ภาษีการบริโภค (consumption tax) ประกอบด้วยภาษี 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ภาษีการขาย (sales tax) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (value-added tax: VAT) และภาษีสรรพสามิต (excise tax) ซึ่งภาษีการบริโภคนี้ถือเป็นช่องทางสำคัญในการหารายได้ของรัฐบาลทั่วโลก โดยสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รัฐรวมในกลุ่มประเทศ OECD (Bunn et al., 2021)
สาเหตุที่ภาษีการบริโภคเป็นภาษีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งอาจมาจากคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของภาษีดังกล่าว คือ
- รัฐสามารถจัดเก็บได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้รัฐมีต้นทุนในการจัดเก็บภาษีที่ไม่สูง
- มีฐานภาษีที่กว้าง จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยสร้างรายรับที่เพียงพอให้กับรัฐ
- ไม่กระทบต่อพฤติกรรมมากนัก ต่างจากการเก็บภาษีแบบอื่น เช่น ภาษีรายได้ที่มักกระทบแรงจูงใจในการทำงานหรือภาษีที่คิดจากกำไรจากการขายทรัพย์สินมักกระทบแรงจูงใจลงทุน (Hines Jr, 2007)
- เป็นแหล่งรายได้รัฐที่มีความผันผวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีลักษณะอื่น
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นว่าภาษีการบริโภคหากเป็นภาษีแบบอัตราคงที่ (flat rate) ก็จะมีข้อเสียเพราะผู้มีรายได้น้อยจะจ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วนของรายได้มากกว่าผู้มีรายได้มาก (regressive) (เช่น Fullerton & Rogers, 1996; Jorgenson & Wilcoxen, 1997) ซึ่งก็เป็นเพราะคนรายได้น้อยมักใช้จ่ายมากและออมน้อยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้นั้นเอง ลักษณะภาษีที่ regressive นี้จึงไม่ดีต่อการกระจายรายได้นัก ส่งผลให้อาจเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบควบคู่กับการเก็บภาษีผ่านช่องทางอื่นด้วย
รายได้จากภาษีการบริโภคส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ value-added tax (VAT) ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บบนมูลค่าเพิ่มของสินค้า/บริการในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทาน ลองพิจารณาตัวอย่างห่วงโซ่อุปทานแบบง่าย ๆ ที่ในห่วงโซ่ประกอบด้วย ผู้ผลิต → ผู้ค้าส่ง → ผู้ค้าปลีก → ผู้บริโภค ในห่วงโซ่ลักษณะนี้ ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องนำส่ง VAT ดังต่อไปนี้
ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน | สร้างมูลค่าเพิ่มโดย | มูลค่าเพิ่มที่สร้าง (สมมติ) | ราคาขาย + VAT | VAT ที่ต้องนำส่งให้รัฐ |
---|---|---|---|---|
ผู้ผลิต | ผลิตสินค้า | 200 บาท | 200 บาท + 20 บาท | 20 บาท |
ผู้ค้าส่ง | บรรจุหีบห่อและกระจายสินค้าไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ | 200 บาท | 400 บาท + 40 บาท | 20 บาท |
ผู้ค้าปลีก | ตั้งแสดงสินค้าและขายสินค้าให้กับผู้บริโภค | 100 บาท | 500 บาท + 50 บาท | 10 บาท |
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า 1) มูลค่า VAT สุดท้ายที่ผู้บริโภคจ่ายจะสะท้อนมูลค่าเพิ่มที่เป็นผลรวมในแต่ละขั้นในห่วงโซ่อุปทานของสินค้า 2) การนำส่ง VAT ของผู้เล่นในห่วงโซ่แต่ละขั้นจะเท่ากับภาษีขาย (มูลค่า VAT ที่เก็บจากผู้เล่นลำดับถัดไปในห่วงโซ่) หักด้วยภาษีซื้อ (มูลค่า VAT ที่จ่ายให้กับผู้เล่นลำดับก่อนหน้าในห่วงโซ่) ซึ่งก็สะท้อนภาษีที่เก็บบนมูลค่าเพิ่มที่ผู้เล่นในลำดับนั้น ๆ สร้างขึ้น ซึ่งการคิดภาษีในลักษณะนี้ก็เพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีแบบซ้ำซ้อนหรือที่เรียกกันว่า tax pyramiding นั่นเอง
รูปที่ 1 แสดงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศต่าง ๆ โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย แท่งสีส้มสะท้อนกลุ่มประเทศใน OECD และแท่งสีน้ำเงินสะท้อนประเทศอื่น ๆ โดย VAT เฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD และกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ OECD อยู่ที่อัตรา 19% และ 15% ตามลำดับ