จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: จับชีพจรภาคส่งออกจากการหมุนเวียนของผู้ประกอบการ

excerpt
บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ใน mini-series จุลทรรศน์ภาคส่งออก ซึ่งใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศที่มีความละเอียดสูงของกรมศุลกากรในการฉายภาพภาคส่งออกของประเทศไทยในมิติที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การหมุนเวียนของผู้ส่งออกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความเป็นไปของธุรกิจนี้ ในขณะที่การส่งออกเดิมเติบโตได้จำกัด กลับมีผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถคว้าโอกาสใหม่ได้ในหลาย ๆ ตลาด ผู้เล่นหน้าใหม่เหล่านี้อาจจะเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นภาคส่งออกของไทยต่อไป
บทความเรื่องจุลทรรศน์ภาคส่งออกไทยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ทำการฉายภาพโครงสร้างของภาคส่งออกที่ลึกถึงระดับผู้ประกอบการ โดยเน้นความแตกต่างในคุณลักษณะด้านต่าง ๆ ทั้งระหว่างผู้ส่งออกด้วยกันและระหว่างผู้ส่งออกกับบริษัทที่ทำการค้าภายในประเทศ หนึ่งในข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า การส่งออกเป็นธุรกิจที่มีการหมุนเวียนของผู้เล่นสูง กล่าวคือ ในแต่ละปีจะมีผู้ส่งออกจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด และมีผู้เล่นจำนวนใกล้เคียงกันต้องออกจากสนามส่งออกในแต่ละปี คำถามที่น่าสนใจ คือ ผู้เล่นที่หมุนเวียนเข้าออกเหล่านี้มีนัยต่อพลวัตรโดยรวมของการส่งออกหรือไม่อย่างไร บทความในตอนที่ 2 นี้นำข้อมูลที่มีความละเอียดสูงมาวิเคราะห์ในเชิงพลวัตร เพื่อเข้าใจพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงในภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในระยะหลังนี้
ผ่านมาเรามักมองการเติบโตของการส่งออกในแง่มูลค่าเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงมูลค่าดังกล่าวแท้จริงแล้วสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในมิติที่ลึกกว่าในลักษณะ “ขอบเขต” หรือ extensive margin เช่น การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอาจเกิดจากการส่งสินค้าใหม่ไปยังตลาดใหม่โดยผู้ประกอบการรายใหม่ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาคที่ลึกซึ้งกว่าการเปลี่ยนแปลงที่มาจากสินค้า ตลาด และผู้ส่งออกเดิม หรือ intensive margin โดย Apaitan, Disyatat, and Samphantharak (2016) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิเคราะห์การส่งออกผ่านมิติขอบเขตดังกล่าว
บทความนี้จะเน้นพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเชิงขอบเขตที่มาจากผู้ประกอบการ โดยเราสามารถจำแนกกลุ่มผู้ส่งออกในแต่ละช่วงเวลาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เล่นเดิมที่มีกิจกรรมส่งออกในปีฐาน (Incumbents) และ กลุ่มผู้ส่งออกที่เข้าสู่ตลาด (Entrants) หรือจะกล่าวง่าย ๆ คือ ผู้เล่นหน้าเก่ากับผู้เล่นหน้าใหม่
รูปที่ 1 สรุปภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกและจำนวนผู้ส่งออกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่า การเติบโตในช่วงแรกถูกขับเคลื่อนโดยผู้ส่งออกเดิม (Incumbents) ที่อยู่ในตลาดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาในตลาดเป็นส่วนเสริม ทว่าในช่วงหลัง ผู้เล่นเดิมในตลาดอ่อนแรงลงค่อนข้างมาก จนเราจะเห็นได้ว่าช่วงปี 2011–2015 การเติบโตหลักมาจากผู้เล่นหน้าใหม่ (Entrants = 2.4%) ในขณะที่ผู้ส่งออกหน้าเดิมกลับฉุดรั้งมูลค่าส่งออกโดยรวม (Incumbents = -0.5%)
ในแง่จำนวนผู้ประกอบการ ภาพล่างแสดงให้เห็นว่าในบรรดาผู้เล่นทั้งหมดที่กำลังส่งออกในแต่ละช่วง กว่าครึ่งคือ ผู้เล่นหน้าใหม่ ที่น่าสังเกต คือ ในปี 2015 จำนวนผู้ประกอบการโดยรวมรวมลดลงเมื่อเทียบกับปี 2011 ซึ่งมีส่วนในการฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าส่งออก
หากนิยามให้ หนึ่งกิจกรรมการส่งออก หมายถึง การส่งออกสินค้า 1 ชนิด ไปยัง 1 ประเทศคู่ค้า โดยผู้ส่งออก 1 ราย เราสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภาคส่งออกในระดับที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยกลุ่มกิจกรรมส่งออกเดิม (Incumbents) หมายถึง ผู้เล่นรายเดิมที่ส่งสินค้าเดิมไปยังประเทศเดิม และกลุ่ม Entrants หมายถึง การริเริ่มกิจกรรมส่งออกใหม่ รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากการริเริ่มกิจกรรมใหม่ ๆ ของผู้ส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง และในรูปล่างซึ่งเป็นการนับจำนวนของกิจกรรม จะเห็นได้ว่า ในแต่ละปีจำนวนกิจกรรมที่ริเริ่มใหม่เป็นสัดส่วนที่น้อยเทียบกับกิจกรรมเดิม ส่วนหนึ่งสะท้อนการเข้าออกของผู้ส่งออกในแต่ละปีที่สูงมาก นอกจากนี้ แม้ผู้ส่งออกจะมีความหลากหลายของกิจกรรมเพิ่มขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเพิ่มก็ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงหลัง
โดยรวม พลวัตของภาคส่งออกไทยที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติผู้ประกอบการ ประเภทสินค้า และตลาดเป็นสำคัญ การวิเคราะห์และเข้าใจพัฒนาการในภาคส่งออกจึงควรพิจารณาลึกลงไปมากกว่าเพียงการขยายตัวเชิงมูลค่า โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในมิติขอบเขต หรือ extensive margin ดังกล่าวด้วย ดังสะท้อนในงานศึกษาในกรณีต่างประเทศ เช่น Chen and Yu (2010) ในกรณีประเทศแคนาดา หรือ Wagner (2013) ในกรณีของเยอรมัน
บทบาทของผู้ประกอบการในกิจกรรมการส่งออกเป็นสิ่งที่งานศึกษาในช่วงหลังให้ความสำคัญมาก ในส่วนถัดไปเราจึงวิเคราะห์การหมุนเวียนของผู้ส่งออกอย่างละเอียดมากขึ้น หากแบ่งกลุ่มประเทศคู่ค้าออกเป็น 10 กลุ่มหลัก ตารางที่ 1 แสดงการเติบโตเฉลี่ยและจำนวนผู้ส่งออกในช่วงปี 2011–2015 โดยแยก contribution ของกลุ่มผู้ส่งออกหน้าเก่า (Incumbents) และหน้าใหม่ (Entrants) สำหรับกลุ่ม incumbents ซึ่งคือผู้ประกอบการที่ส่งออกในปีฐาน (2011) เมื่อพิจารณาจนถึงสิ้นปี 2015 จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่รอดและส่งออก (กลุ่ม Stay) ในขณะที่ผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งยุติการส่งออกและออกจากตลาดไป (กลุ่ม Exit)
ในแง่ของมูลค่าการส่งออก ส่วนบนของตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าตลาดที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงนี้ ได้แก่ Australia และ US ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากกลุ่มผู้เล่นเดิมที่อยู่รอด (Stay) อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังตลาดอื่น ๆ จะพบว่ากลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ (Entrants) นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด China และ Japan ที่ดูเหมือนว่าผู้เล่นเก่ากำลังเผชิญการหดตัว แต่ตลาดโดยรวมกลับเติบโตหรือถูกพยุงไว้ไม่ให้หดตัวมากด้วยพลังของผู้เล่นใหม่ และลักษณะเช่นเดียวกันสามารถเห็นได้ในตลาด East Asia, EU และ Rest of the World อีกด้วย ส่งผลให้ในภาพรวมกลุ่มผู้เล่นใหม่เป็นผู้ผลัดกันการขยายตัว ในขณะที่ผู้เล่นเดิมมีผลสุทธิเป็นลบดังที่สะท้อนในรูปที่ 2
เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ประกอบการ ASEAN, EU และ Japan มีจำนวนผู้ส่งออกมากที่สุดในปี 2015 โดยจำนวนผู้เล่นหน้าใหม่ใน ASEAN และ China สูงกว่าทั้งจำนวนผู้เล่นเดิมที่อยู่รอด (Stay) และที่ออกไป (Exit) ซึ่งต่างจากตลาดอื่น ๆ ที่จำนวนผู้เล่นถอนตัวออกมากกว่าเข้าส่งผลให้ผู้ส่งออกโดยรวมมีจำนวนลดลงดังในรูปที่ 2
มิติถัดไปเป็นการวิเคราะห์การเติบโตเฉลี่ยตามประเภทของสินค้าโดยแบ่งสินค้าออกเป็น 10 กลุ่มหลัก ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วง 2011–2015 ได้แก่ Transportation และ Miscellaneous โดยมีกำลังหลักเป็นกลุ่ม Stay แต่สำหรับสินค้าประเภทอื่น สามารถกล่าวได้ว่า พึ่งพาการส่งออกของกลุ่ม Entrants เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้า Agricultural Products, Wood & Leather Products และ Metals & Other Materials
ในแง่ของจำนวนผู้ส่งออก สินค้าในกลุ่ม Metals & Other Materials, Chemicals & Rubbers และ Machinery มีจำนวนประกอบการมากที่สุดในปี 2015 ส่วนกลุ่มสินค้า Wood & Leather Products และ Textiles & Wearing Apparels มีจำนวนผู้ประกอบการเดิมที่ออกจากตลาด (Exit) ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ส่งออกที่อยู่รอด และในทุกประเภทสินค้า ผู้เล่นใหม่มีจำนวนสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้เล่นเดิมที่อยู่รอด
การพิจารณาข้างต้นชี้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการหมุนเวียนของผู้ประกอบการที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกโดยรวม ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรคำนึงถึงในการ ‘วัดชีพจร’ ของภาคการส่งออก โดยภาพที่ได้จากมุมมอง extensive margin ดังกล่าวอาจแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงเชิงมูลค่าที่เราคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง เช่น ในตารางที่ 3 ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ส่งออกในช่วงปี 2011–2015 โดยแบ่งแยกตามตลาดและประเภทสินค้า
ในแง่ของมูลค่า การส่งออกไปยัง China และ EU ไม่ค่อยต่างกันมากนัก (0.2% กับ 0%) แต่เมื่อพิจารณาจากมุมมองของจำนวนผู้ประกอบการ China มีผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 9% ในขณะที่จำนวนผู้ส่งออกไปยัง EU ลดลงถึง 10.3% หรือ ในมุมมองของประเภทสินค้า Wood & Leather Products ที่มูลค่าการส่งออกเติบโตในระดับที่ดี (4.2%) กลับมีจำนวนผู้ประกอบการที่ลดลงอย่างมากในเกือบทุกตลาด (โดยรวม -20.3% )
ในภาพรวม ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมส่งออกไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแง่ของการกระจายตัวของผู้ประกอบการ บางสินค้าในบางตลาด ผู้ส่งออกกว่าครึ่งละทิ้งไป ในขณะที่บางสินค้าในบางตลาดจำนวนผู้ส่งออกขยายตัวเกือบ 50% อุตสาหกรรม “ดาวรุ่ง” อย่าง Transportation นั้น มีการเติบโตดีในทุกตลาด ส่วนตลาดที่กำลัง “เนื้อหอม” สำหรับผู้ประกอบการในภาพรวม ได้แก่ ตลาด ASEAN และ China
หากเจาะจงแต่ละคู่สินค้า-ตลาดแล้ว ธุรกิจที่จำนวนผู้ประกอบการขยายตัวได้สูงสุด คือ การส่งออก Food ไปยัง China (46%) และ ASEAN (37%) ซึ่งสะท้อนในการขยายตัวเชิงมูลค่าที่สูงเช่นกัน ธุรกิจส่งออกที่กำลังหดตัวในแง่ของผู้ประกอบการอย่างชัดเจน ได้แก่ Wood & Leather Products, Textiles & Wearing Apparels และ Metals & Other Materials แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นการเลื่อนไหลเพื่อไปส่งออกในตลาดใหม่ คือ ASEAN และ China และเมื่อพิจารณาร่วมกับการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในตารางที่ 2 จะพบความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 3 สินค้านี้ คือ ในกรณีของ Metals & Other Materials ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่กลายเป็นกำลังหลักในการสร้างความเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมนี้ได้ แต่ในกรณีของ Textiles & Wearing Apparels การบุกเบิกตลาดใหม่ไม่เพียงต่อที่จะชดเชยการหดตัวของผู้เล่นเก่าและผู้เล่นที่ออกจากธุรกิจ และในกรณีของ Wood & Leather Products ผู้ประกอบการใหม่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี อีกทั้งผู้ประกอบการเดิมยังทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงสร้างการขยายตัวได้อย่างมาก
ในหลาย ๆ ตลาดหรือประเภทสินค้าแม้มูลค่าการส่งออกจะเติบโตต่ำ แต่กลับดึงดูดผู้ประกอบการใหม่ ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นฐานให้ตลาดนั้น ๆ เติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ประกอบการในแต่ละตลาดหรือประเภทสินค้าจึงอาจเป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่บอกว่าธุรกิจใด “มีอนาคต” นอกเหนือจากมูลค่าการส่งออก แต่ในทางกลับกัน การหดตัวของจำนวนผู้เล่นในตลาดหนึ่งอาจไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป ถ้าหากผู้เล่นที่เหลืออยู่คือผู้มีประสิทธิภาพและทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น
ในสนามที่เต็มไปด้วยผู้เล่นหน้าใหม่ คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ มีความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างผู้เล่นหน้าใหม่กับผู้เล่นหน้าเก่า และผู้เล่นที่กระโจนเข้ามาในตลาดมีพัฒนาการไปอย่างไรหากสามารถอยู่รอดในสนามการส่งออก ตารางที่ 4 แสดงคุณลักษณะของผู้ส่งออกแยกตามกลุ่ม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้เล่นในมิติต่าง ๆ ดังนี้
ในแง่มูลค่าการส่งออก ผู้ประกอบการกลุ่ม Entrants หรือ Exit มักมีขนาดเล็กกว่าผู้เล่นเดิมที่อยู่รอดในตลาด (Stay) มาก ทั้งนี้ ขนาดโดยรวมของผู้ส่งออกลดลงเล็กน้อยในช่วงวิกฤต Subprime ระหว่าง 2007–2011 ที่การส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง
ในมิติของจำนวนประเภทสินค้าและจำนวนตลาดส่งออก ผู้เล่นเดิมที่อยู่รอดในตลาด (Stay) มีการส่งออกสินค้าหลากหลายประเภทไปยังจำนวนตลาดที่มากกว่าผู้ที่เข้าหรือออกจากตลาดอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ส่งออกสองกลุ่มหลังนี้มักเป็นผู้ประกอบการที่ส่งออกเพียงตลาดเดียว
และเมื่อพิจารณาคุณลักษณะทางการเงินจะเห็นได้ว่า บริษัทที่เป็นผู้เล่นเดิมและอยู่รอดมีแนวโน้มจะเป็นบริษัทใหญ่ที่ครอบครองเครื่องจักรหรือสินทรัพย์ถาวรมากกว่า สะท้อนจากขนาดของมูลค่าสินทรัพย์ถาวรที่สูงกว่า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้มีค่าสูงกว่าเช่นกัน บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรที่มากกว่าอีก 2 กลุ่มโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม อัตราการทำกำไรต่อสินทรัพย์ของกลุ่ม Entrants ยังมากกว่ากลุ่ม Exit ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า ธุรกิจโดยรวมได้หมุนเวียนเอาผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเข้ามา ซึ่งจะยกระดับอุตสาหกรรมโดยรวมในที่สุด
ท้ายที่สุดหากพิจารณาพัฒนาการของผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาดส่งออก รูปที่ 3 แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นหน้าใหม่มักเริ่มต้นโดยการมุ่งเน้นไปที่ตลาดเพียงตลาดเดียวและมีสินค้าเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ส่งออกที่สามารถอยู่รอดในตลาดได้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวทั้งในแง่ของมูลค่า จำนวนตลาด ประเภทสินค้า รวมทั้งจำนวนคู่กิจกรรมที่จำแนกตามคู่สินค้า-ตลาด (product-market หรือ PM) ดังนั้น การอยู่รอดของผู้เล่นหน้าใหม่และพัฒนาการของผู้ประกอบการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตของการส่งออกในอนาคต
แม้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การส่งออกที่ชะลอตัวของไทยในช่วงหลังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ไม่เข้มแข็งของเศรษฐกิจโลก แต่เราไม่ควรมองข้ามปัจจัยอื่น ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ถึงแม้ฐานการส่งออกของประเทศไทยจะประกอบด้วยผู้ส่งออกไม่กี่รายที่มีขนาดใหญ่และดำเนินกิจการมานาน (ตามที่เรียบเรียงในบทความตอนที่แล้ว) แต่ผู้ประกอบการเดิมหรือกิจกรรมการส่งออกเดิมในธุรกิจที่เคยเป็นกำลังหลักกลับไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตได้อย่างในอดีต และภาคการส่งออกไทยกำลังฝากอนาคตไว้ในมือผู้เล่นหน้าใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งปัจจุบันยังอาจเป็นได้เพียงผู้ที่รอวันเติบโตต่อไป นโยบายที่เกี่ยวข้องต้องเอื้อให้กับผู้เล่นหน้าใหม่หรือการขยายขอบเขตของผู้ส่งออกเดิมอย่างเหมาะสม แม้จะเป็นในตลาดที่อยู่ตัวแล้วก็ตาม บทเรียนที่สำคัญ คือ หากไทยยังคงพะวงอยู่กับฐานการส่งออกเดิม ๆ ก็คงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นแน่
Apaitan, T., P. Disyatat, and K. Samphantharak. (2016): “Dissecting Thailand’s International Trade: Evidence from 88 Million Export and Import Entries.” PIER Discussion Paper No. 43, Puey Ungphakorn Institute for Research.
Chen, S., and E. Yu. (2010): “Export Dynamics in Canada: Market Diversification in a Changing International Economic Environment.” in Ciuriak, D. (ed.) Trade Policy Research 2010: Exporter Dynamics and Productivity, Foreign Affairs and International Trade Canada, Ottawa.
Wagner, J. (2013): “The Role of Extensive Margins of Exports in The Great Export Recovery in Germany, 2009/2010.” Working Paper Series in Economics 266. University of Lüneburg, Institute of Economics.