Promoting Skills to Promote Successful Lives
Professor James J. Heckman จาก University of Chicago นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2000 ได้ให้เกียรติมาบรรยายในงานสัมมนาวิชาการพิเศษในหัวข้อ "Promoting Skills to Promote Successful Lives" โดย Prof. Heckman เล่าถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ต่าง ๆ จากการทำงานในหลายทศวรรษว่า โครงการที่เน้นพัฒนาทักษะเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นั้นเป็นดูเป็นโครงการที่สัมฤทธิ์ผลมากกว่าและต้นทุนต่ำกว่า โครงการหรือนโยบายอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น
ที่ผ่านมาประเทศส่วนใหญ่พยายามจะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน โดยมุ่ง “ช่วยเหลือคนจน” ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีคนรวยเพื่อนำมาเป็นเงินช่วยเหลือคนจน การลงทุนพัฒนาทักษะตลอดช่วงชีวิต รวมทั้งการจัดสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ผ่านมาแสดงว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก การแก้ปัญหาสังคมอื่น ๆ ก็มักจะเป็นการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน รอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน และใช้งบประมาณมหาศาลในการแก้ไข เช่น เพิ่มจำนวนตำรวจเมื่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์เมื่อคนป่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ หากมองลึกลงไปถึงสาเหตุและมองคนทั้งชีวิต หลักฐานจากงานศึกษาหลายชิ้นแสดงว่าจุดเริ่มต้นของชีวิตนั้นสำคัญที่สุด เด็กที่มีทักษะทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมที่ดี มีความอยากเรียนรู้ จะสามารถสร้างทักษะเพิ่มเติมได้ทั้งชีวิต ปรับตัวได้ โตขึ้นไปเป็นกำลังแรงงานที่มีผลิตภาพ และก่อปัญหาให้สังคมน้อย Prof. Heckman กล่าวว่า “ทักษะ” ไม่ได้สร้างจากโรงเรียนเท่านั้น ครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต กว่าจะถึง “โรงเรียน” ช่องว่างของทุนมนุษย์นั้นก็เริ่มกว้างขึ้นแล้ว คะแนนทดสอบทักษะของเด็ก 3 ขวบที่มีแม่จบปริญญาตรี โดยเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนสอบของเด็กที่แม่จบการศึกษาไม่สูงนัก อย่างไรก็ดี ช่องว่างนี้ไม่ใช่มาจาก DNA 100% โครงการที่เข้าไปพัฒนาการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ตั้งแต่ปฐมวัยพิสูจน์ว่าสามารถช่วยลดช่องว่างของทุนมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นลงได้
Prof. Heckman ได้เล่าถึงโครงการ Perry Preschool (เด็กอายุ 3–4 ปี) และ Abecedarian Program (เด็กอายุ 0–5 ปี) ซึ่งจัดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กและเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ทั้งสองโครงการเริ่มขึ้นมาหลายทศวรรษ จึงสามารถดูผลในระยะยาว โดยพบว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการโดยเฉลี่ยประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าโครงการ จบการศึกษาระดับสูงกว่า หน้าที่การงานมั่นคงกว่า สุขภาพดีกว่า ก่ออาชญากรรมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดโครงการในศูนย์เด็กเล็กอาจจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง Prof. Heckman จึงได้เล่าถึง โครงการ Reach Up and Learn ซึ่งเริ่มขึ้นในประเทศจาไมกา และนำไปใช้ในอีกหลายประเทศ เช่น China Reach ของจีน โดยโครงการนี้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านเพื่อพัฒนาทักษะของผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูและการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก โดยไม่ได้ใช้เวลามากนักและมีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งโครงการเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
งานสัมมนาครั้งนี้นี้ร่วมจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาการศึกษา และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์