Entrepreneurship in the Digital Age

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ดร.โยธิน จินจารักษ์ และ Dr. Donghyun Park จาก Asian Development Bank (ADB) มานำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ “Entrepreneurship in the Digital Age”
ผู้ประกอบการถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในหลายด้าน เช่น ช่วยลดต้นทุนการเกิดธุรกิจใหม่ ทำให้เข้าถึงฐานลูกค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นเสมือนตัวเร่งการใช้นวัตกรรมของผู้ประกอบการ
งานศึกษานี้ได้สร้างดัชนีชี้วัดคุณภาพของสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล (Global Index of Digital Entrepreneurship System: GIDES) โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 8 ด้าน อาทิ วัฒนธรรม ระบบสถาบัน และระบบการเงิน ดัชนีดังกล่าวชี้ว่าสิงคโปร์จัดเป็นประเทศที่มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลมากที่สุด ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 59 จากทั้งหมด 113 ประเทศ
ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี GIDES และประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ โดยในระดับมหภาค พบว่าการเพิ่มขึ้นของ GIDES หนึ่งค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation: SD) จะเพิ่มโอกาสที่ธุรกิจรายใหม่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร้อยละ 8.2 ขณะที่ในระดับจุลภาคได้มีการทำแบบสำรวจผู้ประกอบการ 685 รายในภูมิภาคอาเซียน และพบว่าผู้ประกอบการที่มีการใช้ช่องทางด้านดิจิทัลมีความสามารถในการทำกำไรมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช้เครื่องมือดิจิทัล รวมถึงเพิ่มโอกาสอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอีกด้วย
นอกเหนือจากบทบาทของดิจิทัล ปัจจัยเชิงสภาบัน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการของภาคการเงิน หรือด้านหลักนิติธรรม (rule of law) ล้วนมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานศึกษานี้พบว่าการลดอัตราการคอร์รัปชันลง 1 SD จะเพิ่มอัตราการเปิดกิจการของผู้ประกอบการได้ถึงร้อยละ 10
ในภาพรวม ภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายที่ค่อนข้างหลากหลายเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล สิ่งที่เราทำได้ค่อนข้างดีคือด้านของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ขณะที่สิ่งที่เรายังต้องเร่งพัฒนาคือคุณภาพของสภาบัน หากเราสามารถสร้างผู้ประกอบการที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรม ก็จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป