
ทุกวันนี้ ร้านค้าปลีกเครือข่าย (chain stores)1 เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ในประเทศไทย มีร้านสะดวกซื้อ (convenient stores) ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายขนาดใหญ่ จำนวนมากกว่า 17,000 สาขาทั่วประเทศ2 ซึ่งยังไม่รวมถึงร้านค้าปลีกเครือข่ายประเภทอื่น ๆ เช่น ร้านขายยา หรือร้านขายสินค้าเฉพาะทางอื่น ๆ เป็นต้น
บทความนี้จะพูดถึงพฤติกรรมการปรับราคาของร้านค้าปลีกเครือข่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบการปรับราคาเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านต้นทุน งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ราคาสินค้าในร้านค้าปลีกเครือข่ายในสหรัฐมักไม่ตอบสนองต่อปัจจัยด้านอุปสงค์ในพื้นที่ (local demand shocks) ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำนายว่าร้านค้าปลีกจะปรับราคาขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุด ซึ่งคำอธิบายหนึ่งของข้อค้นพบดังกล่าวคือ ร้านค้าปลีกเครือข่ายในสหรัฐมักกำหนดให้สินค้ารายการเดียวกันมีราคาเท่า ๆ กันในทุกสาขาทั่วประเทศ (uniform pricing)
งานวิจัย Butters et al. (2022) ศึกษาผลกระทบของปัจจัยด้านต้นทุน (cost shocks) ต่อราคาสินค้าในร้านค้าปลีกเครือข่ายของสหรัฐ โดยใช้การขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นกรณีศึกษา และเนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตในสหรัฐมีช่วงเวลาของการปรับที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ผู้วิจัยจึงแบ่งร้านค้าปลีกเครือข่ายในสหรัฐ ออกเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้ กลุ่มแรกคือร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (directly exposed) ซึ่งหมายถึงร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต กลุ่มที่สองคือร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม (indirectly exposed) หมายถึงร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการปรับขึ้นภาษี แต่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับร้านกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือร้านค้าปลีกที่ไม่ได้รับผลกระทบ (unexposed) ได้แก่ร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการปรับขึ้นภาษีและไม่มีร้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอยู่ในเครือข่ายเลย
จากการศึกษาพบว่า ร้านค้าปลีกเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการส่งผ่าน (pass-through rate) ของร้านค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีค่าใกล้เคียง 1 ซึ่งหมายความว่า ร้านค้าปลีกส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดไปยังราคาสินค้า ส่วนราคาสินค้าในร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมมีการเคลื่อนไหวที่ไม่แตกต่างจากร้านที่ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบอีกว่า เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบมาก (โดยวัดจากสัดส่วนยอดขายในพื้นที่ที่มีการปรับอัตราภาษีต่อยอดขายรวมของเครือข่าย) มีการปรับราคาที่ไม่แตกต่างไปจากเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบน้อย
โดยสรุป งานวิจัยของ Butters et al. (2022) มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- ร้านค้าปลีกในสหรัฐมีการตอบสนองที่แตกต่างกันต่อปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านต้นทุน
- ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับอัตราภาษีจะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดไปยังราคาสินค้า ส่วนร้านค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมไม่มีการปรับราคาอย่างมีนัยสำคัญ
- เครือข่ายร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีมากมีการปรับราคาสินค้าที่ไม่แตกต่างจากเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบน้อย