ตราสารหนี้ยั่งยืน: มีแบบไหนและ Greenium คืออะไร
excerpt
การระดมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องบทบาทของภาคการเงินในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยั่งยืน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 จากร้อยละ 0.2 เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมด เป็นร้อยละ 5.0 ณ สิ้นปี 2022 และมีหลากหลายประเภทมากขึ้น บทความนี้สังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยด้านตลาดตราสารหนี้ยั่งยืน ทั้งในบริบทโลกและบริบทประเทศไทย โดยเจาะลึกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ green bond premium หรือ greenium ซึ่งก็คือการที่นักลงทุนยินยอมลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวแม้อัตราผลตอบแทนจะต่ำเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ทั่วไปที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพราะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ greenium นั้นยังไม่มีข้อสรุปจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนนัก จึงยังเป็นประเด็นที่สามารถต่อยอดได้ทั้งในด้านงานวิจัย การดำเนินนโยบายภาคการเงิน และการสนับสนุนการมุ่งสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายสัญญาความตกลงปารีสได้คือการมีเงินทุนที่เพียงพอ เพราะการปรับเข้าสู่รูปแบบเศรษฐกิจยั่งยืนจำเป็นต้องปรับวิธีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) หรือเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (adaptation) ซึ่งรวมถึงการกำหนดหรือปรับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ การเปลี่ยนกระบวนการผลิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการดำเนินชีวิตของประชากรทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ ในด้าน mitigation เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5°C หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งโลกจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปีระหว่างปี 2016–2035 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 451 และอีกกว่า 180 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปีระหว่างปี 2020–2030 ในด้าน adaptation (IPCC, 2018; Richmond et al., 2019)
การเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) เกี่ยวข้องกับสองมิติหลัก คือ
- การรับรู้และคำนึงถึงความเสี่ยงต่อระบบการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
- การที่ภาคการเงินสนับสนุนและเอื้อให้เงินทุนไหลไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืน
การเงินเพื่อความยั่งยืนจึงเกี่ยวข้องกับผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจจำนวนมากทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชน อาทิ องค์กรพหุภาคี ผู้กำกับดูแลภาคการเงินและผู้กำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ระดมทุน และผู้ลงทุนรายย่อย โดยภาคผู้กำกับดูแลจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนการมุ่งสู่ความยั่งยืนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ส่วนภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้ระดมทุนจำเป็นต้องปรับกิจกรรมทางธุรกิจให้สอดคล้องกับความยั่งยืน โดยสามารถระดมทุนได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืน ในขณะที่ผู้ลงทุนเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนผ่านการลงทุนในตราสารดังกล่าว
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นความรู้เกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยจะเจาะลึกในมิติของการระดมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้เป็นช่องทางการระดมเงินทุนที่
- มีต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับตัวกลาง
- ผู้ระดมทุนไม่ต้องเสียสิทธิ์ในการควบคุมธุรกิจเมื่อเทียบกับการระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
- มีความยืดหยุ่นในการออกแบบตราสารหนี้
นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนเป็นช่องทางการระดมทุนที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน และเป็นช่องทางที่ผู้ระดมทุนเข้าถึงผู้ลงทุนได้หลากหลายประเภท ส่วนแรกของบทความจะเล่าถึงแนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน และความแตกต่างของตราสารหนี้ยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนที่สองจะชี้ให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของตราสารหนี้ยั่งยืนทั้งในบริบทโลกและไทย ส่วนสุดท้ายจะเล่าถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับ greenium ว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียวมีความแตกต่างจากตราสารหนี้อื่น ๆ อย่างไร
การเงินเพื่อความยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนให้เงินทุนไหลไปสู่กิจกรรมยั่งยืนนั้น ครอบคลุมมิติที่กว้างกว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยครอบคลุมทั้งด้าน mitigation adaptation เศรษฐกิจ สังคม และธรรมาภิบาล2 รวมถึงมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) (UNEP, 2016) และการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (transition finance) ที่เน้นในเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและภาครัฐสามารถระดมทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้อาจหมายถึงผลิตภัณฑ์ตลาดทุน เช่น ตราสารหนี้ หรือผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (Caldecott, 2022)
เนื่องจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจจำเป็นต้องระดมเงินทุนจำนวนมาก ตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนจึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากการมีมาตรฐานอ้างอิงที่ช่วยเพิ่มความชัดเจนในเรื่องวิธีการการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ และเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้เงินทุน มาตรฐานเหล่านี้จึงเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ดังนั้น การออกตราสารหนี้ยั่งยืนจึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลจนปัจจุบันตราสารหนี้ยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้สีเขียว ตราสารหนี้เพื่อสังคม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน และตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (นิยามและมาตรฐานอ้างอิงตามตาราง 1)
ประเภทตราสารหนี้ | วัตถุประสงค์การระดมทุน | มาตรฐานอ้างอิง |
---|---|---|
ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) | เพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม | ICMA Green Bond Principles (2014) |
ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) | เพื่อใช้ในโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น การเข้าถึงสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการว่างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ | ICMA Social Bond Principles (2021) |
ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) | เพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป | ICMA Sustainability Bond Guideline (2021) |
ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) | การระดมทุนเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปซึ่งกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยผู้ออกตราสารและผลตอบแทนจะขึ้นกับการบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดดังกล่าว | ICMA Sustainability-Linked Bond Principles (2020) |
ตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Bond) | เพื่อใช้ในโครงการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดปริมาณการปล่อยมลพิษในการดำเนินกิจการของบริษัท | ICMA Climate Transition Finance Handbook (2020) |
ตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่มีการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกในปี 2007 โดยในปี 2021 มีมูลค่าการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ยั่งยืนกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. (รูปที่ 1) และเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการออกตราสารหนี้ทั้งหมดแล้ว สัดส่วนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2015 จากร้อยละ 0.2 เป็นร้อยละ 5.0 ณ สิ้นปี 2022 (รูปที่ 2) สำหรับยอดคงค้างของตราสารหนี้ยั่งยืนทั่วโลก พบว่าในช่วงเดือนมกราคมปี 2023 มียอดคงค้างที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. (Institute of International Finance, 2023) โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ หากพิจารณาการออกตราสารหนี้ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย 6 ประเทศ (รูปที่ 3) พบว่าในปี 2021 มีการออกตราสารหนี้ยั่งยืนจำนวน 24 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (Manuamorn et al., 2020)
เมื่อเปรียบเทียบตราสารหนี้ยั่งยืนประเภทต่าง ๆ จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าปริมาณการออกตราสารหนี้สีเขียวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2021 จากประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2017 ตามด้วยตราสารหนี้เพื่อสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ทำให้มูลค่าสะสมของตราสารหนี้ยั่งยืนส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้สีเขียว (ตารางที่ 2) โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 57.2 ของตราสารหนี้ยั่งยืนทั้งหมดในปี 2022 (Climate Bonds Initiative, 2022) ทั้งนี้ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนได้ออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2019 และสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ International Capital Market Association (ICMA)3 ได้ออก sustainability-linked bond principles ในขณะที่ตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่านยังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่มีหลักการอ้างอิงหรือมีกลไกการตรวจสอบ จึงอาจทำให้นักลงทุนกังวลว่าในความเป็นจริงผู้ระดมทุนจะไม่ได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการความยั่งยืน เพียงแต่เน้นให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดูยั่งยืนเท่านั้น (greenwashing) (Climate Bonds Initiative, 2022)
แม้ตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่านจะยังเติบโตอย่างช้า ๆ แต่ในอนาคตมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐ เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry) ของประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายที่จะออกตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่านจำนวน 30 รุ่นภายในปี 2023 ในขณะที่ Asian Development Bank (ADB) ได้ให้เงินสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานที่ยั่งยืนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประกาศยกเลิกการให้เงินทุนแก่บริษัทเหมืองถ่านหิน บริษัทผลิตน้ำมัน และบริษัทผลิตเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นการออกตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน
ส่วนประเทศไทยนั้นตลาดตราสารหนี้ยั่งยืนเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยในปี 2022 ตราสารหนี้ยั่งยืนมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 4.64 ของตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งหมด (ตารางที่ 3) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.06 ในปี 20194 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีนโยบายส่งเสริมการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน และได้ออกหลักเกณฑ์รับรองการออกตราสารหนี้ยั่งยืน ทั้งตราสารหนี้สีเขียวในช่วงปลายปี 2018 และตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในช่วงกลางปี 2019 รวมทั้งออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ออกนโยบายจูงใจ เช่น การประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบไฟลิ่งสำหรับการออกเสนอขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืน รวมถึงได้จัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน
งานวิจัยเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนครอบคลุมหลายมิติตั้งแต่ทฤษฎีและแนวความคิดเรื่องบทบาทของภาคการเงิน ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศต่อเสถียรภาพระบบทางการเงิน การพัฒนาเครื่องมือและกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืน และพฤติกรรมของนักลงทุนหรือผู้บริโภค คณะผู้วิจัยเสนอแบ่งงานวิจัยเป็นสามกลุ่ม
- การวางกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป (framework) การประเมินผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ และกลไกการส่งผ่านความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ผ่านการทำแบบจำลอง การสร้าง scenario หรือ stress test เพื่อให้เข้าใจกลไกการส่งผ่านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมและภาคการเงิน
- การศึกษาเพื่อให้เข้าใจอุปสรรค และผลกระทบของกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือนโยบายต่าง ๆ ต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำผลมาปรับปรุง และออกแบบนโยบาย หรือพัฒนากลไกการสร้างแรงจูงใจที่จะเอื้อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความยั่งยืน
- การนำข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาดการเงินมาวัดผล ซึ่งงานกลุ่มนี้จะวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการของตลาดเงิน การตั้งราคาของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และพฤติกรรมของผู้มีส่วนได้เสีย
โดยบทความนี้จะกล่าวถึงงานวิจัยในกลุ่มที่สาม โดยเฉพาะปรากฏการณ์ greenium ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (credit spread) ระหว่างตราสารหนี้ทั่วไปและตราสารหนี้สีเขียวของผู้ออกรายเดียวกันจะพบ credit spread ของตราสารหนี้สีเขียวที่น้อยกว่า หมายความว่าผู้ออกตราสารหนี้สีเขียวโดยเฉลี่ยมีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกกว่าการออกตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่ง Preclaw & Bakshi (2015) สังเกตเห็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 ในบทความนี้จะเล่าถึงประเด็นที่นักวิจัยให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ greenium มีจริงหรือไม่ และหากมี greenium ปัจจัยอะไรส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์นี้
ประเด็นด้าน greenium ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างนักวิจัยอย่างต่อเนื่องว่ามีอยู่จริงหรือไม่ โดยนักวิจัยกลุ่มแรกมองว่า greenium เกิดขึ้นจริงและเป็นผลจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ
- ตราสารหนี้สีเขียวสะท้อนภาพการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของผู้ออกตราสารหนี้ จึงน่าจะมีความเสี่ยง ต่ำกว่าผู้ออกตราสารหนี้ทั่วไป และนำไปสู่อัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเช่นกัน5
- ความต้องการของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกองทุนต่าง ๆ มีข้อกำหนดให้ลงทุนในตราสารที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน
- ความน่าเชื่อถือของบริษัทและโครงการ และ
- ความเต็มใจของนักลงทุนที่ยอมให้ราคาแพงเพราะเป็นตราสารที่ยึดหลักการความยั่งยืน (Pietsch & Salakhova, 2022; Tillier, 2022; UNDP, 2022)
ส่วนกลุ่มที่สองมองว่า greenium อาจเกิดขึ้นแค่ในช่วงเริ่มต้นที่ตลาดตราสารหนี้สีเขียวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Harrison et al., 2020) สอดคล้องกับรายงานโดย Climate Bonds Initiative (2022) ที่พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 การออกตราสารหนี้สีเขียวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าความต้องการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว
ผู้เขียน | ข้อมูลที่ใช้ | Green Bond Premium (Basis Points) |
---|---|---|
Löffler et al. (2021) | ตราสารหนี้สีเขียวจำนวน 1,928 รุ่นและตราสารหนี้ทั่วไปจำนวน 184,757 รุ่นทั่วโลกที่ออกในปี 2007–2019 | (–20)–(–15) |
Ehlers & Packer (2017) | ตราสารหนี้สีเขียวสกุลดอลลาร์ สรอ. และสกุลยูโรรวม 21 รุ่น ที่ออกในปี 2014–2017 และตราสารหนี้ทั่วไปที่มีวันออกใกล้เคียงกันโดยผู้ออกเดียวกัน | (–18) |
Baker et al. (2018) | ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ จำนวน 2,083 รุ่นที่ออกในปี 2010–2016 และตราสารหนี้สีเขียวโดยภาคเอกชนในสหรัฐฯ จำนวน 19 รุ่นที่ออกในปี 2014–2016 | (–7) |
Pietsch & Salakhova (2022) | ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกในกลุ่มประเทศยุโรปในปี 2016–2021 และตราสารหนี้ทั่วไปจำนวน 248 รุ่น | (–4.2) |
Zerbib (2019) | ตราสารหนี้สีเขียวจำนวน 1,065 รุ่น และตราสารหนี้ทั่วไปที่มีลักษณะเหมือนกัน 2 รุ่นที่ออกในปี 2013–2017 โดยเมื่อ matching แล้วได้จำนวน 110 คู่ | (–2) |
Meyer & Henide (2020) | ตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้ทั่วไปที่ออกโดยผู้ระดมทุนรายเดียวกันทั้งหมด 26 ราย | (–1.84) |
Larcker & Watts (2020) | ตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้ทั่วไปที่มีลักษณะเหมือนกันจำนวน 640 คู่ | – |
Ehlers & Packer (2017) | ข้อมูลในตลาดรองของดัชนีตราสารหนี้สีเขียวและดัชนีตราสารหนี้ทั่วไปทั่วโลก และใช้ข้อมูลในช่วงปี 2014–2017 | – |
Karpf & Mandel (2018) | ตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นสหรัฐฯ ในปี 2010–2016 จำนวน 1,880 รุ่น และตราสารหนี้ทั่วไปจำนวน 36,000 รุ่น | 7.8 |
Bachelet et al. (2019) | ตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้ทั่วไปทั่วโลกจำนวน 89 คู่ที่ออกในปี 2013–2017 | 2.06–5.9 |
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งพบว่า greenium เกิดขึ้นจริง โดย Zerbib (2019) ศึกษาผลกระทบของความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของนักลงทุนต่อการกำหนดราคาภายในตลาดตราสารหนี้สีเขียวทั่วโลก จากข้อมูลตราสารหนี้ในตลาดรองทั้งหมด 110 คู่ และพบว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั่วไปโดยเฉลี่ย 2 basis points (bps) สอดคล้องกับงานของ Ehlers & Packer (2017) ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างตราสารหนี้สีเขียวในตลาดแรกทั้งหมด 21 รุ่นระหว่างปี 2014–2017 และพบว่ามีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไปโดยเฉลี่ย 18 bps (รูปที่ 4) นอกจากนี้ งานศึกษาอื่น ๆ ที่ใช้ข้อมูลตราสารหนี้ทั่วโลกโดย Löffler et al. (2021) รวมทั้งงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลตราสารหนี้ท้องถิ่นสหรัฐโดย Baker et al. (2018) และงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลตราสารหนี้สกุลยูโรและดอลลาร์ สรอ. โดย Meyer & Henide (2020) ยังให้ผลการศึกษาที่สอดคล้องกับงานวิจัยข้างต้นอีกด้วย
นักวิจัยอีกส่วนหนึ่ง นักลงทุนประเมินราคาของตราสารหนี้ทั้งสองประเภทเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้นำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบทางบวกในอนาคตมาใช้ในการประเมินราคาและผลตอบแทนของตราสารหนี้ โดย Larcker & Watts (2020) ไม่พบ greenium ในตลาดหุ้นกู้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งพบว่าตราสารหนี้สีเขียวมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป โดย Karpf & Mandel (2018) ศึกษาตลาดหุ้นกู้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ ในตลาดรองในช่วงปี 2010–2016 และพบว่ามีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปประมาณ 7.8 bps6 และ Bachelet et al. (2019) พบว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียวสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป โดยเฉพาะกับตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ Ehlers & Packer (2017) ไม่พบ greenium ในตลาดรองสำหรับตราสารหนี้สีเขียวที่มีการประกันความเสี่ยง (hedged) เนื่องจากนักลงทุนในตลาดรองประเมินราคาของตราสารหนี้สีเขียวด้วยปัจจัยเดียวกันกับการประเมินราคาตราสารหนี้ทั่วไป ดังนั้น ในตลาดรองตราสารหนี้สีเขียวจึงมีราคาที่ใกล้เคียงกับตราสารหนี้ทั่วไป
ในส่วนของประเทศไทย ผลการวิจัยของ ภูวธรรมสถิต & สุภัทรกุล (2021) พบว่าเมื่อศึกษาโดยใช้ข้อมูลตราสารหนี้ยั่งยืนทั้งหมด จะไม่พบการเกิดขึ้นของ greenium อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจําแนกตามประเภทของตราสารหนี้ยั่งยืนและใช้วิธีการศึกษาที่แตกต่างกันพบว่ามีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยเมื่อใช้วิธีการศึกษา Bond Matching Principle พบว่าตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนจะมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ในขณะที่เมื่อใช้วิธีการศึกษา OLS Regression พบว่าตราสารหนี้สีเขียวมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไป และตราสารหนี้เพื่อสังคมมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายอุตสาหกรรมจะพบว่าตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยกลุมธุรกิจคมนาคมมีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งผู้วิจัยชี้ว่าอาจมีปัจจัยที่ส่งผลให้ greenium ของตราสารหนี้แตกต่างกัน เช่น ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นจากการมีรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรก่อนการออกตราสารหนี้ หรือการรายงานผลกระทบจากการดำเนินงานและมาตรวัดผลการดำเนินงาน
ถึงแม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเรื่อง greenium แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงการเกิด greenium อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ที่สนใจด้านตราสารหนี้ยั่งยืน โดยเฉพาะ greenium ให้สามารถพัฒนางานศึกษาต่อได้ในหลายแง่มุม เช่น ประเภทของพันธบัตรและวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนมีผลต่อ greenium หรือไม่ รวมถึงวิธีการตรวจสอบ (verify) ตราสารหนี้ในเรื่องความสอดคล้องกับหลักการความยั่งยืน ว่าส่งผลกระทบต่อราคามากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ งานด้านนี้ยังมีนัยต่อการดำเนินโยบายภาคการเงิน โดยเฉพาะในมุมของผู้กำกับดูแลภาคการเงินที่ต้องออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืน และพิจารณาถึงบทบาทของตลาดตราสารหนี้ในการระดมเงินทุนเพื่อกิจกรรมยั่งยืน ซึ่งอาจรวมถึงการระดมเงินทุนของภาครัฐเองที่หากมี greenium จริงจะช่วยลดต้นทุนของการระดมเงินทุนได้ อีกทั้ง งานวิจัยด้านนี้มีนัยต่อการตัดสินใจเลือกช่องทางการระดมเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
เอกสารอ้างอิง
- จากระดับการปล่อยมลพิษในปี 2010 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35–40 พันล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (GtCO2/yr)↩
- ในด้านเศรษฐกิจ จะคำนึงถึงผลกระทบของการลงทุนต่อการจ้างงาน การร่วมอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน และการมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ด้านสังคม จะคำนึงถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ส่วนด้านธรรมาภิบาล จะมุ่งไปสู่โครงสร้างการบริหารที่ดี ทั้งในเรื่องขนาด ความหลากหลาย ทักษะ ความเป็นอิสระ และรายได้ของผู้บริหาร สิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความโปร่งใส↩
- ICMA หรือ International Capital Market Association เป็นองค์กรอิสระสำหรับผู้เล่นในตลาดทุน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมมาตรฐานของตลาดทุน กำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนด้านการแลกเปลี่ยน การพัฒนาความรู้และการสื่อสารภายในตลาดทุน↩
- ตราสารหนี้สีเขียวมีการออกในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2018 อย่างไรก็ดี ตราสารหนี้สีเขียวดังกล่าวไม่ใช่ตราสารหนี้จดทะเบียน ทำให้ฐานข้อมูล iBond ซึ่งครอบคลุมเฉพาะตราสารหนี้จดทะเบียนนำเสนอข้อมูลปี 2019 เป็นต้นไป↩
- ความเสี่ยง เช่น Credit risks (ความเสี่ยงด้านเครดิต), Stranded asset risks (ความเสี่ยงสินทรัพย์ด้อยค่า หรือการที่มูลค่าของสินทรัพย์ด้อยค่าลงจนอาจกลายเป็นหนี้สิน), Operational risks (ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ) และอื่น ๆ↩
- Larcker & Watts (2020) อ้างว่างานศึกษาโดย Karpf & Mandel (2018) ไม่ได้มีการควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวกับลักษณะของตราสารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลการศึกษาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง นอกจากนี้ งานศึกษาโดย Baker et al. (2018) ซึ่งศึกษาตลาดสีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ เช่นกันในตลาดแรก ได้ผลการศึกษาที่ต่างกัน จึงให้ความเห็นว่าผลการศึกษาโดย Karpf & Mandel (2018) อาจเป็นผลการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง↩