ธุรกิจในชุมชน เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีบทบาทในการเป็น "พื้นที่ที่สาม (third place)" ในการพบปะกันของคนในชุมชนนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย (พื้นที่ที่หนึ่ง) และที่ทำงาน (พื้นที่ที่สอง) และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน แม้ว่าจะมีงานศึกษาพอสมควรเกี่ยวกับผลดีของธุรกิจในชุมชนต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แต่ผลของธุรกิจในชุมชนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเริ่มธุรกิจใหม่ ยังไม่มีมากนัก
งานศึกษาของ Choi et al. (2024) เรื่อง "Third Places and Neighborhood Entrepreneurship: Evidence from Starbucks Cafés" ศึกษาผลของการเปิดร้านกาแฟในชุมชน1ต่อการเริ่มธุรกิจใหม่ โดยใช้การเปิดสาขาของ Starbucks ในสหรัฐอเมริกามาเป็นตัวแปร และเทียบอัตราการเปิดบริษัท startup ใหม่ ระหว่างชุมชนที่มีสาขา Starbucks เปิดใหม่ กับชุมชนที่ไม่มี Starbucks เปิดใหม่
เนื่องจากชุมชนที่ Starbucks เลือกเปิดสาขาอาจมีลักษณะที่แตกต่างจากชุมชนอื่น เช่น เป็นชุมชนที่ประชากรมีรายได้สูง หรือกลุ่มนักเรียนเยอะ หากปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเริ่มธุรกิจ startup เราอาจไม่สามารถแยกได้ ว่าอัตราการตั้งบริษัท startup ที่สูงในชุมชนเหล่านี้ เกิดจากการเปิดสาขา Starbucks หรือเป็นผลจากปัจจัยอื่น ๆ เหล่านั้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว (ซึ่งต่อจากนี้จะเรียกว่าว่า selection bias) ผู้วิจัยจึงใช้การเปรียบเทียบสามรูปแบบ ด้วยเทคนิค staggered difference-in-differences
เทียบระหว่างชุมชนที่มีการเปิดสาขา Starbucks กับชุมชนที่ Starbucks มีแผนที่จะเปิดสาขา แต่มีข้อติดขัดทำให้เปิดสาขาไม่ได้ โดยหากเราเชื่อว่า Starbucks เลือกชุมชนที่จะเปิดสาขาจากลักษณะบางอย่างที่เราไม่สามารถวัดได้ การเปรียบเทียบกันเองระหว่างชุมชนที่ Starbucks ต้องการจะเปิดสาขา (แต่บางชุมชนได้เปิด บางชุมชนไม่ได้เปิด จากปัจจัยภายนอก) จะช่วยลด selection bias ลงได้ แต่คณะผู้วิจัยก็ยอมรับว่าการเปรียบเทียบในลักษณะนี้มีข้อด้อยอยู่ ที่ชุมชนที่มีข้อติดขัดนั้นมีจำนวนค่อนข้างน้อย
เทียบระหว่างชุมชนที่มีการเปิดสาขา Starbucks ผ่านโครงการ Urban Coffee Opportunities กับชุมชนที่ไม่มีสาขา Starbucks โดยโครงการ Urban Coffee Opportunities นี้ได้ร่วมมือกับ Magic Johnson ในการเปิดสาขา Starbucks ในชุมชนที่ขาดแคลนทรัพยากร (underserved communities) ทำให้ selection bias ที่ Starbucks จะเลือกเปิดสาขาในชุมชนรายได้สูง ฯลฯ ลดลง แต่การเปรียบเทียบนี้อาจรวมผลของการมีโครงการอื่น ๆ ของ Magic Johnson ด้วยก็เป็นได้
เทียบระหว่างชุมชนที่มีการเปิดสาขา Starbucks กับชุมชนที่ไม่มีการเปิดสาขา Starbucks เป็นการเปรียบเทียบที่ตรงไปตรงมาที่สุด มีจำนวนชุมชนตัวอย่างมากที่สุด แต่ก็อาจประสบปัญหา selection bias ได้
ในการเปรียบเทียบทั้งสามรูปแบบ Choi et al. (2024) พบว่า หลังจากมีการเปิดสาขา Starbucks ในชุมชนประมาณ 2 ปี อัตราการเริ่มธุรกิจ startup ใหม่ในชุมชนนั้นเพิ่มขึ้น 5–11.8% ซึ่งเทียบเท่ากับการมีบริษัท startup ใหม่เกิดขึ้น 1.1–3.5 แห่งต่อปี เทียบกับชุมชนที่ไม่มีร้านกาแฟ
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบอีกว่า
- ในชุมชนที่มีร้านกาแฟเป็น "พื้นที่ที่สาม" อยู่แล้วนั้น การเปิด Starbucks ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเริ่มธุรกิจ startup ใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการช่วยยืนยันว่ากลไกการกระตุ้นการสร้างธุรกิจในชุมชนนั้น เกิดจากการสร้าง "พื้นที่ที่สาม" ให้คนในชุมชนได้เข้ามาเปิดธุรกิจใหม่
- ในชุมชนที่ไม่มีร้านกาแฟอยู่ก่อน การมีสาขาของแบรนด์กาแฟใหม่ที่ไม่ได้เน้นการสร้าง "พื้นที่สังสรรค์" ให้ชุมชนเข้ามาเปิด (เช่น Dunkin Donuts หรือ Dutch Bros) ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเริ่มธุรกิจ startup ใหม่ แต่สาขาของแบรนด์กาแฟที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สังสรรค์ให้ลูกค้า (เช่น Caribou Coffee) ทำให้เกิดผลคล้ายกับที่พบจากการเปิดสาขา Starbucks
- ผลของการเปิดสาขา Starbucks ต่อการเริ่มธุรกิจใหม่แปรตามจำนวนคนที่เข้ามานั่งใช้บริการในสาขา กล่าวคือ ยิ่งมีผู้เข้าใช้บริการร้านกาแฟ Starbucks ในสาขานั้น ๆ มากเท่าไหร่ แนวโน้มการเปิดธุรกิจใหม่ในชุมชนนั้นก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยยืนยันความสำคัญของ "พื้นที่ที่สาม" ในการกระตุ้นการสร้างธุรกิจในชุมชน และเป็นอีกแนวทางในการศึกษาผลของธุรกิจในชุมชนต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน รวมไปถึงความสำคัญของการออกแบบ "พื้นที่" ให้เหมาะสมกับความต้องการของคนในชุมชน และตอบโจทย์การพัฒนาของชุมชนด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ในงานศึกษานี้ ผู้วิจัยใช้ census tract (เขตสำรวจสำมะโนประชากร) เป็นหน่วยการวิเคราะห์ โดย census tract ของสหรัฐอเมริกา มีประชากร 1,200–8,000 คน↩