การวัดอัตราคิดลดโดยทดลองภาคสนามทางเศรษฐศาสตร์

excerpt
อัตราคิดลด (discount rate) คืออัตราการที่ใช้ในการแปลงมูลค่าในอนาคตมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ซึ่งสามารถช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบมูลค่าสองมูลค่าที่อยู่ในช่วงเวลาต่างกันได้ง่ายขึ้น อัตราคิดลดยังสามารถสะท้อนพฤติกรรมความอดทนของบุคคลได้ ซึ่งมีนัยยะต่อการเปรียบเทียบทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนต่าง ๆ ในเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ในการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (cost-benefit analysis) หรือการประเมินความคุ้มค่าของนโยบายสาธารณะ บทความนี้แสดงให้เห็นว่า อัตราคิดลดส่วนบุคคลสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ และยังขึ้นอยู่กับลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม
หากว่าบุคคลหนึ่งจำเป็นจะต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างที่มีผลกระทบในระยะยาว เช่น การตัดสินใจออมเงินเพื่ออนาคต การตัดสินใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพหรือการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น บุคคลนั้นจะต้องเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ (หรือความสุข) ที่จะได้ในอนาคต และประโยชน์ (หรือความสุข) ที่พึงจะได้ในปัจจุบัน โดยบุคคลจะเลือกทางเลือกที่ให้ประโยชน์สูงกว่า ฉะนั้นบุคคลจะออมเงินเมื่อผลตอบแทนในอนาคตสูงกว่าประโยชน์จากการบริโภคในปัจจุบัน บุคคลจะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหากการมีสุขภาพแข็งแรงในอนาคตมีมูลค่ามากกว่าการบริโภคอาหารหวานหรือไขมันสูงที่มีรสชาติดี บุคคลจะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเมื่อประโยชน์จากการศึกษาสูงกว่าการออกจากระบบการศึกษาแล้วเริ่มทำงานทันที ในทางเศรษฐศาสตร์ อัตราคิดลด (discount rate) คืออัตราที่ใช้ในการแปลงมูลค่าในอนาคตมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ซึ่งสามารถช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบมูลค่าสองมูลค่าที่อยู่ในช่วงเวลาต่างกันได้ง่ายขึ้น
จะเห็นได้ว่าอัตราคิดลดสามารถสะท้อนพฤติกรรมความอดทนของบุคคลได้ หากบุคคลใดมีอัตราคิดลดที่สูง (ซึ่งสะท้อนถึงความอดทนที่ต่ำ) บุคคลนี้มักจะเลือกบริโภคในปัจจุบันและยิ่งจำเป็นต้องใช้สิ่งจูงใจในอนาคตมูลค่าสูงขึ้นเพื่อจูงใจให้บุคคลนี้เลือกชะลอการบริโภคในปัจจุบันเพื่อรับผลประโยชน์ในอนาคต ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีอัตราคิดลดยิ่งต่ำ (สะท้อนถึงความอดทนที่สูง) บุคคลนี้สามารถชะลอการบริโภคในปัจจุบันเแล้วเลือกรับประโยชน์ในอนาคตด้วยสิ่งจูงใจในอนาคตที่มีมูลค่าต่ำกว่า งานวิจัยโดย Chabris และคณะ (2008) ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างอัตราคิดลดที่วัดค่าได้ในห้องทดลองและพฤติกรรมความอดทนในชีวิตจริง โดยบุคคลที่มีอัตราคิดลดสูง (มีความอดทนต่ำ) มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น มีดัชนีมวลกายสูง ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ สูงกว่าคนที่มีอัตราคิดลดต่ำ (มีความอดทนสูง)
ทั้งนี้ กรอบความคิดเกี่ยวกับอัตราคิดลดเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีว่าด้วยความพึงพอใจเมื่อมีห้วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง (time preferences) ประโยชน์ของอัตราคิดลดส่วนใหญ่จะใช้ประกอบการตัดสินใจในบริบทด้านการเงิน1 เช่น การเลือกระหว่างการใช้เงิน 10,000 บาท เพื่อบริโภคในปัจจุบัน หรือนำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนเพื่อรับเงินต้นพร้อมผลตอบแทนใน 1 ปีข้างหน้า คำถามที่สำคัญคืออัตราผลตอบแทนเท่าไรจึงจะทำให้บุคคลหนึ่งตัดสินใจที่จะลงทุน ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สำหรับคนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เลย เขาสามารถนำเงิน 10,000 บาทนี้ไปฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อรับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเมื่อครบ 1 ปี ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลมักถูกใช้เป็นอัตราคิดลดเพื่อคำนวณมูลค่าปัจจุบันของทางเลือกต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่แตกต่างกันในงานวิจัย เช่น การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (cost-benefit analysis) หรือการประเมินความคุ้มค่าของนโยบายสาธารณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นอัตราคิดลดนั้น มีข้อด้อยที่สำคัญอยู่อย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือการที่บุคคลต่าง ๆ ล้วนอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าการตัดสินใจเกิดจากการคิดอย่างมีเหตุมีผล กล่าวคือบุคคลสามารถคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตเพื่อวางแผนได้อย่างสมบูรณ์ และปฏิบัติตามแผนนั้นได้อย่างเคร่งครัด ประการที่สองคือ การใช้อัตราคิดลดเดียวกันกับทุกคนนั้นหมายความว่าบุคคลทุกคนมีอัตราคิดลดที่เท่ากัน ดังนั้น เศรษฐศาสตร์การทดลองจึงเข้ามามีบทบาทในการวัดค่าอัตราคิดลดที่แท้จริงในแต่ละบุคคล เพื่อให้การประเมินนโยบายหรือการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ มีความถูกต้องยิ่งขึ้น
การทดลองทางเศรษฐศาสตร์มักจะถามคำถามผู้เข้าร่วมการทดลองเพื่อที่จะประมาณค่าอัตราคิดลดส่วนบุคคล เช่น การให้ผู้เข้าร่วมการทดลองระบุจำนวนเงิน ที่จะทำให้ผู้ตัดสินใจไม่มีความต่างระหว่างเลือกที่จะรับเงิน 1,000 บาทอย่างแน่นอนในตอนนี้หรือเงินจำนวน บาทอย่างแน่นอนในอนาคต จะเห็นได้ว่าค่า ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และค่า นี้สามารถบ่งบอกความอดทนของแต่ละคนได้ โดยหากผู้ตัดสินใจตอบคำถามดังกล่าวโดยเวลาในอนาคตนั้นเท่ากัน สมมติว่าคือในอีกหนึ่งปีนับจากนี้ ผู้ตัดสินใจหรือบุคคลที่ให้ค่า น้อยกว่าคือผู้ที่ต้องการเงินส่วนเพิ่มน้อยกว่าสำหรับการอดทนรอเพื่อที่จะได้รับเงินในอนาคต (มีอัตราคิดลดน้อยกว่า) ซึ่งหมายความว่าผู้ตัดสินใจหรือบุคคลนั้นมีความอดทนมากกว่านั่นเอง
บทความนี้สรุปการศึกษาจาก Rochanahastin และ Horayangkura(2020) โดยนำเสนอบทสรุปเรื่องการวัดอัตราคิดลดส่วนบุคคลของประเทศต่าง ๆ จากการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ และเปรียบเทียบผลเหล่านั้นกับกรณีของประเทศไทย โดยมีนัยยะทางนโยบายคือหากผู้ตัดสินใจมีอัตราคิดลดที่แตกต่างกันไป (ตามลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม) การกำหนดนโยบายควรพิจารณาถึงลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละกลุ่มประชากร โดยนโยบายที่มีความแตกต่าง และมุ่งเป้าไปที่แต่ละกลุ่มประชากรจะมีประสิทธิผลที่ดีกว่า เช่น การกำหนดนโยบายในด้านการออม หากกลุ่มประชากรส่วนใหญ่มีความอดทนมาก คำนึงถึงอนาคตมาก รัฐอาจจะไม่ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออมเพื่ออนาคตของกลุ่มประชากรเหล่านี้เท่ากับในกลุ่มประชากรที่มีความอดทนน้อย ซึ่งคำนึงถึงปัจจุบันมากกว่าอนาคต
Fisher (1930) นำเสนอกรอบแนวคิดว่าอัตราคิดลดจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยในตลาด และ Fishburn and Rubinstein (1982) ได้วางข้อสมมติฐานว่าอัตราคิดลดในแต่ละบุคคลนั้นคงที่แม้ว่าเวลาในอนาคตจะต่างกัน (เช่น 3 เดือน หรือ 3 ปี เป็นต้น) แต่หลักฐานจากงานวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่าอัตราคิดลดแต่ละของบุคคลส่วนใหญ่นั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดย Thaler (1981) ใช้คำถามสมมติถามนักศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาและพบว่าอัตราคิดลดส่วนบุคคลมีค่าแตกต่างกันไปตั้งแต่ 1% จนถึง 345% Benzion และคณะ (1989) ใช้นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์และการเงินในประเทศอิสราเอลเป็นกลุ่มตัวอย่าง และพบว่าอัตราคิดลดส่วนบุคคลแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอย่างมีนัยสำคัญและมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลเป็นช่วงค่อนข้างกว้างแต่ช่วงอัตรานั้นต่ำกว่า Thaler (1981) มากโดยอยู่ระหว่างช่วงประมาณ 15% ถึง 60% และยังพบว่าอัตราคิดลดของแต่ละบุคคลนั้นมีค่าไม่คงที่โดยแปรผันไปตามบริบท ความห่างของระยะเวลา และมูลค่าที่ใช้ในการเปรียบเทียบ
Harrison และคณะ (2002) ตั้งข้อสังเกตว่าการทดลองที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาสำคัญสองประการ ประการแรกคือการขาดการให้แรงจูงใจที่เป็นการจ่ายเงินจริง ๆ แก่ผู้เข้าร่วมการทดลอง โดยมักจะเป็นการถามคำถามเชิงสมมติ และประการที่สองคือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือนักศึกษา ดังนั้นคณะผู้วิจัยดังกล่าวจึงใช้สิ่งจูงใจในรูปแบบเงินจริงในการทดลองภาคสนามกับประชากรทั่วไปทั่วเดนมาร์ก ทั้งนี้พวกเขายืนยันผลที่ว่าอัตราคิดลดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลแต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ตามลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอัตราคิดลดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28%, Coller และ Williams (1999) ใช้การทดลองในห้องแลปโดยให้แรงจูงใจเป็นเงินจริงในกลุ่มนักศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาและพบอัตราคิดลดในช่วง 15–25% Warner และ Pleeter (2001) ใช้ข้อมูลจากการทดลองตามธรรมชาติ นั่นคือการเลือกรับเงินชดเชยในรูปแบบที่แตกต่างกันของทหารสหรัฐอเมริกา โดยสามารถคำนวนอัตราคิดลดได้ในช่วงระหว่าง 10% ถึง 54% บทสรุปจากงานวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัตราคิดลดส่วนบุคคลนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด และสามารถถอดความได้ว่าคนส่วนใหญ่มีระดับความอดทนที่ต่ำกว่าที่ข้อสมมติฐานเชิงบรรทัดฐาน (normative assumptions) นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐสามารถที่จะดำเนินนโยบายโดยอ้างอิงจากอัตราคิดลดที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเพื่อผลักดันให้คนตัดสินใจอย่างเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่น นโยบายส่งเสริมหรือกระตุ้นการออม นโยบายกระตุ้นการออกกำลังกายและลดการบริโภคสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพหรืออบายมุข เป็นต้น
ลักษณะของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นส่งผลชัดเจนต่ออัตราคิดลดให้มีระดับที่แตกต่างกันไป งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้มีรายได้สูงมีความอดทนมากกว่าคนที่ยากจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนคำพูดอย่างไม่เป็นทางการที่มักจะได้ยินกันคือการที่คนรวยมักจะมองการณ์ไกล ส่วนคนจนมองใกล้ ซึ่งคือการตั้งข้อสมมติฐานว่าคนที่มีรายได้สูงกว่ามักมีความอดทนมากกว่า นั่นคือการที่มีอัตราคิดลดที่ต่ำกว่า และคนที่มีรายได้น้อยมักมีความอดทนน้อยกว่า นั่นคือการที่มีอัตราคิดลดที่สูงกว่านั่นเอง เช่น Lawrance (1991) ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำโดยเฉลี่ยมีอัตราคิดลดสูงกว่าผู้ที่มีรายได้สูง 3–5% Yesuf (2004) พบว่าความมั่งคั่งของครัวเรือนในแง่ของสินทรัพย์ทางกายภาพมีความสัมพันธ์อย่างมากกับความพึงพอใจเมื่อมีช่วงเวลาเป็นส่วนเกี่ยวข้องที่แตกต่างกัน โดยข้อสมมติฐานหลักคือการที่ผู้มีรายได้มีโอกาสเข้าถึงในการลงทุนมากกว่า อย่างไรก็ตามมีหลักฐานบางอย่างที่ขัดแย้งกับข้อสรุปดังกล่าว Kirby และคณะ (2002) ไม่พบความสัมพันธ์ของรายได้ต่ออัตราคิดลดในกรณีของประเทศโบลิเวีย ผลจากงานวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่านอกจากรัฐมีบทบาทในการกระตุ้นให้คนตัดสินใจโดยมีประโยชน์กับตนเองแล้ว รัฐควรที่จะกำหนดนโยบายที่มีความต่าง (heterogenous) โดยมุ่งเป้าไปในแต่ละลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มเป้าหมายจึงจะมีประสิทธิผลที่ดีกว่า
ในส่วนของการวิจัยในประเทศกำลังพัฒนานั้น Pender (1996) ได้ทำการศึกษาในชนบทของประเทศอินเดีย พบว่าผู้ปล่อยกู้ในหมู่บ้านทั่วไปคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 30% และพบอัตราคิดลดส่วนบุคคลสูงมาก ความยากจนและการขาดซึ่งความสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นทางการ เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงิน ทำให้บุคคลเหล่านี้มองการบริโภคทรัพยากรในระยะสั้นเท่านั้น Tanaka และคณะ (2010) ทำการทดลองภาคสนามในประเทศเวียดนามและพบว่าคนในหมู่บ้านที่ร่ำรวยกว่ามีความอดทนมากกว่าคนในหมู่บ้านที่ยากจน
กรณีของประเทศไทยซึ่งมีลักษณะการกระจายตัวของประชากรที่น่าสนใจคือประชากรประมาณครึ่งหนึ่ง (50.50% จากข้อมูลของ UNESCAP ในปี 2016) อาศัยอยู่ในเขตเมืองและอีกครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตชนบท ประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบทย่อมเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันอย่างชัดเจน ครัวเรือนเกษตรกรรมต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านการผลิตเช่นสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ครัวเรือนเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการเข้าถึงบริการทางการเงินหรือเงินกู้ที่จำกัดมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ในทางตรงกันข้ามคนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้ต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจหรือความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการมากขึ้น แต่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่า ดังนั้น ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาอัตราคิดลดโดยการทดลองภาคสนามในพื้นที่จริงของสองเขตที่อยู่อาศัยนี้
ผู้เขียนทำการศึกษาอัตราคิดลดส่วนบุคคลโดยเก็บข้อมูลจาก 2 อำเภอใน 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนของเมือง และอำเภอศรีพรรพต จังหวัดพัทลุง ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนชนบท และพบว่าอัตราคิดลดรายบุคคลจะอยู่ระหว่าง 25.23–28.39% (ข้อมูลรวมของทั้งสองอำเภอ)
เมื่อพิจารณาแยกรายจังหวัดพบว่า อัตราคิดลดของประชาชนในอำเภอหาดใหญ่สูงกว่าอัตราคิดลดของประชาชนในอำเภอศรีบรรพต กล่าวคือ อัตราคิดลดของอำเภอหาดใหญ่และอำเภอศรีบรรพตอยู่ระหว่าง 31.65–34.97% และ 19.13–22.13% ตามลำดับ อัตราคิดลดที่ได้จากการทดลองในงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับอัตราคิดลดที่ได้จากการทดลองโดยมีแรงจูงใจเป็นตัวเงินอื่น ๆ เช่นการทดลองในกลุ่มประชากรประเทศเดนมาร์คที่พบอัตราคิดลดรายบุคคลประมาณ 28% (Harrison และคณะ (2002)) และสอดคล้องกับข้อสรุปจากงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การทดลองที่ว่าอัตราคิดลดส่วนบุคคลสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้นเราทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้แบบจำลองสมการเชิงถดถอยแบบช่วง (Interval regression model) ผลจากการวิเคราะห์ระบุว่า หากประชาชนอยู่อาศัยในอำเภอศรีพรรพตจะมีอัตราคิดลดส่วนบุคคลต่ำกว่าประชาชนที่อยู่ในอำเภอหาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ และอาชีพเกษตรกรมีอัตราคิดลดรายบุคคลที่น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกจ้างบริษัทเอกชน เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งจากการลงพื้นที่ ผู้เขียนคาดว่าอาจจะเกิดจากการที่เกษตรกรมีความรู้ทางการเงินน้อยกว่า มีทัศนคติต่อความเสี่ยงที่แตกต่าง อีกทั้งยังเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะทำให้พวกเขาสามารถบริหารความเสี่ยงที่เผชิญได้น้อยมาก
อิทธิพลของตัวแปรด้านคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ออัตราคิดลดส่วนบุคคลที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น เพศหญิงจะมีอัตราคิดลดส่วนบุคคลที่ต่ำกว่าเพศชายประมาณ 3.86% เมื่อระดับการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราคิดลดส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดจากความรู้ทางด้านการเงินและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเช่นกัน จำนวนบุตรที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้อัตราคิดลดส่วนบุคคลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีการออมซึ่งสะท้อนถึงภาวะความอดทนในการชะลอการบริโภคในปัจจุบันไปสู่อนาคต อัตราคิดลดระดับบุคคลก็จะต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีเงินออมอย่างมีนัยสำคัญ
อัตราคิดลดมีบทบาทสำคัญในการเปรียบเทียบมูลค่าระหว่างปัจจุบันและอนาคตสำหรับการตัดสินใจดำเนินการนโยบายหรือโครงการลงทุนต่าง ๆ การใช้อัตราคิดลดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ตัวอย่างเช่นอาจทำให้เกิดการประเมินค่าเสียโอกาส ต้นทุน เงินทุน ของโครงการที่มีระยะยาวผิดพลาดได้ ผู้กำหนดนโยบายอาจเลือกทางเลือกการลงทุนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมซึ่งนำไปสู่การสูญเสียต้นทุนทางการเงินและค่าเสียโอกาสในการลงทุนโครงการอื่น ๆ จำนวนมหาศาล
ในประเด็นการตัดสินใจระดับบุคคล หากคนที่มีความอดทนพวกเขาจะสามารถวางแผนเพื่อออมเงินและลงทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมสำหรับตนเองได้ ภายใต้ข้อสมมติฐานว่าบุคคลสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามหากพวกเขาขาดความอดทนพวกเขาอาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างความพึงพอใจระยะสั้นแต่มิได้ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของตนเองไปในทางที่ไม่สร้างประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ในประเทศกำลังพัฒนาสิ่งเหล่านี้อาจหมายความว่าประชาชนไม่ได้ลงทุนอย่างเพียงพอในการดูแลสุขภาพของตนเองหรือการศึกษาของบุตรหลาน การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากเกินไป หรือการผลัดวันประกันพรุ่งในการออกกำลังกายเพื่อสร้างพลานามัยที่สมบูรณ์
ผลของการศึกษาชี้ให้เห็นว่า
- อัตราคิดลดจากการประมาณค่าโดยวิธีการทดลองทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยมาก
- อัตราคิดลดส่วนบุคคลมีความแตกต่างกัน แต่ในความแตกต่างนั้นสามารถรวมกลุ่มได้โดยแบ่งตามความแตกต่างของระดับการพัฒนาในพื้นที่ และโดยการพิจารณาปัจจัยด้านคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับบุคคลต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ จำนวนบุตร และภาวะการออม
ความแตกต่างของอัตราคิดลดระหว่างระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่และคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมแสดงให้เห็นความสำคัญในการใช้อัตราคิดลดให้ถูกต้องในการตัดสินใจทั้งในระดับบุคคลและในระดับนโยบายรัฐ ทั้งนี้การศึกษาเรื่องความพึงพอใจเมื่อมีห้วงเวลาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง (time preferences) ยังขาดความทั่วถึงในอีกหลายด้าน ดังนั้นอาจพิจารณาขยายการศึกษาอัตราคิดลดให้ครอบคลุมประชากรของประเทศให้มากขึ้น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราคิดลด ทัศนคติต่อความเสี่ยง ความรู้ทางการเงิน และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคว่ามีความคงเส้นคงวาเมื่อระยะเวลาผ่านไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการประเมินอัตราคิดลดที่มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจด้านต่าง ๆ สืบไปในอนาคต
BENZION, U., RAPOPORT, A. & YAGIL, J. 1989. Discount rates inferred from decisions: An Experimental Study. Management Science, 35, 270–284.
CHABRIS, C. F., LAIBSON, D., MORRIS, C. L., SCHULDT, J. P., & TAUBINSKY, D. (2008). Individual laboratory-measured discount rates predict field behavior. Journal of Risk and Uncertainty, 37(2–3), 237.
COLLER, M. & WILLIAMS, M. B. 1999. Eliciting Individual Discount Rates. Experimental Economics, 2, 107–127.
FISHBURN, P. C. & RUBINSTEIN, A. 1982. Time preference. International Economic Review, 677–694.
FISHER, I. 1930. Theory of interest: as determined by impatience to spend income and opportunity to invest it, Augustusm Kelly Publishers, Clifton.
HARRISON, G. W., LAU, M. I. & WILLIAMS, M. B. 2002. Estimating Individual Discount Rates in Denmark: A Field Experiment. American Economic Review, 92, 1606–1617.
KIRBY, K.N., GODOY, R., REYES-GARCIA, V., BYRON, E., APAZA, L., LEONARD, W., PEREZ, E., VADEZ, V. and WILKIE, D., 2002. Correlates of delay-discount rates: Evidence from Tsimane’ Amerindians of the Bolivian rain forest. Journal of Economic Psychology, 23(3), pp.291–316.
LAWRANCE, E. C. 1991. Poverty and the rate of time preference: evidence from panel data. Journal of Political Economy, 99, 54–77.
PENDER, J. L. 1996. Discount rates and credit markets: Theory and evidence from rural india. Journal of Development Economics, 50, 257–296.
ROCHANAHASTIN, N., & HORAYANGKURA, S. (2020). Eliciting Individual Discount Rates in Thailand: A Tale of Two Cities (No. 145). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
TANAKA, T., CAMERER, C.F. and NGUYEN, Q., 2010. Risk and time preferences: Linking experimental and household survey data from Vietnam. American Economic Review, 100(1), pp.557–71.
THALER, R. 1981. Some empirical evidence on dynamic inconsistency. Economics Letters, 8, 201–207.
WARNER, J. T. & PLEETER, S. 2001. The Personal Discount Rate: Evidence from Military Downsizing Programs. American Economic Review, 91, 33–53.
YESUF, M., 2004. Risk, Time and Land Management under Market Imperfections: Applications to Ethiopia (Doctoral dissertation, PhD Thesis, Department of Economics, Goteborg University).
- แม้ว่าจากตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่าอัตราคิดลดสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทอื่น ๆ↩