ครัวเรือนไทยปรับตัวอย่างไรหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต
excerpt
การศึกษานี้ประเมินผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรสในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย โดยพบว่า แม่หม้ายมีแนวโน้มที่ใช้เวลาร่วมกับลูกเพิ่มขึ้น โดยผันตัวจากการเป็นคนงานในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจหลังจากที่สามีเสียชีวิต ในทางกลับกัน พ่อหม้ายมีแนวโน้มที่จะหยุดทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนแม่หม้ายมีรายได้จากเงินของขวัญเพิ่มมากขึ้นในปีที่สามีเสียชีวิต แต่รายได้ส่วนนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป
งานวิจัยที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
บทความนี้สรุปจากงานวิจัย เรื่อง "Surviving Loss: Coping Strategies among Widow Households in Thai Rural Areas" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ผู้เขียนยังอยู่ระหว่างการศึกษา ดังนั้น หากผู้อ่านต้องการนำเนื้อหาไปอ้างอิง โปรดคำนึงว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ดีและอาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคต
นักเศรษฐศาสตร์มีความสนใจเกี่ยวกับกลไกการรับมือในครัวเรือนต่อการมีรายได้ที่ลดลงหรือการว่างงานมาเป็นเวลานานแล้ว ในบรรดาความเสี่ยงต่าง ๆ ปัญหาสุขภาพของผู้มีรายได้หลักเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ครัวเรือนต้องเผชิญ หากระบบประกันสังคมไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวได้เพียงพอ การรับมือกับผลของความเสี่ยงนั้นอาจตกอยู่กับสมาชิกคนอื่นในครัวเรือนเอง
งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาผลกระทบของปัญหาสุขภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครัวเรือนที่มีต่อสมาชิกครัวเรือนคนอื่น ตัวอย่างเช่น Coile (2004) ได้ศึกษาผลกระทบของปัญหาสุขภาพที่มีต่อการตัดสินใจทำงานของคู่สมรสของผู้ที่ล้มป่วยลงในประเทศสหรัฐอเมริกา ตามหลักทฤษฎีแล้ว หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่สามารถออกไปทำงานเพื่อหารายได้และระบบประกันสังคมไม่สามารถบรรเทาผลกระทบนี้ได้ สมาชิกครัวเรือนคนอื่นอาจจำเป็นต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแทน อย่างไรก็ดี Coile (2004) ไม่พบหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าหลังจากที่สามีล้มป่วยลง ภรรยาจะกลายมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเพราะระบบประกันสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถเยียวยาผลกระทบจากปัญหาสุขภาพในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพที่งานวิจัยดังกล่าวศึกษานั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรง ดังนั้น การที่ภรรยาไม่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของสามีจึงอาจเป็นเพราะทั้งคู่คาดว่าสามีจะสามารถกลับมาทำงานได้หลังจากฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยแล้ว ต่อมา Fadlon & Nielsen (2021) จึงได้ศึกษาผลของปัญหาสุขภาพทั้งแบบไม่ร้ายแรงและแบบที่ถึงแก่ชีวิตในประเทศเดนมาร์ก และพบว่าปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรงไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานของคู่สมรสเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต แม่หม้ายจะทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าระบบประกันสังคมของเดนมาร์กอาจยังไม่สามารถเยียวยาการเสียรายได้ของครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ดี การศึกษาว่าการเสียชีวิตของผู้มีรายได้หลักส่งผลกระทบอย่างไรต่อครัวเรือนในบริบทของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OECD1 ยังมีค่อนข้างจำกัด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังไม่มีระบบประกันสังคมที่เข้มแข็งนัก นอกจากนี้ ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกำลังแรงงาน ส่งผลให้การเสียชีวิตของผู้สูงอายุอาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้ของครัวเรือนอีกด้วย ดังนั้น การเสียชีวิตของสมาชิกในครัวเรือนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงยิ่งกว่าในประเทศกลุ่ม OECD แต่ในขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังพัฒนา สถาบันครอบครัว ระบบเครือญาติ หรือชุมชนอาจมีความเข้มแข็งกว่า และเข้ามาทดแทนระบบประกันสังคมของรัฐได้
งานวิจัยของ Samutpradit (2024) ได้ศึกษาผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรสในบริบทของประเทศไทย โดยใช้ชุดข้อมูลของ Robert Townsend ที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของครัวเรือนไทยในหลายจังหวัดตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา แม้ว่าการสำรวจอาจไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรไทยในระดับประเทศ แต่ข้อดีของข้อมุลชุดนี้คือมีโครงสร้างแบบพาแนล (panel structure) กล่าวคือมีการเก็บข้อมูลของครัวเรือนเดิมต่อเนื่องหลายปี ทำให้สามารถเปรียบเทียบพฤติกรรมของสมาชิกในครัวเรือนก่อนและหลังการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ข้อมูลชุดนี้ยังมีข้อมูลการทำงานของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะการอยู่อาศัยว่าอยู่ร่วมกับใครบ้าง และข้อมูลรายรับประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ศึกษากลไกการรับมือรูปแบบต่าง ๆ ของครัวเรือนเมื่อเกิดการเสียชีวิตของคู่สมรสได้
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้ชายและมีอายุ 51–70 ปี และมีคู่สมรสอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ในกลุ่มตัวอย่างนี้ พบว่าประมาณร้อยละ 93 และร้อยละ 89 ของสามีและภรรยายังคงทำงานอยู่ตามลำดับ โดยสามีมีแนวโน้มที่จะทำงานรับจ้างหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ ขณะที่ภรรยามีแนวโน้มที่จะทำงานเป็นคนงานของครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid family worker)
ทั้งนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรส ผู้วิจัยได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิด event-study design แบบ staggered treatment โดยใช้แบบจำลองที่เสนอโดย Borusyak et al. (2024) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนที่มีการเสียชีวิตของหัวหน้าครัวเรือนหรือคู่สมรสของหัวหน้าครัวเรือน กับกลุ่มควบคุมที่เป็นครัวเรือนที่คู่สมรสหัวหน้าครัวเรือนอยู่ในกลุ่มอายุเดียวกันแต่ไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น
เมื่อพิจารณาไปที่ผลกระทบกรณีที่เกิดการเสียชีวิตของหัวหน้าครัวเรือน ผลวิจัยพบว่าหลังจากสามีเสียชีวิต แม่หม้ายมีแนวโน้มเป็นคนงานในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างลดลงประมาณร้อยละ 28.3 และมีแนวโน้มเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้นประมาณร้อยละ 19.9 (รูปที่ 1) นอกจากนี้แม่หม้ายยังมีการรับลูกและญาติคนอื่น ๆ มาช่วยงานในครัวเรือน โดยมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ร่วมกับลูกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และลูกสาวมีแนวโน้มที่จะย้ายมาอยู่ร่วมกับแม่หลังจากที่พ่อเสียชีวิตมากกว่าลูกชาย อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาครัวเรือนที่ภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต พบว่าพ่อหม้ายกลับมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงานมากขึ้น (รูปที่ 2)
ความแตกต่างในการตอบสนองด้านอุปทานแรงงานระหว่างพ่อหม้ายและแม่หม้ายอาจเป็นเพราะ
- ผู้หญิงและผู้ชายมีวิธีการรับมือกับความสูญเสียต่างกัน เช่น ผู้ชายอาจตอบสนองต่อความสูญเสียโดยการแยกตัวออกจากสังคม หรือ
- ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีรายได้หลักของครัวเรือนมากกว่าผู้หญิง และเมื่อผู้มีรายได้หลักเสียชีวิต สมาชิกครัวเรือนคนอื่นจึงต้องหาวิธีมารับมือกับรายได้ที่ลดลง
เพื่อตรวจสอบสมมติฐานนี้เพิ่มเติม ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาเพิ่มเติมไปที่ครัวเรือนที่แม่หม้ายเป็นผู้มีรายได้หลัก และพบว่าแม่หม้ายที่มีรายได้หลักมีแนวโน้มที่จะหยุดทำงานเช่นกันหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานประการที่สอง
หลังจากที่ศึกษากลไกการรับมือจากภายในครัวเรือนแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ศึกษากลไกการรับมือจากภายนอกครัวเรือน เช่น การรับเงินของขวัญจากญาติมิตร2 หรือการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยพบว่าแม่หม้ายมีรายได้จากเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาทในปีที่สามีเสียชีวิต (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของรายได้จากเงินของขวัญนี้มีความแตกต่างกันระหว่างครัวเรือน โดยเงินของขวัญนี้จะสูงถึง 40,000 บาทสำหรับครัวเรือนของแม่หม้ายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็ก (หมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนต่ำกว่าค่ามัธยฐานในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเท่ากับ 168 ครัวเรือน) แต่ในหมู่บ้านขนาดใหญ่ แม่หม้ายได้รับเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจอธิบายได้จากทั้งปัจจัยด้านอุปทานคือครัวเรือนในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่า และปัจจัยด้านอุปสงค์คือครัวเรือนแม่หม้ายในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินของขวัญมากกว่า อย่างไรก็ตาม รายได้จากเงินของขวัญนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป (รูปที่ 3) นอกจากนี้ยังพบว่าเงินโอนหรือรายรับจากภาครัฐลดลง ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือจากภายนอกครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นเงินของขวัญจากญาติมิตร หรือรายได้จากภาครัฐไม่ได้มีความต่อเนื่องถาวร ดังนั้นแม่หม้ายจึงต้องพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลักหลังจากสามีเสียชีวิต
งานวิจัยชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยหลายแขนง กลุ่มแรกเป็นงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานของครัวเรือน เมื่อผู้มีรายได้หลักตกงาน โดยทฤษฎีด้านอุปทานแรงงาน (labor supply) ทำนายว่าการทำงานของคู่สมรสจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ คู่สมรสประพฤติตัวเสมือนเป็นคนงานรอง (secondary worker) ในครัวเรือน แต่งานวิจัยส่วนใหญ่มักใช้การเลิกจ้างเป็นสาเหตุให้เกิดการว่างงานของผู้มีรายได้หลัก ซึ่งมักจะทำให้การวิเคราะห์ซับซ้อนขึ้น เนื่องจากการว่างงานที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว สำหรับงานวิจัยของ Samutpradit (2024) ถือว่าการเสียชีวิตเป็นสาเหตุการตกงาน ซึ่งเหมาะกับกรณีของประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่ ทำให้การเสียชีวิตนั้นเปรียบเสมือนกับการว่างงานถาวรและใช้ศึกษาถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมของคู่สมรสได้
งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มงานวิจัยที่ศึกษากลยุทธ์การรับมือความเสี่ยง ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่ผลที่มีต่อการตัดสินใจทำงานของแรงงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบทบาทของการออมและกลไกการรับมือกับความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น บทบาทของลูก ญาติมิตร รวมไปถึงบทบาทของชุมชน (Jacoby & Skoufias, 1997; Rosenzweig & Wolpin, 1993; Fafchamps et al., 1998)
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มงานวิจัยที่ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของแม่หม้ายอีกด้วย แม้ว่าแม่หม้ายจะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรสูงอายุ (The LoomBa Foundation, 2016) แต่มีงานวิจัยอยู่ค่อนข้างน้อยที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของแม่หม้าย โดยงานวิจัยจำนวนหนึ่งศึกษาการใช้เวลาและกระบวนการปรับตัวหลังจากคู่สมรสเสียชีวิตในบริบทของกลุ่มประเทศ OECD (Utz et al., 2004; Bethencourt & Rios-Rull, 2009; Hahn et al., 2011; Hamermesh et al., 2021) เช่น Hamermesh et al. (2021) พบว่าแม่หม้ายใช้เวลาทำงานบ้านน้อยลง อยู่คนเดียวมากขึ้น เครียดน้อยลง แต่ก็มีความพึงพอใจในชีวิตน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนไม่มากนักที่ศึกษาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้าย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าแม่หม้ายส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ดำรงชีวิตด้วยเงินบำนาญมากกว่าที่จะอยู่ในกำลังแรงงาน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่าความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้ายเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากสามีเสียชีวิต ดังนั้น เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทที่แตกต่างกันออกไป งานวิจัยของ Samutpradit (2024) จึงมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้ายในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งระบบบำนาญยังไม่มั่นคง และการทำงานตลอดชีวิต (lifetime employment) มีอยู่อย่างแพร่หลาย
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในครัวเรือนหลังจากที่สมาชิกในครัวเรือนเสียชีวิต โดยพบว่าแม่หม้ายผันตัวจากการเป็นคนทำงานในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ส่วนพ่อหม้ายมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงาน นอกจากนี้แม่หม้ายยังมีแนวโน้มที่จะรับลูกและญาติคนอื่นมาอยู่ในครัวเรือนและทำงานในธุรกิจของครอบครัวด้วยกันหลังจากสามีเสียชีวิตด้วย ผลการศึกษายังพบว่าถึงแม้เงินของขวัญจากญาติมิตรจะเพิ่มขึ้นในปีที่มีการเสียชีวิต แต่รายได้ส่วนนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป นอกจากนี้การศึกษานี้ไม่พบหลักฐานว่าแม่หม้ายพึ่งพาเงินจากภาครัฐมากขึ้นหลังจากที่สามีเสียชีวิต ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า ครัวเรือนไทยรับมือความเสี่ยงโดยพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก คำถามที่ว่าภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ในการช่วยเหลือครัวเรือนให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเสียชีวิตของสมาชิกครัวเรือน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและศึกษากันต่อไป