แค่ nudge พฤติกรรมทางการเงิน อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้
อคติในการตัดสินใจ (cognitive bias) คือความผิดพลาดในการตัดสินใจที่เกิดจากข้อจำกัดทางด้านการคิดวิเคราะห์ของสมองคน และเมื่อเป็นการตัดสินใจทางการเงิน อคติในการตัดสินใจอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่เหมาะสมได้
แม้จะมีข้อค้นพบจากงานวิจัยหลากหลายที่ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสมจะสามารถยกระดับฐานะทางการเงินได้ แต่สำหรับคนจนที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรมากกว่าคนกลุ่มอื่นแล้วนั้น การมีพฤติกรรมทางการเงินที่เหมาะสม ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะสามารถยกระดับฐานะทางการเงินได้
หลักฐานจากการศึกษาล่าสุดโดย Ruggeri et al. (2023) ไม่พบความแตกต่างของอคติในการตัดสินใจระหว่างคนจน (low income) และคนจนที่สามารถยกระดับฐานะทางการเงินได้ (positive deviant) โดยการศึกษาดังกล่าวได้ทำการเปรียบเทียบอคติในการตัดสินใจทั้ง 10 ประเภทตามแนวทางของ WEIRD (Western, Educated, Industrialized, Rich and Democratic) โดยผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจาก 27 ประเทศจำนวน 1,458 ราย พบว่า อคติที่พบในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ ความกลัวความไม่แน่นอน (ambiguity bias) ซึ่งเป็นอคติในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่คุ้นเคยอยู่แล้วหรือทางเลือกที่มีข้อมูลที่มากกว่า (รูปที่ 1)
ดังนั้น แม้ในภาพรวมจะไม่พบความแตกต่างของอคติในการตัดสินใจทั้ง 10 ประเภท แต่ก็มีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับอคติอัตราการคิดลด (temporal discounting)1 เพราะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินในระยะยาว โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประเทศที่อาศัยอยู่ รวมไปถึงลักษณะเศรษฐกิจ โดยในรูปที่ 2 แสดงสัดส่วนร้อยละของคนจนที่สามารถยกระดับฐานะทางการเงินพ้นจากความยากจนได้จาก 61 ประเทศทั่วโลก (Ruggeri et al., 2022) ภาพดังกล่าวชี้ให้ว่า นอกจากอคติในการตัดสินใจแล้ว สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศที่อาศัยอยู่ หรือระบบเศรษฐกิจ อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการยกระดับฐานะทางการเงินของคนจนได้เช่นกัน
ผลการศึกษาพบว่า อัตราการคิดลดมีความสัมพันธ์ในทิศทางบวกกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อของประเทศ และระดับหนี้สินของบุคคล แต่มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางลบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และระดับสินทรัพย์ของบุคคล (รูปที่ 3) อาจกล่าวได้ว่าคนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและอัตราเงินเฟ้อสูง จะให้ความสำคัญกับการบริโภคในปัจจุบันมากกว่า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงส่งผลให้ผลตอบแทนจากการออมต่ำกว่าการบริโภคในปัจจุบัน ในทางกลับกันคนในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอาจได้รับผลตอบแทนจากระบบเศรษฐกิจที่สูงกว่าจึงมีความสามารถที่จะอดออมได้มากกว่า
ผลการศึกษาดังกล่าวนับว่าเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สำคัญแก่นักวิจัยและผู้ดำเนินนโยบาย กล่าวคือ การ nudge พฤติกรรมลำเอียงทางการเงิน (financial bias) เพียงลำพัง อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้การแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นประสบความสำเร็จได้
เอกสารอ้างอิง
- อัตราการคิดลด (temporal discounting) คือ อัตราของผลตอบแทนในอนาคตที่ให้ความพึงพอใจจากการรอมากกว่าความพึงพอใจที่ได้ในปัจจุบัน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนใจจากการใช้เงินทันทีในวันนี้ ไปเป็นการออมเงินเพื่อให้มีเงินใช้ที่มากกว่าในอนาคต โดยคนที่มีอัตราการคิดลดสูงจะออมเงินน้อยกว่าคนที่มีอัตราการคิดลดต่ำ เมื่อเผชิญกับดอกเบี้ยเงินฝากเท่า ๆ กัน↩