ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย

excerpt
ในปัจจุบัน สัดส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คำถามที่ว่า “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั่วโลก บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาในประเทศไทย โดยพบว่า ผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือ หากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง ส่งผลไปยังอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อจำนวนกำลังแรงงานในอนาคต ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐจะมีนโยบายใดบ้างในการแก้ปัญหาดังกล่าว
“ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” ท่อนหนึ่งจากเพลง “ชวนน้องแต่งงาน” ในปี 1981 ของคุณเกรียงไกร กรุงสยามซึ่งเป็นคำถามที่คล้ายคำหยอกเอินสาวโสดในอดีตว่า ทำไมไม่ยอมแต่งงานสักทีนั้น ผ่านมาเกือบ 40 ปี คำถามนี้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากการที่สัดส่วนผู้หญิงโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง งานวิจัยที่ผ่านมาเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “Marriage Strike” ซึ่งสามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยังได้พบปรากฏการณ์ใหม่อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “Gold Miss” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานภาพทางสังคมที่สูง โดยผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงาน แต่กลับเลือกที่จะไม่แต่งงานและคงสถานภาพการอยู่เป็นโสดอีกด้วย งานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao ที่มีชื่อว่า “Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand (Liao and Paweenawat, 2019a) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยกับการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 30 ปี (1985–2017) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการดังต่อไปนี้
งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฏการณ์ “Marriage Strike” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น และสัดส่วนร้อยละของคนโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1980s และเมื่อพิจารณาสัดส่วนคนโสด (คนที่ไม่เคยแต่งงาน) โดยแยกตามระดับการศึกษา จะพบว่า ถึงร้อยละ 50–60 ของผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสด และมีเพียงร้อยละ 15–20 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นมัธยมศึกษาและร้อยละ 10–15 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นประถมศึกษาเป็นโสด (ภาพที่ 1)
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบปรากฏการณ์ “Gold Miss” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้นและไม่มีลูกเลย (ภาพที่ 2)
งานวิจัยของ Hwang (2016) พบว่า ปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปรากฏการณ์ “Gold Miss” เกิดขึ้นจากทัศนคติทางเพศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (intergenerational transmission of gender attitude) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่มีรากฐานวัฒนธรรมที่หยั่งลึกในเรื่องทัศนคติที่มีต่อเพศหญิง โดยสังคมในประเทศกลุ่มนี้มีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการแต่งงาน ซึ่งผู้หญิงมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยนอกจากจะเป็นแม่บ้านที่เลี้ยงดูลูกและดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะที่เป็นหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัว ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีโอกาสในการแต่งงานลดลงร้อยละ 14 โดยผู้หญิงที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี มีโอกาสการแต่งงานอยู่ที่ร้อยละ 85 ในขณะที่โอกาสการแต่งงานของผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ร้อยละ 71 ในขณะเดียวกัน ระดับการศึกษากลับไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสในการแต่งงานของผู้ชายมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาผลของระดับการศึกษาต่อโอกาสในการแต่งงานในประเทศอื่น ๆ ซึ่งพบว่า ผลแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Fort et al. (2016) พบว่า การศึกษาเพิ่มโอกาสในการแต่งงานของผู้หญิงในประเทศแถบทวีปยุโรป แต่ลดโอกาสในการแต่งงานในประเทศอังกฤษ ส่วน Kan and Lee (2018) พบว่า การศึกษาไม่มีผลต่อโอกาสในการแต่งงานในไต้หวัน
นอกจากปรากฏการณ์ที่ระดับการศึกษามีผลต่อการตัดสินใจแต่งงาน ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความสัมพันธ์ที่ผกผันกันระหว่างระดับการศึกษาของผู้หญิงกับจำนวนลูก กล่าวคือ ผู้หญิงที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลงตามลำดับ ในกรณีของประเทศไทย พบว่า จำนวนลูกต่อผู้หญิงหนึ่งคนของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มการศึกษาอื่น ๆ มีแนวโน้มคงที่ หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเทียบภายในกลุ่มการศึกษาเดียวกัน พบว่า กลุ่มผู้หญิงที่เกิดปี 1950s และจบปริญญาตรีขึ้นไปจะมีลูกโดยเฉลี่ย 1.3 คน ขณะกลุ่มที่เกิดปี 1980s มีลูกเพียง 0.7 คน ซึ่งลดลงกว่าครึ่งนึง อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกของผู้หญิงกลุ่มที่จบมัธยมและประถมศึกษามีการลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะยังอยู่ที่ 1.2 คนและ 1.5 คน ตามลำดับ (ภาพที่ 3)
นอกจากนั้น หากทำการประมาณความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นกับจำนวนลูกของผู้หญิงไทย พบว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีจะลดจำนวนลูกที่ผู้หญิงมีประมาณ 0.1 คน ซึ่งผลการศึกษาสอดคล้องกับผลการศึกษาในประเทศอังกฤษและบางประเทศในยุโรป ที่พบว่าจำนวนลูกลดลงประมาณ 0.15 คนต่อระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น 1 ปี (Fort et al. 2016)
ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกในประเทศไทย คือ ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ที่แม้จะส่งผลทางบวกต่อระดับสถานภาพของผู้หญิงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่งผลลบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกของผู้หญิง จากการที่ผู้หญิงไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมกันทั้งระดับรายได้และการศึกษาน้อยลง นอกจากนั้น ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้หญิงจากการลาคลอดและเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงยังอาจเลือก “คุณภาพ” ในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า “จำนวน” นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากระดับการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกอีกด้วย ได้แก่
- ต้นทุนของการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่มขึ้น ทำให้คู่สมรสมีแนวโน้มที่จะชะลอการมีลูกหรือตัดสินใจไม่มีลูกเลย ข้อมูลจาก งานวิจัยล่าสุดของ Chamchan et al. (2019) ชี้ว่า การเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0–14 ปี) อยู่ที่ประมาณ 1.57 ล้านบาท โดยต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรนี้เพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ของครัวเรือน
- ผลกระทบต่อค่าจ้างที่เกิดขึ้นจากการมีลูกของแรงงานไทย งานวิจัยของ Liao and Paweenawat (2019b) ได้ศึกษาความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูก (parenthood wage gap) พบว่า การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) โดยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
- ทัศนคติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง มีทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีลูกที่แตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความเป็นอิสระส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกลดน้อยลง Samutachak and Darawuttimaprakorn (2014) พบว่า กลุ่ม Generation Y ในประเทศไทย (คนที่เกิดระหว่างปี 1980–2003) ให้ความสำคัญกับการแต่งงานและการมีลูกน้อยกว่าเรื่องอื่น ขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Isarabhakdi (2015) พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในไทยมีการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (lesbian, gay, bisexual, and transgender) เมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่า
- การขาดการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทางภาครัฐและสังคม เช่น การขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กของภาครัฐ การขาดความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน การกีดกันแบ่งแยกในสถานที่ทำงานต่อแรงงานที่มีลูก ทำให้ลดความต้องการที่จะแต่งงานและมีลูกลงไป
โดยปัจจัยที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้สามารถอธิบายการลดลงของอัตราการเกิดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
บทความนี้ได้กล่าวถึงผลกระทบของระดับการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้หญิงไทยต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูก ผ่านการนำเสนอปรากฏการณ์ Marriage Strike และ Gold Miss ในประเทศไทย โดยพบว่า ผู้หญิงโสด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากแต่งงานก็จะเลือกที่จะมีลูกจำนวนน้อยลง ซึ่งผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากที่จะสะท้อนถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูงของแรงงานหญิงไทยจากการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก และค่านิยมทางสังคม ยังก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนของภาครัฐในการสร้างแรงดึงดูดใจในเรื่องการแต่งงานและการเลี้ยงดูลูกอย่างเพียงพอหรือไม่ ปรากฏการณ์นี้ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศไทย และปัญหาที่ตามมาคือ การขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศในอนาคต
ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” อย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยภาครัฐควรมี “นโยบายชวนน้องแต่งงาน” เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวต้องการแต่งงานและมีลูกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ในประเทศอื่นนั้นก็มีนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สิงคโปร์มีการให้ความสำคัญตั้งแต่การช่วยหาคู่ชีวิตให้คนโสด การให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสใหม่ในการจัดหาซื้อบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ และหากมีลูก ก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนทั้งการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี การขอคืนภาษีเพื่อช่วยเลี้ยงลูก ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก และบางประเทศมีกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อย สามารถขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ เป็นต้น
หมายเหตุ
เนื้อหาของบทความโดยส่วนใหญ่สรุปจากผลงานวิจัย Liao and Paweenawat (2019a)
Chamchan, C., Jaratsit, S. and Loyfah, N., 2019, Cost of Raising a Child (Age 0–14) in Thailand. Chiang Mai University Journal of Economics, Volumn 23, Issue 1, pp 55–78.
Fort, M., Schneeweis, N., and Winter-Ebmer, R., 2016. Is Education Always Reducing Fertility? Evidence from Compulsory Schooling Reforms. The Economic Journal, Volume 126, Issue 595, pp 1823–1855.
Hwang, J., 2016. Housewife, “gold miss,” and equal: the evolution of educated women’s role in Asia and the U.S. Journal of Population Economics, Volume 29, Issue 2, pp 529–570.
Isarabhakdi, P., 2015. Different Generations, Different Attitudes toward Sexual Diversity in Thai Society. In Aree Jampaklay, Patama Vapattanawong, & Kanchana Tangchonlatit (Eds.), Population and Society 2015: Population and Social Diversity in Thailand 2015. Nakhon Pathom: Institute for Population and Social Research, Mahidol University.
Kan, K. and Lee, M., 2018. The Effects of Education on Fertility: Evidence from Taiwan. Economic Inquiry, Vol. 56, Issue 1, pp. 343–357.
Liao, L. & Paweenawat, S.W. 2019a. ““Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand,” PIER Discussion Papers no.110, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, revised July 2019.
Liao, L. and Paweenawat, S., 2019b. Parenthood Penalty and Gender Wage Gap: Recent Evidence from Thailand. PIER Discussion Papers no.102, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Samutachak, B., and Darawuttimaprakorn, N., 2014. Lifestyle, life plans and the decision to have children among generation Y. In Yupin Vorasiriamorn, Jongjit Rittirong, Sutthida Chuanwan, Phojana Hanjangsith (Eds.), Population and Society 2013: Birth and Security in Population and Society. Nakhon Pathom: Institute for Population and Social Research, Mahidol University.