การพัฒนาทุนมนุษย์ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์
excerpt
การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในขณะเดียวกันการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านก็เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเอาบทเรียนที่ได้จากงานวิจัยทั้งสองกลุ่มไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ
ทุนมนุษย์มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล
งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคช่วยให้เข้าใจว่า ทุนมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ งานวิจัยของ Lucas Jr (1988) Romer (1990) และ Mankiw et al. (1992) นำเสนอกรอบแนวคิดที่ว่า ทุนมนุษย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่สำคัญ บทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทุนทางกายภาพ (physical capital) ที่จะมีบทบาทน้อยลงเมื่อมีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล ในช่วงแรก งานวิจัยของ Becker (1964) และ Mincer (1974) ช่วยชี้ให้เห็นบทบาทของทุนมนุษย์ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงาน โดยใช้การศึกษาและประสบการณ์ทำงานแทนทุนมนุษย์ งานวิจัยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนของการศึกษา (returns to schooling) ซึ่งช่วยบ่งชี้ว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคชี้ให้เห็นว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงานไม่ใช่ทุนมนุษย์โดยตรง แต่เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์
ในช่วงต่อมา งานวิจัยของ Heckman et al. (2006) ได้ศึกษาบทบาทของทักษะด้านสติปัญญา (cognitive skills) และทักษะด้านสังคมอารมณ์ (social-emotional skills) ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงานและพฤติกรรมทางสังคม ผลการศึกษาพบว่า ทั้งทักษะด้านสติปัญญาและทักษะด้านสังคมอารมณ์ส่งผลต่อผลิตภาพ (productivity) ในการผลิตซึ่งส่งผลต่อค่าจ้าง ที่สำคัญ ทักษะด้านสังคมอารมณ์มีผลต่อการใช้สารเสพติด เช่น กัญชา มากกว่าทักษะด้านสติปัญญา นัยเชิงนโยบายที่สำคัญจากงานวิจัยกลุ่มนี้ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพควรให้ความสำคัญทั้งทักษะด้านสติปัญญาและทักษะด้านสังคมอารมณ์ และควรจะต้องทำความเข้าใจกระบวนการผลิตทักษะแต่ละด้าน หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ (human capital production function) เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์นั้นยังไม่มากพอที่จะช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพได้ จึงทำให้การพัฒนาทุนมนุษย์ไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร รวมไปถึงการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง การเลือกนโยบายตามความชอบส่วนบุคคลของผู้นำ และการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยเกินไป
งานวิจัยของ Cunha et al. (2010) เป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สามารถประมาณค่าฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ในรูปแบบที่สามารถตอบคำถามสำคัญหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงปฐมวัยเหมาะสมกว่าการรอลงทุนในช่วงหลัง เนื่องจากทักษะในช่วงเริ่มต้นส่งผลต่อประสิทธิภาพของการลงทุนในช่วงหลัง ผ่านกระบวนการที่การเสริมกันเชิงพลวัต (dynamic complementarity) ซึ่งหมายความว่า การลงทุนในปัจจุบันช่วยเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนในอนาคต กล่าวคือ การลงทุนในเด็กปฐมวัยช่วยเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุนในระดับประถมศึกษา ดังนั้น การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นมีโอกาสช่วยลดช่องว่างของทุนมนุษย์ระหว่างเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มอื่นได้มากกว่าการลงทุนในช่วงหลัง ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลงานวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (อาทิ Knudsen, 2004 Knudsen et al., 2006 Heckman et al., 2010 Heckman et al., 2013 Currie & Almond, 2011 Heckman & Mosso, 2014 Attanasio et al., 2020) ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างมาก
บทความนี้พิจารณาปัจจัยนำเข้าของฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ทั้งหมดสองรูปแบบ คือ คุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ในส่วนของคุณภาพการศึกษา ส่วนแรกจะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสองปัจจัยผ่านปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ของเด็กปฐมวัย ส่วนที่สองนำเสนอผลการทดลองภาคสนามที่ชี้ให้เห็นว่า การอบรมครูที่เจาะจงกับแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในส่วนของคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง บทความจะนำเสนอบทเรียนจากงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านก็เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัยในช่วงโควิด 19 สะท้อนถึงความสำคัญของโรงเรียนและความไม่พร้อมของผู้ปกครอง
การเปรียบเทียบผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness survey)1 ของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 (ก่อนการะบาดของโควิด 19) และในปีการศึกษา 2564 (หลังการะบาดของโควิด 19) ชี้ให้เห็นว่า ระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 มีค่าสูงกว่าในปีการศึกษา 2564 (รูปที่ 1 โดยเห็นได้จากรูปด้านขวามีแนวโน้มเป็นสีแดงมากกว่ารูปด้านซ้าย) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสำรวจสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในปีการศึกษา 2562 และ 2564 ดำเนินการในจังหวัดที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่อาจที่จะสรุปได้ว่าการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด 19 ทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อสรุปข้างต้นอาจประสบปัญหาการเบี่ยงเบนที่เกิดจากการมีตัวแปรไม่ครบ (omitted variable bias) ด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์อย่างง่ายดังกล่าวไม่ได้นำเอาปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยมาร่วมพิจารณาด้วย เช่น เศรษฐฐานะของครอบครัว คุณภาพการใช้เวลาร่วมกับผู้ปกครอง ระยะเวลาที่สถานศึกษาปิดเรียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันในเด็กปฐมวัยแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละรุ่น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมโดยใช้เครื่องมือทางสถิติที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
งานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (TSRS) ที่สำรวจในปีการศึกษา 2563 และจัดการกับปัญหาข้างต้นด้วยการใช้เทคนิคตัวแปรเครื่องมือ (instrumental variable approach) ซึ่งช่วยให้ผลการประมาณค่ามีความน่าเชื่อถือ และผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยกับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์และความจำใช้งาน (working memory) ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Ardington et al. (2021) Contini et al. (2021) Engzell et al. (2021) Halloran et al. (2021) Lewis et al. (2021) Maldonado & De Witte (2021) Schult & Lindner (2021) Tomasik et al. (2020) ที่พบว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ล้วนประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในนักเรียนระดับประถมตอนปลายหรือมัธยมในประเทศแถบตะวันตกเท่านั้น ต่างจากงานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่สามารถประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยได้ ทั้งนี้เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบตะวันตก แต่ก็มีการระบาดมากพอที่ทำให้ต้องปิดสถานศึกษาบางส่วน ทำให้ทีมวิจัยสามารถดำเนินการสำรวจความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยในช่วงปี 2564 ได้
บทเรียนสำคัญจากข้อค้นพบนี้ คือ โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน คำถามที่ตามมาจากข้อค้นพบที่ว่าโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัย คือ จะยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยให้สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร? คำตอบที่ได้เรียนรู้จากการประเมินผลด้วยการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial: RCT) คือ การพัฒนาครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยได้จริง
โครงการไรซ์ไทยแลนด์เริ่มต้นจากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ James J. Heckman (Heckman et al., 2010; Heckman et al., 2013) ที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการ Perry Preschool มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 กล่าวคือ การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสังคมโดยรวมประมาณ 7 ถึง 12 บาท ดังนั้น จึงเลือกนำเอาหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ Perry Preschool มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการนำไปทดลองใช้ที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ด้วยการสุ่มเลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จำนวน 19 แห่ง (จากทั้งหมด 50 แห่ง) ให้มีครูปฐมวัยที่จัดหาโดยโครงการร่วมสอนด้วยกระบวนการไฮสโคปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีการศึกษา
ผลการประเมินพบว่า เด็กปฐมวัยที่เรียนใน ศพด. ที่มีครูปฐมวัยของโครงการร่วมสอนมีพัฒนาการสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 0.4 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Chujan & Kilenthong, 2021 และ Kilenthong & Chujan, 2019) อย่างไรก็ตาม การจัดจ้างครูปฐมวัยเพิ่มเติมมีต้นทุนสูง ยากต่อการนำไปขยายผล และการร่วมสอนของครูโครงการยังไม่สามารถช่วยให้ครูที่สอนอยู่เดิมสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้มากเท่าที่ควร ทีมงานไรซ์ไทยแลนด์จึงได้พัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นวิธีการอบรมครูปฐมวัยที่เข้มข้นและเน้นการปฏิบัติการสอนในห้องเรียนจริงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยของ Kilenthong et al. (2023) ดำเนินการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุมเพื่อประเมินประสิทธิภาพของพัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง2ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างปีการศึกษา 2563 ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด 19 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) การทดลองนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบคำถามว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยให้ครูปฐมวัยจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ได้ดีเพียงใด และสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีทักษะสูงกว่าการได้เรียนในรูปแบบปกติมากน้อยเพียงใด
ผลการประเมิน พบว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะคุณภาพของการจัดกิจกรรมวางแผน-ลงมือปฏิบัติ-ทบทวน (Plan-Do-Review หรือ PDR) ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของหลักสูตรไฮสโคปและคุณภาพโดยรวมของห้องเรียน แต่ไม่มีผลต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนและการบริหารของโรงเรียน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะการทดลองครั้งนี้ไม่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานศึกษาแต่อย่างใด
ที่สำคัญ การวิจัยครั้งนี้ พบว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยให้ประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากการที่ทักษะส่วนเพิ่มของเด็กปฐมวัยเฉลี่ยต่อวันที่ไปโรงเรียน (daily learning gains) ในกลุ่มทดลองมีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งในด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวม (รวมคณิตศาสตร์และภาษา) ประมาณ 0.0578 0.0795 และ 0.0664 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) ดูรูปที่ 2 ประกอบ กล่าวคือ การเรียนหนึ่งวันในห้องเรียนกลุ่มทดลองช่วยให้เด็กมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวมเพิ่มมากกว่าการเรียนในห้องเรียนกลุ่มควบคุมประมาณร้อยละ 39 69 และ 49 ของทักษะส่วนเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่มควบคุม ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัยมีลักษณะเป็นแบบลู่ออก (divergent process) กล่าวคือ เด็กปฐมวัยที่มีทักษะเริ่มต้นดีกว่ามีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าหรือมีทักษะส่วนเพิ่มที่สูงกว่า ดังนั้น นโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุนมนุษย์จึงควรเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ Cunha et al. (2010)
นัยที่ได้จากการศึกษาที่ควรส่งเสริมให้นำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบการอบรมครู 2 ข้อหลักคือ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงควรมีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง และ 2) มีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วน อันดับแรก การอบรมนี้พยายามพัฒนาทักษะการสอนที่เจาะจงกับแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งในที่นี้หมายถึง การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางของไรซ์ไทยแลนด์ คุณสมบัติข้อนี้ตรงกับข้อค้นพบในงานวิจัยของ Popova et al. (2022) ที่ระบุว่า การอบรมครูที่มีประสิทธิภาพมักจะมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมจะได้รับแผนการสอนรายวันสำหรับทุกวันตลอดทั้งปีการศึกษา ซึ่งช่วยให้ครูปฐมวัยสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยาก คุณสมบัติข้อนี้สอดคล้องกับข้อสรุปในงานวิจัยของ Andrew et al. (2022) และ Banerjee et al. (2007) ที่ระบุว่า รายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับทักษะของผู้เรียน
การพัฒนาครูปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า (cost-effective) โดยมีต้นทุนส่วนเพิ่มต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ต่อนักเรียนหนึ่งคน (ประมาณ 33 ดอลลาร์สหรัฐ) และมีขนาดของผลกระทบประมาณ 0.60 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน หากครูที่ได้รับการอบรมสามารถจัดการเรียนรู้แบบใหม่ได้ครบหนึ่งปีการศึกษา3 ซึ่งมีต้นทุนต่อหัวใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาครูปฐมวัยในประเทศโคลอมเบีย (Andrew et al., 2022) ที่มีต้นทุนประมาณ 47 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ขนาดของผลกระทบของการพัฒนาครูปฐมวัยในประเทศโคลอมเบียมีค่าประมาณ 0.17 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ถึงแม้ว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ยังประสบปัญหาในการขยายผล ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยังขาดแรงจูงใจ นับตั้งแต่เริ่มจัดการอบรมอย่างเป็นระบบในปีการศึกษา 2560 มีสถานศึกษาปฐมวัยเข้าร่วมอบรมเพียง 235 แห่ง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่สถานศึกษาปฐมวัยส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมาพร้อมกับความพยายามที่มากขึ้น ทำให้ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting program) ซึ่งเป็นวิธีการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองให้สามารถทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้ปกครองน่าจะมีแรงจูงใจในการอยากเห็นบุตรหลานมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเนื่องจากการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด 19 ยังสะท้อนปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ครอบครัวขาดความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเอง ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับระดับพัฒนาการของเด็ก เพื่อทดแทนกิจกรรมที่โรงเรียนมีให้ได้ โดยจะเห็นได้จากข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data)4 ที่สะท้อนให้เห็นว่า ในระหว่างปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดสถานศึกษาเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 อย่างยาวนาน แต่ผู้ปกครองกลับอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2563 และ 2565 (รูปที่ 3 ด้านซ้าย)
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในช่วงปิดสถานศึกษาส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะครัวเรือนยังการขาดความพร้อมทางวัตถุ และส่วนหนึ่งจากการขาดความรู้ความเข้าใจด้านพัฒนาการของเด็ก จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้ถดถอยนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างมีหนังสือน้อยมาก และโดยปกติจะอ่านหนังสือที่เด็กยืมมาจากโรงเรียนเป็นหลัก5 โดยผลการสำรวจสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย พบว่า ครัวเรือนไทยมีจำนวนหนังสือนิทานโดยเฉลี่ยเพียงแค่ครัวเรือนละ 4 เล่ม และกว่าร้อยละ 43 ของครัวเรือนไม่มีหนังสือนิทานที่บ้านเลย นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในช่วงปฐมวัยที่คลาดเคลื่อน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ดีแต่ต้องใช้เวลาและความพยายามสูง
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กกลุ่มตัวอย่างใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นในช่วงที่มีการปิดสถานศึกษา ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ยังชี้ให้เห็นว่า ในระหว่างปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดสถานศึกษาเนื่องจากการระบาดของโควิด 19 นั้น เด็กกลุ่มตัวอย่างใช้เวลากับหน้าจอ6เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน (รูปที่ 3 ด้านขวา) อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ การใช้เวลากับหน้าจอในปีการศึกษา 2565 กลับเข้าสู่ระดับปกติใกล้เคียงกับปีการศึกษา 2563
คำถามที่ตามมา คือ เราจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปกครองอย่างไร จึงจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยในอนาคต งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting program) สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ Grantham-McGregor et al. (1991) Gertler et al. (2014) Walker et al. (2022) Attanasio et al. (2020) และ Heckman et al. (2020)
หลักสูตรการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านที่ได้รับความสนใจและนำไปขยายผลทั่วโลกหลักสูตรหนึ่ง คือ หลักสูตร Reach Up ซึ่งเน้นการกระตุ้นพัฒนาการ (psychosocial stimulation) การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่และเด็ก (positive mother-child interaction) การให้กำลังใจ (positive reinforcement) ทั้งเด็กและผู้ปกครอง และเน้นการสาธิตการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก (role modeling) โดยเจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้าน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Kilenthong, 2023)
ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของกิจกรรมการเยี่ยมบ้านของหลักสูตร Reach Up สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเอาหลักสูตร Reach Up ไปทดลองใช้ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ลพบุรี นครนายก สงขลา และพัทลุง ที่สำคัญ ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านดังกล่าว โดยจะเก็บข้อมูลพัฒนาการเด็กเพื่อประเมินว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งไปกว่านั้น จะเก็บข้อมูลการลงทุนของผู้ปกครอง (parental investment) ทั้งในรูปของเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและการจัดหาสื่ออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าสำคัญของฟังก์ชันการผลิตทุนมนุษย์ โดยปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านเพื่อพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง คาดว่าจะเก็บข้อมูลหลังการทดลองในช่วงปลายปี 2566 และน่าจะทราบผลการทดลองเบื้องต้นในช่วงกลางปี 2567
นอกจากนี้ งานวิจัยของ Attanasio et al. (2019) ได้พยายามประเมินว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านสามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อของผู้ปกครองเกี่ยวกับบทบาทของการลงทุนต่อพัฒนาการเด็กมากน้อยเพียงใด ผลการวิจัยพบว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านยังไม่สามารถส่งผลต่อความเชื่อของผู้ปกครองได้ และผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทำกิจกรรมร่วมกับเด็กมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกๆ ที่พยายามตอบคำถามที่สำคัญนี้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า ผู้ปกครองไทยเชื่อว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทำกิจกรรมร่วมกับเด็กแตกต่างจากค่าที่ควรจะเป็นอย่างไร และกิจกรรมการเยี่ยมบ้านที่ดำเนินการในประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อของผู้ปกครองเกี่ยวกับผลตอบแทนของการลงทุนในเด็กปฐมวัยได้หรือไม่
การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง ในขณะเดียวกัน งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้น กิจกรรมทั้งสองรูปแบบอาจเป็นนโยบายที่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องค้นหาคำตอบเพิ่มเติมอีกว่า กิจกรรมทั้งสองรูปแบบสามารถใช้ทดแทนกันได้ (substitute) หรือเป็นแบบเสริมกัน (complement) ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจัดให้มีการทดลองที่มีทั้งกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและกลุ่มที่ได้รับทั้งสองกิจกรรม ซึ่งจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ควรออกแบบนโยบายโดยใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือจำเป็นต้องดำเนินการทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป
เอกสารอ้างอิง
- การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีจำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่างในปีการศึกษา 2562 2563 2564 2565 จำนวน 9,526 12,345 11,674 10,141 คน ตามลำดับ↩
- การทดลองดังกล่าวแบ่งโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 19 โรงเรียน และกลุ่มควบคุมจำนวน 38 โรงเรียน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ครูปฐมวัยจากทุกโรงเรียนได้รับเชิญเข้าร่วมอบรมในชั้นเรียน (in-class training) เป็นเวลาสองวัน แต่เฉพาะครูปฐมวัยในกลุ่มทดลองจะได้รับเชิญเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) เป็นเวลา 11 วัน การทดลองนี้ประเมินคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูด้วยการสังเกตห้องเรียนโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลา 1 วัน(โดยหลักการควรจะเป็นการสังเกตห้องเรียนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในการจัดการทำให้ต้องแจ้งครูผู้สอนล่วงหน้าหนึ่ง)และประเมินทักษะของเด็กปฐมวัย โดยใช้เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (school readiness) ซึ่งเป็นการประเมินด้วยการทดสอบเด็กโดยตรง ช่วยให้ผลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ↩
- 3 เริ่มด้วยการแปลงทักษะส่วนเพิ่มต่อวันด้านวิชาการโดยรวมจากหน่วยคะแนนเป็นหน่วยความเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากผลการประมาณค่าที่พบว่า ส่วนเพิ่มต่อวันเท่ากับ 0.0664 คะแนน และความเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 21.325 คะแนน ดังนั้น ทักษะส่วนเพิ่มต่อวันด้านวิชาการโดยรวมมีค่าเท่ากับ 0.00302 เท่า ของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน หากสมมุติเพิ่มเติมว่าหนึ่งปีการศึกษามีเวลาเรียนทั้งหมด 200 วัน จะสามารถคำนวณขนาดของผลกระทบของการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงได้เท่ากับ 0.60 เท่า ของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (0.00302 x 200)↩
- ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) เริ่มต้นสำรวจข้อมูลครั้งแรกในปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ และติดตามเด็กกลุ่มตัวอย่างคนเดิมต่อเนื่องมาทุกปี ปีละหนึ่งรอบ และวางแผนจะเก็บต่อเนื่องไปทุกปี โดยในปี 2565 มีเด็กกลุ่มตัวอย่างที่อายุระหว่าง 7 ถึง 11 ปีจำนวน 1,261 คน↩
- เด็กกลุ่มตัวอย่างของไรซ์ไทยแลนด์จะได้เข้าร่วมกิจกรรมพานิทานกลับบ้านที่สถานศึกษาจัดขึ้น โดยเด็กจะยืมหนังสือนิทานจากสถานศึกษากลับมาให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มเวลาคุณภาพระหว่างเด็กและผู้ปกครอง↩
- หมายความถึงหน้าจอทุกชนิด เช่น หน้าจอโทรศัพท์ หน้าจอแท็บเล็ต และหน้าจอคอมพิวเตอร์↩