Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/f5927978c839cde03381599e18acef93/e9a79/cover.png
6 September 2017
20171504656000000

X-Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร

ใคร มีหนี้ประเภทไหน กับสถาบันการเงินใดบ้าง และพฤติกรรมการกู้เหล่านี้มีผลต่อคุณภาพหนี้อย่างไร
Atchana LamsamSommarat ChantaratBhumjai TangsawasdiratKrislert Samphantharak
X-Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร
excerpt

บทความตอนแรกใน mini series ของบทความ aBRIDGEd ที่มุ่งเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big data ของเครดิตบูโร ได้นำเสนอเหมืองข้อมูลที่สำคัญของหนี้ครัวเรือนไทยซึ่งเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ของประเทศ บทความตอนที่สองนี้มุ่งที่จะเข้าใจพฤติกรรมการกู้ของคนไทยว่า มีหนี้กี่สัญญา กี่ประเภท มีเจ้าหนี้กี่ราย จากสถาบันการเงินประเภทใด และผู้กู้ที่มีหนี้เสียมักจะมีพฤติกรรมการกู้แบบใด โดยการศึกษานี้เจาะลึกไปถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผู้กู้มากที่สุด และมีสัดส่วนหนี้และหนี้เสียในระบบที่สูง

ความเข้าใจในพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้แต่ละรายเป็นรากฐานสำคัญที่จะเข้าใจถึงเสถียรภาพของครัวเรือนและของระบบเศรษฐกิจการเงิน เพราะในนัยหนึ่งพฤติกรรมการกู้อาจสามารถสะท้อนถึงคุณภาพหนี้ของผู้กู้แต่ละราย เช่น ผู้กู้ที่มีหนี้หลายสัญญาอาจสะท้อนถึงภาระหนี้ที่สูง ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเปราะบาง และความสามารถในการจ่ายหนี้ที่ลดลง ผู้กู้ที่มีหนี้อยู่กับหลายสถาบันการเงินอาจจงใจที่จะกู้หนี้จากแหล่งหนึ่งไปชำระหนี้ของอีกแหล่งหนึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นต้น และหากผู้กู้ส่วนใหญ่ของประเทศมีพฤติกรรมดังกล่าว หรือหากหนี้ครัวเรือนไทยไปกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และอาจก่อให้เกิดความเปราะบางต่อระบบการเงินได้

หรืออีกนัยหนึ่ง เราอาจมองได้ว่าพฤติกรรมการกู้ที่เราเห็นในปัจจุบันอาจสะท้อนพื้นฐานของผู้กู้แต่ละราย เช่น ผู้กู้ที่มีบัตรเครดิตหลายใบอาจเป็นผู้กู้ที่มีประวัติการกู้ที่ดี มีศักยภาพในการจ่ายคืนหนี้ ดังนั้นการมีบัตรเครดิตหลายใบก็อาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อคุณภาพหนี้แต่อย่างใด ดังนั้นความเข้าใจในพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้แต่ละราย ตลอดถึงความเชื่อมโยงของพฤติกรรมการกู้ต่อคุณภาพหนี้ และความแตกต่างของพฤติกรรมการกู้ในมิติของประเภทของผู้กู้ ประเภทสินเชื่อ และประเภทสถาบันการเงิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกแบบและมุ่งเป้านโยบายที่เหมาะสม ที่ผ่านมาการศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยไม่สามารถวิเคราะห์ลึกลงไปถึงพฤติกรรมการกู้รายคนได้ เนื่องจากขาดข้อมูลในระดับจุลภาคที่มีความคลอบคลุมหนี้ทุกสัญญาและกับทุกสถาบันการเงินในระบบของผู้กู้อย่างข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโร

ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการกู้รายคน โดยสะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากการศึกษาของ Chantarat et al. (2017b) ซึ่งมองพฤติกรรมการกู้ใน 2 มิติ คือ

  1. จำนวนสัญญาและสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้ และ
  2. ประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้

โดยจะตอบ 3 คำถามเชิงนโยบาย คือ

  1. คนไทยมีพฤติกรรมการกู้อย่างไร
  2. พฤติกรรมการกู้แต่ละแบบมีผลต่อคุณภาพหนี้อย่างไร และ
  3. หนี้ส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่กับคนที่มีพฤติกรรมการกู้แบบใด

นอกจากนี้การศึกษายังเจาะลึกไปถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีผู้กู้มากที่สุด มีสัดส่วนปริมาณหนี้ในระบบที่สูง และมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงมากเช่นกัน

คนไทยมีหนี้กี่สัญญาและกับเจ้าหนี้กี่ราย

ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความหลากหลายมาก โดยเกือบครึ่งของผู้กู้มีหนี้เพียง 1 สัญญา แต่ก็มีผู้กู้ถึง 1 ใน 6 ที่มีหนี้มากกว่า 5 สัญญา นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้กู้มากกว่าครึ่งมีเจ้าหนี้เพียง 1 ราย และโดยเฉลี่ยคนไทยมีจำนวนสินเชื่อ 3 สัญญา และมีจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ 2 แห่ง

รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุและพื้นที่ ตามจำนวนสัญญาสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุและภูมิภาค โดยประมาณ 60% ของกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย (< 25 ปี) และอายุมาก (> 70 ปี) จะมีสินเชื่อเพียง 1 สัญญาและใช้สถาบันการเงิน 1 แห่ง ในขณะที่ 60% ของผู้กู้วัยทำงานจะมีหลายสัญญา (20% มีมากกว่า 5 สัญญา) และใช้หลายสถาบันการเงิน (10% ใช้มากกว่า 5 สถาบันการเงิน) ทั้งนี้สัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญา และใช้สถาบันการเงินหลายแห่งจะมากที่สุดในกลุ่มผู้กู้ที่อายุ 35–45 ปี

รูปที่ 1 จำนวนสัญญาสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ตามอายุและพื้นที่

จำนวนสัญญาสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ตามอายุและพื้นที่

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

ในเชิงพื้นที่เราพบว่าสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญามีมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีมากถึง 60% ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ที่มีเพียง 40% และชุมชนเมืองก็มีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญามากกว่าชนบท โดยมีผู้กู้ถึง 20% ในชุมชนเมืองที่มีสินเชื่อมากกว่า 5 สัญญา เปรียบเทียบกับ 10% ในชนบท ทั้งนี้ ก็มีความแตกต่างที่น่าสนใจในระดับจังหวัด โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสัดส่วนของผู้กู้มากถึง 50% ที่มีสินเชื่อเพียง 1 สัญญา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงจำนวนสถาบันการเงินที่ผู้กู้ใช้ก็พบลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และชุมชนเมืองจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่ใช้หลายสถาบันการเงินมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการกู้ที่แตกต่างกันในเชิงอายุและพื้นที่ข้างต้นอาจสะท้อนถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ความจำเป็น และแรงจูงใจในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้กู้ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้กู้ที่มีสินเชื่อหลายสัญญามีเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุและภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย ผู้กู้ในกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญามากที่สุดในปัจจุบัน และภาคใต้ที่ยังมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหลายสัญญาเกือบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งพฤติกรรมการใช้สินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นของผู้กู้รายเดิม (หรือ intensive margin) และการเข้าถึงสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นของผู้กู้รายใหม่ (หรือ extensive margin)

คนไทยมีหนี้ประเภทใดบ้างและมีเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินประเภทไหนบ้าง

รูปที่ 2 คำนวณสัดส่วนของหนี้แต่ละประเภทสินเชื่อและประเภทสถาบันการเงินจากปริมาณหนี้ทั้งหมดของผู้กู้แต่ละราย แล้วหาค่าเฉลี่ยของสัดส่วนดังกล่าวตามอายุและพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเภทของสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุและภูมิภาค โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการกู้จากประเภทสินเชื่อ รูปที่ 2a แสดงให้เห็นว่า ในมิติด้านอายุ ผู้กู้อายุน้อย (< 30 ปี) จะมีสัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นสัดส่วนที่สูงจากหนี้ทั้งหมด เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้เป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของสินเชื่อบ้านจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น และสัดส่วนของสินเชื่อบ้านจะสูงที่สุดถึง 10% ต่อหนี้ทั้งหมด ในกลุ่มผู้กู้อายุ 35–45 ปี และสัดส่วนนี้จะค่อย ๆ ลดลงในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น สวนทางกับสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมาก (> 70 ปี) ซึ่งจะมีสินเชื่อธุรกิจในสัดส่วนที่สูงถึง 40% ร่วมกับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก ลักษณะการใช้สินเชื่อที่แตกต่างกันไปตามอายุสะท้อนพฤติกรรมการใช้สินเชื่อตาม Life cycle theory และ ข้อจำกัดที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุในการเข้าถึงสินเชื่อได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตจะค่อนข้างคงที่ในผู้กู้เกือบทุกกลุ่มอายุ โดยอยู่ที่ 20% และ 10% ของหนี้ทั้งหมดตามลำดับ แต่อาจมากขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมาก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประเภทของสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี เราพบว่า 50–70% ของกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมากจะมีสินเชื่อเพียงประเภทเดียว ในขณะที่กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่จะมีสินเชื่อหลายประเภท

รูปที่ 2 สัดส่วนเฉลี่ยของสินเชื่อรายคนแบ่งตามประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ และจำแนกตามอายุและพื้นที่

สัดส่วนเฉลี่ยของสินเชื่อรายคนแบ่งตามประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินที่ใช้ และจำแนกตามอายุและพื้นที่

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

ในมิติเชิงพื้นที่ เราพบว่าภาคเหนือและภาคอีสานมีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อธุรกิจสูงถึงเกือบ 40% ต่อหนี้ทั้งหมดของผู้กู้ ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งมีเพียง 20% และเรายังพบอีกว่าสัดส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อบัตรเครดิตมีสูงที่สุดในกลุ่มผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ชุมชนเมืองและจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ชลบุรี ระยอง เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ตและสงขลา เป็นต้น นอกจากนี้ หากพิจารณาตามจำนวนประเภทของสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี เราพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและชุมชนเมืองจะมีสินเชื่อหลายประเภท ตรงกันข้ามกับผู้กู้ในภูมิภาคอื่น ๆ ที่น้อยกว่า 40% ของผู้กู้จะมีสินเชื่อหลายประเภท

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าสัดส่วนของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการรถคันแรกของรัฐบาลที่เริ่มในปี พ.ศ. 2554

หากพิจารณาถึงประเภทสถาบันการเงินที่ผู้กู้ใช้ รูปที่ 2b แสดงให้เห็นว่าประเภทของสถาบันการเงินที่ผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุใช้มีลักษณะเป็น segmentation อย่างชัดเจน โดยกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยวัยเริ่มทำงานจะมีหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับ non-banks และสัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับ non-banks จะน้อยลงในกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้กู้อายุมากโดยเฉพาะผู้กู้ในวัยหลังเกษียณจะมีหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

นอกจากนี้ประเภทของสถาบันการเงินที่ผู้กู้ในแต่ละพื้นที่ใช้ก็มีลักษณะเป็น segmentation อย่างชัดเจน โดยผู้กู้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้และชุมชนเมืองจะมีสัดส่วนของหนี้อยู่กับธนาคารพาณิชย์และ non-banks มาก ผิดกับผู้กู้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และในชนบทที่จะมีสัดส่วนของหนี้อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาก ความแตกต่างของการใช้สถาบันการเงินของผู้กู้ในแต่ละช่วงอายุและพื้นที่ข้างต้นอาจสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินแต่ละประเภทมี segmentation ของกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน นอกจากนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ สัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ และ non-banks ต่อหนี้ทั้งหมดของผู้กู้แต่ละรายจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะผู้กู้ในวัยทำงาน (35–60 ปี) และผู้กู้ในทุกภูมิภาค ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนหนึ่งของ non-banks เป็น subsidiary ของธนาคารพาณิชย์ และ/หรือ ธนาคารพาณิชย์ และ non-banks อาจจะมุ่งเน้นลูกค้าใน segment เดียวกันโดยเฉพาะในมิติเชิงพื้นที่

หากมองตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสัดส่วนของหนี้ของผู้กู้ที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นจาก 32% เป็น 38% โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายจำนวนสาขา ความหลากหลายของสินเชื่อ และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ สวนทางกับสัดส่วนของหนี้ที่อยู่กับ non-banks ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการกู้แบบไหน และส่งผลต่อคุณภาพหนี้อย่างไร

รูปที่ 3 จำแนกพฤติกรรมการกู้ตาม combination ของประเภทสินเชื่อที่ผู้กู้แต่ละคนมี โดยแสดงสัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในแต่ละลักษณะพฤติกรรมการกู้ เราพบว่า 58% ของผู้กู้มีสินเชื่อเพียง 1 ประเภท โดย 18% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่อรถยนต์/จักรยานยนต์เพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้กู้ในกลุ่มนี้มีหนี้ขนาดเล็ก แต่มีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียอยู่สูงที่สุดถึง 24% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงผลของมาตรการรถคันแรกที่กระตุ้นให้ผู้กู้ที่ยังไม่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดสินเชื่อ

รูปที่ 3 สัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย จำแนกตาม combination ของประเภทสินเชื่อที่ใช้

สัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย จำแนกตาม combination ของประเภทสินเชื่อที่ใช้

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

นอกจากนี้ ผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคลมีมากถึง 70% ของผู้กู้ทั้งหมด โดย 44% มีสินเชื่อบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว ซึ่งคิดเป็น 21% ของหนี้ในระบบ และมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียอยู่สูงถึง 15% สินเชื่อสองประเภทนี้จึงเป็นที่น่าจับตา สำหรับผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งคิดเป็นเพียง 2% ของผู้กู้ทั้งหมด มีคุณภาพสินเชื่อที่ดี โดยมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในกลุ่มนี้อยู่เพียง 7% เท่านั้น

รูปที่ 4 จำแนกพฤติกรรมการกู้ตาม combination ของประเภทสถาบันการเงินที่ผู้กู้แต่ละคนใช้ เราพบว่า 67% ของผู้กู้ทั้งหมดใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพียง 1 ประเภท โดยผู้กู้กลุ่มใหญ่ที่สุดถึง 29% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่ออยู่กับ non-banks เท่านั้น และประมาณ 1 ใน 4 ของผู้กู้ในกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย และหากมองผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับ non-banks ทั้งหมดจะมีถึง 59% และมีคุณภาพที่หลากหลายมาก สินเชื่อของ non-banks จึงเป็นที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ 23% ของผู้กู้ทั้งหมดมีสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเท่านั้น และ 1 ใน 7 ของผู้กู้ในกลุ่มนี้จะมีหนี้เสีย ขณะที่ผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งคิดเป็น 15% ของผู้กู้ทั้งหมด มีสัดส่วนหนี้เสียต่ำที่สุด ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผู้กู้ที่ดีกว่าของธนาคารพาณิชย์

รูปที่ 4 สัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย จำแนกตาม combination ของประเภทสถาบันการเงินที่ใช้

สัดส่วนของผู้กู้และปริมาณหนี้ในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย จำแนกตาม combination ของประเภทสถาบันการเงินที่ใช้

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เราพบว่าสัดส่วนผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มผู้กู้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่ออยู่กับ non-banks อย่างเดียว ซึ่งลดลงจากประมาณ 30% ในปี 2552 เป็นน้อยกว่า 20% ในปี 2559

หนี้ครัวเรือนไทยกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้ที่มีพฤติกรรมแบบใด

รูปที่ 3 และ 4 ยังสะท้อนให้เห็นมิติของการกระจุกตัวของหนี้ครัวเรือนไทยตามที่ Chantarat et al. (2017a) ได้ศึกษาไว้ โดยเราพบว่าหนี้มีการกระจุกตัวอยู่ในสินเชื่อบ้าน โดยผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านมีเพียง 13% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่มีปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 47% ของปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด แต่ผู้กู้กลุ่มนี้อาจไม่ได้น่าเป็นห่วงมากนักเพราะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียเพียง 7–14% เท่านั้น หนี้ครัวเรือนยังไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อทุกประเภท โดยในกลุ่มนี้มีเพียง 3% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่มีปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 19% ของปริมาณหนี้ในระบบทั้งหมด ผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการใช้สินเชื่อทุกประเภทนี้ก็อาจเป็นที่จับตามอง เพราะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียค่อนข้างสูงถึง 14%

ที่น่าสนใจก็คือ หนี้ครัวเรือนยังไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อกับทุกประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีเพียง 7% ของผู้กู้ทั้งหมด แต่กลับมียอดหนี้รวมกันถึง 21% ของหนี้ทั้งหมดในระบบ และสัดส่วนของผู้กู้ในกลุ่มนี้ที่มีหนี้เสียก็มีสูงถึง 18% ดังนั้นผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการใช้สถาบันการเงินทุกประเภทจึงเป็นอีกพฤติกรรมที่น่าจับตามอง

เจาะลึกถึงลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิตของคนไทย

เนื่องจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่คนเข้าถึงได้ง่าย เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้ส่วนใหญ่กว่า 70% มี และมีสัดส่วนหนี้ในระบบที่สูง ขณะเดียวกันกลุ่มผู้กู้ที่มี สินเชื่อดังกล่าวก็มีสัดส่วนที่มีหนี้เสียสูง บทความนี้จึงมุ่งเจาะลึกถึงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้ที่มีสินเชื่อ 2 ประเภทนี้เพื่อตอบคำถามเชิงนโยบาย เช่น พฤติกรรมการกู้ลักษณะไหนที่น่ากังวล ผู้กู้กลุ่มไหนที่อาจเปราะบาง หรือสถาบันการเงินประเภทไหนที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉลี่ยผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจะมีจำนวนบัตรเครดิต 3 ใบ และมีบัตรเครดิตจาก 2 สถาบันการเงิน รูปที่ 5 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีบัตรเครดิต สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสีย และสัดส่วนการใช้วงเงิน (หรือ Utilization rate) แยกตามจำนวนบัตรและจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ โดยเราพบว่า 36% ของผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจะมีบัตรเครดิตเพียง 1 ใบ และประมาณ 15% จะมีมากกว่า 5 ใบ ซึ่งก็ถือว่ายังค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น มากกว่า 50% ของคนอเมริกันมีบัตรเครดิตหลายใบและโดยเฉลี่ยมีบัตรเครดิต 4 ใบต่อคน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้ พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีบัตรเครดิตจะใช้บัตรเครดิตที่ออกโดย 1 สถาบันเท่านั้น โดยอีก 20% จะใช้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงิน 2 แห่ง และน้อยกว่า 10% ที่ใช้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินเกิน 5 แห่ง

รูปที่ 5 ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิตของคนไทย

ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิตของคนไทย

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตแบบไหนที่น่ากังวล? พบว่า กลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบหรือถือบัตรเครดิตของหลายสถาบันการเงินจะมี Utilization rate ที่ต่ำและมี สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีจำนวนบัตรเครดิตน้อยใบ หรือจำนวนสถาบันการเงินน้อยแห่ง กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตร หรือมีบัตรเครดิตจากหลายสถาบันการเงินจึงน่าเป็นห่วงน้อยกว่ากลุ่มอื่น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่างกับเหตุการณ์วิกฤตหนี้บัตรเครดิตในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มคนที่มีบัตรเครดิตหลายใบกลายเป็นหนี้เสีย

นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตรและใช้บัตรของหลายสถาบันการเงินจะมีวงเงินสินเชื่อต่อบัตรที่สูงกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีน้อยบัตร ซึ่งอาจมองได้ว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้สูง หรือมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีจึงได้รับวงเงินเพิ่ม แต่อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล เราไม่สามารถแยกประเภทของผู้กู้เหล่านี้ออกเป็น transactor (หรือกลุ่มผู้กู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนทุกเดือนแบบไม่เสียดอกเบี้ย) กับ revolver (หรือกลุ่มผู้กู้ที่จ่ายเงินคืนแบบจ่ายขั้นต่ำ) ได้ ทำให้ไม่สามารถเจาะลึกถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มดังกล่าวได้มากไปกว่านี้ รูปที่ 5 ยังแสดงให้เห็นว่าสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์และ non-banks มีคุณภาพที่ไล่เลี่ยกันในทุกกลุ่มผู้กู้ ซึ่งแบ่งตามจำนวนบัตร และจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้

กลุ่มช่วงอายุไหนที่มีพฤติกรรมน่าเป็นห่วงหรือไม่? รูปที่ 6 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตแยกตามจำนวนบัตร และจำแนกผู้กู้ออกเป็น 6 กลุ่มตามจำนวนบัตรที่มี พร้อมทั้งแสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย วงเงินต่อบัตร และ Utilization rate ของแต่ละกลุ่ม เราพบว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมากส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตเพียง 1 ใบ ในขณะที่กลุ่มผู้กู้วัยทำงานจะมีบัตรเครดิตหลายใบ โดยในกลุ่มผู้กู้วัย 40–60 ปีจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีบัตรมากกว่า 5 ใบสูงที่สุดถึง 18% ทั้งนี้ เราพบว่ากลุ่มผู้กู้วัยหลังเกษียณน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มอื่น และยังเป็นกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อต่อบัตรสูง และมี Utilization rate ต่ำ แตกต่างจากผู้กู้กลุ่มวัยทำงาน (25–45 ปี) ที่มีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ และนอกจากนี้ กลุ่มผู้กู้ที่มีหลายบัตรจะมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียต่ำกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีบัตรเครดิตน้อยบัตรในทุกกลุ่มอายุอีกด้วย ดังนั้นในกรณีของสินเชื่อบัตรเครดิต การที่มีจำนวนบัตรมากหรือมีบัตรจากหลายสถาบันการเงิน อาจสะท้อนถึงคุณภาพที่ดีของผู้กู้ในทุกกลุ่มอายุ การจำกัดจำนวนบัตรหรือจำนวนสถาบันการเงินจึงไม่มีนัยสำคัญสำหรับการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต

รูปที่ 6 ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิต จำแนกตามกลุ่มอายุ

ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อบัตรเครดิต จำแนกตามกลุ่มอายุ

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

เจาะลึกถึงสินเชื่อส่วนบุคคล: ทำไมถึงน่าห่วง

โดยเฉลี่ยคนไทยมีสินเชื่อส่วนบุคคล 2 สัญญา และจาก 2 สถาบันการเงิน รูปที่ 7 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลจำแนกตามจำนวนสัญญาและสถาบันการเงินที่ใช้และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียในแต่ละกลุ่ม เราพบว่า ผู้กู้มากกว่าครึ่งมีสินเชื่อส่วนบุคคล 1 สัญญาและมากกว่า 60% มีสินเชื่อส่วนบุคคลกับ 1 สถาบันการเงิน

รูปที่ 7 ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลของคนไทย

ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลของคนไทย

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ เราพบว่าความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลที่แตกต่างจากสินเชื่อบัตรเครดิตอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญาหรือมีสินเชื่อส่วนบุคคลกับหลายสถาบันการเงินจะมีคุณภาพที่ด้อยกว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลน้อยสัญญา หรือมีสินเชื่อส่วนบุคคลกับน้อยสถาบันการเงิน การจำกัดจำนวนสัญญาและ/หรือจำนวนสถาบันการเงินจึงมีนัยสำคัญสำหรับการดูแลสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังพบว่า non-banks มีคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลโดยรวมที่ด้อยกว่าสถาบันการเงินประเภทอื่นในเกือบทุกกลุ่มผู้กู้ จึงควรให้ความสำคัญและควบคุมดูแล สินเชื่อกลุ่มนี้ของ non-banks ด้วย

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้กู้ที่ควรจับตามองก็เป็นคนละกลุ่มกันกับกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบัตรเครดิต รูปที่ 8 แสดงสัดส่วนของผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่ว นบุคคลแยกตามจำนวนสัญญา และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้กู้ในแต่ละกลุ่ม โดยพบว่ากลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อย (< 25 ปี) และวัยหลังเกษียณเป็นกลุ่มที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงกว่าช่วงอายุอื่นและสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียจะยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา โดยในผู้กู้กลุ่มที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 5 สัญญา มากกว่า 30% ของกลุ่มที่มีอายุน้อย และเกือบ 35% ของกลุ่มวัยหลังเกษียณจะมีหนี้เสีย นอกจากนั้น ผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญาจะมีหนี้เสียสูงกว่ากลุ่มที่มีน้อยสัญญาในทุกช่วงอายุด้วย ข้อเท็จจริงเหล่านี้เน้นย้ำความสำคัญของการติดตามจำนวนสัญญา/สถาบันการเงินในการกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคล

รูปที่ 8 ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคล ตามกลุ่มอายุ

ลักษณะการใช้และคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคล ตามกลุ่มอายุ

ที่มา: Chantarat et al. (2017b)

ข้อสรุป

บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการกู้ของคนไทยมีความหลากหลาย โดยผู้กู้ส่วนใหญ่จะมีสินเชื่อ 1 สัญญาและใช้ 1 สถาบันการเงิน แต่ก็มีผู้กว่า 1 ใน 6 ที่มีสินเชื่อมากกว่า 5 สัญญา และกว่า 1 ใน 10 ที่ใช้สถาบันการเงินมากกว่า 5 สถาบัน ความหลากหลายดังกล่าวซึ่งก็แตกต่างกันไปในมิติของอายุ พื้นที่ ประเภทสินเชื่อ และประเภทสถาบันการเงินอาจสะท้อนถึงความแตกต่างใน availability ความยากง่ายของการเข้าถึง ความจำเป็น หรือสิ่งกระตุ้นให้ก่อหนี้ในบริบทต่าง ๆ ซึ่งล้วนจะมีนัยสำคัญเชิงนโยบายที่แตกต่างกันไป บทความนี้ได้สะท้อนนัยเชิงนโยบายใน 2 มิติ ดังนี้

ในมิติของการเข้าถึงบริการสินเชื่อของคนไทย เราพบว่าส่วนใหญ่ของผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและอายุมาก และผู้กู้ในชนบทจะมีสินเชื่อ 1 สัญญาและใช้ 1 สถาบันการเงิน ในขณะที่ส่วนใหญ่ของผู้กู้กลุ่มวัยทำงาน ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และชุมชนเมืองจะมีหลายสัญญาและใช้หลายสถาบันการเงิน โดยผู้กู้กลุ่มอายุน้อยมักมีสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย คือ สินเชื่อส่วนบุคคล รถยนต์ และบัตรเครดิต และผู้กู้กลุ่มอายุมากมักมีสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตเป็นหลัก ซึ่งหากพิจารณาคุณภาพหนี้ของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มนี้ พบว่า สินเชื่อส่วนบุคคลและรถยนต์ จะมีคุณภาพที่ไม่ดี ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตของสองกลุ่มนี้มีคุณภาพดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้ เรายังพบว่าการใช้สินเชื่อบ้านและบัตรเครดิตยังน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้ในชนบท ซึ่งในกรณีของสินเชื่อบ้าน ข้อเท็จจริงนี้อาจสะท้อนถึง ความไม่จำเป็นในการซื้อบ้านใหม่ในบริบทของครอบครัวขยายของสังคมไทยในชนบท และ/หรือข้อจำกัดในการเข้าถึง และในกรณีของสินเชื่อบัตรเครดิต ก็อาจสะท้อนถึงข้อจำกัดในการใช้และเข้าถึงเป็นสำคัญ ดังนั้นนโยบายที่เหมาะสมจึงควรส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต ซึ่งควรครอบคลุมการเข้าถึงของกลุ่มอายุน้อยและอายุมาก และในชนบท ซึ่งนโยบายดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มศักยภาพทางการลงทุน ทำธุรกิจ การบริโภค และการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งล้วนแล้วจะนำไปซึ่งโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในมิติของเสถียรภาพทางการเงินไทย เราพบว่าผู้กู้จำนวนมากจะใช้สินเชื่อส่วนบุคคล/บัตรเครดิต และ/หรือมีสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งกลุ่มผู้กู้ที่มีพฤติกรรมการกู้ดังกล่าวมักมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดี โดยเฉพาะ สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลในผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและอายุมาก นอกจากนี้ผู้กู้จำนวนมากจะมีสินเชื่อกับ non-banks ซึ่งมักจะมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้กู้กลุ่มอายุน้อยและในสินเชื่อส่วนบุคคล และเนื่องจากพฤติกรรมการกู้และคุณภาพของหนี้ดังกล่าวส่งผลต่อผู้กู้จำนวนมากของประเทศ จึงอาจส่งผลถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมได้ ทั้งนี้เรายังพบอีกว่าผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา หรือมีกับหลายสถาบันการเงินมักจะมีคุณภาพหนี้ที่ด้อยกว่ากลุ่มที่มีน้อยสัญญาหรือน้อยสถาบันการเงิน ตรงกันข้ามกับสินเชื่อบัตรเครดิต ดังนั้นนโยบายที่จะมากำกับดูแลหนี้ครัวเรือนไทยควรมุ่งเป้าไปที่สินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนสัญญาและ/หรือสถาบันการเงิน ควรมุ่งเน้นกลุ่มผู้กู้ที่มีอายุน้อยและอายุมาก และครอบคลุมถึง non-banks ด้วย

นอกจากนี้เรายังพบอีกว่าหนี้ครัวเรือนไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้าน ซึ่งมักมีคุณภาพดีแต่อาจมีแนวโน้มจะด้อยลงหากผู้กู้มีสินเชื่อรถยนต์ร่วมด้วย และที่สำคัญหนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อทุกประเภท และ/หรือใช้สถาบันการเงินทุกประเภท ซึ่งผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมักมีคุณภาพหนี้ที่ไม่ดี ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงอาจส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินไทยได้ ผู้ดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญ และติดตามดูแลกลุ่มผู้กู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ท้ายที่สุดบทความนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้มากขึ้นผ่านพฤติกรรมการกู้รายคน ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายมีความเข้าใจถึงสถานการณ์และสามารถออกแบบนโยบายที่ตรงจุดได้ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้กู้แต่ละรายยังมีความหลากหลายมาก และเนื่องจากไม่มีข้อมูลรายได้ซึ่งจะสามารถสะท้อนศักยภาพของผู้กู้แต่ละรายได้ จึงทำให้การมองเพียงแค่พฤติกรรมอาจมีข้อจำกัด ไม่สามารถระบุกลุ่มที่มีความเปราะบางได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจาก อายุ และภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและวางนโยบายได้อย่างเหมาะสม ตรงจุด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุม มีการเชื่อมโยงกันได้ และเข้าถึงได้โดยผู้ดำเนินนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2017a). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Debt and Delinquency. PIER Discussion Paper No. 61.

Chantarat, S., Lamsam, A., Samphantharak, K. and Tangsawasdirat, B. (2017b). Thailand’s Household Debt through the Lens of Credit Bureau Data: Borrower’s Portfolio and Behavior. PIER Discussion Paper.

ข้อสงวน

บทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัยนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จัดทำโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดไม่ยืนยันและไม่รับรองถึงความครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้องของข้อมูลจึงไม่รับผิดชอบต่อการนำเอาข้อมูล ข้อความ ความเห็น หรือบทสรุปที่กฎในรายงานฉบับนี้ไปใช้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่กฎในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ทำซ้ำดัดแปลงนำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นการล่วงหน้า

นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ บทวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด และต้องอ้างอิงถึงฉบับที่และวันที่ในเอกสารฉบับนี้ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด โดยชัดแจ้ง

Atchana Lamsam
Atchana Lamsam
Bank of Thailand
Sommarat Chantarat
Sommarat Chantarat
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Bhumjai Tangsawasdirat
Bhumjai Tangsawasdirat
Bank of Thailand
Krislert Samphantharak
Krislert Samphantharak
University of California San Diego
Topics: Development EconomicsProductivity and Technological Change
Tags: borrowing behaviorcredit bureau datacredit carddebt portfoliofinancial systemhousehold debtpersonal loan
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email