิการของคนโดยรวมในสังคมให้สูงที่สุด (social planner) สิ่งที่รัฐจะทำคือการโยกย้ายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้อรรถประโยชน์หรือความพอใจของคนในภาพรวมสูงที่สุด ซึ่งจะเป็นการโยกจากคนที่รวยกว่าไปสู่คนที่จนกว่า โดยคำนึงถึงว่าการโยกย้ายทรัพยากรอาจส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ในด้านอื่น ๆ ด้วย งานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) พบว่าหากรัฐทำหน้าที่เป็น social planner ลักษณะนี้ นโยบายเงินโอนที่มีการคัดกรองมาก (ให้เงินมูลค่ามากกับคนจนกลุ่มเล็ก ๆ) จะให้มูลค่าทางสวัสดิการในภาพรวมที่สูงกว่าการคัดกรองแบบหลวม ๆ (เช่น ให้แบบถ้วนหน้า) แม้ว่าจะมีความผิดพลาดในการคัดกรองก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ เรามักมีมุมมองเกี่ยวกับเงินให้เปล่าต่างกันออกไป การสนับสนุนทางการเมืองต่อนโยบายมักจะสูงกว่าหากนโยบายนั้นตอบโจทย์หรือให้ประโยชน์กับผู้ออกเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ขณะเดียวกัน อายุของรัฐบาลในแต่ละสมัยที่สั้นก็อาจทำให้มีแรงจูงใจในการแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้าโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์หรือโทษของนโยบายในระยะยาวเท่าที่ควร จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนเองที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของนโยบายเงินให้เปล่าเพื่อออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์กระจายรายได้โดยคำนึงถึงข้อจำกัดทางการคลังและทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมอย่างยั่งยืน

บทสรุปและนัยเชิงนโยบาย

นโยบายเงินให้เปล่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ในการช่วยลดความยากจนเฉพาะหน้า โดยกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนในปีเดียวกัน ซึ่งการออกแบบการกระจายรายได้ต้องประเมินว่าควรให้เงินให้เปล่ากับใครและระดมเงินผ่านช่องทางไหนโดยไม่กระทบดุลการคลังและหนี้สาธารณะของรัฐ อย่างไรก็ดี การกระจายรายได้ทำได้ยากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้ของแรงงานนอกระบบที่คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของแรงงานรวม รัฐจึงต้องออกแบบการให้เงินที่มีกลไกคัดกรองคนจนจากคุณลักษณะที่รัฐมองเห็นหรือสร้างกลไกให้คนจนมีโอกาสเข้ารับเงินด้วยตนเองมากกว่าคนรวย กลไกเหล่านี้ช่วยบรรเทาปัญหาตกหล่นและรั่วไหลจากการให้เงินให้เปล่าแต่ไม่สามารถขจัดปัญหาได้เบ็ดเสร็จ รัฐจึงยังต้องทำหน้าที่ออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงข้อจำกัดอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดให้กับคนในภาพรวม รวมถึงหากมีการพัฒนาฐานข้อมูลด้านรายได้ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการคัดกรอง และที่สำคัญคือยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดความยากจนที่ต้นเหตุควบคู่ไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

Alatas, V., Purnamasari, R., Wai-Poi, M., Banerjee, A., Olken, B. A., & Hanna, R. (2016). Self-targeting: Evidence from a field experiment in Indonesia. Journal of Political Economy, 124(2), 371–427.
Alzúa, M. L., Cruces, G., & Ripani, L. (2013). Welfare programs and labor supply in developing countries: experimental evidence from Latin America. Journal of Population Economics, 26, 1255–1284.
Auerbach, A. J., Gokhale, J., & Kotlikoff, L. J. (1994). Generational accounting: a meaningful way to evaluate fiscal policy. Journal of Economic Perspectives, 8(1), 73–94.
Banerjee, A., Hanna, R., Olken, B. A., & Sverdlin-Lisker, D. (2022). Social Protection in the Developing World.
Banerjee, A. V., Hanna, R., Kreindler, G. E., & Olken, B. A. (2017). Debunking the stereotype of the lazy welfare recipient: Evidence from cash transfer programs. The World Bank Research Observer, 32(2), 155–184.
Burtless, G. (1986). The work response to a guaranteed income: A survey of experimental evidence. Conference Series;[Proceedings], 30, 22–59.
Coady, M. D., & Le, N.-P. (2020). Designing fiscal redistribution: the role of universal and targeted transfers. International Monetary Fund.
Hanna, R., & Olken, B. A. (2018). Universal basic incomes versus targeted transfers: Anti-poverty programs in developing countries. Journal of Economic Perspectives, 32(4), 201–226.
Heckman, J. J. (1993). What has been learned about labor supply in the past twenty years? The American Economic Review, 83(2), 116–121.
Hindriks, J., & Myles, G. D. (2013). Intermediate public economics. MIT press.
Hoynes, H. W., & Schanzenbach, D. W. (2012). Work incentives and the food stamp program. Journal of Public Economics, 96(1–2), 151–162.
Page, L., & Pande, R. (2018). Ending global poverty: Why money isn’t enough. Journal of Economic Perspectives, 32(4), 173–200.
Saez, E. (2002). Optimal income transfer programs: intensive versus extensive labor supply responses. The Quarterly Journal of Economics, 117(3), 1039–1073.
Stiglitz, J. E., & Rosengard, J. K. (2015). Economics of the public sector: Fourth international student edition. WW Norton & Company.

  1. บทความนี้ใช้ความหมายของคำว่า “รุ่น” แบบหลวม ๆ โดยคนรุ่นเดียวกันหมายถึงคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งรวมถึงคนที่เกิดกันต่างปีและมีอายุต่างกันในช่วงเวลานั้น ๆ↩
  2. ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจหมายถึงความสามารถในการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น แรงงานและทุน ในการผลิตสินค้าและบริการ↩
  3. แต่ละตัวแปรสะท้อนมูลค่าในปัจจุบัน (present value)↩
  4. ในทางเศรษฐศาสตร์ คนจนจะมีความพอใจเพิ่มขึ้นมากกว่าคนรวยเมื่อได้รับเงินจำนวนเท่ากัน ดังนั้น การนำเงินจากคนที่รวยกว่าไปให้คนที่จนกว่าจึงทำให้ความพอใจหรืออรรถประโยชน์ของคนทั้งประเทศโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีวิกฤติ การกระจายรายได้ข้ามรุ่นข้ามปีจากคนที่รวยกว่าในอนาคต (หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวพ้นช่วงวิกฤติแล้ว) มาให้คนที่จนกว่าในช่วงวิกฤติจึงมีเหตุผลรองรับ เช่น นโยบายเงินให้เปล่าในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ถูกใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ในกรณีปกติ เราไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าคนในอนาคตจะมีรายได้สูงกว่าคนในปัจจุบัน อีกทั้งยังต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมทำให้คนในอนาคตต้องเสียเงินมากกว่าที่คนในปัจจุบันได้รับอีกด้วย↩
  5. เช่น Burtless (1986); Hoynes & Schanzenbach (2012)↩
  6. เช่น Alzúa et al. (2013); Banerjee et al. (2017)↩
  7. แหล่งที่มาของเงินให้เปล่าเพื่อนำมากระจายรายได้ในปีเดียวกันสามารถมาได้จากหลายทาง บทความนี้ยกตัวอย่างภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากค่อนข้างชัดเจนว่าคนในแต่ละระดับรายได้มีการจ่ายภาษีเหล่านี้เท่าไหร่ ทำให้ง่ายต่อการอธิบายหลักการกระจายรายได้ อย่างไรก็ดี รัฐสามารถขึ้นภาษีช่องทางอื่นได้แต่ผลต่อการกระจายรายได้จะซับซ้อนกว่า โดยขึ้นกับคนในแต่ละระดับรายได้แบกรับภาระของภาษีนั้นเท่าไหร่ เช่น การประเมินการแบกรับภาระของการขึ้นภาษีธุรกิจย่อมต้องคำนึงถึงอำนาจต่อรองของธุรกิจแต่ละประเภทและสินค้าที่ธุรกิจเหล่านั้นผลิตว่าขายให้กับคนรายได้กลุ่มไหน↩
  8. ในกรณีของการให้แบบถ้วนหน้า เนื่องจากทุกคนได้รับเงินจึงไม่มีปัญหาตกหล่น แต่คนรวยทุกคนก็ได้รับเงินเช่นกัน↩
  9. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Banerjee et al. (2022)↩
Phitawat Poonpolkul
Phitawat Poonpolkul
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Topics: Public EconomicsWelfare Economics
Tags: cash transfersredistributionfiscal sustainability
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email