Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Latest discussion Paper
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Latest aBRIDGEd
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
Latest PIER Economic Seminar
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
Latest PIER Research Exchange
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
Latest announcement
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/c93c7fbc5059a7373d977db39983fb35/41624/Score.jpg
12 April 2022
20221649721600000

SME Digital Literacy กับระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย

ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก
SME Digital Literacy กับระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย
excerpt

การพัฒนากรอบแนวคิดชี้วัด SME digital literacy และ SME digital transformation index มีความสำคัญต่อการเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมทักษะความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันได้อย่างเหมาะสมในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิตจนส่งผลให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจถูกแปรเปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สร้างโอกาสในการเติบโตและเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการประกอบธุรกิจอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลจะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากจนอาจล้มตายจากระบบเศรษฐกิจได้

ถึงแม้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่มีคนทำงานน้อยกว่า 10 คน (micro) และผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนทำงาน 11–100 คน (small) มีช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และใช้เงินลงทุนในการเริ่มต้นธุรกิจที่น้อยลงจากการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่นำเสนอผ่าน e-commerce platform หรือ sharing platform แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทยทุกรายจะมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (digitalization) จนนำมาสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์

การส่งเสริมระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ให้แก่ผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ SMEs ซึ่งการวัดประสิทธิภาพของนโยบายส่งเสริมระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลว่าสามารถเพิ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital transformation) ให้สูงขึ้น และส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจในที่สุดหรือไม่นั้นจำเป็นจะต้องมีการวัดระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจ โดยการวัด digital literacy ดังกล่าว ไม่ควรมีความหมายแคบที่ครอบคลุมเฉพาะทักษะเชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับการใช้ software และ hardware เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีความหมายที่กว้างครอบคลุมทักษะทุกประเภทที่ทำให้บุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ

กรอบแนวคิดการวัด SME digital literacy

การพัฒนาเครื่องมือในการชี้วัด digital literacy ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับครัวเรือน เช่น เครื่องมือที่พัฒนาโดย DQ Institute (2019) ที่พยายามสร้างมาตรฐานการวัด digital literacy ด้วย DQ (Digital Intelligence Quotients) หรือเครื่องมือที่พัฒนาโดย Carretero Gomez et al. (2017) ที่เรียกว่า DigComp 2.1 เป็นต้น ดังนั้น งานวิจัยโดย Ratanabanchuen et al. (2021) จึงได้พัฒนาดัชนีชี้วัด SME digital literacy ที่มุ่งเน้นวัดระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบธุรกิจ

SME digital literacy ที่พัฒนาขึ้นนี้ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญดังแสดงในรูป 1 ได้แก่

  1. Cognitive domain
  2. Soft skill domain
  3. Digital skill domain
  4. Digital business strategy domain
  5. Cybersecurity and data protection domain
รูปที่ 1: กรอบแนวคิดการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่โครงการวิจัยนำเสนอ

กรอบแนวคิดการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่โครง การวิจัยนำเสนอ

กรอบแนวคิดนี้เกิดจากการให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ (fundamental skillsets) ซึ่งจะนำไปสู่การมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และการทำความเข้าใจตรรกะการทำงานของอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในยุคดิจิทัล (technical skillsets) โดยหากมีทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เหมาะสมแล้ว และนำไปผนวกรวมกับความรู้พื้นฐานด้านการประกอบธุรกิจและการรักษาความปลอดภัยจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีทักษะในระดับบูรณาการทางดิจิทัล (integrated skillsets)

Ratanabanchuen et al. (2021) ได้วิเคราะห์ระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของสถานประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็กในประเทศไทยจากการสุ่มตัวอย่างสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,014 แห่งใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่

  1. การบริการอาหารและเครื่องดื่ม
  2. ผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่
  3. การผลิต
  4. การขายปลีกหรือขายส่ง

พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มสถานประกอบการด้วย K-mean clustering ออกตามระดับความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ (องค์ประกอบของ cognitive และ soft skill domain) และทักษะด้านดิจิทัล (องค์ประกอบของ digital skill, digital business strategy และ cybersecurity domain) ได้เป็น 4 clusters ดังรูป 2

รูปที่ 2: การแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบธุรกิจตามกรอบแนวคิดการวัด SME digital literacy ที่นำเสนอภายใต้โครงการวิจัย

การแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบธุรกิจตามกรอบแนวคิดการวัด SME digital literacy ที่นำเสนอภายใต้โครงการวิจัย

ที่มา: กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยจำนวน 2,014 กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่

ผลการศึกษานี้ทำให้เข้าใจสถานการณ์ทักษะความรู้ของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจในไทยบางส่วนจะมีเฉพาะระดับความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจสูง ในขณะที่บางส่วนจะมีเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลสูง และส่วนใหญ่ร้อยละ 39.56 ของกลุ่มตัวอย่างมีทักษะที่ต่ำทั้ง 2 มิติ มีเพียงร้อยละ 16.85 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น digital expert ที่มีทักษะสูงในทั้ง 2 มิติ

กรอบแนวคิดการชี้วัด SME digital literacy และการแบ่งกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มนี้นำมาสู่ความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ของผู้ประกอบธุรกิจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะกับทักษะทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการใช้ software และ hardware เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานตั้งแต่ระดับการคิดเชิงวิเคราะห์ การสร้างภาพเชื่อมโยง ทักษะเสริม ทักษะพื้นฐานด้านการประกอบธุรกิจ และความรู้เรื่องของสิทธิทางกฎหมายของการใช้เอกสารและข้อมูลดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มต่าง ๆ ควรถูกส่งเสริมด้วยเนื้อหาความรู้ที่แตกต่างกันเช่น ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม digital infant ควรถูกฝึกฝนให้มีความคิดเชิงวิเคราะห์ ตรรกะเหตุและผล และการเชื่อมโยงของปัจจัยต่าง ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงให้ความรู้พื้นฐานด้านการประกอบธุรกิจ ความรู้พื้นฐานถึงสิทธิทางกฎหมายด้านข้อมูลส่วนบุคคลในโลกดิจิทัล และมุ่งเน้นสอนทักษะด้านการใช้งาน software พื้นฐานเท่านั้น เป็นต้น ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม digital expert ควรมุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องการใช้ software เฉพาะทาง เช่น data analytics, supply chain management, accounting & finance, customer relationship management และ process optimization เป็นต้น และมุ่งเน้นให้สามารถบูรณาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ หรือการบริหารช่องทางขายแบบ omnichannel ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เมื่อวิเคราะห์ด้วย multinomial logistic regression เพิ่มเติมเพื่อบ่งชี้ถึงลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจในแต่ละกลุ่ม clusters พบว่าเจ้าของธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม digital infant ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าอนุปริญญา ประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นอาชีพเสริมโดยอาชีพหลักเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน มีการประกอบธุรกิจในกลุ่มขายปลีกและ/หรือขายส่ง และการผลิตเป็นหลัก ในขณะที่เจ้าของธุรกิจที่มีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป และประกอบอาชีพหลักเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน หรือข้าราชการมักจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีระดับทักษะความรู้ดิจิทัลในกลุ่ม digital first และ digital expert โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประเภทบริหารอาหารและเครื่องดื่ม และเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่ (ครอบคลุม blogger, influencer และ youtuber)

SME digital literacy และความสัมพันธ์กับ SME digital transformation index

การชี้วัดการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลนั้นส่วนใหญ่จะมีการพัฒนามาตรวัดที่เป็นการประเมินในระดับประเทศเช่น Digital Density Index ที่พัฒนาโดย Oxford Economics (2015) หรือ Digital Economy and Society Index ที่พัฒนาโดย European Commission (2021) เป็นต้น แต่หากเป็นการวัดการเปลี่ยนผ่านในระดับสถานประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาโดยบริษัทที่ปรึกษาเช่น digital business aptitude ที่พัฒนาโดย KPMG (2015) หรือ digital maturity model ที่พัฒนาโดย Deloitte (2018) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การชี้วัดมีความเหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทย Ratanabanchuen et al. (2021) จึงได้พัฒนาเครื่องมือชี้วัดที่เรียกว่า SME digital transformation index ที่มีกรอบแนวคิดของการประยุกต์ใช้ 3 ระดับ ดังแสดงในรูป 3 ได้แก่

  1. ระดับ digitization
  2. ระดับ digitalization
  3. ระดับ digital transformation
รูปที่ 3: กรอบแนวคิดพัฒนา SME digital transformation index

กรอบแนวคิดพัฒนา SME Digital transformation index

เมื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง สามารถแบ่งกลุ่มสถานประกอบการด้วย K-mean clustering ตามระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ 4 ระดับตั้งแต่ระดับ digital laggards, digital followers, digital adopters และ digital frontrunners โดยผลการศึกษาระหว่างระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลกับระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านดัชนีชี้วัดที่โครงการวิจัยนำเสนอนี้ สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ 5 ประการดังนี้

  1. ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม digital expert มีแนวโน้มที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงที่สุด ดังแสดงในรูป 4 ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม clusters ของระดับ SME digital literacy และกลุ่ม clusters ของระดับ SME digital transformation index
รูปที่ 4: ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม clusters ของ SME digital literacy และ SME digital transformation index

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม clusters ของ SME digital literacy และ SME digital transformation index

ที่มา: กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยจำนวน 2,014 กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่
  1. ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายในกลุ่ม digital infant มีความพยายามในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยตนเองแบบลองผิดลองถูกถึงแม้จะไม่มีความรู้มากนัก เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมถึงคุณลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มนี้พบว่ามีลักษณะพื้นฐานเป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นอาชีพหลัก และหากประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นอาชีพเสริมจะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายและอนุปริญญา และมุ่งเน้นการขายปลีกหรือขายส่งเป็นหลัก ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดกลุ่ม task force เพื่อเร่งให้ความรู้กับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้เพื่อให้สามารถปรับวิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้เข้าใจการดำเนินธุรกิจจนสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

  2. ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทย ยังคงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลประโยชน์ด้านการเพิ่มยอดขายและลูกค้าเป็นสำคัญ จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มอัตราการทำกำไร หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนในการประกอบธุรกิจดังแสดงในรูป 5

    ดังนั้น การส่งเสริมทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการแบ่งกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจให้ชัดเจนหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม digital frontrunner ภาครัฐควรมุ่งเป้าให้ความรู้และเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น process automation หรือ data analytics ในขณะที่กลุ่ม digital laggards ภาครัฐจะต้องช่วยนำเสนอเครื่องมือในการเพิ่มยอดขายก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีทัศนคติเชิงบวกและเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต

รูปที่ 5: ประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทยได้รับจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทยได้รับจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ที่มา: กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยจำนวน 2,014 กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่
  1. เมื่อควบคุมด้วยปัจจัยด้านระดับการศึกษาของเจ้าของธุรกิจ ขนาดของธุรกิจ ประเภทของการประกอบธุรกิจ และลักษณะการประกอบอาชีพ (เสริมหรือหลัก) ระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการมีรายได้ที่สูง อัตราการทำกำไรและการเติบโตของรายได้ในอนาคตสูงกว่าคู่แข่ง ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างรายได้และการเติบโตในอนาคตได้

  2. การวิจัยยังพบว่าผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม digital front-runner มีสัดส่วนของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม digital laggards อย่างมากที่ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติก็ตามดังแสดงในรูป 6

รูปที่ 6: การตัดสินใจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก จำแนกตามระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล

การตัดสินใจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก จำแนกตามระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล

ที่มา: กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยจำนวน 2,014 กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง และผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่

บทสรุป

ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (SME digital literacy) และจะต้องมีกรอบการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน ไม่ควรเป็นการให้ความรู้แบบหว่านแห หรือ one-size-fit-all แต่ควรมีการกำหนดเนื้อหาทักษะให้เหมาะสมกับผู้ประกอบธุรกิจแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้ การส่งเสริมทักษะความรู้ดังกล่าวไม่ควรที่จะมีเพียงการพัฒนาหลักสูตรอบรมเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะ (consulting services) เพื่อชี้แนะแนวทางในระหว่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจ มิเช่นนั้นแล้วผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่ม digital infant (ตามมิติ SME digital literacy) และกลุ่ม digital laggard (ตามมิติ SME digital transformation index) จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจนนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในที่สุด

เอกสารอ้างอิง

Carretero Gomez, S., Vuorikari, R., & Punie, Y. (2017). DigComp 2.1: The Digital Competence Framework for Citizens with eight proficiency levels and examples of use [Scientific analysis or review, Technical guidance]. European Commission.
Deloitte. (2018). Digital Maturity Model: Achieving digital maturity to drive growth.
DQ Institute. (2019). DQ Global Standards Report 2019. DQ Institute.
European Commission. (2021). Digital Economy and Society Index 2021: overall progress in digital transition but need for new EU-wide efforts.
KPMG. (2015). Are you ready for digital transformation? Measuring your digital business aptitude.
Oxford Economics. (2015). The Digital Density Index: Guiding Digital Transformation.
Ratanabanchuen, R., Samphantharak, K., & Sathirathai, S. (2021). ทำความเข้าใจศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการชี้วัดทักษะด้านดิจิทัล และการพัฒนา SME digitization index (ระยะที่ 1). แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ.
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.
Topics: Digital EconomyBusiness Administration and Business Economics
Tags: digital literacydigital transformationmsmes
Roongkiat Ratanabanchuen
Roongkiat Ratanabanchuen
Chulalongkorn Business School
Krislert Samphantharak
Krislert Samphantharak
University of California San Diego
Santitarn Sathirathai
Santitarn Sathirathai
Sea Group

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2023 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email