“Inside-Out” โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
excerpt
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตโดยพึ่งบริษัทต่างชาติให้เข้ามาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะต้องหันมาเติบโตแบบ “ระเบิดจากข้างใน” กล่าวคือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยตนเอง การปฏิรูปโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องปรับโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และสร้างระบบการเงินที่ inclusive
“… [พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร] ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัว …”
จากหนังสือการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล (ปี 2554, หน้า 52–53)
ระบบเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้อย่างไรในระยะยาว? คำถามดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่การใช้ปัจจัยทุนได้ถึงจุดอิ่มตัวและกำลังแรงงานจะมีน้อยลงจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจไทยจึงไม่สามารถเติบโตได้จากการสะสม ‘จำนวน’ ปัจจัยการผลิตเหมือนในอดีต แต่จะต้องเป็นการเติบโตจาก ‘คุณภาพ’ ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ สิ่งดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอแนะใหม่ แต่เหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถใช้การเพิ่มผลิตภาพการผลิตมาเป็นตัวนำการพัฒนาได้เสียที?
บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาเป็นแบบ Outside-in (ซึ่งเกิดจากการนำเข้ากิจกรรมการผลิตผ่านการเข้าร่วมสายพานการผลิตโลก) แต่ในระยะต่อไป การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะต้องเป็นแบบ Inside-out หรือ “ระเบิดจากข้างใน” ที่เกิดจากการเพิ่มผลิตภาพปัจจัยการผลิตภายในประเทศเอง รวมถึงการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากทุกภาคส่วนของหน่วยเศรษฐกิจไทย
งานวิจัยของ Apaitan, Ananchotikul and Disyatat (2017) ได้ใช้แนวคิดของ Hausman and Hidalgo (2011) มาศึกษาปัจจัยที่มีส่วนกำหนดการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยมีความเชื่อว่าผลิตภาพเกิดมาจาก ‘การสร้าง’ และ ‘การกระจาย’ องค์ความรู้ในกระบวนการผลิตจากหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งไปยังอีกหน่วยเศรษฐกิจ ผ่านการแบ่งปันปัจจัยการผลิตและการถ่ายโอนความรู้ ซึ่งจะเกื้อกูลให้ผลิตภาพของประเทศเพิ่มสูงขึ้นและจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว จากแนวคิดดังกล่าว ระดับขององค์ความรู้ในระบบเศรษฐกิจจะถูกวัดทางอ้อมจากระดับความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้มีการเผยแพร่ดัชนีระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจหรือ Economic Complexity Index (ECI) ที่วัดความซับซ้อนของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี 1995 ถึงปี 2017 จากข้อมูลชุดดังกล่าวเราพบว่าค่า ECI ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนั้น ไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าไทยส่งออกสินค้าที่ใช้องค์ความรู้ที่ซับซ้อนขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (รูปที่ 1)
อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะส่งออกสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่กลับไม่สามารถตักตวงประโยชน์จากความซับซ้อนเหล่านั้นได้มากเท่าที่ควร ในปี 2017 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศที่มีค่า ECI ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าประเทศอื่นส่วนใหญ่สามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ (High income) ในขณะที่ไทยยังตกอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper middle income) (รูปที่ 2) สิ่งดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามสำคัญ ‘อะไรคือสาเหตุที่ไทยไม่สามารถเปลี่ยนความเก่งเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้?’
พัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลผู้ถือหุ้นนี้ประกอบด้วยปัจจุบันกิจกรรมการผลิตส่วนใหญ่ของไทยผูกโยงกับสายพานการผลิตโลก โดยเป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศเพื่อมาประกอบและส่งออก ดังนั้น มูลค่าการส่งออกรวม (Gross export) จึงไม่ได้สะท้อนมูลค่าของกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้แฝงมูลค่าเพิ่มที่ติดมากับสินค้าขั้นกลางซึ่งนำเข้าจากประเทศต้นทางอีกด้วย ดังนั้น การที่ดัชนี ECI วัดความซับซ้อนขององค์ความรู้จาก Gross export จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าค่าดัชนี ECI ของไทยที่ปรับสูงขึ้นนั้นสะท้อนองค์ความรู้ของผู้ผลิตภายในประเทศไทยเองหรือเป็นองค์ความรู้ของประเทศต้นทางบนสายพานการผลิต
เพื่อหาคำตอบ เราใช้ข้อมูลโครงสร้างการผลิตโลกจาก World Input-Output Data (WIOD) มาคำนวณหาการส่งออกในรูปของมูลค่าเพิ่ม (Value added exports) และจำแนกออกเป็นมูลค่าเพิ่มจากผู้ผลิตภายในประเทศ (Domestic value added) และมูลค่าเพิ่มจากประเทศต้นน้ำ (Foreign value added) จากนั้นเรานำข้อมูล Domestic value added มาคำนวณดัชนี Revealed Comparative Advantage (RCA) ของไทยซึ่งสะท้อน ‘ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ หรือความสามารถในการแข่งขันในตลาดสินค้าส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น1 ดังนั้น ดัชนี RCA ดังกล่าวจึงสะท้อน ‘ความเก่ง’ ของผู้ผลิตไทยเทียบเคียงได้กับดัชนี ECI
หากเปรียบเทียบดัชนี RCA ที่คำนวณจาก Gross export กับ Domestic value added in exports จะพบว่า RCA ของสินค้าส่งออกสำคัญมีค่าลดลง (รูปที่ 3) สินค้าบางกลุ่มที่ได้เปรียบเชิงเทียบกลับมีระดับของความได้เปรียบลดลง อาทิ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มยางและพลาสติก ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้เปรียบหากคำนวณจาก Gross exports แต่กลายเป็นเสียเปรียบหากคำนวณจาก Domestic value added นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน และกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งเสียเปรียบอยู่แล้วที่เสียเปรียบมากยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนว่า สินค้าส่งออกของไทยได้รับองค์ความรู้ที่ซับซ้อนมาจากประเทศต้นน้ำในสินค้าสำคัญหลายกลุ่ม
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของ Foreign value added in exports จะพบว่าการส่งออกของไทยขับเคลื่อนด้วยมูลค่าเพิ่มจากประเทศต้นน้ำ จากรูปที่ 4 สินค้าส่งออกในกลุ่มถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม กลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์มีสัดส่วนของ Foreign value added สูงกว่าครึ่งหนึ่งของ Value added exports แม้ในช่วงหลังสัดส่วนมีแนวโน้มลดลงแต่เป็นผลจากมูลค่าของ Foreign value added ที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ Domestic value added มีค่าเท่าเดิมหรือลดลงในอัตราที่ช้ากว่า ดังนั้น การปรับลดลงของสัดส่วน Foreign value added ในสินค้าส่งออกจึงอาจไม่ได้สะท้อนว่าภาคการผลิตไทยเก่งขึ้น
แม้ภาคการผลิตไทยจะนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่มีองค์ความรู้ซับซ้อน แต่กลับไม่สามารถต่อยอดและแพร่กระจายองค์ความรู้ดังกล่าวไปสู่ภาคส่วนอื่นในประเทศ ส่งผลให้ไทยไม่สามารถก้าวขึ้นไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ เราสามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของภาคการผลิตไทยบนห่วงโซ่การผลิตโลกได้โดยการคำนวณดัชนี Global Value Chain (GVC) Position Index (Koopman Powers Wang and Wei, 2013) ทั้งนี้ ภาคการผลิตที่อยู่ต้นน้ำ (ปลายน้ำ) จะมีค่าดัชนีเป็นบวก (ลบ)
เราพบว่าภาคการผลิตสำคัญของไทยยังอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งได้ช้าจึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ตำแหน่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าได้ จากรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่าภาคการผลิตไทยที่อยู่ปลายน้ำ เช่น กลุ่มสินค้าที่เน้นการประกอบและส่งต่อ อาทิ กลุ่มยานยนต์ ไม่สามารถเคลื่อนขึ้นไปเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบและการคิดค้นนวัตกรรม ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อค้นพบของ Asian Development Bank (ADB, 2015) ที่ชี้ว่าผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับ Tier 2 และ Tier 3 ซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าสินค้าจากผู้ผลิต Tier 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ในทางตรงข้ามอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารก็ไม่สามารถเคลื่อนลงไปเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า เช่น การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป และการผลิตอาหารแปรรูป เป็นต้น
ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้นสะท้อนว่ากิจกรรมการส่งออกของไทยไม่ได้เติบโตแบบ Inside-out หรือเติบโตจากการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ แต่มีลักษณะแบบ Outside-in ที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเชื่อมไทยเข้าสู่สายพานการผลิตของโลก เนื่องจากบริษัทต่างชาติเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกของไทย ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและองค์ความรู้ที่ตกผลึกได้จากการผลิตจึงกระจายออกไปนอกประเทศ แทนที่จะกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นภายในประเทศ
การเติบโตแบบ Outside-in ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตกระจุกตัวอยู่กับผู้ส่งออกบางกลุ่ม Apaitan, Ananchotikul and Disyatat (2017) ศึกษาข้อมูลการผลิตของไทยในระดับจุลภาคโดยผู้วิจัยพบการกระจุกตัวของกิจกรรมการผลิตใน 3 มิติ ได้แก่ การกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ การกระจุกตัวในบางพื้นที่ และการกระจุกตัวของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะในบางกิจกรรมการผลิต โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้มักถือครองโดยกลุ่มทุนต่างชาติ
อันที่จริงแล้ว การกระจุกตัวของกิจกรรมการผลิตนั้นส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะเริ่มต้น เพราะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้ได้สะดวก ณ ต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งงานศึกษาของ Thawornkraiwong, Civilize, and Khatphitthaya (2011) ชี้ว่ากิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลตอบแทนจากขนาดการผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวสู่ระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีกลไกที่เอื้อให้เกิดการโอนย้ายทรัพยากรจากภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำไปยังภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงกลไกที่กระจายทรัพยากรและองค์ความรู้ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นทั้งในมิติพื้นที่ ขนาดของผู้ประกอบการ และภาคการผลิตที่แตกต่างกัน…กลไกดังกล่าวคือสิ่งที่ขาดหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย
ทำไมกลไกที่เอื้อให้เกิดการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงไม่เกิดขึ้นตามไปกับระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น? สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจไทยมีลักษณะบิดเบี้ยวและมีความไม่สมบูรณ์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความผิดปกตินี้ตั้งคำถามถึงโครงสร้างของสถาบันทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น
งานของ ADB (2015) พบว่าสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่สามารถยกระดับขึ้นไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้เป็นเพราะผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตไม่ทันกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมซึ่งมักพึ่งพิงเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากภาคธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาผ่านการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น (จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นเพราะความสามารถของแรงงานเอง) จนถึงระดับหนึ่ง ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นใช้แรงงานจึงปรับลดลงส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม
ADB (2015) ยังชี้อีกด้วยว่าการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ซึ่งแนวนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถยกระดับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 5 มิติต่อไปนี้
การพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาทางเทคโนโลยีในไทยมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น คุณภาพการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในไทยส่งผลให้จำนวนการจดสิทธิบัตรอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น ไทยยังขาดความร่วมมือที่เป็นระบบระหว่างสถาบันการศึกษาระดับสูงและภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม อนึ่ง ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าในปี 2016 สัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 0.78) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ร้อยละ 1.62) โดยเฉพาะประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน อาทิ เกาหลีใต้ (ร้อยละ 4.23)
การยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำและมีทักษะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การศึกษาของแรงงานไทยมักไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2014 พบว่าอุปสรรคสำคัญต่อการทำธุรกิจในไทยคือการที่แรงงานมีระดับการศึกษาไม่สูงพอและไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากเท่าที่ควร แนวนโยบายที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของไทยจึงเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณทางด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคการผลิตมากขึ้น จะช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถผลิตกำลังแรงงานได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น
การส่งเสริมการแข่งขันและแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการปกป้องกิจกรรมทางการผลิตบางประเภทมากเกินไปส่งผลให้การแข่งขันมีจำกัดโดยเฉพาะในภาคบริการ ปัจจุบันไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการปรับแก้กฎหมายให้ใช้งานได้จริง และบัญญัติให้ผู้กำกับดูแลแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจะเอื้อให้การบังคับใช้กฎหมายสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ โดยไทยควรพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งระหว่างจังหวัดและภายในตัวเมือง การเชื่อมต่อระบบขนส่งด้วยรถไฟกับรถบัส นอกจากนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ การจัดการงานด้านเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการส่งออกสูงกว่าเกาหลีใต้มากเนื่องจากการขนส่งทางบกมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และมีค่าใช้จ่ายด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนั้น ยังควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับภาคธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง
การเข้าถึงเงินทุนและบริการทางเงินที่มีประสิทธิภาพของผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือกลุ่ม MSME (Micro, Small and Medium-sized Enterprises) จากสถิติพบว่าไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจำนวนบริษัทขนาดเล็กคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99 ของจำนวนบริษัททั้งหมดและมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีมูลค่ากิจกรรมการผลิตเพียงร้อยละ 36 ของ GDP ปัญหาหลักเกิดจากข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการลงทุนในระยะยาว การพัฒนาระบบการเงินที่เอื้อให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึง
การพัฒนาข้อสุดท้ายชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการเงินในฐานะกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินที่ดีควรทำหน้าที่เคลื่อนย้ายทรัพยากรจากคนที่มีเงินเหลือแต่ไม่เห็นโอกาส ไปยังคนที่เห็นโอกาสแต่ไม่มีเงินทุน บทบาทสำคัญของภาคการเงินคือต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสให้หน่วยเศรษฐกิจ ‘ทุกระดับของความเสี่ยง’ สามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้ ‘ราคา’ ‘เครื่องมือทางการเงิน’ และ ‘ระบบกลไก’ ที่แตกต่างกัน โดยคนที่มีความเสี่ยงต่ำอาจเข้าถึงด้วยต้นทุนที่ต่ำผ่านกลไกประเภทหนึ่ง ในขณะที่คนที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องสามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านช่องทางอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่า การสร้างระบบที่ทำให้หน่วยเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เท่าเทียมกันจะสร้าง ‘ความเท่าเทียมกันในโอกาส’ ของหน่วยเศรษฐกิจและส่งผลให้หน่วยเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตอย่างเท่าเทียมขึ้น
ระบบการเงินที่ Inclusive จะต้องสนับสนุนการระดมทุนในทุกลำดับขั้นของธุรกิจ งานของ Berger and Udell (1998) ระบุถึงช่องทางการเข้าถึงเงินทุนตามลำดับขั้นของธุรกิจ (รูปที่ 6) นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งธุรกิจซึ่งไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือประวัติการระดมทุนมาก่อนจึงต้องได้รับการสนับสนุนจาก Business angels จากนั้นเมื่อธุรกิจเริ่มแสดงศักยภาพในการเติบโตแล้วจึงจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Venture capital หรือสามารถเข้าถึงสินเชื่อระยะสั้นได้ ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้น ธุรกิจจะเริ่มสะสมสินทรัพย์และข้อมูลการดำเนินงานซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้มากขึ้น และในลำดับขั้นสุดท้าย ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจะสามารถระดมทุนในตลาดการเงิน เช่น การออกหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนในวงจำกัด เป็นต้น
นอกจากนั้น ระบบการเงินที่ Inclusive จะต้องสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจทุกระดับความเสี่ยง งานของ OECD (2013) จับคู่ธุรกิจกับเครื่องมือในการระดมทุนตามระดับความเสี่ยง (รูปที่ 7) โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำควรระดมทุนผ่านตลาดการเงินในรูปแบบของการกู้โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงและการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางควรระดมทุนผ่านสถาบันการเงินหรือใช้เครื่องมือทางการเงินกึ่งหนี้กึ่งทุน (Mezzanine) เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีประวัติทางการเงินที่ยาวนานพอควรได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Business angles หรือ Venture capital ซึ่งยอมรับความเสี่ยงได้สูงกว่าและ/หรือมีโครงสร้างในการบริหารและกระจายความเสี่ยงที่ดี
ปัจจุบันระบบการเงินไทยมีเพียงสถาบันทางการเงินและตลาดการเงินที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางสูงถูก ‘คัดออก’ จากการเข้าถึงเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บริษัทขนาดเล็กและธุรกิจใหม่จึงไม่สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ระบบการเงินที่ดีนอกจากจะมีเสถียรภาพแล้วยังต้องทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น ทางออกของเศรษฐกิจไทยจึงไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแต่เป็นการบริหารความเสี่ยงซึ่งต้องการการปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบัน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เล่นในระบบการเงิน และการสร้างกลไกการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม
ระบบการเงินที่ inclusive จะสร้างความเท่าเทียมใน 3 มิติ เริ่มจากความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความเท่าเทียมในการเข้าถึงตลาด และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ซึ่งความเท่าเทียมกันของโอกาสใน 3 มิตินี้จะเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ‘ระเบิดจากข้างใน’ ซึ่งทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
Apaitan, T., Ananchotikul, N., & Disyatat, P. (2017). Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation. PIER Discussion Papers 72, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Asian Development Bank. (2015). Thailand: Industrialization and Economic Catch-Up. Mandaluyong City, Philippines: Asian Development Bank.
Berger, A., & Gregory, U. (1998). The Economics of Small Business Finance: The Roles of Private Equity and Debt Markets in the Financial Growth Cycle. Journal of Banking & Finance 22(6–8), 613–673.
Hausmann, R., & Hidalgo, C. (2011). The Network Structure of Economic Output. Journal of Economic Growth 16(4), 309–342.
Koopman, R., Powers, W., Wang, Z., & Wei, S.-J. (2010). Give Credit Where Credit Is Due: Tracing Value Added in Global Production Chains. National Bureau of Economic Research.
Thawornkaiwong, S., Civilize, B., & Khatphitthaya, T. (2011). Growth Management for Thailand: the Role of Infratructure. Working Papers 2011-05, Monetary Policy Group, Bank of Thailand.
The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). (2015). New Approaches to SME and Entrepreneurship Financing: Broadening the Range of Instruments. OECD Publishing.
World Economic Forum. (2014). The Global Competitiveness Report 2014–2015. Geneva: World Economic Forum.
- ดัชนี RCA สะท้อนการเปรียบเทียบโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยกับโครงสร้างการส่งออกสินค้าโลก หากดัชนี RCA ของไทยในสินค้ากลุ่มใดมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นต่อการส่งออกรวมสูงกว่าสัดส่วนการค้าสินค้ากลุ่มนั้นต่อมูลค่าการส่งออกรวมของโลก กล่าวคือ ไทย ‘ได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ ในการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว↩