เศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนฐานรากของไทยมีความซับซ้อน หลากหลาย และท้าทายไม่แพ้ครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศ งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับการทำวิจัยภาคสนามเพื่อศึกษาพฤติกรรมและพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทย ซึ่งมีปัญหาหนี้สินกันในวงกว้าง มีหนี้ปริมาณมากถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ย และมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิคุ้มกันของครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาพฤติกรรมทางการเงินรายเดือนของครัวเรือนได้สะท้อน 3 ปัญหาสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรมีความท้าทายสูง คือ (1) รายได้น้อย ไม่พอใช้จ่าย ไม่พอชำระหนี้ และไม่พอเก็บสะสมเป็นทุน (2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขาดสภาพคล่องในหลายเดือนต่อปี และ (3) รายได้มีความผันผวนสูง และมีความเสี่ยงที่บริหารจัดการเองได้ยาก และอาจยากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ดังนั้นภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนกลุ่มนี้ หากสามารถช่วยให้ครัวเรือนบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจการเงินเหล่านี้ได้ดีขึ้น
งานวิจัยนี้พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเงินได้ โดยที่ผ่านมาลักษณะการออมและการทำประกันภัยยังไม่สามารถสร้างความมั่งคั่ง หรือภูมิคุ้มกันให้กับครัวเรือนได้ ครัวเรือนเกษตรกรไทยใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเงิน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่หลากหลายจากสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ แต่ตลาดสินเชื่อก็อาจยังทำงานได้ไม่ดีนักสำหรับครัวเรือนฐานรากของไทย
ปัญหาสำคัญ คือ (1) ความไม่สมมาตรของข้อมูล (information asymmetry) ระหว่างครัวเรือนและสถาบันการเงิน ทำให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอาจไม่เหมาะสมกับศักยภาพและความเสี่ยงของครัวเรือน และไม่เพียงพอสำหรับครัวเรือนบางกลุ่ม การติดตามและบังคับชำระหนี้อาจทำได้ยาก ตลอดถึงการออกแบบและปรับโครงสร้างสัญญาสินเชื่ออาจยังไม่เหมาะสมกับศักยภาพการการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้และปลดหนี้ได้จริง (2) กระบวนการปล่อยสินเชื่อและติดตามหนี้ของสถาบันการเงินอาจยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก (3) เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเท่าทันในการบริหารจัดการเงินและหนี้ และ (4) นโยบายส่งเสริมการเกษตรและมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ เช่น การพักหนี้ อาจส่งผลทำให้ครัวเรือนก่อหนี้เกินศักยภาพ สร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวในการชำระหนี้ และอาจกลายเป็นตัวเร่งให้ครัวเรือนติดกับดักหนี้ในวงกว้างขึ้นได้
หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงิน และวงจรหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จำเพาะกลุ่ม และต้องแก้ไขอย่างรอบด้าน ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน ตลอดถึงต้องสอดผสานความร่วมมือทั้งจากสถาบันเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน และต้องตั้งอยู่บนรากฐานความเข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมชุมชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางเทคโนโลยี
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Cambridge สหราชอาณาจักร ปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์การเงินจาก University of Chicago และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.โสมรัศมิ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา งานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับข้อมูลขนาดใหญ่ และการสํารวจภาคสนาม ในการเข้าใจปัญหาของการพัฒนาที่ยั่งยืนและทั่วถึงในระดับครัวเรือน การพัฒนาระบบการเงินไทย และการใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนา มีผลงานวิจัยในประเทศกําลังพัฒนาหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกาและผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ รวมทั้งได้รับรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2564
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทด้านการเงินจาก Imperial College London สหราชอาณาจักร และระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานด้านแบบจำลองความเสี่ยงด้านสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ และเป็น Certified FRM (Financial Risk Manager) ดร.ลัทธพร มีความสนใจงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร และการพัฒนาด้านการเงิน
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ภาคภาษาไทย) และปริญญาโท (ภาคภาษาอังกฤษ) จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก (ทุนธรรมศาสตร์) จาก Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.ชญานี ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก ปีงบประมาณ 2563 จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในทีมวิจัยเรื่องแนวทางปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ปัจจุบันร่วมทำวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานวิจัยด้านการศึกษาและโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และงานวิจัยเกี่ยวกับหนี้สินเกษตรกรร่วมกับมูลนิธิชีวิตไท และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขา Technology Management for Innovation จาก University of Tokyo ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO & Co-Founder ของ Startup เพื่อสังคมของ บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด (Noburo) โดยมีปณิธานที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มแรงงานไทยกว่า 20 ล้านคน ด้วยความเชื่อว่า ชีวิตที่อยู่ดีมีสุขเริ่มต้นจากการเงินที่มั่นคงแข็งแรง การแก้ปัญหาการเงินอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มแก้ที่รากของปัญหา ผ่านการให้ความรู้ทางการเงินและโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือ และการออกแบบเพื่อปรับพฤติกรรมในรูปแบบกลไกเกมส์ (gamification) เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมลดการพึ่งพิงหนี้ และสร้างเงินเก็บออมได้ในที่สุด ในปี 2021 โนบูโร ได้รับรางวัลจาก Inclusive Fintech 50 สนับสนุนโดย Accion และ IFC อีกด้วย
สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านกฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านการเงินจาก Drexel University ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณวิทัย มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ในด้านประสบการณ์ทำงาน คุณวิทัย เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทด้าน Finance และ Banking จาก The University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย คุณสุวรรณี มีประสบการณ์การทำงานด้านนโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ non-bank รวมถึงงานด้านการตรวจสอบสถาบันการเงินการเงิน นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในงานการจัดทำมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งปฏิบัติงานใน “คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” ซึ่ง ธปท. จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200
Phone: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.
Get PIER email updates