Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/7f22b854869a1995416ef5be83017a79/e9a79/cover.png
5 June 2019
20191559692800000

เศรษฐกิจไทย ป่วยหรืออ่อนแอ?

เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแอจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นจึงไม่ตอบโจทย์และอาจส่งผลลบได้ในระยะยาว
Somprawin ManprasertKongphop Wongkaew
เศรษฐกิจไทย ป่วยหรืออ่อนแอ?
excerpt

การเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามถึงสาเหตุและเครื่องมือที่ผู้บริหารงานทางเศรษฐกิจควรเลือกใช้เพื่อรักษาอาการ ‘อ่อนแรง’ ดังกล่าว บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ‘ระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วย แต่กำลังอ่อนแอจากปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ซึ่งเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นจึงไม่ตอบโจทย์ และอาจกลับส่งผลทางลบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจตลอดจนซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาว บทความนี้นำเสนอทางออกโดยการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันสู่เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มซึ่งมีข้อมูลข่าวสารเป็นรากฐานสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน

ในปี 2018 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตดังกล่าวกลับเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในอดีตที่เคยสูงถึงร้อยละ 5–6 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงสาเหตุและเครื่องมือที่ผู้ดำเนินนโยบายควรเลือกใช้ในการรักษาอาการ ‘อ่อนแรงลง’ ของระบบเศรษฐกิจไทย บทความนี้แยกวิเคราะห์สาเหตุการชะลอตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยออกเป็นประเด็นระยะสั้น (ปัจจัยทางวัฏจักรเศรษฐกิจ) และประเด็นระยะยาว (ปัจจัยเชิงโครงสร้าง) เพื่อนำไปสู่การเลือกเครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

วัฏจักรเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนน้อยลง แต่แนวโน้มการเติบโตสะท้อนศักยภาพที่ลดลง

นักเศรษฐศาสตร์มหภาคแบ่งการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การศึกษาแนวโน้มแกนการเติบโตซึ่งสะท้อนศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว (ที่เกิดจากทรัพยากรการผลิตของประเทศ เช่น แรงงาน ทุน และผลิตภาพการผลิต) และ 2) การศึกษาวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงความผันผวนในระยะสั้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจรอบแกนการเติบโต ซึ่งมักจะเกิดจากปัจจัยรบกวน (shocks) และการตอบสนองของนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อการรักษาเสถียรภาพ ดังนั้น การอ่อนแรงลงของตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจ ‘อ่อนแอลง’ จากการลดลงของศักยภาพการเติบโตซึ่งเป็นเรื่อง ‘ยาว’ และ/หรืออาจเป็นเพราะการ ‘ป่วยไข้ชั่วคราว’ จากการแกว่งตัวลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่อง ‘สั้น’ ก็เป็นได้

เมื่อแยกองค์ประกอบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยออกเป็นแนวโน้มในระยะยาวและความผันผวนในระยะสั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเติบโตใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของตนเอง นอกจากนั้น ความผันผวนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่วัดได้จาก 12-Quarter Rolling Standard Deviation ของ output gap มีค่าลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตามลำดับ (รูปที่ 1) นั่นหมายความว่าการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ผ่านมาสามารถช่วยลดความผันผวนทางเศรษฐกิจลงได้ อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาองค์ประกอบที่สะท้อนแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวจะพบว่าแกนของการเติบโตได้ย่อตัวลงอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 2) นั่นสะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกันในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

รูปที่ 1: Output gap (ร้อยละต่อระดับศักยภาพ) และความผันผวนของ output gap

Output gap (ร้อยละต่อระดับศักยภาพ) และความผันผวนของ output gap

หมายเหตุ: Output gap คำนวณจากส่วนต่างระหว่าง GDP ที่ปรับผลของฤดูกาลแล้วกับ GDP ณ ระดับศักยภาพที่คำนวณจาก HP filter ที่ Lambda = 1600 โดยคิดเป็นร้อยละต่อ GDP ณ ระดับศักยภาพ ระดับความผันผวนทางเศรษฐกิจคำนวณจาก 12-Quarter Rolling Standard Deviation ของ Output gapที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, วิจัยกรุงศรี
รูปที่ 2: Gross domestic product

Gross domestic product

หมายเหตุ: GDP ที่ระดับศักยภาพคำนวณจาก GDP ในรูปลอการิทึมที่ปรับผลของฤดูกาลแล้วนำมาผ่าน HP filter ที่ Lambda = 1600ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, วิจัยกรุงศรี

นอกจากนั้น การกระจายตัวของการเติบโตยังเกิดขึ้นอย่างไม่ทั่วถึง จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2561 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่าปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทยยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน (รูปที่ 3) จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงสุดได้ส่วนแบ่งรายได้1ไปถึงร้อยละ 35.3 ขณะที่ประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดได้ส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 14.2 เท่านั้น นอกจากรายได้แล้ว ประเทศไทยยังเผชิญความเหลื่อมล้ำทางด้านการถือครองสินทรัพย์ อาทิ เงินฝากและที่ดิน ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย ดังนั้น นอกจากเศรษฐกิจไทยจะโตได้ช้าลงแล้ว การเติบโตดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างไม่มีคุณภาพ กล่าวคือ คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมจากกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

รูปที่ 3: สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของไทยเทียบกับประเทศในภูมิภาค

สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของไทยเทียบกับประเทศในภูมิภาค

หมายเหตุ: สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ยิ่งค่ามาก แสดงว่ายิ่งเหลื่อมล้ำที่มา: ธนาคารโลก, รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2561, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, วิจัยกรุงศรี

หากกล่าวโดยสรุป ระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วยไข้ชั่วคราว แต่กลับมีสุขภาพที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ดังนั้น มาตรการทางเศรษฐกิจที่จะรักษาอาการ ‘โตช้า’ ของระบบเศรษฐกิจไทยจึงมีความแตกต่างไปจากการใช้เครื่องมือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โจทย์ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทยคือการทำอย่างไรให้ศักยภาพเพิ่มขึ้นในระยะยาวมากกว่าการอัดยากระตุ้นเพื่อบรรเทาอาการชะลอตัวลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น การแยกองค์ประกอบของการวิเคราะห์สภาวะทางเศรษฐกิจมีนัยต่อการเลือกใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับโจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจ โจทย์ระยะสั้นคือการลดความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งเครื่องมือที่ช่วยรักษาเสถียรภาพ ได้แก่ นโยบายการเงินและการคลังที่จะมีผลกระตุ้นหรือชะลออุปสงค์รวมภายในประเทศ ส่วนโจทย์ระยะยาวคือการแสวงหาปัจจัยที่จะช่วยยกศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว ดังนั้น มาตรการที่เหมาะสมจึงเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและเป็นเรื่องอุปทานเป็นหลัก

เครื่องมือระยะสั้นไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

ในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนระหว่างธนาคาร 1 วัน) ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินอื่น โดยมุ่งหวังให้สภาพแวดล้อมทางการเงินผ่อนคลายหรือตึงตัวไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจตามความประสงค์ของผู้ดำเนินนโยบายทางการเงิน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีผลส่งต่อถึงต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน การลดอัตราดอกเบี้ยคือการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของหน่วยเศรษฐกิจลดลง เปรียบเสมือนการให้ยากระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งดังกล่าวมักจะมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว การลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับที่ต่ำเกินไปหรือนานเกินไป ก็จะมีผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นกัน ได้แก่

1. สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน

การลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับต่ำเป็นเวลานานจนเกินไปอาจสร้างความเปราะบางต่อระบบสถาบันการเงินผ่านการสร้างแรงจูงใจในการให้สินเชื่อกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินควร โดยบทความเรื่อง The Impact of Short-term Interest Rates on Bank Credit Risk-Taking จาก European Central Bank Financial Stability Review ปี 2007 (European Central Bank, 2007) อธิบายว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงทางด้านเครดิต (credit risk) ของผู้กู้จะลดลงตามรายจ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงและมูลค่าของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้น สถาบันการเงินจึงมีแรงจูงใจที่จะให้สินเชื่อกับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและตลาดการเงินมีสภาพคล่องสูง สถาบันการเงินจะสามารถระดมทุนเพื่อให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงได้ง่ายขึ้นด้วย โดยงานเชิงประจักษ์ของ European Central Bank (2007) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง hazard rate ที่สะท้อนความเสี่ยงทางด้านเครดิตของสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในประเทศโบลิเวียในช่วงปี 1999–2004 พบว่าในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นและลดความเข้มงวดในการให้สินเชื่อกับผู้กู้ที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้และลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (subprime) ตลอดจนลดส่วนชดเชยความเสี่ยง (risk premium) ให้กับผู้กู้ด้วย

แม้ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของผู้กู้จะลดลงในระยะสั้น แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นในระยะกลางถึงยาว การให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปจะสร้างความเปราะบางต่องบดุลของสถาบันการเงินและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินตามลำดับ หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่าการให้สินเชื่อกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปเป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจ โดย งานศึกษาเรื่อง The Riskiness of Credit Allocation: A Source of Financial Vulnerability โดย International Monetary Fund (2018) ใช้ข้อมูลระดับบริษัทเพื่อสร้างดัชนีที่สะท้อนการจัดสรรสินเชื่อให้บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงเกินควร โดยเปรียบเทียบดัชนีชี้วัดความเสี่ยงทางด้านเครดิตของกลุ่มที่ได้สินเชื่อมากที่สุดกับกลุ่มที่ได้สินเชื่อน้อยที่สุด โดยพบว่าดัชนีดังกล่าวสามารถพยากรณ์การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้แม่นยำกว่าดัชนีแสดงความเสี่ยงทางด้านเครดิตเฉลี่ยในระดับมหภาค และยังสามารถพยากรณ์ถึงโอกาสเกิดภาวะ equity stress up ในภาคการเงินล่วงหน้าได้ถึงสามปี

นอกจากความเสี่ยงในตลาดสินเชื่อแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยลงไปในระดับต่ำยังส่งผลต่อพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และทำให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk) งานของ Lian et al. (2019) ทำการทดลองเชิงสุ่มเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยกับพฤติกรรม search for yield ผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มจัดสรรพอร์ตการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ไร้ความเสี่ยง (risk-free) และสินทรัพย์เสี่ยง (risky) โดยกำหนดให้แต่ละกลุ่มได้รับผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง (risk-free rate) ในอัตราที่แตกต่างกัน แต่ควบคุม risk premium ให้เท่ากัน ผลการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์พบว่ากลุ่มที่ได้รับ risk-free rate ต่ำกว่าจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แม้สินทรัพย์เสี่ยงจะมี risk premium ที่เท่ากัน นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มในอัตราที่รุนแรงขึ้นเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงเข้าใกล้ร้อยละ 0 สะท้อนว่าพฤติกรรม search for yield จะรุนแรงขึ้นเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับต่ำ พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้นักลงทุนเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปอันส่งผลให้พอร์ตการลงทุนเปราะบางต่อ shocks และก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน (Bernanke, 2013) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของนักลงทุนและกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงตามลำดับ

2. เพิ่มความเหลื่อมล้ำและการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เกิดประโยชน์

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจลดลงในภาพรวม แต่การกระจายผลประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นย่อมขึ้นอยู่กับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น เมื่อคนในระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำจากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานเกินไปอาจนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สมดุลและนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจได้เช่นกัน

ประการแรก การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ผู้ลงทุนมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการใช้เงิน (รวมถึงการนำเอาไปเก็งกำไร) ลดลง ในอีกด้านหนึ่ง ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำจะทำให้ผลตอบแทนของเงินฝากและตราสารหนี้ปรับลดลงซึ่งกระทบต่อครัวเรือนที่ออมเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการการออมและการลงทุนที่หลากหลาย ความไม่สมดุลดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความเปราะบางต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีทางเลือกการลงทุนหลากหลายกับผู้ออมที่เข้าถึงเพียงสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอีกด้วย

ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานเกินไปยังมีส่วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็ก โดยหลักการแล้ว การปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้กระแสเงินสดในอนาคตจากการลงทุนคุ้มทุนมากขึ้นจึงกระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนใหม่ แต่หากพิจารณาในระดับจุลภาคถึงการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม บริษัทจะลงทุนใหม่ก็ต่อเมื่อการลงทุนนั้นสามารถช่วยยกระดับผลิตภาพและเพิ่มโอกาสให้บริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เงื่อนไขของการลงทุนใหม่จึงอาจขึ้นอยู่กับผลิตภาพตั้งต้นที่มีอยู่แล้วของบริษัทต่าง ๆ นั่นหมายความว่าบริษัทขนาดใหญ่อาจได้ประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่าบริษัทขนาดเล็กโดยเปรียบเทียบ (แม้ในกรณีนี้ โอกาสของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งบริษัทเล็กจะมีเท่ากับบริษัทใหญ่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำก็ตาม)

Liu et al. (2019) ชี้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดมีความคุ้มค่าจากการลงทุนสูงกว่าบริษัทขนาดเล็กที่เป็นผู้ตาม ขณะที่ผู้ตามเองก็ตระหนักว่ามีโอกาสน้อยที่การลงทุนจะสูงพอที่จะได้ส่วนแบ่งตลาดจากผู้นำ ดังนั้น ผู้นำตลาดจึงมีแรงจูงใจที่จะลงทุนใหม่มากกว่าผู้ตาม ยิ่งอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง การลงทุนใหม่จะยิ่งทำให้ผลิตภาพของผู้นำตลาดหนีห่างจากผลิตภาพของผู้ตาม เมื่อผลิตภาพห่างกันมากขึ้นผู้นำเองก็ขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเกิดการชะงักงันของการลงทุน เกิดปรากฏการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเท่าไรก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ได้ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับต่ำจึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันและทำให้การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพชะงักงันในที่สุด ข้อค้นพบเชิงประจักษ์ของ Liu et al. (2019) ที่ได้ศึกษาราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นของผู้นำตลาดตอบสนองต่อการลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าบริษัทอื่นในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนว่าผู้นำตลาดได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะลงทุนมากกว่าบริษัทอื่นในตลาด ขณะที่งานของ Gutiérrez & Philippon (2017) พบว่าการแข่งขันภายในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นมามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการลงทุนใหม่และการสะสมทุนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการลงทุนลดลงนับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา สอดคล้องกับกระจุกตัว (concentration) ภายในตลาดที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น งานของ Banerjee & Hofmann (2018) ยังชี้ถึงความเหลื่อมล้ำของประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่างบริษัทที่มีศักยภาพกับบริษัท Zombie firms โดยนิยามแล้ว Zombie firms คือบริษัทที่ผลกำไรคาดการณ์ไม่เพียงพอชำระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นบริษัทที่มีผลิตภาพต่ำกว่าบริษัทอื่นในภาคการผลิตเดียวกัน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทกลุ่มนี้จึงไม่ได้ยกระดับผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยังทำให้สูญเสียโอกาสในการให้สินเชื่อกับบริษัทที่มีผลิตภาพสูงกว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับให้อยู่ในระดับต่ำ การให้สินเชื่อใหม่กับบริษัทที่มีศักยภาพสูงกว่าจะให้ผลตอบแทนลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่สิ่งดังกล่าวกลับสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อต่อชีวิตให้กับ Zombie firms มากยิ่งขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเอื้อให้งบกำไรขาดทุนของบริษัทกลุ่มนี้ปรับดีขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการเงินเองก็ขาดแรงจูงใจในการตัดหนี้สูญให้บริษัทกลุ่มนี้ เพราะจะทำให้ผลประกอบการของตนแย่ลง

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าการลดอัตราดอกเบี้ยลงให้อยู่ในระดับต่ำส่งผลบวกต่อ Zombie firms โดย Banerjee & Hofmann (2018) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของ Zombie firms โดยใช้ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนจากประเทศพัฒนาแล้ว 14 ประเทศในช่วงปี 1987–2016 และเมื่อควบคุมอิทธิพลของฐานะทางการเงินของธนาคารและผลิตภาพของบริษัทแล้ว ผลการศึกษาพบว่าการลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้สัดส่วนของทุนทางกายภาพ (physical capital) ของ Zombie firms ต่อทุนทางกายภาพรวมของอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าการลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลบวกต่อการอยู่รอดของ Zombie firms มากกว่าการสนับสนุนการลงทุนใหม่ของบริษัทที่มีผลิตภาพสูงในตลาด ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงผลข้างเคียงของการลดอัตราดอกเบี้ยในการต่อลมหายใจของ Zombie firms ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องคำนึงถึง

จากประเด็นทั้ง 2 ข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และผลข้างเคียงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบด้านทั้งผลได้และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เครื่องมือที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวแต่ยังอาจซ้ำเติมและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอีกด้วย สำหรับบริบทของระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ในภาวะที่มีการขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกับระดับศักยภาพและมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ผลข้างเคียงเชิงลบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจเพิ่มความเปราะบางต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเงินทุน และเอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในระยะสั้นจึงไม่ได้แก้โจทย์เชิงโครงสร้างระยะยาวที่ต้องการยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้น คำถามสำคัญที่ตามมาคือ แนวนโยบายทางเศรษฐกิจลักษณะใดที่จะช่วยแก้โจทย์ระยะยาวของประเทศไทย?

กุญแจสำคัญคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้แกนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยย่อลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นผลจากทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นข้อจำกัดในการเติบโตในระยะยาว ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งทำให้กำลังแรงงานลดลงจึงกลายเป็นข้อจำกัดด้าน ‘จำนวน’ ปัจจัยการผลิต งานวิจัยของ Chuenchoksan & Nakornthab (2008) ศึกษาถึงผลกระทบจากการลดลงของประชากรวัยทำงานของไทยต่อการชะลอตัวของแกนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลการคำนวณพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระดับศักยภาพจะลดลงจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ในช่วงปี 2000 ถึงปี 2007 ไปสู่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในช่วงปี 2026–2035 ดังนั้น โครงสร้างประชากรไทยจึงไม่ได้เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตจากการเพิ่มจำนวนปัจจัยการผลิต

นอกจากข้อจำกัดด้านจำนวนปัจจัยการผลิตแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนจากความไม่สมดุลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ มิติแรกคือความไม่สมดุลขององค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงภาคต่างประเทศมากเกินไปจึงทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อปัจจัยด้านต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสงครามการค้า หรือแนวโน้มการค้าขายระหว่างประเทศที่ปรับลดลง (Poonpatpibul et al., 2009) มิติที่สองคือความไม่สมดุลของความต้องการและทักษะแรงงาน (skills mismatch) กล่าวคือ ผลิตภาพของแรงงานไทยไม่ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แรงงานจำนวนมากไม่ได้โยกย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมากเท่าที่ควร (Asian Development Bank, 2015) มิติที่สามคือความไม่สมดุลของการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในหลายมิติที่กล่าวถึงข้างต้น

หากกล่าวโดยสรุป ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีจำกัดผนวกกับความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องแสวงหากลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ และกลไกที่จัดสรรปัจจัยการผลิตไปยังภาคการผลิตที่ใช้งานปัจจัยการผลิตได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องการกลไกที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ จึงจะสามารถยกแกนในการเติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังต้องการกลไกตลาดที่เชื่อมโยงผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจเข้าหากันอย่างครอบคลุมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพอย่าง ‘ทั่วถึง’ ซึ่งการเติบโตใหม่ที่สูงขึ้นจึงจะนำมาซึ่งความเท่าเทียมกันใน ‘โอกาสทางเศรษฐกิจ’ ของคนในสังคมนั่นเอง

หากมองลึกลงไปภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่ากลไกทั้งหมดขับเคลื่อนโดยข้อมูล การไหลเวียนของข้อมูลเอื้อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเข้าถึงข้อมูลที่สมบูรณ์ทำให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดสินค้าไปจนถึงการจับคู่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลยังลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันซึ่งสร้างแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบันที่กำกับการแลกเปลี่ยนไหลเวียนของข้อมูลในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นคำตอบของการยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย

Platform economy จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้โจทย์ระยะยาวของไทย

ในต่างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มหรือ platform economy ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค การผลิตและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ผลิต ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้บริโภค กฎและกติกาบนแพลตฟอร์มจึงกำกับวิธีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้เล่นในแพลตฟอร์ม รูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มมีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าหรือข้อมูล ซึ่งแตกต่างไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่การส่งต่อมูลค่าเพิ่มจากผู้ผลิตแต่ละข้อต่อไปสู่ผู้บริโภคปลายทางมีลักษณะเป็นเส้นตรงหรือที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบ pipeline (ธนดิษฐ์สุวรรณ, 2019)

ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมีศักยภาพที่จะเป็นคำตอบของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเนื่องจากแพลตฟอร์มเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจเข้าหากัน เอื้อให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจึงเอื้อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ต้นทุนที่ต่ำลงและเอื้อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมด้วย หากลองพิจารณากลไกการทำงานของ Amazon ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และ Cloud computing ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ระบบตลาดบนแพลตฟอร์มของ Amazon เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายเข้าหากัน ตลอดจนยังสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน ผู้รับประกันสินค้า ผู้ให้บริการขนส่งและผู้ให้บริการอื่น ๆ ตลอดกระบวนการซื้อขายเข้าหาผู้บริโภคอย่างเบ็ดเสร็จ Amazon เอื้อให้ผู้เล่นเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการและคุณสมบัติของสินค้าระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตหรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสินค้าระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง กลไกดังกล่าวจึงขจัดปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการจับคู่และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ตลาดสินค้าและบริการเท่านั้น แพลตฟอร์มยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในตลาดแรงงานและตลาดสินค้าขั้นกลางได้เช่นกัน

ลักษณะสำคัญอีกประการของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มคือศักยภาพในการเติบโตจากการขยายเครือข่าย (network) ที่ครอบคลุมผู้เล่นจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตกับผู้บริโภค หรือผู้บริโภคกับผู้บริโภคเองจะทำให้เกิดการสะสมข้อมูลที่เอื้อให้เกิดการต่อยอดเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเครือข่ายของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวอย่าง Agoda ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสินค้า (peer reviews) ข้อมูลที่สะสมไว้จะดึงดูดให้ผู้บริโภคกลุ่มใหม่เข้าสู่ตลาดและขยายเครือข่ายของผู้บริโภคต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดและความลึกของอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มจึงมีศักยภาพในการเพิ่ม capacity และเชื่อมต่ออุปสงค์ภายในประเทศเข้าหาผู้ผลิต ดังจะเห็นได้จากผู้ดำเนินนโยบายของจีนซึ่งนำ platform economy มาเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าหาอุปสงค์ภายในประเทศ2

นอกจากนั้น แพลตฟอร์มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตและสินทรัพย์ โดยเอื้อให้การใช้ปัจจัยการผลิตมีความยืดหยุ่นและปลดล็อคมูลค่าของปัจจัยการผลิตหรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ ปัจจุบันคนในระบบเศรษฐกิจมีทางเลือกในทำงานบน labor platform เช่น Amazon Mechanical Turk (AMT) หรือ Prolific ซึ่งมีลักษณะเป็น crowdsourcing ที่เปรียบเสมือนตลาดกลางที่เชื่อมต่อและ outsource งานจากนายจ้างสู่แรงงานจำนวนมากทั่วทุกมุมโลก ลักษณะของงานมีความหลากหลายทั้งงานพัฒนา machine learning งานเก็บข้อมูล ไปจนถึงงานสำรวจตลาด ซึ่งในอนาคตมีโอกาสขยายขอบเขตครอบคลุมลักษณะงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น labor platform จึงเป็นทางเลือกสำหรับแรงงานที่ต้องการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น คนที่มีงานประจำสามารถทำงานเก็บข้อมูลการตลาดบนอินเทอร์เน็ตผ่านแพลตฟอร์ม AMT แรงงานหนึ่งคนจึงมีประสิทธิภาพขึ้นและมีบทบาทในการสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังปลดล็อคให้ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานจากข้อจำกัดเชิงกายภาพ อาทิ คนที่อยู่ห่างไกลหรือมีความจำเป็นที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำงานในออฟฟิศมีโอกาสในการเข้าสู่กำลังแรงงานได้ โดยผลการสำรวจโดย International Labor Organization (ILO) ซึ่งสัมภาษณ์แรงงานบน labor platform จำนวน 3,500 คนในปี 2015 และ 2017 พบว่ามีแรงงานร้อยละ 8 ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มเพราะไม่สามารถทำงานประจำได้จากปัญหาสุขภาพหรือมีภาระดูแลครอบครัว3 (Berg et al., 2018) นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังปลดล็อคให้เกิดการใช้สินทรัพย์อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นในรูปแบบของ sharing economy ดังจะเห็นตัวอย่างของแพลตฟอร์มสำหรับให้เช่าที่พัก อาทิ Airbnb และ HomeAway ซึ่งนำสินทรัพย์มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม (Kenney & Zysman, 2016)

Platform ยังอาจเป็นคำตอบของการเพิ่มการแข่งขันที่เท่าเทียม เมื่อพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มจะพบว่า ‘ผู้เล่นไม่ได้มีข้อได้เปรียบจากธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือมีปัจจัยการผลิตจำนวนมาก’ แต่มาจากการสร้างเครือข่ายกับผู้เล่นคนอื่น ๆ บนแพลตฟอร์มซึ่งมีต้นทุนในการเข้าแข่งขันในตลาดต่ำกว่าการแข่งขันแบบเดิมที่แข่งด้วยการประหยัดต่อขนาดจากการสะสมปัจจัยการผลิตจำนวนมาก นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังช่วยลดต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจขนาดเล็กโดยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่บริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม แพลตฟอร์มจึงเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมขึ้นระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดเล็กสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดและความคิดเห็นของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้นเทียบกับการสำรวจตลาดแบบดั้งเดิมที่ใช้ต้นทุนสูง บริษัทขนาดเล็กยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายได้ง่ายขึ้น ณ ต้นทุนที่ต่ำลงจากการขายผ่านแพลตฟอร์มของ Amazon และ eBay หรือสร้างแพลตฟอร์มการขายของตัวเองกับ Magento หรือ Shopify เป็นต้น ความเท่าเทียมในการแข่งขันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม platform economy ต้องอาศัยการวางโครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นผู้วางกติกาในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มและเป็นผู้กระจายผลประโยชน์ให้กับผู้เล่นอาจแสวงหากำไรสูงสุดของตนเหนือประโยชน์สูงสุดของสังคม เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มอาจสร้างผลกระทบภายนอกในเชิงลบ (negative externality) ต่อคนในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์มอาจมีคนในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง จึงได้รับผลกระทบจาก technological disruption หรือเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้เล่นบนแพลตฟอร์มกับผู้เล่นนอกแพลตฟอร์มในระบบเศรษฐกิจเดิม เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีระบบที่รองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านและช่วยเหลือให้คนเหล่านี้ปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างราบรื่น

Frenken et al. (2018) แบ่งประเด็นของการวางโครงสร้างเชิงสถาบันบน platform economy ออก 5 กลุ่ม ได้แก่ การลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้เล่นบนแพลตฟอร์มและนอกแพลตฟอร์ม การออกแบบระบบภาษีที่เหมาะสมและเท่าเทียม การปกป้องสิทธิของผู้บริโภค การปกป้องสิทธิของแรงงาน ตลอดจนนโยบายด้านความปลอดภัยและการรักษาความลับของผู้ใช้แพลตฟอร์ม โดยการวางกฎควรชั่งน้ำหนักระหว่างการปกป้องธุรกิจนอกแพลตฟอร์มจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวไปสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มในท้ายที่สุด

ข้อสรุป

การแยกองค์ประกอบของการเติบโตทางเศรษฐกิจบอกเราว่าเศรษฐกิจไทยชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งเกิดจากแกนการเติบโตที่ย่อลงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุล ขณะที่วัฏจักรเศรษฐกิจมีความผันผวนน้อยลงสะท้อนการดำเนินนโยบายด้านอุปสงค์หรือการแก้โจทย์ระยะสั้นที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ‘ระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วย แต่ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแอซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว’ ในบริบทปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยต้องการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อแก้โจทย์ระยะยาว ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ตอบโจทย์และอาจเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

ในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายต้องปรับโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเพื่อนำไปสู่การยกระดับการพัฒนานวัตกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ platform economy จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในแก้โจทย์ระยะยาวของไทย เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานปัจจัยการผลิตและสินทรัพย์ผ่านการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นบน platform ภายใต้การวางกรอบโครงสร้างทางสถาบันที่เหมาะสม platform economy จะเป็นคำตอบสำคัญสำหรับการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Asian Development Bank. (2015). Thailand: Industrialization and Economic Catch-up.
Banerjee, R., & Hofmann, B. (2018). The Rise of Zombie Firms: Causes and Consequences. BIS Quarterly Review, 67–78.
Berg, J., Furrer, M., Harmon, E., Rani, U., & Silberman, M. S. (2018). Digital Labour Platforms and the Future of Work: Towards Decent Work in the Online World. International Labour Organization.
Bernanke, B. S. (2013). Monitoring the Financial System. 49th Annual Conference on Bank Structure and Competition Sponsored by the Federal Reserve Bank of Chicago.
Chuenchoksan, S., & Nakornthab, D. (2008). Past, present, and prospects for Thailand’s growth: a labor market perspective (Working Paper No. 2008–07). Monetary Policy Group, Bank of Thailand.
European Central Bank. (2007). Financial Stability Review.
Frenken, K., van Waes, A., Smink, M., & van Est, R. (2018). Safeguarding public interests in the platform economy.
Gutiérrez, G., & Philippon, T. (2017). Declining Competition and Investment in the US (Working Paper No. 23583). National Bureau of Economic Research.
International Monetary Fund. (2018). Global Financial Stability Report April 2018: A Bumpy Road Ahead.
Kenney, M., & Zysman, J. (2016). The rise of the platform economy. Issues in Science and Technology, 32(3), 61.
Lian, C., Ma, Y., & Wang, C. (2019). Low interest rates and risk-taking: Evidence from individual investment decisions. The Review of Financial Studies, 32(6), 2107–2148.
Liu, E., Mian, A., & Sufi, A. (2019). Low interest rates, market power, and productivity growth (Working Paper No. 25505). National Bureau of Economic Research.
Poonpatpibul, C., Vorasangasil, N., Junetrakool, M., & Prasitdechsakul, P. (2009). Is There an Alternative to Export-led Growth for Thailand? (Working Paper No. 2009–02). Monetary Policy Group, Bank of Thailand.
ธนดิษฐ์สุวรรณ, ต. (2019). จาก Pipeline สู่ Platform: คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในธุรกิจชำระเงิน. Krungsri Research: Research Intelligence.

  1. คำนวณจากสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของกลุ่มประชากรต่อผลรวมของรายได้เฉลี่ยของทุกกลุ่มประชากร โดยแบ่งประชากรออกเป็น 10 กลุ่มตามระดับรายได้↩
  2. อ้างอิงจาก Guidelines of Twelve Departments Including the Ministry of Commerce for Promoting Commodity Trade Market and Developing Platform Economy ของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่มา↩
  3. ครอบคลุมบุคคลที่ทำงานบน Amazon Mechanical Turk, Cloudflower, Clickworker, Prolific และ Microworkers↩
Somprawin Manprasert
Somprawin Manprasert
Siam Commercial Bank
Kongphop Wongkaew
Kongphop Wongkaew
Siam Commercial Bank
Topics: MacroeconomicsMonetary Economics
Tags: institutional economicsmacroeconomicsmonetary economics
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email