Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Not Over the Hill: Exploring the Digital Divide among Vulnerable Older Adults in Thailand
Latest discussion Paper
Not Over the Hill: Exploring the Digital Divide among Vulnerable Older Adults in Thailand
Beveridge curve: ตัวชี้วัดสำคัญของตลาดแรงงานและสภาวะเศรษฐกิจ
Latest aBRIDGEd
Beveridge curve: ตัวชี้วัดสำคัญของตลาดแรงงานและสภาวะเศรษฐกิจ
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Central Bank Reviews
Latest PIER Economics Seminar
Central Bank Reviews
International Policy Forum on Climate Finance
Latest policy forum
International Policy Forum on Climate Finance
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
PIER’s Targeted Research Grant 2025 – Call for Proposal
Latest announcement
PIER’s Targeted Research Grant 2025 – Call for Proposal
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/d3a91eb124d8586567f674a568a2c1a5/41624/cover.jpg
15 July 2025
20251752537600000

Beveridge curve: ตัวชี้วัดสำคัญของตลาดแรงงานและสภาวะเศรษฐกิจ

การจัดทำ Beveridge curve สำหรับประเทศไทยจาก 2 ฐานข้อมูลทางเลือก
Nuarpear LekfuangfuNuttapol LertmethaphatPucktada Treeratpituk
Beveridge curve: ตัวชี้วัดสำคัญของตลาดแรงงานและสภาวะเศรษฐกิจ
excerpt

Beveridge curve สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะการว่างงานและตำแหน่งงานว่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ดียิ่งขึ้น Beveridge curve จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกตัวหนึ่งของเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ใช้ในการวางนโยบายทั้งด้านตลาดแรงงานและด้านนโยบายการเงิน Beveridge curve นั้นสามารถแสดงถึงภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงาน (labour market tightness) ได้ ธนาคารกลางจึงสามารถใช้เป็นดัชนีมาช่วยเสริมความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตลาดแรงงานและค่าเงินเฟ้อ ที่โดยทั่วไปดูจากดัชนี Phillips curve

อนึ่ง ประเทศไทยเองนั้นไม่มีการนำ Beveridge curve มาใช้แบบจริงจัง ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะข้อมูลด้านตำแหน่งงานว่างที่จะมาใช้สร้าง Beveridge curve บทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างวิธีการสร้าง Beveridge curve สำหรับประเทศไทย โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสองแหล่ง ได้แก่

  1. ฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานที่ดำเนินการโดย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
  2. ข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์ประกาศงาน และหางาน โดยนำเสนอการคำนวณอัตราตำแหน่งงานว่างและอัตราผู้หางานจากฐานข้อมูลหลายแหล่ง โดยแต่ละแหล่งข้อมูลครอบคลุมผู้ใช้ หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดแรงงานนั้นได้ครบถ้วนแตกต่างกันไป และท้ายที่สุด เราจะสาธิตวิธีการสร้าง Beveridge curve รวมถึงการวัดความตึงตัวของตลาดแรงงานสำหรับตลาดแรงงานของไทย

ความสำคัญของ Beveridge curve

Beveridge curve แสดงความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างการว่างงาน (unemployment) และตำแหน่งงานว่าง (vacancy) กล่าวคือ เมื่อจำนวนตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้น จำนวนคนงานที่ว่างงานก็จะลดลงด้วย โดยที่การปรับเปลี่ยนรูปร่าง และ ตำแหน่งของ Beveridge curve สามารถเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงตามเส้นกราฟ (movement along) อาจเกิดจากความตึงตัวของตลาดแรงงาน โดยตลาดแรงงานที่ตึงตัว (ปกติเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟู) คือ ตลาดที่มีอัตราการว่างงานต่ำและมีตำแหน่งงานว่างจำนวนมาก มีการขาดแคลนแรงงานและมีความกดดันด้านค่าจ้างสูงขึ้นบน Beveridge curve สถานการณ์นี้จะแสดงด้วยจุดบนส่วนซ้ายบนของ Beveridge curve

    ในทางกลับกัน ในตลาดแรงงานที่ซบเซา อัตราการว่างงานสูงและมีตำแหน่งงานว่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและมีความกดดันด้านค่าจ้างลดลงบน Beveridge curve สถานการณ์นี้จะแสดงด้วยจุดบนส่วนขวาล่างของ Beveridge curve

    ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในภาวะตึงตัวของตลาดแรงงานมักเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในวัฏจักรธุรกิจ เช่น การหดตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นและมีตำแหน่งงานว่างน้อยลง ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีตำแหน่งงานว่างมากขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง

  2. การเคลื่อนตัวของเส้น Beveridge นั้น (curve shifting) มักเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในประสิทธิภาพการจับคู่ระหว่างอุปทานแรงงานและอุปสงค์ (matching efficiency) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความง่ายและรวดเร็วที่ผู้ว่างงานสามารถหางานทำในอัตราตำแหน่งงานว่างที่กำหนด โดยที่การเลื่อนเส้นโค้งเข้าด้านใน (shift inwards) บ่งชี้ถึงการปรับปรุงของประสิทธิภาพการจับคู่ที่สูงขึ้น เช่น มีการไหลเวียนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่าง เช่น อินเทอร์เน็ต อาจส่งผลให้มีอัตราการว่างงานและอัตราการงานว่างลดลงพร้อมกัน เนื่องจากประสิทธิภาพการจับคู่ของตลาดแรงงานดีขึ้น

    ในขณะที่การเลื่อนเส้นโค้งออกด้านนอก (shift outwards) บ่งชี้ถึงการลดลงของประสิทธิภาพการจับคู่ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจหรือการไหลเวียนของข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่าง ในยุคที่มีการเติบโตไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาคหรืออุตสาหกรรม อาจสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นพร้อมกันของอัตราการว่างงานและอัตรางานว่าง เนื่องจากประสิทธิภาพการจับคู่ระหว่างอุปทานแรงงานและอุปสงค์ลดลง

เพื่อเพิ่มความเข้าใจ รูปที่ 1 แสดงตัวอย่าง Beveridge curve ของสหรัฐอเมริกา (รายเดือน) ที่ใช้ข้อมูลอัตราการว่างงานและอัตรางานว่างระดับประเทศ (จาก Bureau of Labor Statistics) โดยจากข้อมูลนั้น เราเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ของการว่างงานและตำแหน่งงานว่างจัดกลุ่มได้เป็น 4 ช่วงเวลา นั่นคือ

  1. ช่วงปีก่อนเกิด Great Recession
  2. ช่วงปีขณะเกิด Great Recession
  3. ช่วงปีหลังจาก Great Recession
  4. ช่วงหลังวิกฤติ COVID-19 โดยที่ระดับของอัตราการว่างงานและอัตราตำแหน่งงานว่างมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
รูปที่ 1: Beveridge curve ของสหรัฐอเมริกา (รายเดือน)

Beveridge curve ของสหรัฐอเมริกา (รายเดือน)

ที่มา: Bureau of Labor Statistics และ Federal Reserve Bank of St. Louis

จากกราฟ เราเห็นได้ว่า ในแต่ละช่วงเวลา สัดส่วนระหว่างอัตราการว่างงานและอัตราตำแหน่งงานว่างมีค่าค่อนข้างคงที่ ตัวอย่างเช่น จากจุด A ไป จุด B (ในรูปที่ 1) โดยมีการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน พร้อมกับการลดลงของอัตราตำแหน่งงานว่างเป็นสัดส่วนเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ภายในเส้น Beveridge curve เส้นเดิม

ในทางกลับกัน การเปลี่ยนตำแหน่งจากจุด A ไปจุด C เกิดมาจากการที่ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ระหว่าง 2 เดือนนี้ มีอัตราตำแหน่งงานว่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สถานการณ์ตลาดที่เดือน C กลับมีภาวะการว่างงานที่แย่ลง ชี้ให้เห็นถึงการเกิด structural change ของตลาด (โดยในกรณีนี้ ก็คือการเกิดวิกฤติ covid) ที่ดูเหมือนจะทำให้ matching efficiency แย่ลง

การวิเคราะห์เชิงประจักษ์ของกราฟอาจเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากทั้งการเคลื่อนตัวตามกราฟและการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้น ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศจึงมีการรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลด้านการว่างงานและตำแหน่งงานว่าง เพื่อช่วยในการสร้างกราฟ Beveridge นี้ให้มีความน่าเชื่อถือและครอบคลุมทั้งมิติเชิงภาคส่วนต่าง ๆ ของตลาดแรงงาน และมิติเชิงเวลา (ต่อเนื่องหลายสิบปี และเป็นความถี่รายเดือน) ซึ่งความสมบูรณ์ของข้อมูลช่วยให้ผู้วางนโยบายและนักวิชาการสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การเคลื่อนตัวออกด้านนอกอย่างต่อเนื่องของกราฟ Beveridge ของสหรัฐฯ หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากความไม่ตรงกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานในตลาดที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น Beveridge curve ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของธนาคารกลางในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน โดยเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงาน และ ประสิทธิภาพของตลาดในการจับคู่งานกับแรงงาน (matching efficiency) ธนาคารกลางจึงสามารถใช้เป็นดัชนีนี้มาช่วยเสริมความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตลาดแรงงานและค่าเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ Phillips curve ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อค่าจ้างและการจ้างงาน Beveridge curve นั้นสามารถใช้ในการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงระดับเงินเฟ้อจะส่งผลต่อการเติบโตของระดับเงินเดือนมากน้อยหรือรวดเร็วเพียงใด ซึ่งระดับประสิทธิภาพในการจับคู่งานกับแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ถึงการปรับตัวช้าเร็วของตลาดแรงงานโดยตรง

การสร้าง Beveridge curve สำหรับประเทศไทย

สำหรับกรณีของประเทศไทย การสร้าง Beveridge curve นับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร เนื่องจากการที่เราไม่ได้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลด้านตำแหน่งงานที่ครอบคลุมตลาดแรงงานของประเทศอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นเอง นับได้ว่าประเทศไทยมีฐานข้อมูลด้านอัตราการว่างงานที่ดีและมีการเก็บรวมรวมข้อมูลดังกล่าวมาเป็นเวลาต่อเนื่องอย่างยาวนาน เราเริ่มจากการให้คำจำกัดความของตัวแปรหลักทั้งสองของ Beveridge curve และการใช้สถิติที่เหมาะสมที่นิยมใช้กันในกรณีของประเทศไทย

อัตราการว่างงาน

อัตราการว่างงาน (U) คือ ดัชนีวัดระดับการว่างงาน โดยคำนวณจากจำนวนผู้ว่างงานหารด้วยประชากรในวัยทำงานที่ยังอยู่ในตลาดแรงงาน (ผู้ที่มีงานทำและผู้ที่ว่างงาน) ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยเองใช้ข้อมูลนี้จากการสำรวจกำลังแรงงาน (รายเดือน) นอกจากนั้น ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลอีก 2 ชุดที่เรานำมาเสริมใช้ในการคำนวน คือ

  1. รายงานสถิติจำนวนผู้หางาน (รายเดือน) ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (DoE) ชุดข้อมูลรายเดือนนี้มีให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 จนถึงปัจจุบัน และสามารถแบ่งตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (จังหวัด) และลักษณะเฉพาะบางประการของผู้หางาน (กลุ่มอายุ เพศ ระดับการศึกษา) อาชีพ (ISCO 1 หลัก) และภาคอุตสาหกรรม (ISIC 1 หลัก) ในรายละเอียดนั้น ข้อมูลชุดนี้สร้างจากการใช้บริการลงทะเบียนหางานของผู้มาใช้สิทธิผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ที่ผู้ขอรับสิทธิต้องแสดงตนและสถานการณ์ทำงานเป็นรายเดือน (กับทางศูนย์บริการและทางเว็บ) ดังนั้น ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้ครอบคลุมผู้หางานทุกรูปแบบ และทุกภาคเศรษฐกิจ
  2. ผู้หางานในแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ ที่ผู้หางานได้สร้างโปรไฟล์และฝาก "ประวัติย่อ" โดยละเอียดไว้บนแพลตฟอร์ม โดยเราได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดจากแพลตฟอร์มงานออนไลน์หลักสองแห่งในประเทศไทย และใช้ข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 ในการสร้าง Beveridge curve

ตำแหน่งงานว่าง

ตำแหน่งงานว่าง (V): แสดงความต้องการแรงงานที่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยในหลายประเทศ (โดยเฉพาะกลุ่ม OECD) มีการจัดทำการสำรวจตำแหน่งงานว่างของรายบริษัทเป็นรายเดือน (ข้อมูลทางโทรศัพท์) รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลจากโฆษณาหางานออนไลน์ซึ่งครอบคลุมถึงตำแหน่งงานจากเครื่องมือค้นหางานและเว็บไซต์บริการจัดหางานสาธารณะ ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูล 2 ชุดที่เราสามารถนำมาใช้ในการคำนวน คือ

  1. รายงานสถิติจำนวนประกาศตำแหน่งงาน (รายเดือน) ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ในระดับรวมตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 จนถึงปัจจุบัน (รวมระยะเวลา 10 ปี) เช่นเดียวกับข้อมูลผู้หางานของกรมการจัดหางาน โดยที่ข้อมูลชุดนี้สร้างจากการใช้บริการลงทะเบียนหาคนทำงานโดยผู้ประกอบการที่มาใช้บริการกับศูนย์บริการของกระทรวงแรงงาน (ที่ศูนย์และทางเว็บ) ดังนั้น ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้ครอบคลุมตำแหน่งงานว่างทุกรูปแบบ และทุกภาคเศรษฐกิจ
  2. ตำแหน่งงานที่ประกาศในแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ ที่บริษัทหรือนายจ้างสามารถโพสต์ตำแหน่งงานว่างของตนได้

อนึ่ง การจัดการข้อมูลของประเทศไทยมีความท้าทายหลายมิติ เช่น การที่เราไม่ได้มีการทำแบบสำรวจแบบครอบคลุม การขาดข้อมูลที่มีการรวบรวมต่อเนื่องในอดีตถึงปัจจุบัน และท้ายที่สุดคือ การที่ข้อมูลจากเว็บไซต์หางานนั้นมีทั้งข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (unstructured) และต้องใช้เทคนิคทาง machine learning เพิ่มเติมเพื่อปรับตัวแปรหลักให้เป็นตามรหัสมาตรฐาน (เช่น รหัสการจำแนกอาชีพ) ที่ใช้กันในการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ (อ่านเพิ่มเติมที่ Lertmethaphat et al. (2025))

ตัวอย่างของ Beveridge curve จากข้อมูลของประเทศไทย

รูปที่ 2 แสดงกราฟความตึงตัวของตลาดแรงงานซึ่งเป็นอัตราส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อผู้หางาน (V/U) จากฐานข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่แสดงข้อมูลจากการใช้บริการการจัดหางานกับกรมการจัดหางานทั่วประเทศ ค่าของอัตราส่วนจะสูงกว่า 1 เมื่อมีตำแหน่งงานว่างมากกว่าจำนวนคนหางาน และต่ำกว่า 1 หากเป็นตรงกันข้าม สังเกตได้ว่า ค่าความตึงตัวผันผวนต่ำกว่า 1 เล็กน้อยในช่วงหลายปีก่อนเดือนมกราคม 2020 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนคนหางานมากกว่างานที่ว่างอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น อัตราส่วน V/U เพิ่มขึ้นและสูงถึงประมาณ 3.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของประเทศไทยมีคนงานน้อยกว่าที่จะเติมเต็มตำแหน่งงานว่าง สุดท้าย ด้วยชุดข้อมูลนี้ ยังสามารถสร้าง Beveridge curve สำหรับกลุ่มตลาดแรงงานที่กำหนดนี้ได้

รูปที่ 2: ความตึงตัวของตลาดแรงงาน (อัตราส่วนของจำนวนงานว่างต่อผู้หางาน)
ที่มา: รายงานโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

รูปที่ 3 แสดง Beveridge curve จากฐานข้อมูลของกรมการจัดหางาน แต่จำกัดที่ช่วงเวลาระหว่างพฤศจิกายน 2020 – พฤศจิกายน 2021 โดยที่แกนนอนแสดงถึงอัตราผู้หางาน (jobseeker rate) (ที่มีรายละเอียดในการคำนวนแตกต่างจากค่าอัตราผู้ว่างงาน (U) ของสำนักงานสถิติ ทำให้ค่าของทั้งสองอัตราอาจไม่เท่ากันเสมอไป) และมีแกนตั้งเป็นอัตรางานว่างของแต่ละเดือน ที่น่าสนใจคือ รูปร่างของกราฟเส้น Beveridge DOE ที่สร้างจากฐานข้อมูลของกรมการจัดหางานนั้นไม่เป็นไปตามรูปร่างทั่วไป และเสมือนว่าความสัมพันธ์ของการเคลื่อนตัวร่วมกันระหว่าง U และ V ดูเหมือนจะเป็นไปในทางบวก นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนสูงเดือนต่อเดือนั้ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการศึกษาในช่วงเวลาอันสั้น และเป็นช่วงหลังโควิดซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงาน จึงยากที่จะบอกได้ว่าความสัมพันธ์นี้เกิดจากการ shift บนกราฟ หรือการ shift ของกราฟเอง

รูปที่ 3: Beveridge curve รายเดือนจากข้อมูลของกรมการจัดหางาน (พฤศจิกายน 2020 – พฤศจิกายน 2021)
ที่มา: รายงานโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

และท้ายสุดนี้ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ รูปที่ 4 แสดง Beveridge curve ที่คำนวณจากฐานข้อมูล online platform ซึ่งพอเห็นได้ว่า Beveridge curve นี้ดูเหมือนจะมีความลาดชันเชิงลบ ตามที่มักพบในประเทศอื่น ๆ โดยเริ่มจากช่วงที่ 1 (พฤศจิกายน 2020) เราสามารถติดตามการเคลื่อนตัวของความสัมพันธ์ระหว่าง U และ V ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าตามตำแหน่ง Beveridge ได้ ในความเป็นจริง เราสังเกตเห็นทิศทางลดลงเนื่องจากอัตรางานว่าง (V) ยังคงลดลงในขณะที่อัตราผู้หางาน (U) เริ่มขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 ถึงกรกฎาคม 2021 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของ U และ V อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ อัตราการว่างงานและอัตรางานว่างจะแตกต่างกัน 4 ppt และ 10 ppt ตามลำดับ

รูปที่ 4: Beveridge curve รายเดือนจากข้อมูล online platform (พฤศจิกายน 2020 – พฤศจิกายน 2021)
ที่มา: ฐานข้อมูลหางาน online platform

มองไปข้างหน้า

บทความนี้ได้ชี้ถึงความสำคัญของ Beveridge curve และดัชนีความตึงตัวของตลาดแรงงาน ที่นานาประเทศได้ใช้เป็นอีกหนึ่งดัชนีหลักในการเข้าใจภาวะของตลาดแรงงาน และการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังได้สาธิตการก้าวข้ามปัญหาเชิงข้อมูลในกรณีของประเทศไทยเพื่อสร้าง Beveridge curve อย่างมีระเบียบและต่อเนื่อง อนึ่ง ข้อมูลที่ได้นำมาใช้สาธิตยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะระดับความครอบคลุมของข้อมูลที่อาจไม่ได้สะท้อนถึงกลุ่มต่าง ๆ ของตลาดแรงงานของประเทศไทยทุกกลุ่ม เช่น แพลตฟอร์มจัดหางานออนไลน์ดึงดูดงานประกาศรับสมัครและผู้หางานจากกลุ่มคนหนุ่มสาวและคนในเมืองที่มีทักษะสูงกว่า ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลจากการใช้บริการการจัดหางานของรัฐดูจะครอบคลุมแรงงานในพื้นที่ภูมิภาคได้มากกว่า เราจึงเชื่อว่าหากใช้ข้อมูลจากทั้งสองแห่งร่วมกันในการจัดทำ Beveridge curve จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจตลาดแรงงานได้ดีขึ้น สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากผลักดันให้ธนาคารกลางหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามที่จะรวบรวมฐานข้อมูลเหล่านี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถติดตามและทำความเข้าใจพฤติกรรมของตลาดแรงงานของประเทศไทยได้ดีขึ้นมากกว่าดัชนีกลุ่มเดิมที่อาจยังชี้ภาพของตลาดแรงงานแบบจำกัด

สามารถอ่านรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ Lekfuangfu & Lertmethaphat (2025)

เอกสารอ้างอิง

Lekfuangfu, N., & Lertmethaphat, N. (2025). Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms (Discussion Paper No. 232). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Lertmethaphat, N., Lekfuangfu, N., & Treeratpituk, P. (2025). Exploring the Thai Job Market Through the Lens of Natural Language Processing and Machine Learning (Discussion Paper No. 228). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Nuarpear Lekfuangfu
Nuarpear Lekfuangfu
Universidad Carlos III de Madrid
Nuttapol Lertmethaphat
Nuttapol Lertmethaphat
Bank of Thailand
Pucktada Treeratpituk
Pucktada Treeratpituk
Bank of Thailand
Topics: Labor and Demographic Economics
Tags: beveridge curvelabour market tightnessmachine learning
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email