บูมเมอแรงคิดส์? เมื่อลูกย้ายกลับเข้าบ้าน…

excerpt
ปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” ในประเทศแถบตะวันตก หมายถึงการที่ประชากรวัยทำงานย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมบ้านกับพ่อแม่อีกครั้งโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บทความนี้นำเสนอ “บูมเมอแรงคิดส์” อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าภายหลังจากมีลูก คนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มากขึ้น และการอยู่ร่วมกันนี้ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง โดยนอกจากจะเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานแล้ว ยังเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของผู้หญิงอีกด้วย
ปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” (Boomerang Kids) ในประเทศแถบตะวันตก หมายถึง การที่ประชากรวัยทำงานที่เคยย้ายออกมาอยู่ด้วยตนเองได้ย้ายกลับไปอยู่อาศัยร่วมบ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง ปรากฎการณ์นี้จะมักเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ทั้งจากการว่างงาน หรือการเปลี่ยนจากการจ้างงานเต็มเวลาเป็นการทำงานบางช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น Dettling and Hsu (2018) พบว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศสหรัฐอเมริกาส่งผลทำให้สัดส่วนการอยู่อาศัยร่วมกันกับพ่อแม่ของแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ระหว่างปี 2005–2014
นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงานของผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น Del Boca (2002) พบความสัมพันธ์ทางบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงในประเทศอิตาลี และความสัมพันธ์ทางลบต่อการตัดสินใจส่งลูกไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก ขณะที่ Chen et al. (2000) พบว่าการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ ทำให้ผู้หญิงในประเทศจีนเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ Oishi and Oshino (2006) ยังพบว่าการอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของทางสามีหรือภรรยา ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของฝ่ายหญิงในประเทศญี่ปุ่น และสุดท้าย Kueh (2017) พบว่าในประเทศเยอรมัน แรงงานเพศหญิงที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ มีแนวโน้มที่จะทำงานประจำมากขึ้น
งานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao ที่มีชื่อว่า “Alternative boomerang kids, intergenerational co-residence, and maternal labor supply” (Liao and Paweenawat, 2020) ได้ศึกษาสองประเด็นดังกล่าวในประเทศไทย พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 2 ประการดังต่อไปนี้
งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” อีกรูปแบบหนึ่งในประเทศไทยซึ่งมีความแตกต่างจากที่พบในประเทศแถบตะวันตก สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้นพบว่าภายหลังจากมีลูก คนไทยมีแนวโน้มย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น โดยในเบื้องต้น ข้อมูลการสำรวจภาวะการทํางานของประชากร (Labor Force Survey หรือ LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 1985–2016 แสดงว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่แต่งงานแล้วและอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 10 จุด (percentage points) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (จากร้อยละ 17 ในปี 1985 เป็นร้อยละ 26 ในปี 2016) ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนที่ยังไม่ได้แต่งงานและอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มลดลงและคงที่ในช่วง 20 ปีหลัง (ภาพที่ 1)
นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบนับซ้ำ (Socio-Economic Survey หรือ SES Panel) ที่ติดตามกลุ่มคนกลุ่มเดิมระหว่างปี 2005–2012 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนกลุ่มที่แต่งงานแล้วและมีลูก ที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ต่อครัวเรือนทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนที่แต่งงานแล้วและไม่มีลูก ที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มคงที่ เช่นเดียวกับการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ของกลุ่มคนโสดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผลการประมาณการณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า การมีลูกเล็ก (0–5 ปี) จะเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึงร้อยละ 32–34 ความสัมพันธ์เชิงบวกดังกล่าว มีสาเหตุจากความต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร และการสนับสนุนจากพ่อแม่ในการแบ่งเบาภาระงานบ้าน โดยงานวิจัยของ Chen et al. (2000) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา ความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีจำกัดและการขาดความยืดหยุ่นในด้านเวลาทำงานของแม่ ทำให้ภาระการดูแลเด็กและงานบ้านบางส่วนตกอยู่กับปู่ยาตายายและแม่ การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่จะทำให้แม่มีเวลามากขึ้น
นอกจากผลการศึกษาที่พบว่าการมีลูกส่งผลต่อการย้ายกลับเข้าบ้านเนื่องจากต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่าการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง โดยจากการศึกษาข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกอายุน้อย (0–5 ปี) ที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ มีอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานที่สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ถึง 10 จุด (percentage points) (ภาพที่ 2)
นอกจากนี้ ผลการประมาณการณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูก โดยเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ และผู้หญิงที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่จะมีจำนวนชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสามีหรือภรรยา ทำให้ได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้าน ส่งผลให้ผู้หญิงมีเวลาในการเข้าร่วมตลาดแรงงานมากขึ้น
ข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในหลายประเทศในเอเชีย เช่น Nakamura and Ueda (1999) ที่พบว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงที่มีลูกอ่อนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะมีโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ Shen et al. (2016) ที่พบว่า ในประเทศจีน ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่มีโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีจำนวนชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 20–26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในมิติของระดับการศึกษา งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะส่งผลเชิงบวกในกลุ่มผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด โดยจะเพิ่มโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึงร้อยละ 28 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจะมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มร้อยละ 9 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การอยู่ร่วมกันนั้นไม่มีผลกับโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่สูงทำให้ผู้หญิงมีรายได้และความสามารถที่จะจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ ซึ่งทำให้มีภาวการณ์พึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย
บทความนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาที่พบว่าการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อแรงงานหญิงไทย และยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในการดูแลบุตรหลานแทน ดังนั้น หากภาครัฐต้องการให้ผู้หญิงเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประชากรวัยทำงานในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้โดยเฉพาะในแง่ของการเลี้ยงดูบุตร โดยนโยบายที่ใช้ควรเป็นนโยบายเชิงลึก มีมิติที่กว้างและครอบคลุมกว่าการให้เงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว การจัดหาสถานเลี้ยงดูเด็กของภาครัฐที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานให้พ่อแม่วางใจได้ สถานเลี้ยงดูเด็กของภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป หรือการให้เงินสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับหน่วยงาน สถานประกอบการภาคเอกชนที่มีการจัดสรรสถานเลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน รวมถึงการสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น น่าจะเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ในการกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐอาจจำเป็นต้องเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว การอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ ดังเช่น Housing and Development Board ของประเทศสิงคโปร์ ที่มีนโยบายสนับสนุนผ่านการให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ (Proximity Housing Grant) เป็นต้น
Chen, F., Short, S.E., Entwisle, B., 2000. The impact of grandparental proximity on maternal childcare in China. Population Research and Policy Review 19(6): 571–590. doi:10.1023/A:1010618302144.
Del Boca, D., 2002. The Effect of Child Care and Part Time Opportunities on Participation and Fertility Decisions in Italy. Journal of Population Economics 15(3): 549–573. doi:10.1007/s001480100089.
Dettling, L., Hsu, J., 2018. Returning to the Nest: Debt and Parental Co-residence Among Young Adults. Labour Economics. Volume 54, October 2018, Pages 225–236.
Liao, L. & Paweenawat, S.W. 2020. Alternative boomerang kids, intergenerational co-residence, and maternal labor supply. Review of Economics of the Household (https://doi.org/10.1007/s11150-020-09524-9)
Nakamura, J., Ueda, A., 1999. On the Determinants of Career Interruption by Childbirth among Married Women in Japan. Journal of the Japanese and International Economies, 13 (1), 73–89.
Oishi, A.S., Oshio, T., 2006. Coresidence with Parents and a Wife’s Decision to Work in Japan. The Japanese Journal of Social Security Policy 5(1): 35–48.
Shen, K., Yan, P., Zeng, Y., 2016. Coresidence with Elderly Parents and Female Labor Supply in China. Demographic Research. Volume 35, Article 23, Pages 645–670. DOI: 10.4054/DemRes.2016.35.23