Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) ได้จัดงาน RCT Human Capital Seminar Series ครั้งที่ 6 ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก Associate Professor Rustamdjan Hakimov จาก University of Lausanne มาบรรยายในหัวข้อ “Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Renke Schmacker และ Camille Terrier
ในสหรัฐอเมริกาพบว่า สัดส่วนผู้หญิงเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ได้เงินเดือนสูงหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นน้อยกว่าผู้ชาย เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้อยู่ในกลุ่ม bottom 20 ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดทางการเงิน ความชอบ การขาดความรู้เกี่ยวกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยหรือโอกาสในตลาดแรงงาน หรือการ Prof. Hakimov และคณะ ทดสอบสมมติฐานเรื่องความมั่นใจในตนเองว่ามีผลต่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่เรียนต่อหรือไม่ นั่นคือ หากผู้หญิงหรือเด็กจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มที่จะขาดความมั่นใจ และคิดว่าตนเองคงไม่มีทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ได้ ก็อาจจะทำให้ไม่อยากลองสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
งานศึกษานี้ได้เก็บข้อมูลของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2021 โดยเก็บข้อมูลคะแนนสอบ และมีคำถามเพื่อประเมินความมั่นใจในตนเอง โดยให้นักเรียนทายว่าตนเองได้เกรดอยู่ที่อันดับใดของห้อง หากเดาอันดับต่ำกว่าความเป็นจริงจะถูกจัดเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง หากเดาอันดับสูงเกินจริง จะถูกจัดเป็นกลุ่มที่มั่นใจมากเกินไป และมีการทำการทดลองแบบสุ่มเพื่อดูว่า หากมีการให้ feedback เพื่อปรับความมั่นใจของนักเรียนให้ตรงกับความสามารถที่แท้จริง จะมีผลต่อการสมัครและการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนหรือไม่ ผลพบว่า
- นักเรียนที่เรียนดี (top half) โดยส่วนใหญ่ เดาอันดับตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง
- นักเรียนผู้หญิงและนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างขาดความมั่นใจในตนเอง
- นักเรียนที่ขาดความมั่นใจ เลือกสมัครมหาวิทยาลัยและได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในสาขาวิชาอันดับต้น ๆ น้อยกว่ากลุ่มที่มีคะแนนใกล้ๆ กัน แต่มีความมั่นใจสูงกว่า
- การให้ feedback เพื่อปรับความมั่นใจ ส่งผลให้นักเรียนเรียนดีที่ขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะนักเรียนหญิงและกลุ่มที่มาจากครอบครัวยากจน เลือกที่จะสมัครและได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในสาขาวิชาอันดับต้น ๆ ของประเทศมากขึ้น