เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการเลือกจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้
excerpt
งานวิจัยนี้ใช้แนวทางการสะกิดพฤติกรรมด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย (informational nudge) ในการออกแบบตารางชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนการให้กู้ยืมของสินเชื่อ 2 ประเภท ได้แก่ 1) สินเชื่อวงเงินผ่อนชำระ (installment loan) และ 2) สินเชื่อหมุนเวียน (revolving loan) เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจก่อนการเป็นหนี้ของลูกหนี้ผ่านการนำเสนอข้อมูลต้นทุนที่สูงขึ้นหากเลือกผ่อนนานหรือชำระหนี้เพียงขั้นต่ำ ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่าจำนวนผู้เลือกผ่อนสั้นในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจะไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลุ่มทดลองมีความเข้าใจต้นทุนดอกเบี้ยมากกว่ากลุ่มควบคุม สำหรับ revolving loan กลุ่มทดลองตัดสินใจจ่ายชำระหนี้มากกว่าขั้นต่ำมากกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ การรับรู้ข้อมูลจะลดลงเมื่อข้อมูลในตารางเพิ่มขึ้น ผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดตำแหน่ง วิธีการเขียน และขนาดตัวอักษรของตาราง เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับข้อมูลที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น
หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะมาจากหลายสาเหตุ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าลูกหนี้จำนวนหนึ่งเลือกที่จะผ่อนชำระระยะยาวหรือเลือกที่จะชำระหนี้เพียงขั้นต่ำ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องเป็นหนี้ยาวนานและมีต้นทุนการกู้ยืมสูง การกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) จะช่วยให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้ และจะสนับสนุนให้เกิดการจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว
ด้วยเหตุผลข้างต้น ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์ Responsible Lending โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการด้านสินเชื่อในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้และดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้น (ดังแสดงในรูปที่ 1)
การสะกิดพฤติกรรม (nudge) คือการออกแบบสภาพแวดล้อมการเลือก (choice architecture) ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในทางที่คาดการณ์ได้โดยไม่ปิดกั้นทางเลือกใด หรือเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ (Thaler et al., 2008) ซึ่งในด้านพฤติกรรมทางการเงิน nudge เป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นให้ผู้คนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้การบังคับ เช่น การตั้งค่าเริ่มต้น (default choice) ในแผนการออมเงินหรือการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุให้กับพนักงานโดยอัตโนมัติ โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอัตราการออมเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 13.6% ในช่วงเวลา 40 เดือน (Thaler & Benartzi, 2004)
นอกจากนี้ บางงานศึกษาพบว่าการสะกิดพฤติกรรมด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย (informational nudge) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินยังสามารถช่วยให้ลูกหนี้ตัดสินใจเป็นหนี้ลดลงได้ เช่น Bertrand & Morse (2011) พบว่าการแสดงข้อมูลเปรียบเทียบดอกเบี้ยในรูปแบบจำนวนเงินที่ต้องจ่าย สามารถลดการกู้ยืมเงินด่วน (payday loan) ได้ 11% ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน และยังพบว่าการแสดงดอกเบี้ยด้วยจำนวนเงินมีประสิทธิภาพมากกว่าการแสดงดอกเบี้ยด้วยอัตรารายปี
ธปท. ร่วมมือทางเทคนิคกับรัฐบาลอังกฤษ และ Behavioral Insights Team (BIT)1 ดำเนินโครงการ Nudge Project โดยนำหลักการและวิธีการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) มาออกแบบทางเลือกในการแสดงข้อมูลการชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนในการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล โดยขั้นตอนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขายสินเชื่อ ดังแสดงในภาพที่ 1 (ขั้นตอนที่ 3: กระบวนการขาย) ซึ่งคาดหวังว่าการออกแบบทางเลือกนี้จะช่วยส่งเสริมการตัดสินใจก่อนการเป็นหนี้ของลูกหนี้ และก่อให้เกิดลูกหนี้ที่มีความรับผิดชอบ (responsible borrower) ควบคู่ไปกับ Responsible Lending จากฝั่งผู้ให้สินเชื่อ
การขาดความตระหนักรู้ (awareness) สามารถเป็นข้อจำกัดในกระบวนการตัดสินใจ งานวิจัยพบว่า informational nudge สามารถช่วยให้สามารถเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดีขึ้น (informed financial decision) งานศึกษานี้ได้ศึกษาตารางการชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนในการกู้ยืมจากหลักเกณฑ์การสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินของประเทศต่าง ๆ คือ หลักเกณฑ์ Credit Card Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา หลักเกณฑ์ MAS Notice 635 Unsecured Credit Facilities to Individuals ของประเทศสิงค์โปร์ และหลักเกณฑ์ National Credit Regulations 79B(2) ของประเทศออสเตรเลีย และได้ปรับข้อมูลในตารางผ่อนชำระให้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนถ้อยคำจาก “ประหยัดดอกเบี้ย” เป็น “เสียดอกเบี้ยเพิ่ม” เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความสูญเสียมากกว่าสิ่งที่ได้รับ (loss aversion) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่ม “ตัวอย่างทางเลือก” เพื่อให้ลูกหนี้เข้าใจว่าการผ่อนชำระมีหลายทางเลือกไม่ใช่แค่เพียงการชำระขั้นต่ำหรือชำระเต็มจำนวนเท่านั้น โดยตารางยังแสดงให้เห็นว่าการชำระขั้นต่ำจะทำให้ต้องเป็นหนี้ยาวนาน
เมื่อออกแบบตารางแล้วเสร็จ ธปท. และ BIT ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของตารางชำระคืนหนี้และภาระต้นทุนการให้กู้ยืมของสินเชื่อ โดยแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง (experiment) ได้แก่
- สินเชื่อวงเงินผ่อนชำระ (installment loan) ซึ่งเป็นการกู้เงินเป็นก้อน และทยอยชำระคืนเป็นงวด ๆ พร้อมดอกเบี้ย โดยมีกำหนดระยะเวลาชำระที่แน่นอน
- สินเชื่อหมุนเวียน (revolving loan) ซึ่งเป็นการกู้เงินที่สามารถเบิกเงินสดไปใช้ได้เมื่อต้องการ ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เช่น บัตรกดเงินสด
โดยในการทดลองที่ 1 (installment loan) BIT เป็นผู้ดำเนินการจัดทำในรูปแบบออนไลน์ (online experiment) และในการทดลองที่ 2 (revolving loan) ธปท. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำในรูปแบบออฟไลน์ (offline experiment) ด้วยการทำแบบสอบถาม
ในการทดลองนี้ BIT ทำการทดสอบด้วย hypothetical scenario เพื่อศึกษาว่าการให้ข้อมูลต้นทุนของแต่ละทางเลือกสำหรับ installment loan จะช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตัดสินใจผ่อนสั้นลงเพื่อประหยัดดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร โดยการทดลองนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะเทียบเคียงกับลักษณะของประชากรไทย (เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ และแหล่งที่อยู่อาศัย)
ในการทดสอบจะแบ่งผู้ตอบแบบสอบถามเป็น 2 กลุ่มด้วยวิธีการสุ่ม (randomization) ได้แก่
- กลุ่มควบคุม (control group) ที่จะเห็นตารางแสดงข้อมูลที่อิงจากตารางแสดงข้อมูลการผ่อนชำระของผู้ให้บริการจริง (industry practice)
- กลุ่มทดลอง (treatment group) ที่จะเห็นตารางแสดงข้อมูลที่ออกแบบใหม่ที่แสดงข้อมูลเพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบว่า หากเลือกทางเลือกที่ผ่อนชำระนาน (36 เดือน และ 48 เดือน) จะต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อเทียบกับทางเลือกที่ผ่อนชำระสั้น (24 เดือน) โดยหลังจากที่ได้เห็นตารางแสดงข้อมูล ผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับทางเลือกว่าจะเลือกผ่อนชำระแบบใด รวมทั้งตอบคำถามความเข้าใจในผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่แสดงอยู่ในตาราง (เช่น ระยะเวลาผ่อนชำระ อัตราดอกเบี้ย เงินต้น) จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ประสิทธิภาพของตาราง
ผลการทดลองพบว่า สัดส่วนของผู้ที่เลือกระยะเวลาผ่อนชำระสั้น (24 เดือน) ของกลุ่ม treatment (55.3%) สูงกว่ากลุ่ม control (52.7%) อย่างไรก็ดี ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (ดังแสดงในรูปที่ 3) ทั้งนี้พบว่าตาราง installment ของกลุ่ม treatment อาจช่วยลด middle option bias (อคติที่คนมักเลือกทางเลือกตรงกลาง) ได้ โดยพบว่าสัดส่วนของทางเลือกตรงกลางของกลุ่ม treatment (14.5%) น้อยกว่ากลุ่ม control (19.3%) ซึ่งอาจอนุมานได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่เห็นตาราง treatment สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น (informed decision) นอกจากนี้ โดยเฉลี่ยกลุ่ม treatment (54.5%) มีแนวโน้มที่จะเข้าใจต้นทุนดอกเบี้ยรวมมากกว่ากลุ่ม control (46.9%)
อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่ม treatment มีแนวโน้มที่จะเข้าใจรายละเอียดข้อมูลอื่น ๆ ต่ำกว่ากลุ่ม control (เช่น อัตราดอกเบี้ย และ จำนวนเงินที่ต้องชำระรายเดือน) ทั้งนี้ BIT ให้เหตุผลว่าข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ (attention) ของผู้เข้าร่วมทดลองลดลง ซึ่งหากนำตารางไปใช้ในการออกนโยบาย BIT ให้คำแนะนำว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดตำแหน่งของตาราง (เช่น หน้าแรก) และกำหนดวิธีการเขียนและขนาดตัวอักษรที่ชัดเจน โดยไม่ให้มีข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือกจากที่กำหนด เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับและจดจำข้อมูลที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจ
ในการทดลองที่ 2 (revolving loan) มีแนวทางการทดลองเช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 โดยใช้ hypothetical scenario เพื่อให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมว่าผู้เข้าร่วมการทดลองผ่อนสั้นลงเพื่อประหยัดดอกเบี้ย และตัดสินใจผ่อนมากกว่าขั้นต่ำหรือไม่อย่างไร ในการทดลองนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างพนักงาน outsource ที่สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 177 ราย2 ซึ่งการเลือกกลุ่มตัวอย่างนี้เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นลูกค้าผลิตภัณฑ์ revolving loan อย่างไรก็ดี จำนวนและการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างเป็นข้อจำกัดของการทดลองนี้
ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละกลุ่มจะเห็นข้อมูลที่แตกต่างกันดังแสดงในภาพที่ 4 โดยตารางสำหรับกลุ่ม control จะแสดงข้อมูลทางเลือก 3 ทางเลือก ได้แก่ ชำระขั้นต่ำ ชำระเต็มจำนวน และผ่อนชำระสินค้า ซึ่งการแสดงทางเลือกในลักษณะนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ใช้ในปัจจุบัน (industry practice) และ ตารางสำหรับกลุ่ม treatment จะแสดงข้อมูลเพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบว่ามีทางเลือกในการผ่อนชำระที่มากกว่าการจ่ายเพียงขั้นต่ำและการจ่ายเต็มจำนวน โดยแสดงระยะเวลาปิดจบหนี้ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนจ่ายในแต่ละงวด และดอกเบี้ยทั้งหมดที่ต้องจ่าย รวมทั้งข้อความเพื่อแสดงให้เห็นว่าทางเลือกที่ผ่อนชำระนานขึ้นจะทำให้มีต้นทุนดอกเบี้ยรวมเพิ่มขึ้น
ผลการทดลองพบว่า โดยเฉลี่ยกลุ่ม treatment เลือกที่จะชำระขั้นต่ำ (14%) น้อยกว่ากลุ่ม control (62%) หรือน้อยกว่า 49 percentage points โดยความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) (ดังแสดงในตารางที่ 1)
การตัดสินใจชำระหนี้ | Control (N = 74) | Treatment (N = 103) | ||
---|---|---|---|---|
ราย | สัดส่วน | ราย | สัดส่วน | |
1. ชำระเต็มจำนวน | 10 | 14% | 3 | 3% |
2. ชำระขั้นต่ำ | 46 | 62% | 14 | 14% |
3. ชำระ 12 เดือน | 0 | 0% | 62 | 60% |
4. ชำระ 36 เดือน | 0 | 0% | 20 | 19% |
5. อื่นๆ (ระบุ) | 8 | 11% | 0 | 0% |
6. ไม่ตอบ | 10 | 14% | 4 | 4% |
รวม | 74 | 100% | 103 | 100% |
สำหรับกลุ่ม control มีจำนวน 53 ราย จาก 74 ราย ตอบคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาปิดจบหนี้ โดยพบว่ามีเพียง 3 รายที่สามารถระบุจำนวนระยะเวลาที่ปิดจบหนี้ได้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ตัดสินใจชำระขั้นต่ำส่วนใหญ่ (25 รายจาก 39 ราย หรือคิดเป็น 64%) คิดว่าจะสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 12 เดือน และทั้งหมด 39 ราย คิดว่าจะสามารถปิดหนี้ได้ก่อน 120 เดือน โดยระยะเวลาปิดหนี้ที่แท้จริง คือ 221 เดือน (18 ปี 5 เดือน) แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการทดลองส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจผ่อนขั้นต่ำประมาณการเวลาปิดจบหนี้ไว้ต่ำกว่าเวลาปิดจบหนี้ที่แท้จริง (underestimate)
ในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด พบว่ากลุ่ม treatment (56%) ตอบถูกมากกว่ากลุ่ม control (16%) และในส่วนของอัตราดอกเบี้ย พบว่ากลุ่ม treatment (35%) ตอบถูกมากกว่ากลุ่ม control (25%) อย่างไรก็ดี สัดส่วนผู้ตอบผิดยังมีจำนวนมาก โดยอาจเป็นผลจากการมีข้อมูลจำนวนมากในตาราง ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองที่ 1 และเป็นนัยยะต่อการออกนโยบายว่าผู้ออกนโยบายควรทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดด้าน attention span ของผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งออกแบบตารางโดยเข้าใจถึงลำดับความสำคัญของข้อมูลในตาราง
ผู้เข้าร่วมการทดลองในกลุ่ม treatment ซึ่งเห็นตารางที่ออกแบบทางเลือกด้วย informational nudge มีแนวโน้มที่จะทราบถึงต้นทุนการกู้ยืม และทางเลือกในการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง (installment loan) รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเลือกที่จะจ่ายชำระหนี้มากกว่าขั้นต่ำ (revolving loan) อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจข้อมูลในตาราง เนื่องจากความสามารถในการรับรู้ข้อมูลจะลดลงเมื่อจำนวนข้อมูลเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในการออกนโยบายจึงอาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการเพิ่มข้อมูลและระดับความเข้าใจของผู้ขอสินเชื่อเพื่อให้นโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ เนื่องจากงานวิจัยครั้งนี้ใช้ hypothetical scenario ผ่านการใช้แบบสอบถาม ซึ่งอาจให้ผลที่แตกต่างจากการทำวิจัยในสถานการณ์จริง และอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ได้ เพื่อให้การทดลองมีผลลัพธ์ที่ตรงกับการตัดสินใจในสถานการณ์จริงมากขึ้น สามารถใช้วิธี Randomized Controlled Trials (RCTs) โดยศึกษาจากพฤติกรรมของลูกหนี้ ณ จุดตัดสินใจในการเป็นหนี้
เอกสารอ้างอิง
- Behavioural Insights Team (BIT) คือ องค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ behavioural science ในการออกแบบนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ โดยแรกเริ่มก่อตั้งในปี 2010 BIT เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน BIT มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดที่มีสำนักงานในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ และได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลรวมถึงธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับ ในหลายประเทศ↩
- ในจำนวน 177 ราย แบ่งเป็นกลุ่ม control 74 ราย และ treatment 103 ราย พบว่าคุณลักษณะ (อายุ เพศ รายได้ และการศึกษา) ของกลุ่ม control และ treatment ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ↩