โอกาสที่ไม่เท่าเทียมของการหางานในตลาดแรงงานไทย: หลักฐานจากประกาศงาน online
สถิติจากข้อมูลที่ได้มาจากการประกาศรับสมัครงาน online เสนอภาพสะท้อนถึงความต้องการแรงงานจากฝั่งนายจ้างได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานผ่าน online platform เป็นหลัก โดยข้อมูลจากแหล่งนี้ คือ ข้อมูลด้านอุปสงค์แรงงานโดยตรง ซึ่งต่างจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labour Force Survey: LFS) ที่เป็นภาพของดุลยภาพตลาด (การมีงานทำและค่าจ้าง) และภาพฝั่งอุปทาน (ประชากรที่มีและไม่มีงานทำ) แต่ไม่มีภาพด้านอุปสงค์ ทำให้เวลาที่เราเห็นตัวเลขจาก LFS เช่น สัดส่วนของแรงงานนอกระบบที่มีการเพิ่มขึ้นตามอายุของแรงงาน เราไม่สามารถทราบได้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการเลือกงานของตัวแรงงานเอง หรือเป็นเพราะว่าจำนวนงานที่เปิดรับแรงงานประเภทต่าง ๆ นั้นมันไม่เท่ากัน
จากการรวบรวมข้อมูลประกาศงานใน website แห่งหนึ่งในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ถึงกรกฎาคม 2023 (โดยเป็นข้อมูลนี้ครอบคลุมนายจ้างกว่า 5,500 ราย และประกาศรับสมัครงานกว่าสามแสนฉบับ) เราพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า ตลาดแรงงานไทยยังมีการกีดกันทางอายุและเพศสภาพ (เพราะกฎหมายแรงงานไทยยังไม่มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างระบุลักษณะของผู้สมัครในประกาศงาน) แม้แต่งานที่รับผู้ที่จบปริญญาตรี หากแรงงานมีอายุเกิน 35 ปี โอกาสที่เปิดให้พวกเขาในตลาดแรงงานไทยก็มีไม่มากนัก
รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการประกาศงานที่มีการระบุอายุผู้สมัครงานตามระดับการศึกษา โดยจะเห็นได้ว่า สำหรับงานที่ต้องการผู้สมัครที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า ประมาณร้อยละ 60 นั้น มีการระบุว่าผู้สมัครต้องมีอายุไม่เกิน 36 ปี โดยส่วนมากเป็นการระบุว่าต้องมีอายุไม่เกิน 30 หรือ 35 ปี ขณะเดียวกันงานที่ต้องการผู้จบปริญญาโทขึ้นไป แม้สัดส่วนงานที่ระบุอายุจะน้อยกว่า แต่ก็คิดเป็นถึงร้อยละ 35 ของประกาศงานทั้งหมดในช่วงดังกล่าวที่ต้องการผู้ที่มีอายุไม่เกิน 36 ปี
หากมาดูที่การระบุเพศของผู้สมัครในประกาศงาน (ตารางที่ 1) พบว่าการคัดผู้มีสิทธิสมัครงานด้วยเพศสภาพของแรงงานนั้นมีระดับที่น้อยกว่าการคัดด้วยเกณฑ์อายุ และการระบุเพศผู้สมัครนั้นพบมากในกลุ่มประกาศงานที่ใช้ทักษะต่ำ โดยงานที่ต้องการผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี มีการระบุว่าต้องการเพศใดเพศหนึ่งเกือบร้อยละ 40 ส่วนงานที่ประกาศหาผู้จบการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป มีการระบุเพศเพียงร้อยละ 6 ทั้งนี้ งานส่วนใหญ่ที่ระบุว่าต้องการผู้ชายจะเป็นงานช่างเทคนิคหรืองานก่อสร้าง และงานส่วนใหญ่ที่ต้องการผู้หญิงจะเป็นงานทางบัญชีหรืองานเลขานุการ
ระดับการศึกษาขั้นต่ำ | |||
---|---|---|---|
เพศผู้สมัคร | มัธยมศึกษา/ปวช./ปวส. | ปริญญาตรี | ปริญญาโทขึ้นไป |
ไม่เลือก | 62.2% | 74.9% | 93.8% |
ชาย | 23.7% | 14.3% | 3.8% |
หญิง | 14.2% | 10.7% | 2.4% |
100% | 100% | 100% |
นอกจากนี้ เรายังพบว่า สำหรับกลุ่มที่จบปริญญาตรีหรือต่ำกว่า งานที่ไม่ได้มีการระบุเพศผู้สมัครเป็นงานที่ให้เงินเดือนเฉลี่ยสูง ส่วนงานที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงนั้น (จบปริญญาโทขึ้นไป) งานที่ระบุว่าต้องการเพศชายหรือไม่ระบุเพศให้เงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่างานที่ระบุหาแค่แรงงานหญิง (รูปที่ 2)
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า แม้หลายภาคส่วนจะมีการพูดถึงทั้งเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้แรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ แต่กลับกลายเป็นว่า ตลาดแรงงานไทยยังคงให้การเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานเป็นเรื่องที่ทำได้โดยทั่วไปและถูกกฎหมาย ซึ่งต่างจากในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศยุโรป ที่การเลือกปฏิบัติ (ด้วยเพศสภาพ อายุ เชื้อชาติ หรือลักษณะอื่น ๆ ของบุคคล) เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้สมัครควรจะได้รับการประเมินจากความสามารถแท้จริงเป็นหลัก ไม่ใช่มาจากหลักความคิดตามบรรทัดฐานทางสังคมเดิมที่ว่า ผู้ชายต้องแข็งแรง ผู้หญิงต้องอ่อนโยน ช่างปรนนิบัติ หรือมีอคติจากอดีตว่าอายุเกิน 35 ปีนับว่าแก่เกินเริ่มงานใหม่ กรอบความคิดเหล่านั้น ทำให้งานหลายงานในประกาศงานในยุคสมัยของโลกดิจิทัลยังติดกรอบที่มาจากยุค Analog
ดังนั้น ความพยายามของนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีงานทำของผู้สูงอายุ เช่น ในการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ธุรกิจที่มีการจ้างงานผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไปและมีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท สามารถนำค่าจ้างมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้สองเท่า หรือการพูดถึงเรื่อง upskill/re-skill ต่าง ๆ คงไม่สามารถช่วยอะไรแรงงานได้มาก เพราะคนกลุ่มใหญ่ได้ถูกตัดสิทธิจากการเข้าแข่งขันในตลาดไปตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน แรงงานที่อายุ 36 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 66 (เมื่อสามสิบปีที่แล้ว คิดเป็นเพียงร้อยละ 44) ดังนั้น หากตลาดแรงงานไทย ยังคงตัดสิทธิกลุ่มแรงงานด้วยเลขอายุ ทำให้แรงงานหางานยากขึ้น และเปลี่ยนงานได้ยากขึ้น เราอาจต้องเผชิญกับสภาวะที่ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบมากขึ้น ขาดการคุ้มครองจากสวัสดิการ ทั้งนี้ การที่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังงานที่เหมาะสมกับทักษะของตนเอง ยังส่งผลให้ตลาดแรงงานขาดประสิทธิภาพอีกด้วย