เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 1
excerpt
กุญแจสำคัญที่สุดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวคือความสามารถในการยกระดับ ‘ผลิตภาพ’ ของระบบเศรษฐกิจ เพราะผลิตภาพสะท้อนถึงความสามารถในการจัดการและพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดทางทรัพยากร งานวิจัยในช่วงหลังได้ให้ความสำคัญกับ ‘know how’ หรือองค์ความรู้และทักษะความชำนาญในแขนงต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ทว่า เราจะวัดระดับ know how ของแต่ละระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร บทความนี้นำเสนอวิธีการวัด know how โดยการสะท้อนจากโครงสร้างสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตในแต่ละช่วงเวลา และศึกษาปัจจัยกำหนดการก้าวกระโดดไปยังสินค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ รวมทั้งแกะรอยวิวัฒนาการของเศรษฐกิจไทยจากมุมมองของนวัตกรรมสินค้า
หัวใจสำคัญของผลิตภาพ คือ นวัตกรรม เพราะนวัตกรรมคือการขยายขอบเขตของสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัตถุหรือเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ การพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยต้นทุนเท่าเดิม รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นวัตกรรมเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับผลิตภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า
ปัจจัยกำหนดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือ หรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างนวัตกรรมคือ ‘know how’ หรือความรู้และทักษะความชำนาญที่อยู่ในตัวบุคคลหรือองค์กร ซึ่งเกิดจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์และการฝึกฝน ในขณะที่บทบาทหลักของระบบเศรษฐกิจคือการเอื้อให้ความรู้และความสามารถที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละคน แต่ละองค์กร สามารถรวมตัวและเชื่อมต่อกันได้เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ในวงกว้าง
Hausmann และ Hidalgo (2009, 2011) ได้เสนอวิธีวัดระดับ know how ของแต่ละระบบเศรษฐกิจจากโครงสร้างสินค้าที่แต่ละประเทศผลิต จากแนวคิดที่ว่าสินค้าแต่ละประเภทสะท้อนระดับองค์ความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการของระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน หากเปรียบเทียบสินค้าสองประเภท เช่น คอมพิวเตอร์กับดินสอ แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์มีความซับซ้อนมากกว่าดินสอหลายเท่าตัว ต้องใช้ชิ้นส่วนจำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการพึ่งเครือข่ายการผลิตที่หลากหลาย ขณะที่ดินสอมีความซับซ้อนในการผลิตน้อยกว่ามาก ดังนั้นประเภทและความหลากหลายของสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตจึงสะท้อนถึงองค์ความรู้ ทักษะความชำนาญ และระดับศักยภาพในการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถคำนวณออกมาเป็นตัวชี้วัดที่เรียกว่า Economic Complexity Index (ECI) ในระดับประเทศ และสำหรับสินค้าแต่ละชนิดสามารถคำนวณค่าความซับซ้อนที่เรียกว่า Product Complexity Index (PCI)
การวัดระดับศักยภาพของประเทศด้วยวิธีนี้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างสินค้าใน 2 มิติหลักคือ 1) ความหลากหลายของสินค้า 2) ความซับซ้อนของสินค้า โดยประเทศที่มี ECI สูงสะท้อนถึงองค์ความรู้และศักยภาพที่หลากหลายและซับซ้อนกว่าประเทศอื่น ๆ รวมทั้งโครงสร้างทางพื้นฐานและโครงสร้างทางสถาบันในระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้องค์ความรู้เหล่านั้นสามารถเชื่อมถึงกันและเกิดการสร้างนวัตกรรมสินค้า (product innovation) ที่ช่วยยกระดับผลิตภาพของประเทศ
รูปที่ 1 แสดงระดับดัชนี ECI รายประเทศในปี 2015 (แกนตั้ง) เทียบกับค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของแต่ละประเทศ (แกนนอน) พบว่า ECI มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างชัดเจนกับความมั่งคั่งหรือระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจที่วัดจากรายได้ต่อหัว ถือเป็นการยืนยันได้ทางหนึ่งถึงความสามารถของดัชนี ECI ที่สร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างสินค้าในการสะท้อนระดับ know how หรือศักยภาพของประเทศโดยรวม
จากแนวคิดที่ว่าประเภทของสินค้าที่ประเทศผลิตสะท้อนองค์ความรู้และความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีในกระบวนการสร้างสินค้าชนิดนั้น ๆ ดังนั้น การติดตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสินค้าของแต่ละประเทศจึงสามารถบอกเราได้ถึงที่มาที่ไปและพัฒนาการของเศรษฐกิจผ่านมุมมองของการเกิดนวัตกรรมสินค้าในแต่ละช่วงเวลา Hausmann และ Hidalgo (2011) สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Product Space’ (รูปที่ 2) ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าตามระดับความสัมพันธ์ของสินค้าแต่ละคู่ในแง่ของ know how ที่ใช้ในการผลิต และใช้ product space นี้ในการศึกษากระบวนการเกิดขึ้นของสินค้าใหม่และเส้นทางการพัฒนาของแต่ละประเทศ
หลักการของ product space คือการสร้าง network ของสินค้าตามความ ‘ใกล้เคียง’ กันขององค์ความรู้ที่ใช้ในการผลิต ความใกล้เคียงกันของสินค้าแต่ละคู่หรือ ‘product proximity’ นี้คำนวณโดยใช้ข้อมูลสถิติการส่งออกของทุกประเทศทั่วโลกในการหาค่าความน่าจะเป็นที่สินค้าคู่นั้น ๆ จะถูกส่งออกโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง กล่าวคือ หากสินค้า A กับ B มักถูกส่งออกโดยประเทศเดียวกัน สินค้าคู่นี้น่าจะมีการใช้องค์ความรู้ร่วมกันมากกว่าสินค้า A กับ C ที่มักถูกส่งออกจากคนละประเทศ ดังนั้น สินค้า A จะถูกจัดวางไว้ใกล้กับ B และห่างจาก C และเมื่อนำสินค้าทุกประเภทมาจัดวางบนแผนที่ตามค่า proximity นี้จะได้ product space โดยแต่ละวงกลมคือสินค้าแต่ละชนิด ขนาดของวงกลมแทนค่า PCI ของสินค้า ในขณะที่สีแสดงกลุ่มสินค้า (cluster) ซึ่งสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันมักอยู่ใกล้กัน สะท้อนองค์ความรู้ร่วมของสินค้าในกลุ่ม
บริเวณรอบนอกของ product space มักมีสินค้าอยู่กระจัดกระจายและมีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างน้อย สะท้อนว่าสินค้าเหล่านี้มีความเชื่อมโยงของ know how ที่ใช้ในการผลิตค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่คือสินค้าทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่บริเวณกึ่งกลางของ product space มีความหนาแน่นและกระจุกตัวของสินค้าค่อนข้างมาก สะท้อนความเชื่อมโยงของ know how ที่ซับซ้อนและหลากหลายยิ่งขึ้นที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง ได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและทักษะความชำนาญขั้นสูง
จากโครงสร้าง product space ของสินค้าทั้งหมด เราสามารถสร้าง product space ของแต่ละประเทศได้โดยใช้ข้อมูลการส่งออกรายสินค้าของประเทศ รูปที่ 3 แสดง ตัวอย่าง product space ของประเทศเยอรมัน เวียดนาม และซูดาน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ECI สูง ปานกลาง และต่ำ ตามลำดับ จะเห็นว่าจำนวนสินค้าที่ประเทศเยอรมันผลิตมีความหลากหลายกว่าอีกสองประเทศมาก และส่วนใหญ่กระจุกตัวบริเวณตรงกลางของ product space สะท้อนความซับซ้อนของ องค์ความรู้และศักยภาพการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ ซูดานมีความสามารถในการแข่งขันในสินค้าส่งออกเพียงไม่ กี่ประเภทและส่วนใหญ่กระจายอยู่บริเวณขอบนอกของ product space บ่งชี้ถึงระบบเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนอยู่ในระดับต่ำ
จากตัวอย่างของ product space ข้างต้น คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดบางประเทศจึงมีสินค้าที่หลากหลายและซับซ้อนกว่าประเทศอื่น ๆ อะไรเป็นตัวกำหนดการเกิดนวัตกรรมสินค้าในแต่ละประเทศ
Apaitan และคณะ (2017) ศึกษากระบวนการ product innovation โดยใช้ข้อมูลการส่งออกรายสินค้าของแต่ละประเทศจำนวนทั้งสิ้น 99 ประเทศ ครอบคลุมสินค้า 1,241 รายการ ในช่วงเวลา 1999–2015 เพื่อตอบคำถามว่าปัจจัยใดเพิ่มโอกาสที่สินค้าชนิดหนึ่งจะถูกเพิ่มในตะกร้าการส่งออกของประเทศได้สำเร็จ โดยมุ่งเน้นที่ความสำคัญของการต่อยอดพื้นฐานองค์ความรู้ของประเทศในการขยายขอบเขตโครงสร้างสินค้า และได้สร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า ความเกี่ยวเนื่อง (Relatedness) ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าใหม่ชิ้นหนึ่ง ๆ กับโครงสร้างสินค้าของแต่ละประเทศในจุดตั้งต้น โดยหากสินค้าที่กำลังพิจารณาต้องใช้องค์ความรู้ที่ใกล้เคียงกับองค์ความรู้ที่ประเทศมีอยู่แล้วสะท้อนจากโครงสร้างการผลิตในปัจจุบัน ระดับความเกี่ยวเนื่องจะมีค่าสูง
ผลการศึกษา (ตารางที่ 1) พบว่า โอกาสที่ประเทศจะประสบความสำเร็จในการเพิ่มสินค้าใดสินค้าหนึ่งมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศได้ ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวเนื่องของสินค้าใหม่นั้นกับโครงสร้างสินค้าในปัจจุบันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณาในมุมมองของ product space ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่แสดง know how ของประเทศ ผลการศึกษานี้ชี้ว่า สินค้าใหม่ชิ้นต่อไปที่ประเทศจะส่งออกได้สำเร็จมักเป็นสินค้าที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงกับสินค้าเดิมที่ประเทศผลิตได้อยู่แล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นวัตกรรมสินค้ามักเกิดขึ้นจากการต่อยอดองค์ความรู้ทักษะความชำนาญเดิมที่มีอยู่ ดังนั้น โครงสร้างสินค้าในปัจจุบันจึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญต่อประเภทสินค้าใหม่ ๆ ที่ประเทศจะขยับขยายต่อไปในอนาคต เรียกว่าเป็นพัฒนาการที่มีลักษณะ path-dependent นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาชี้ว่า สำหรับประเทศที่มีความซับซ้อนหรือ ECI สูง ปัจจัยความเกี่ยวเนื่องของสินค้าจะมีความสำคัญลดลง (ค่า interaction term ระหว่าง Relatedness กับ ECI เป็นลบ) ซึ่งอาจตีความได้ว่า ประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีองค์ความรู้ที่หลากหลายอยู่แล้วจะสามารถก้าวกระโดดไปยังสินค้าที่ห่างไกลจากโครงสร้างสินค้าปัจจุบันได้ง่ายกว่าประเทศอื่น ๆ
นอกเหนือจากการเปรียบเทียบระดับความซับซ้อนระหว่างประเทศแล้ว ข้อมูลใน product space ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการจำแนกประเทศต่าง ๆ ตามความใกล้เคียงของโครงสร้างสินค้าได้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพโครงสร้างการผลิตและความเชื่อมโยงของ know how ในระดับโลก Apaitan และคณะ (2017) ได้สร้าง country space โดยหลักการที่คล้ายคลึงกับ product space กล่าวคือ เป็นการสร้าง network ของประเทศตามความใกล้เคียงกันขององค์ความรู้ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งคำนวณได้จากค่า correlation ของเวกเตอร์ของ relatedness สำหรับประเทศแต่ละคู่ รูปที่ 4 แสดง country space ของปี 1995 และ 2015 โดยสีต่าง ๆ จะแสดงภูมิภาคที่ประเทศเหล่านั้นตั้งอยู่ และขนาดของวงกลมแทนจำนวนสินค้าที่ประเทศนั้นส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ
จากแผนภาพ จะเห็นได้ว่าในปี 1995 ประเทศโดยส่วนใหญ่มักเกาะกลุ่มกันตามภูมิภาคเป็นหลัก เช่น กลุ่มประเทศเอเชียรวมถึงไทยอยู่ทางด้านซ้าย ในขณะที่ด้านบนเป็นการเกาะกลุ่มกันของประเทศในทวีปยุโรป รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา จะมีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีโครงสร้างสินค้าที่ค่อนไปทางยุโรป การกระจายตัวแบบเกาะกลุ่มตามภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นว่า ในสองทศวรรษก่อนการแพร่กระจายของ know how มักจะมีมิติเรื่องพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กันก็มักจะมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันไปด้วย
แต่หากเปรียบเทียบกับ country space ในปี 2015 จะเห็นได้ว่า หลาย ๆ ประเทศเริ่มแยกตัวออกจากกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ในยุโรปจะพบว่า กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและตะวันออกเริ่มมีความแตกต่างกันมากขึ้น อิสราเอลและเม็กซิโกมีการแยกตัวจากกลุ่มเดิมมาแทรกตัวอยู่ในกลุ่มยุโรป ในขณะที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน กลายเป็นประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น สะท้อนว่าในยุคปัจจุบัน พรหมแดนของประเทศอาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของ know how อีกต่อไป
ระดับศักยภาพที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในปัจจุบัน เป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าในแต่ละช่วงเวลาจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่จะช่วยให้เราย้อนดูพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับประเทศได้ และเป็นที่น่าสนใจว่า สำหรับประเทศไทยนั้นกว่าจะเป็นประเทศที่มีระดับความซับซ้อนเช่นในปัจจุบัน เราต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาอย่างไร
เมื่อเปรียบเทียบ ECI ของไทยเทียบกับประเทศต่าง ๆ (รูปที่ 5 ภาพซ้าย) นับได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอดในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สะท้อนความสำเร็จของประเทศไทยในการสร้างอุตสาหกรรมและการก้าวไปสู่สินค้าใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น โดย ECI ของเศรษฐกิจไทยไต่อันดับจากประมาณที่ 75 ในอดีตมาอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกในปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย จีน เวียดนาม ต่างก็มีระดับความซับซ้อนสูงขึ้นเช่นกัน แต่กล่าวได้ว่าพัฒนาการของไทยไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคนี้
พัฒนาการด้านความซับซ้อนของสินค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้สะท้อนในรูปที่ 5 ภาพขวา ซึ่งแสดงสัดส่วนของมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยแบ่งตามระดับความซับซ้อนของสินค้าจากมาก (แถบสีน้ำเงิน) ไปน้อย (แถบสีเขียว) จะเห็นได้ว่าสินค้าซับซ้อนสูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะทรงตัวในระยะหลัง
หากพิจารณาในมุมมองของ product space ของไทยซึ่งแสดงในรูปที่ 6 (โดยในที่นี้ ขนาดของวงกลมแสดงมูลค่าของสินค้าส่งออกในกลุ่มนั้น ๆ) จะเห็นได้ว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากในช่วงแรกที่พึ่งการส่งออกผลผลิตด้านการเกษตรและสิ่งทอเป็นหลัก ค่อย ๆ เพิ่มทักษะความสามารถในการผลิตมาสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และก้าวสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในที่สุด ซึ่งพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของโครงสร้างสินค้าไทยนี้เป็นไปตามลักษณะของ path dependence ที่อธิบายไว้ข้างต้น และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มความหลากหลายและการต่อยอดของ know how ในการขยายขอบเขตความสามารถและการพัฒนานวัตกรรมสินค้า
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง ECI กับระดับรายได้ของแต่ละประเทศในรูปที่ 1 ข้อสังเกตหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยที่มีพัฒนาการของสินค้าก้าวหน้ามาโดยตลอดจนมีค่า ECI ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน แต่กลับมีระดับรายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มี ECI ระดับเดียวกัน นำไปสู่คำถามว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพของประเทศหรือไม่ ซึ่งเราจะได้เจาะลึกข้อมูลในระดับบริษัทเพื่อค้นหาคำตอบต่อไปในตอนที่ 2 ของบทความนี้
งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างสินค้าส่งออกของแต่ละประเทศสามารถชี้วัดได้ถึงระดับศักยภาพของประเทศได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษาพบว่านวัตกรรมสินค้าหรือสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา มักมีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ประเทศมีความรู้ความสามารถในการผลิตอยู่แล้ว การก้าวกระโดดไปผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างอย่างมากจากโครงสร้างสินค้าในปัจจุบันมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย สำหรับประเทศไทย วิวัฒนาการของโครงสร้างสินค้าจากอดีตถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนความหลากหลายและความซับซ้อนขององค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ระดับรายได้ต่อหัวของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับความซับซ้อนทัดเทียมกัน อาจส่งสัญญาณว่ามีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่ได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ของประเทศอย่างเต็มที่
Apaitan, T., N. Ananchotikul and P. Disyatat (2017), “Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation,” PIER Discussion Paper, No. 72.
Hausmann, R and C Hidalgo (2011), “The Network Structure of Economic Output,” Journal of Economic Growth 16(4), pp. 309–342.
Hidalgo, C and R Hausmann (2009), “The Building Blocks of Economic Complexity,” Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 106(26), pp. 10570–10575.