บทความนี้มุ่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาการ "มองสั้น" ในนโยบายสาธารณะของไทย โดยนิยามว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่เน้นผลระยะสั้นเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวอย่างเพียงพอ ผู้เขียนเริ่มจากการชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างการมองสั้นของรัฐบาลไทย แสดงความสำคัญของปัญหาการมองสั้น วิเคราะห์ต้นตอของปัญหา เสนอประสบการณ์ต่างประเทศและแนวทางการจัดการในบริบทของประเทศไทย การศึกษายกตัวอย่างนโยบายที่อาจสะท้อนการมองสั้น เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร การอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และได้ชี้ให้เห็นว่าการมองระยะสั้นทางการคลังเป็นปัญหาเชิงระบบในประเทศไทย บทความเน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้ โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ทวีความรุนแรง ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด การเข้าสู่สังคมสูงวัย และพันธสัญญาด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หากยังคงเพิกเฉย ประเทศจะสูญเสียโอกาสในการวางกลยุทธ์ระยะยาวและความสามารถในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต การศึกษาวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา โดยชี้ให้เห็นว่าเกิดจากการขาดกลไกที่เหมาะสมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมองการณ์ไกล ผู้เขียนได้ศึกษาแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลทางการคลังในต่างประเทศ และวิเคราะห์กลไกที่มีอยู่ในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ. วินัยการคลัง 2561 ท้ายที่สุด บทความนี้นำเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนากลไกเชิงสถาบัน เพื่อส่งเสริมการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ โดยมุ่งเน้นการออกแบบกลไกที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวพ้นจากวังวนของการมองสั้นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Rice University ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.อธิภัทร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการคลังและการพัฒนา งานวิจัยของ ดร.อธิภัทร เน้นการศึกษาผลกระทบของนโยบายการคลังต่อพฤติกรรมของคนและธุรกิจ ผลงานวิจัยของอาจารย์ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการคลังให้ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต Asian Development Bank, World Bank UNESCAP และ Bureau of Internal Revenue ของฟิลิปปินส์ ในอดีต ดร.อธิภัทร เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ Congressional Budget Office (CBO) ประเทศสหรัฐอเมริกา และธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ ดร.อธิภัทร ยังเคยได้รับรางวัล Richard Musgrave Prize จาก National Tax Association สหรัฐอเมริกา รางวัลผลงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ Honorary Mention สำหรับ ADB-IEA Innovative Policy Research Award
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์จาก Johns Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.ณรงค์ชัย เป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่รู้จักจากการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลากหลายสถานภาพ ดร.ณรงค์ชัย ทำงานด้านอาเซียนและเอเปกมาโดยตลอด โดยเป็นผู้ร่วมงานในคณะผู้ริเริ่มการประชุมผู้นำ AFTA และ APEC รวมทั้งเป็นคณะผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในอดีต ดร.ณรงคชัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากำรกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไทยหลายท่าน นอกจากนี้ ยังเคยทำงานเป็นกรรมการของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และเคยเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก National Graduate Institute for Policy Studies ประเทศญี่ปุ่น และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ดร.ฐิติมา มีความสนใจงานวิจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ความยั่งยืนทางการคลัง หนี้ครัวเรือน และประเด็นนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน เช่น ผลิตภาพ แรงงาน รวมถึงระบบการเงินดิจิทัลยุคใหม่ ดร.ฐิติมา เคยมีประสบการณ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานกลยุทธ์นโยบายการเงิน งานวิเคราะห์นโยบายการคลังและเสถียรภาพระบบการเงิน และร่วมทีมศึกษานัยของ Retail Central Bank Digital Currency ต่อนโยบายการเงินและภาคการเงินไทย
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200
Phone: 0-2283-6066
Email: pier@bot.or.th
Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.
Get PIER email updates