ชาวนาไทยกับการรับมือความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาผู้มีผลผลิตและรายได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศโดยตรง สะท้อนได้จากการศึกษาของ Chantarat et al. (2016) ที่พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 85 ของพื้นที่เพาะปลูกของครัวเรือนชาวนาไทยได้รับความเสียหายจากมหาอุทกภัยในปี ค.ศ. 2011 ส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้จากการทำนาเฉลี่ยร้อยละ 75 ต่อครัวเรือน และอีกกว่าร้อยละ 20–25 ของครัวเรือนที่ต้องลดการบริโภคลง แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือนชาวนาไทยต่อภัยธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
บทความนี้จะมาพูดถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ชาวนาไทยต้องเผชิญ ก่อนจะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจถึงลักษณะการเกิดภัยและความรุนแรงของภัยพิบัติ ตลอดจนการจัดการความเสี่ยงของชาวนา
รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกษตรกรต้องเผชิญ สะท้อนได้จากดัชนี SPEI (Standardised Precipitation-Evapotranspiration Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความแห้งแล้งที่คำนวนจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนร่วมกับข้อมูลอุณหภูมิรายเดือน ดัชนีที่มีค่าน้อยกว่า 0 แสดงให้เห็นถึงความแห้งแล้ง และดัชนีมีค่ามากกว่า 0 แสดงให้เห็นถึงความชื้น จากรูปที่ 1 แถวที่ 1 จะเห็นได้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี (แถบสีเขียว) ค่าของดัชนี SPEI มีความไม่แน่นอน โดยมีค่ามากกว่า 0 และน้อยกว่า 0 แตกต่างกันไปในแต่ละปี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนี SPEI ร่วมกับข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืชจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ความเสียหายของพื้นที่นาในประเทศไทยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับดัชนี SPEI โดยจะสังเกตได้ว่า เมื่อค่าของดัชนี SPEI เข้าใกล้ 1 จะมีพื้นที่นาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม (รูปที่ 1 แถวที่ 1 และ 2) ในขณะที่เมื่อค่าของดัชนี SPEI เข้าใกล้ -1 จะมีพื้นที่นาที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (รูปที่ 1 แถวที่ 1 และ 3)
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ชาวนาต้องเผชิญนั้นมีความความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและเวลา โดยจากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า ภัยพิบัติส่วนใหญ่ที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญได้แก่ น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งรวมถึงฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้ ประเภทของภัยที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี เช่น ในปี ค.ศ. 2016 ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือน้ำท่วม และในปี ค.ศ. 2019 ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือภัยแล้ง นอกจากนี้แล้ว ความรุนแรงของภัยพิบัตินั้นยังแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยจะเห็นได้ว่า ในปีที่เกิดภัยพิบัติในระดับรุนแรงนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างพร้อมกันในทุกภูมิภาค ต่างจากปีที่ภัยพิบัติไม่รุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นในบางภูมิภาคเท่านั้น ทั้งนี้ ในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะของการเกิดภัยพิบัติที่แตกต่างกัน โดยจะสังเกตได้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางมักจะเผชิญกับภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ภาคใต้มักจะเผชิญกับน้ำท่วม ทั้งนี้ ชาวนาไทยมีการปรับตัวและการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ Chantarat et al. (2019) พบว่า การจัดการความเสี่ยงของชาวนาด้วยการใช้กลยุทธ์พึ่งพาตนเอง (self-insurance) อย่างการขายสินทรัพย์ การใช้เงินออม การหารายได้เสริม การกู้เงิน หรือแม้กระทั่งการขอความช่วยเหลือจากชุมชนหรือเครือญาติ (social insurance) มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความเสี่ยงสำหรับภัยขนาดเล็กเท่านั้น แต่ในกรณีภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดเป็นวงกว้างนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยกลไกอื่นในการรับมือ ซึ่งในปัจจุบันสองเครื่องมือหลักที่รัฐนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ได้แก่
- โครงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ1 ซึ่งนับเป็นการบรรเทาความเสียหายขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวนาในรูปของเงินเยียวยาอัตราไร่ละ 1340 บาท (ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่)
- โครงการประกันภัยข้าวนาปี2 เป็นการนำระบบตลาดเข้ามาช่วยจัดการความเสี่ยงของชาวนา โดยมีรัฐและ ธกส. ช่วยสนับสนุนค่าเบี้ยประกันให้บางส่วน สำหรับความคุ้มครองสูงสุดที่ชาวนาจะได้รับอยู่ที่อัตรา 1430 บาทต่อไร่
อย่างไรก็ดี ทั้งสองเครื่องมือหลักของรัฐสามารถแบ่งรับการสูญเสียต้นทุนของชาวนาจากภัยพิบัติได้รวมกันเพียงแค่ร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตต่อไร่เท่านั้น ซึ่งการสูญเสียอีกกว่าร้อยละ 40 ของต้นทุนการผลิตต่อไร่ รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้นั้น ถือเป็นส่วนที่ชาวนาต้องแบกรับไว้เอง
ท้ายที่สุด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่ชาวนาต้องเผชิญ แต่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยงนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนชาวนาไทย
เอกสารอ้างอิง
- คุณสมบัติของชาวนาที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาความเสียหาย คือ (1) ได้ลงทะเบียนเกษตรกรแล้ว (2) ไร่นาที่เสียหายจะต้องอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติที่ประกาศโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (3) ไร่นาจะต้องได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง↩
- กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี 2565 คิดเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยงและแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 ขั้น ประกันพื้นฐาน (tier 1) มีค่าเบี้ยประกัน 99–218 บาทต่อไร่ตามระดับความเสี่ยง โดยจะได้ความคุ้มครองพื้นฐาน 1190 บาทต่อไร่ กรณีที่ชาวนาต้องการความคุ้มครองเพิ่มสามารถทำได้โดยซื้อ ประกันภัยส่วนเพิ่ม (tier 2) ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันส่วนเพิ่มอีก 27–110 บาทต่อไร่ตามระดับความเสี่ยง โดยจะได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่มอีก 240 บาทต่อไร่↩