Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/108ee0a229c9c68179460e3f9b27c2df/41624/cover.jpg
8 มีนาคม 2566
20231678233600000

การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง (parenting): บทเรียนจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)

หลักฐานจากงานวิจัยที่ใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ยืนยันว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยสามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง (parenting): บทเรียนจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)
excerpt

หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลโดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) จำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (home visiting parenting program) ที่พยายามส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาการโดยผู้ปกครอง (parental stimulation) และยกระดับสภาพแวดล้อมของครอบครัว (home environment) เป็นแนวทางที่สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยและลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (อาทิ Knudsen, 2004; Knudsen et al., 2006; Cunha et al., 2010; Heckman et al., 2010; Heckman et al., 2013; Currie & Almond, 2011; Heckman & Mosso, 2014; Attanasio et al., 2020) ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) อย่างมาก คำถามที่ตามมาคือ การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยวิธีใดบ้างที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการลงทุน โดยทั่วไป เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้ผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้ที่โรงเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน และการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ทุกช่องทางต่างมีความสำคัญ และยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ว่า ช่องทางใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ดังนั้น เพื่อให้บทความมีความชัดเจน บทความนี้จึงพิจารณาเฉพาะช่องทางการอบรมเลี้ยงดูเท่านั้น กล่าวคือ บทความนี้นำเสนอหลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลของการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว (parenting interventions) โดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial: RCT)

การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว (parenting interventions) ดำเนินการบนพื้นฐานที่ว่า พัฒนาการของเด็กปฐมวัยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของครอบครัว (home environment) และ การกระตุ้นพัฒนาการโดยผู้ปกครอง (parental stimulation) แต่บางครอบครัวอาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก ผู้ปกครองจึงควรได้รับคำแนะนำ การช่วยเหลือ และการสนับสนุน ทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและแนวทางการเลี้ยงดูเด็กผ่านการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดู ยิ่งไปกว่านั้น มีงานวิจัยในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ Grantham-McGregor et al. (1991) Gertler et al. (2014) Walker et al. (2022) Attanasio et al. (2020) และ Heckman et al. (2020)

หลักสูตรการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (home visiting parenting program) ที่ได้รับความสนใจและนำไปขยายผลทั่วโลกอันหนึ่งคือ หลักสูตร Reach Up ซึ่งพัฒนาในประเทศจาไมก้า โดยทีมงานของคุณหมอ Sally Grantham-McGregor หลักสูตร Reach Up เน้นการกระตุ้นพัฒนาการ (psychosocial stimulation) และการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างแม่และเด็ก (positive mother-child interaction) ผ่านการสนทนากับเด็ก การบอกชื่อสิ่งของหรือการกระทำ การเล่นกับเด็ก สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน การทดลองในภาคสนามก็ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูที่ได้ผล มักจะอยู่ในรูปของกิจกรรมที่เน้นการให้กำลังใจ (positive reinforcement) ทั้งเด็กและผู้ปกครอง และเน้นการสาธิต การทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก โดยเจ้าหน้าที่เยี่ยมบ้านจะสาธิตการทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ส่งเสริมและให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง

งานวิจัยของ Grantham-McGregor et al. (1991) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นแรก ๆ ที่มาจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่ช่วยยืนยันถึงประสิทธิภาพของหลักสูตร Reach Up งานวิจัยชิ้นนี้ทดลองพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุ 9–24 เดือนที่มีภาวะแคระแกร็นรุนแรง (stunned) ในประเทศจาไมก้า จำนวน 129 คน โดยแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มควบคุม (Control) จำนวน 33 คน
  • กลุ่ม Stimulated ที่ได้รับการส่งเสริมให้ผู้ปกครองกระตุ้นพัฒนาการ (psychosocial stimulation) ของเด็กปฐมวัยผ่านการเยี่ยมบ้านรายสัปดาห์ จำนวน 32 คน
  • กลุ่ม Supplemented ที่ได้รับอาหารเสริมประเภทนมผงสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม จำนวน 32 คน และ
  • กลุ่ม Both Stimulated and Supplemented ที่ได้รับทั้งการเยี่ยมบ้านและอาหารเสริม จำนวน 32 คน

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามเก็บข้อมูลเด็กที่ไม่มีแคระแกร็นรุนแรงจำนวน 32 คน เพื่อเปรียบเทียบด้วย ผลการวิจัยยืนยันว่า การส่งเสริมให้ผู้ปกครองกระตุ้นพัฒนาการของเด็กปฐมวัยผ่านการเยี่ยมบ้านรายสัปดาห์สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังแสดงในรูปที่ 1 ด้านล่าง

รูปที่ 1: พัฒนาการเด็กในแต่ละระดับอายุงานวิจัยของ Grantham-McGregor et al. (1991)

พัฒนาการเด็กในแต่ละระดับอายุงานวิจัยของ @grantham1991nutritional

หมายเหตุ: พัฒนาการเด็ก (DQ) ประเมินโดยใช้ Griffiths mental development scales (Griffiths, 1967)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินผลของหลักสูตร Reach Up ในระยะยาว งานวิจัยของ Gertler et al. (2014) และ Walker et al. (2022) ติดตามสำรวจกลุ่มตัวอย่างในขณะที่อายุ 22 ปี และพบว่า การทดลองพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูดังกล่าวส่งผลดีในระยะยาว กล่าวคือ กลุ่มทดลอง (กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสองขวบ) มีระดับการศึกษา รายได้ ระดับสติปัญญา (IQ) และ executive functions ที่สูงกว่า และมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (ดูรูปที่ 2 และ 3 ประกอบ)

รูปที่ 2: ผลกระทบระยะยาวของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศจาไมก้าด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ผลกระทบระยะยาวของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศจาไมก้าด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ที่มา: Gertler et al. (2014)
รูปที่ 3: ผลกระทบระยะยาวของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศจาไมก้าด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ผลกระทบระยะยาวของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศจาไมก้าด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ที่มา: Walker et al. (2022)

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยยืนยันถึงประสิทธิภาพของหลักสูตร Reach Up ผ่านวิธีการวิจัยที่มีคุณภาพทำให้หลายประเทศได้นำหลักสูตรไปปรับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ตัวอย่างสำคัญอันหนึ่งคือ โครงการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านในประเทศโคลัมเบีย ซึ่งดำเนินการในช่วงปี 2010 ถึง 2012 โดยดำเนินการกับเด็กที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (conditional cash transfer) จุดเด่นของโครงการนี้คือ เป็นโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยจำนวนกว่า 1,400 คน จาก 96 ชุมชน และที่สำคัญ โครงการนี้ทดลองใช้อาสาสมัครในชุมชนเป็นผู้เยี่ยมบ้าน โดยจ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนครั้งที่ทำกิจกรรมเยี่ยมบ้านสำเร็จ อาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองผู้หญิงจากกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญทางสาธารณสุขหรือพัฒนาเด็กแต่อย่างใด ขอเพียงอ่านออกเขียนได้ และสามารถเข้าใจรายละเอียดของหลักสูตร

การที่อาสาสมัครผู้เยี่ยมบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความสำคัญต่อการขยายผลของโครงการอย่างมาก เพราะหากต้องดำเนินการโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจะส่งผลให้ต้นทุนสูงและที่สำคัญคือขาดแคลนผู้เยี่ยมบ้านที่มีความเชี่ยวชาญ โครงการนี้ประยุกต์ใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) โดยสุ่มเลือกทั้ง 96 ชุมชนออกเป็นสี่กลุ่มคือ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน กลุ่มที่ได้รับอาหารเสริม และกลุ่มที่ได้รับทั้งคู่ งานวิจัยวัดพัฒนาการเด็กโดยใช้แบบทดสอบ Bayley-III และพบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านและกลุ่มที่ได้รับทั้งคู่มีทักษะด้านสติปัญญา (cognitive) ดีกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ 0.26 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation: SD) โดยมีต้นทุนต่อหัวประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนพัฒนาการในกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (ดูรายละเอียดใน Attanasio et al., 2014)

จากผลข้างต้น Attanasio et al. (2020) จึงได้รวมกลุ่มที่ได้รับการเยี่ยมบ้านและกลุ่มที่ได้รับทั้งคู่เป็นกลุ่มทดลอง ส่วนกลุ่มควบคุมเดิมและกลุ่มได้รับอาหารเสริมเป็นกลุ่มควบคุม รูปที่ 4 แสดงผลของการทดลองที่เกิดขึ้นกับทักษะด้านสติปัญญา (cognitive) และด้านสังคม-อารมณ์ (socio-emotional) ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้ได้พยายามตอบคำถามที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมที่กระตุ้นพัฒนาการผ่านการเยี่ยมบ้านช่วยให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้นได้อย่างไร? นักวิจัยพบว่า การส่งเสริมดังกล่าวส่งผลให้ผู้ปกครองจัดหาหรือลงทุนในด้านสื่ออุปกรณ์หรือของเล่น (material investment) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบว่าส่งผลต่อการใช้เวลาทำกิจกรรมกับเด็กปฐมวัยของผู้ปกครอง (time investment) ซึ่งอาจจะดูน่าประหลาด แต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะนักวิจัยมีเพียงข้อมูลปริมาณเวลาที่ผู้ปกครองทำกิจกรรม แต่ไม่สามารถเก็บข้อมูลด้านคุณภาพของกิจกรรมที่ผู้ปกครองทำกับเด็กได้ ทั้งที่คุณภาพของกิจกรรมมีความสำคัญมาก ผู้ปกครองอาจจะไม่ได้เพิ่มเวลาแต่ทำกิจกรรมที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกัน กิจกรรมที่มีคุณภาพอาจจะต้องการสื่ออุปกรณ์หรือของเล่นที่ดีขึ้นและมากขึ้น ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่ช่วยตอบว่า การลงทุนในสื่ออุปกรณ์หรือการลงทุนด้านเวลามีประสิทธิภาพมากกว่ากัน หากสามารถตอบคำถามนี้ได้ น่าจะสามารถออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รูปที่ 4: ผลกระทบของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศโคลัมเบียด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบทักษะด้านสติปัญญา (cognitive) และทักษะด้านอารมณ์สังคม (socio-emotional) ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ผลกระทบของการทดลองการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่ประเทศโคลัมเบียด้วยหลักสูตร Reach Up โดยเปรียบเทียบทักษะด้านสติปัญญา (cognitive) และทักษะด้านอารมณ์สังคม (socio-emotional) ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

ที่มา: Attanasio et al. (2020)

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีบริบทคล้ายคลึงกับสังคมไทยคือ การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านในประเทศจีน หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม China REACH ด้วยการประยุกต์ใช้หลักสูตร Reach Up ในเมืองหัวชิ (Huachi) จังหวัดกานซู (Gansu) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีครัวเรือนยากจนจำนวนมาก โครงการนี้ดำเนินการกับเด็กปฐมวัยอายุตอนเริ่มโครงการระหว่าง 6 ถึง 42 เดือน ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2015 ถึงเดือนกรกฎาคม 2017 งานวิจัยชิ้นนี้ประยุกต์ใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) โดยสุ่มแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับการเยี่ยมบ้าน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านมีพัฒนาการที่ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (ดูรายละเอียดใน Zhou et al., 2022) ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ ผลการทดลองในประเทศจีนครั้งนี้ได้ผลใกล้เคียงกับผลการทดลองครั้งแรกในประเทศจาไมก้า (Grantham-McGregor et al., 1991) อย่างมาก และมีต้นทุนต่อหัวใกล้เคียงกับกรณีของประเทศโคลัมเบีย (ประมาณ 528 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ยกตัวอย่างเช่น โครงการ China REACH ช่วยให้เด็กปฐมวัยในกลุ่มทดลองมีทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กดีกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ 0.73 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เมื่อวัดพัฒนาการเด็กโดยใช้แบบทดสอบ DENVER II ในขณะที่ โครงการ Reach Up ที่ดำเนินการครั้งแรกในประเทศจาไมก้าส่งผลต่อทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กประมาณ 0.67 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เมื่อวัดพัฒนาการเด็กโดยใช้แบบทดสอบ Griffiths mental development scales ข้อค้นพบส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่า หลักสูตร Reach Up สามารถนำไปขยายผลในประเทศที่มีบริบทที่แตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก

นอกจากประเทศโคลัมเบียและประเทศจีนแล้วยังมีอีกกว่า 13 ประเทศที่นำเอาหลักสูตร Reach Up ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย อาทิ ประเทศเปรู ประเทศโบลิเวีย ประเทศอินเดีย ประเทศบังคลาเทศ ประเทศยูกันดา ประเทศมาดากัสการ์ รวมถึงประเทศไทยที่กำลังอยู่ในระหว่างการเริ่มนำเอาหลักสูตรมาทดลองใช้ในหกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เหตุผลสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้หลักสูตร Reach Up ได้รับความนิยมคือ การที่มีเครื่องมือสนับสนุนการทำงานที่ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็กและผู้ปกครอง คู่มือสำหรับผลิตสื่อ คู่มือการอบรม รวมถึงคู่มือสำหรับดัดแปลงหลักสูตรให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่

แน่นอนว่า หลักสูตร Reach Up ไม่ใช่หลักสูตรการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านอันแรกและอันเดียวที่มีอยู่ หลักสูตรที่เป็นที่รู้จักและได้รับการส่งเสริมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) คือ หลักสูตร Care for Child Development (CCD) ซึ่งมีหลักการคล้ายคลึงกับหลักสูตร Reach Up แต่มีความเข้มข้นน้อยกว่า และยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มาจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) อีกหลักสูตรที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ หลักสูตร Preparing for Life (PFL) ซึ่งได้ทดลองใช้ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ระหว่างปี 2008 ถึงปี 2015 โดยสุ่มเลือกเด็กแรกเกิดจำนวน 233 คนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับเพียงกิจกรรมพื้นฐาน (ได้รับของเล่นมูลค่าประมาณ 100 ยูโร และการส่งเสริมให้เข้ารับบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา) และกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมแบบเข้มข้น ซึ่งได้รับทั้งกิจกรรมพื้นฐานเช่นเดียวกับกลุ่มแรกและได้รับอีกสามกิจกรรมหลัก ได้แก่ Home Visiting (เยี่ยมบ้านเดือนละสองครั้งต่อเนื่องตลอดโครงการ) Baby Massage (พัฒนาผู้ปกครองในช่วงปีแรกหลังเกิด) และ Triple P (ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูเชิงบวกในช่วงเด็กอายุ 2–3 ปี) ผลการวิจัยพบว่า เด็กในกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมแบบเข้มข้น มีทักษะด้านสติปัญญาและด้านสังคม-อารมณ์สูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 0.67 และ 0.25 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) (ดูรายละเอียดใน Doyle, 2020)

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลโดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) จำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (home visiting parenting program) เป็นแนวทางที่สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยและลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยและลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์จึงควรให้ความสนใจกับการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน โดยควรเริ่มจากการนำไปทดลองในบางพื้นที่ พร้อมกับการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่า แนวทางหรือหลักสูตรสามารถนำมาปรับใช้ในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยให้มั่นใจมากพอจึงนำไปขยายผลต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Attanasio, O., Cattan, S., Fitzsimons, E., Meghir, C., & Rubio-Codina, M. (2020). Estimating the production function for human capital: results from a randomized controlled trial in Colombia. American Economic Review, 110(1), 48–85.
Attanasio, O. P., Fernández, C., Fitzsimons, E. O., Grantham-McGregor, S. M., Meghir, C., & Rubio-Codina, M. (2014). Using the infrastructure of a conditional cash transfer program to deliver a scalable integrated early child development program in Colombia: cluster randomized controlled trial. Bmj, 349.
Cunha, F., Heckman, J. J., & Schennach, S. M. (2010). Estimating the technology of cognitive and noncognitive skill formation. Econometrica, 78(3), 883–931.
Currie, J., & Almond, D. (2011). Human capital development before age five. In Handbook of labor economics (Vol. 4, pp. 1315–1486). Elsevier.
Doyle, O. (2020). The first 2,000 days and child skills. Journal of Political Economy, 128(6), 2067–2122.
Gertler, P., Heckman, J., Pinto, R., Zanolini, A., Vermeersch, C., Walker, S., Chang, S. M., & Grantham-McGregor, S. (2014). Labor market returns to an early childhood stimulation intervention in Jamaica. Science, 344(6187), 998–1001.
Grantham-McGregor, S. M., Powell, C. A., Walker, S. P., & Himes, J. H. (1991). Nutritional supplementation, psychosocial stimulation, and mental development of stunted children: the Jamaican Study. The Lancet, 338(8758), 1–5.
Griffiths, R. (1967). The abilities of babies. University of London Press.
Heckman, J. J., Liu, B., Lu, M., & Zhou, J. (2020). Treatment effects and the measurement of skills in a prototypical home visiting program. NBER Working Paper.
Heckman, J. J., Moon, S. H., Pinto, R., Savelyev, P. A., & Yavitz, A. (2010). The rate of return to the HighScope Perry Preschool Program. Journal of Public Economics, 94(1–2), 114–128.
Heckman, J. J., & Mosso, S. (2014). The economics of human development and social mobility. Annu. Rev. Econ., 6(1), 689–733.
Heckman, J., Pinto, R., & Savelyev, P. (2013). Understanding the mechanisms through which an influential early childhood program boosted adult outcomes. American Economic Review, 103(6), 2052–2086.
Knudsen, E. I. (2004). Sensitive periods in the development of the brain and behavior. Journal of Cognitive Neuroscience, 16(8), 1412–1425.
Knudsen, E. I., Heckman, J. J., Cameron, J. L., & Shonkoff, J. P. (2006). Economic, neurobiological, and behavioral perspectives on building America’s future workforce. Proceedings of the National Academy of Sciences, 103(27), 10155–10162.
Walker, S. P., Chang, S. M., Wright, A. S., Pinto, R., Heckman, J. J., & Grantham-McGregor, S. M. (2022). Cognitive, psychosocial, and behaviour gains at age 31 years from the Jamaica early childhood stimulation trial. Journal of Child Psychology and Psychiatry, 63(6), 626–635.
Zhou, J., Heckman, J. J., Liu, B., Lu, M., Chang, S. M., & Grantham-McGregor, S. (2022). Comparing China REACH and the Jamaica Home Visiting Program. National Bureau of Economic Research.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Education EconomicsDevelopment
Tags: program evaluationhome visiting parenting programchild development
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email