9 ข้อคิดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
excerpt
บทความนี้กลั่นกรององค์ความรู้ที่ได้จากงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2566 (BOT Symposium 2023) ภายใต้หัวข้อ “คน - The Economics of Well-Being” โดยตกผลึกออกมาเป็นหลักคิดและสิ่งที่ต้องทำ เพื่อการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกช่วงวัย
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ต่างมุ่งให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้มั่นคง ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่แท้จริงแล้ว การพัฒนาและดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจเหล่านี้มีเป้าหมายสูงสุด คือ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศ”
ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รังสรรค์บทประพันธ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเดิมบทความนี้เป็นบทความภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า “The Quality of Life of a South East Asian: A Chronical of Hope from Womb to Tomb” โดยบทความนี้สะท้อนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยที่พึงปรารถนาไว้อย่างรอบด้าน ถือเป็นหนึ่งในบทประพันธ์ที่ได้รับการถ่ายทอดและเผยแพร่ต่อมากที่สุดในสังคมไทย ความปรารถนาในบทประพันธ์เป็นเป้าหมายที่ควรไปให้ถึง และเชื่อมโยงกับบริบทปัจจุบันได้เป็นอย่างดี งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2566 จึงถือโอกาสนี้ทบทวนว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ในด้านใดที่เราสามารถตอบโจทย์ที่อาจารย์ป๋วยให้ไว้เมื่อ 50 ปีก่อนได้ดี และในด้านใดที่เรายังห่างไกลจากสิ่งที่ท่านหวังไว้อยู่มาก พร้อมกับมองไปข้างหน้าว่า จะมีประเด็นอะไรเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดคุณภาพชีวิตของเราบ้างในอนาคต และเราจะพัฒนาโอกาสและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
บทความนี้ตกผลึกองค์ความรู้จากงานสัมมนาวิชาการดังกล่าวออกเป็นข้อคิดสำคัญและแนวนโยบายที่สามารถทำได้ทั้งหมด 9 ประการ ดังต่อไปนี้
9 ข้อคิดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายเดียวของการดำเนินนโยบายสาธารณะ และไม่สามารถใช้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนได้ทั้งหมด
กรอบแนวคิดและการวัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี และความพึงพอใจในชีวิตของประชาชนด้วยทุนมนุษย์ซับซ้อน และมีหลายมิตินอกจากการศึกษา
การพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจถึงกระบวนการสร้าง เริ่มให้เร็วตั้งแต่ปฐมวัย และทุกภาคส่วนต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตอุปสงค์แรงงานทักษะสูงไม่เติบโตนัก ไม่สอดคล้องกับแรงงานที่มีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ค่าจ้างเพิ่มช้า เกิดการส่งผ่านปัญหาไปสู่แรงงานกลุ่มอื่น ๆ
การพัฒนาผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานต้องเริ่มต้นจากตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ทำงานสอดรับกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และมีปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนการลงทุนของภาคธุรกิจคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุไม่สามารถส่งเสริมได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
การออกแบบนโยบายสังคมสูงอายุที่มีประสิทธิภาพ ต้องยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง และอาศัยการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เข้ามาช่วยคุณภาพชีวิตที่ดีในยามชราภาพ คือ ผลผลิตของการพัฒนาทุนมนุษย์ตั้งแต่วัยเยาว์และวัยทำงาน
การออกแบบนโยบายผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วเป็นโจทย์ของการออกแบบระบบสวัสดิการทุกช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุในปัจจุบัน และผู้สูงอายุในอนาคต โดยต้องมององค์รวมทั้งระบบ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่สร้างภาระไว้ให้คนรุ่นหลังจะ “แก่ดี” และ “ตายดี” ได้ ต้อง “อยู่ดี” ก่อน
รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนดูแลตนเอง โดยเพิ่มทักษะการออม การดูแลสุขภาพ และมีการวางแผนชีวิต เพื่อให้ช่วงความมั่งคั่ง (wealth span) ขยายขึ้น และช่วงสุขภาพ (health span) ยาวนานตามช่วงชีวิต (life span)ระบบสาธารณสุขไทยกำลังมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จากการลงทุนที่สูญเปล่า ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจอันบิดเบี้ยวของทุกภาคส่วน
เราทุกคนสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง และรู้จัก ‘หยุดเชื่อ เริ่มถาม’มลพิษทางอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่อากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์
รัฐต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา โดยต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนทราบว่าอากาศสะอาดเป็นสิทธิของแต่ละคนเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกช่วงวัย
รัฐควรส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งติดอาวุธให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้รู้เท่าทันเหรียญสองด้านของเทคโนโลยี
1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายเดียวของการดำเนินนโยบายสาธารณะ และไม่สามารถใช้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนได้ทั้งหมด
กรอบแนวคิดและการวัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี และความพึงพอใจในชีวิตของประชาชนด้วย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ (รูปที่ 1) สาเหตุที่รายได้ของคนไม่ได้สัมพันธ์กับความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพึงพอใจในชีวิตไม่ได้ถูกกำหนดด้วยรายได้ที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นรายได้โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น (relative income) โดยหากมีคนที่มีรายได้สูงกว่าเรามาก ๆ ก็อาจทำให้เรามีความสุขน้อยลง แม้ว่าความจริงแล้ว รายได้ที่เป็นตัวเงินของเราจะเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ มีงานศึกษาพบว่าประเทศที่มีความสุขมากกว่าโดยเฉลี่ย คือประเทศที่มีความเท่าเทียมทางด้านรายได้มากกว่า หรือมีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า (De Neve & Powdthavee, 2016)
อีกสองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคน ซึ่งยังไม่สะท้อนอยู่ในตัวชี้วัดอย่าง GDP คือ ทุนมนุษย์ (human capital) และทุนธรรมชาติ (natural capital) โดยทุนทั้งสองประเภทนี้ได้รับการกล่าวถึงในบทประพันธ์ของอาจารย์ป๋วย ในมิติของโอกาสในการเรียน การมีโภชนาการที่ดี การทำงานอาชีพที่มีความหมาย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตอันดี (เรียกรวมกันได้ว่าทุนมนุษย์) รวมไปถึงคุณภาพที่ดินสำหรับทำมาหากิน สวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม อากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ และน้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม (เรียกรวมกันได้ว่าทุนธรรมชาติ) โดยทุนเหล่านี้เริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในระยะหลัง และ Dasgupta (2021) ได้เสนอให้มีตัวชี้วัดพัฒนาการทางเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมมากกว่า GDP ซึ่งเน้นเพียงการวัดทุนที่ผลิตขึ้นมาและจับต้องได้ (produced capital) แต่ให้รวมการวัดทุนมนุษย์และทุนทางธรรมชาติเข้าไปในตัวชี้วัดที่รวมเรียกว่า “Inclusive Wealth Index” ด้วย เพื่อสะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีข้ามรุ่น (intergeneration well-being) ของคนในประเทศได้ดีกว่า1 การสร้างตัวชี้วัดที่ครอบคลุมเช่นนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดกรอบแนวคิดและการวัดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้
การพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจถึงกระบวนการสร้าง เริ่มให้เร็วตั้งแต่ปฐมวัย และทุกภาคส่วนต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต
ทุนมนุษย์คือคุณภาพของคน ที่สะท้อนได้จากศักยภาพของคนในการทำงานและความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 5 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
- สุขภาพร่างกายและจิตใจ
- ความมีตัวตน (self)
- ทักษะการแก้ปัญหาและการดำรงชีวิต (executive function: EF)
- ทักษะการเรียนรู้ และ
- อิสรภาพทางความคิดและการใฝ่ฝัน
กระดุมเม็ดแรกของการพัฒนาทุนมนุษย์ที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากความเข้าใจร่วมกันถึงความหมายของ “ทุนมนุษย์” ข้างต้น และกระบวนการสร้างทุนมนุษย์เสียก่อน การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาทุนมนุษย์เท่านั้น เพราะการสร้างทุนมนุษย์ต้องคำนึงถึงการพัฒนาในด้านอื่น ๆ คือ
- เด็กต้องมีสุขภาพร่างกายที่ดี จึงจะสามารถพัฒนาสมองได้ดี
- เด็กต้องมีสุขภาพใจที่ดี โดยเฉพาะกระบวนการพัฒนาความมีตัวตน (self) ซึ่งการสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในช่วงขวบปีแรกของเด็กเป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง self รวมถึงการมีโอกาสเล่นและลองผิดลองถูกโดยไม่ถูกตำหนิ ลงโทษ หรือถูกตีตราฝังใจว่าเป็นเด็กที่ไม่ได้เรื่อง เพราะการพัฒนา self จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กค้นพบว่าตนเองมีศักยภาพ มีความหมาย และเป็นที่รัก
- เด็กต้องมีทักษะการแก้ปัญหาและดำรงชีวิต (EF) โดย EF จะพัฒนาจากการที่เด็กกำหนดเป้าหมาย กำกับตนเอง และทำกิจกรรมจนสำเร็จ เช่น วาดรูป อ่านนิทาน ช่วยงานบ้าน ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้ตลอดชีวิต
- เด็กต้องมีอิสรภาพในการเรียนรู้และใฝ่ฝัน โดยสังคมต้องช่วยกันโอบอุ้ม ให้โอกาสในการคิดและถาม รวมถึงรับฟังความเห็น เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพควรให้ความสำคัญกับหลักการ dynamic complementarity (กระบวนการเสริมกันเชิงพลวัต) ใน 2 ด้านสำคัญ คือ
- ต้องสร้างให้เร็ว การลงทุนในช่วงปฐมวัยได้ผลดีกว่าการรอลงทุนในช่วงหลัง เนื่องจากทักษะในช่วงปฐมวัยช่วยให้การเรียนรู้ในช่วงอายุต่อ ๆ ไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น Cunha et al., 2010 และ Heckman & Mosso, 2014) ดังนั้น การพัฒนากลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น มีโอกาสช่วยลดช่องว่างของทุนมนุษย์ได้มากกว่าการลงทุนในช่วงหลัง และ
- ต้องสร้างในวงกว้าง เพราะปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีคุณภาพในปริมาณที่มากพอ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน เสริมสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้คุณภาพชีวิต คุณภาพของคน รวมถึงค่าตอบแทนต่อคุณภาพของคนดียิ่งขึ้นไปอีก
การพัฒนาทุนมนุษย์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยงานวิจัยในอดีตได้ชี้ให้เห็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนมนุษย์พัฒนาได้ ได้แก่
- ระบบการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน การให้ความสำคัญกับครู และการสร้างแรงจูงใจให้ทั้งภาครัฐ สถานศึกษาและครูอยากจะพัฒนาคุณภาพ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนนอกเหนือจากการศึกษาด้วย เช่น ให้เด็กได้สารอาหารครบทุกมื้อ
- สถาบันครอบครัว ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การศึกษาในโรงเรียนและมีแรงจูงใจมากที่สุดในการพัฒนาเด็ก ต้องไม่มองข้ามการให้ความรัก ความเอาใจใส่ และการอบรมเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดและถูกวิธี
- ชุมชนและสังคม ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามศักยภาพ เช่น ห้องสมุดชุมชนเพื่อช่วยให้เด็กเข้าถึงหนังสือได้ หรือถ้าชุมชนมีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียน จะช่วยเพิ่มคุณภาพของโรงเรี่ยนได้
ท้ายที่สุด การวัดระดับทุนมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะเมื่อวัดระดับทุนมนุษย์ได้ ก็สามารถวัดประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายได้ และเมื่อวัดประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายได้ ก็จะสามารถนำนโยบายที่ประสบผลสำเร็จไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "If you can't measure it, you can't improve it."2
3. อุปสงค์แรงงานทักษะสูงไม่เติบโตนัก ไม่สอดคล้องกับแรงงานที่มีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ค่าจ้างเพิ่มช้า เกิดการส่งผ่านปัญหาไปสู่แรงงานกลุ่มอื่น ๆ
การพัฒนาผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานต้องเริ่มต้นจากตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ทำงานสอดรับกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และมีปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนการลงทุนของภาคธุรกิจ
แม้ว่าแรงงานไทยจะมีการศึกษาสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างที่แท้จริงเฉลี่ยของแรงงานไทยไม่ได้เติบโตมากนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง (รูปที่ 2) ต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้มีความต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น และทำให้ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย
ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ของแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มจะย้ายจากการประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะสูงไปยังอาชีพที่ใช้ทักษะปานกลาง ขณะที่กลุ่มที่จบอนุปริญญาหรือมัธยมศึกษา จากเดิมที่เคยได้ประกอบอาชีพทักษะกลาง ๆ หรือทักษะสูงอยู่บ้าง ก็ถูกผลักให้ไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ ทำให้ค่าจ้างของกลุ่มที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมีแนวโน้มลดลงไปด้วย เกิดปรากฏการณ์การโยกย้ายแรงงานและการทำงานของคนที่ไม่ตรงกับทักษะ (mismatching) ในตลาดแรงงานไทย และทำให้เกิดการส่งผ่านปัญหาจากค่าจ้างที่เติบโตต่ำของกลุ่มทักษะสูงไปสู่ค่าจ้างของกลุ่มทักษะอื่น ๆ ด้วย
ความต้องการแรงงานทักษะสูงของไทยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เกิดขึ้นจากหลายเหตุผล ทั้งการขาดแรงงานทักษะสูงที่มากเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานกลุ่มดังกล่าว ระดับการศึกษาที่ไม่ได้สะท้อนทักษะที่แท้จริง และอุปสรรคอื่น ๆ ในการลงทุนทางเทคโนโลยี (Lathapipat et al., 2023) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของรัฐ สะท้อนจากกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีการบังคับใช้ และระดับการทุจริตที่สูง ปัญหานี้จึงอาจเป็นประเด็นไก่กับไข่ กล่าวคือ เมื่อไม่มีแรงงานทักษะสูงในจำนวนที่มากพอ ก็จะไม่ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นและไม่สร้างอาชีพทักษะสูงตามมา ในขณะเดียวกัน หากมีอาชีพทักษะสูงจำนวนน้อย ก็จะไม่สามารถมีจำนวนแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยส่วนมากยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า จึงแข่งขันผ่านการลดต้นทุนเป็นหลัก โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มและไม่เน้นทำ R&D ทำให้ไม่เกิดความต้องการแรงงานทักษะสูง
นอกจากการมุ่งพัฒนาผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานในระบบแล้ว ผู้ดำเนินนโยบายยังต้องคำนึงถึงแรงงานนอกระบบด้วย เนื่องจากแรงงานในระบบย้ายออกมานอกระบบมากขึ้น (Wasi et al., 2021) ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของแรงงานนอกระบบของไทยที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น
- แรงงานขาดอำนาจต่อรองกับนายจ้าง สะท้อนจากค่าจ้างที่แนวโน้มลดลงสวนทางกับประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น
- แรงงานขาดกลไกรัฐที่จะมาช่วยสนับสนุน โดยแรงงานไม่สามารถรวมกลุ่มกันและขาดสวัสดิการและกฎหมายรับรองสิทธิ์ ในขณะที่แรงงานกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงในการทำงานสูง เช่น มีชั่วโมงการทำงานที่นานถึง 12–14 ชั่วโมง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานสูง
- ระบบการคุ้มครองทางสังคมยังผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์การจ้างงาน และระบบความคุ้มครองทางสังคมของไทยยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับกลุ่มที่เคยทำงานในระบบและย้ายมาเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย
การออกแบบนโยบายสังคมสูงอายุที่มีประสิทธิภาพ ต้องยึดผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง และอาศัยการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เข้ามาช่วย
สถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยน่าเป็นห่วง โดยผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมีมากถึง 1 ใน 3 และเมื่อมองไปข้างหน้า (รูปที่ 3) ผู้สูงอายุในอนาคตยิ่งน่าเป็นห่วง จากการที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มขาดที่พึ่งมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนของการครองโสดถาวรและสัดส่วนของผู้ที่ไม่มีบุตรที่มากขึ้น หรือมีบุตรน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตและการมีหลักประกันด้านต่าง ๆ จากครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุในอนาคตอาจจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากบุตรหลาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงที่ยังคงต้องทำงานเลี้ยงชีพอยู่
นอกจากนี้ รูปที่ 4 ยังแสดงให้เห็นว่ามีข้อควรระวังด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลายด้าน คือ สถานการณ์การอยู่ลำพัง การอาศัยอยู่ในบ้านหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และ ผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในสภาพติดเตียง เป็นต้น ปัญหาคุณภาพชีวิตเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะใน “ประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะ” เช่น ผู้สูงอายุในภาวะพิการและทุพพลภาพ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุไร้บ้าน ซึ่งเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (Suwanrada, 2023)
แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ต้องยึดผู้สูงอายุเป็นตัวตั้ง โดย
- การออกแบบนโยบายผู้สูงอายุต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน และให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น โดยต้องเป็นนโยบายที่สอดประสานกัน เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม รวมทั้งมีความคุ้มครองทางสังคมเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิต
- เน้นให้ผู้สูงอายุและสังคมปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้สูงอายุ ว่าผู้สูงอายุยังสามารถช่วยเหลือตัวเองและสังคมได้ และเข้าใจว่าการแก่ตัวลงเป็นแค่อีกช่วงหนึ่งของชีวิต แก่แล้วไม่จำเป็นต้องอ่อนแอหรือพึ่งพาคนอื่นเสมอไป โดยสามารถดูแลสุขภาพ และทำประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมได้ โดยรัฐสามารถสนับสนุนการ upskill/reskill ให้ผู้สูงอายุทำหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคมได้ เช่น การเลี้ยงดูเด็กหรือการบริการทางสังคม
การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ควรต้องมีบทบาทสำคัญในการออกแบบนโยบายผู้สูงอายุ รัฐควรเชื่อมโยงการขับเคลื่อนจากส่วนกลาง เข้ากับและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ในการสร้างสภาพแวดล้อมและโครงส้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ตามแนวคิด “ageing in place” หรือการสูงวัยในถิ่นเดิม ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังหรือผู้สูงอายุกับครอบครัวจะสามารถใช้ชีวิตยามบั้นปลายในพื้นที่ หรือชุมชนที่ตนเองคุ้นเคยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ตัวอย่างเช่น การมีบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุในหรือใกล้ชุมชน ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ สามารถเข้าใช้บริการได้สะดวก
การออกแบบนโยบายผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วเป็นโจทย์ของการออกแบบระบบสวัสดิการทุกช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุในปัจจุบัน และผู้สูงอายุในอนาคต โดยต้องมององค์รวมทั้งระบบ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่สร้างภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง
อาจารย์ป๋วยได้เคยปรารถนาไว้ว่า “เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา”
การจะทำให้สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำได้จริง และไม่เป็นภาระของวัยแรงงานปัจจุบันนั้น รัฐจำเป็นต้องออกแบบระบบสวัสดิการและจัดสรรทรัพยากรที่ชั่งน้ำหนักระหว่างผู้สูงอายุในปัจจุบันและผู้สูงอายุในอนาคตอย่างเหมาะสม โดยระบบความคุ้มครองทางสังคมหรือสวัสดิการนั้น
- ต้องครอบคลุมทุกช่วงวัย กล่าวคือ เริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเต็มศักยภาพ และต่อเนื่องด้วยสวัสดิการในวัยแรงงานที่เพียงพอให้คนได้เข้าถึงโอกาสในการหาเลี้ยงชีพและสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยสี่ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งเด็กและแรงงานในวันนี้ก็คือผู้สูงอายุในอนาคตนั่นเอง
- ควรสอดรับกับชีวิตของคนมากขึ้นและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น บางคนอาจจะไม่ได้ออกจากงานประจำไปประกอบอาชีพอิสระ แต่อาจจะออกไปเลี้ยงดูบุตร ดูแลพ่อแม่ ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างหลักประกันทางสังคมไป จึงต้องออกแบบให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนี้ ระบบความคุ้มครองและกระบวนการคัดกรองจะต้องครอบคลุมคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างเหมาะสม
- ต้องไม่ซ้ำซ้อนและทำเป็นองค์รวม ในปัจจุบันระบบความคุ้มครองทางสังคมของไทยสะท้อนการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่สอดประสานกัน ทำให้คนหนึ่งมีโอกาสได้รับสวัสดิการหลายระบบพร้อมกัน ขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้อะไรเลย การออกแบบระบบสวัสดิการจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ เพื่อนำปัญหาที่มีหลาย ๆ ด้านมารวมกันโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง แล้วจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์คนแต่ละช่วงวัย
- ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน สวัสดิการไม่ควรมากเกินความต้องการผู้รับ และมีแนวทางในการหาแหล่งรายได้ เพื่อให้ระบบความคุ้มครองทางสังคมไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง
รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนดูแลตนเอง โดยเพิ่มทักษะการออม การดูแลสุขภาพ และมีการวางแผนชีวิต เพื่อให้ช่วงความมั่งคั่ง (wealth span) ขยายขึ้น และช่วงสุขภาพ (health span) ยาวนานตามช่วงชีวิต (life span)
นอกจากความหวังต่อภาครัฐในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนแล้ว อาจารย์ป๋วยยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือตนเองด้วย สะท้อนจากประโยคสำคัญในบทประพันธ์ที่ว่า “เมื่อตายแล้วยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้…” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่มีกำลังเพียงพอย่อมสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง เพื่อที่จะได้ "อยู่ดี" "แก่ดี" และ "ตายดี" ได้ในท้ายที่สุด
การอยู่ดี คือการมีความสุขทั้งกายและใจ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดี ได้รับรู้ถึงคุณค่าของตนเองจากการทำความดีให้กับคนรอบข้างและสังคม ขณะที่การแก่ดี คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยามชราภาพ มีสุขภาพทางการเงินและมีสุขภาพกายที่ดีตามอัตภาพ โดยมีช่วงเวลาติดเตียงสั้นที่สุด และการตายดี คือการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ยอมรับการตาย ตายอย่างสงบ และมีคุณงามความดีให้ระลึกถึง
การจะ "แก่ดี" และ “ตายดี” ได้นั้น ต้อง “อยู่ดี” ก่อน เช่น หากไม่ได้เก็บออมมาตั้งแต่วัยแรงงาน เมื่อถึงวัยชราก็จะไม่มีทรัพย์สมบัติเพียงพอในการเลี้ยงชีพ หรือหากใช้ชีวิตโดยไม่รักษาสุขภาพ เมื่อถึงวัยชราก็จะมีโรครุมเร้า การวางแผนชีวิตและดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐควรสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม Witvorapong (2018) ชี้ให้เห็นว่ามีอุปสรรคสำคัญของการ "แก่ดี" และ "ตายดี" ใน 3 ประเด็น ได้แก่
- คนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองจะตายช้ากว่าความเป็นจริงและมีการเตรียมตัวตายน้อยกว่าที่ควร จากรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่าคนไทยประเมินว่าตนเองจะตายเร็วกว่าสถิติมากถึง 8 ปี นอกจากนี้ มีคนไทยเพียง 11% เท่านั้นที่เตรียมตัวตายทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน เช่น การเขียนพินัยกรรมชีวิต การจัดการมรดก และการทำประกันชีวิต (Witvorapong, 2021)
- คนไทยแก่ก่อนรวย สะท้อนจากอัตราการออมที่ยังไม่เพียงพอสำหรับใช้ในยามชราภาพ (มีช่วงความมั่งคั่งหรือ wealth span สั้น) ส่งผลให้บุตรหลานกลายเป็นที่พึ่งสำคัญของชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยชรา (Witvorapong et al., 2022)
- คนไทยดูแลสุขภาพน้อย (ช่วงสุขภาพหรือ health span ไม่ยาวนาน) และมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพซับซ้อน เช่น คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอาจจะเป็นคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเช่นกัน (Witvorapong, 2018) ทั้งนี้ ระดับการศึกษา สังคมและคนรอบข้างมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ดี (Xue & Witvorapong, 2022)
ดังนั้น หากคนไทยจะ “แก่ดี” และ “ตายดี” ได้ นอกจากรัฐจะต้องออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทุกคนมีโอกาสในการ “อยู่ดี” แล้ว แต่ละคนจำเป็นต้องสร้างเสริมองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญในเรื่องการเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล ความรอบรู้และการรักษาสุขภาพ ทักษะทางอารมณ์และสังคม เพื่อดูแลตนเองทั้งการขยาย wealth span และ health span
7. ระบบสาธารณสุขไทยกำลังมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จากการลงทุนที่สูญเปล่า ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจอันบิดเบี้ยวของทุกภาคส่วน
เราทุกคนสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง และรู้จัก ‘หยุดเชื่อ เริ่มถาม’
อาจารย์ป๋วยได้ตั้งความหวังเรื่องระบบสาธารณสุข ในยามคนไทยเจ็บป่วยไว้ว่า “ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันรักษาโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูก อย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอ หาพยาบาลได้สะดวก”
เมื่อพิจารณาในปัจจุบัน ความหวังของอาจารย์ป๋วยได้ถูกเติมเต็มในบางส่วน ตั้งแต่ปี 2545 ที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้คนไทยกว่า 76% ที่เดิมไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในรูปแบบประกันสังคมหรือข้าราชการ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้โดยทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ระบบสุขภาพของไทยจะต้องเผชิญในอนาคต สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ (ยาที่แพงที่สุดในโลกในปี 2564 ราคา 72 ล้านบาทต่อคนไข้หนึ่งคนต่อการรักษาหนึ่งครั้ง ต่อมาในปี 2565 ยาที่แพงที่สุดราคา 120 ล้านบาทต่อคนไข้หนึ่งคนต่อการรักษาหนึ่งครั้ง) หากภาครัฐไทยไม่ปรับตัว รายจ่ายด้านสุขภาพอาจปรับสูงจนเกินเป้าหมายด้านความยั่งยืนของข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้3
หนึ่งในวิธีควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คือ การลดการลงทุนที่สูญเปล่าในระบบสุขภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการผ่าคลอด ที่ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีอัตราการผ่าคลอดสูงถึง 40% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากจีน และสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 10–15% แม้ว่าการผ่าคลอดจะดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างก็ยินดีเลือก ทั้งคนไข้ (ไม่เจ็บ ได้คลอดตามฤกษ์) แพทย์ (สะดวก ลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง) โรงพยาบาล (มีรายได้เพิ่ม) และระบบประกันสุขภาพ (ตอบสนองความต้องการของผู้มีสิทธิ) แต่ก็เป็นทางเลือกที่มีผู้เสียประโยชน์โดยที่อาจไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กเองที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ สูงกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ ผู้เสียภาษีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่รอคอยทรัพยากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น
การแก้ปัญหาการลงทุนที่สูญเปล่านี้ ทำได้ในสองระดับ ได้แก่
- การจัดการเชิงระบบ ที่จำเป็นต้องประเมินความคุ้มค่าของการรักษา ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการจัดทำบัญชียาหลัก ซึ่งเป็นยาที่ประเมินแล้วว่ามีความคุ้มค่าในการรักษา (เทียบราคาต่อปีสุขภาวะ) และผู้ป่วยสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
- การจัดการในระดับบุคคล ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน และกระตุ้นให้ประชาชนที่ไปรับบริการทางการแพทย์ไม่ได้ตกลงปลงใจเชื่อในบุคลากรทางการแพทย์ไปหมดทุกอย่าง แต่รู้จัก “ตั้งคำถาม” เช่น ทางเลือกในการรักษาคืออะไรบ้าง ความเสี่ยงในการรักษาคืออะไร หากไม่เลือกวิธีรักษานี้จะเกิดผลอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้ในบริบทของการทำนโยบายอื่น ๆ ของรัฐ
รัฐต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา โดยต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนทราบว่าอากาศสะอาดเป็นสิทธิของแต่ละคน
แม้ว่าปัญหามลพิษต่าง ๆ อาจไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่นักเมื่อ 50 ปีก่อน แต่อาจารย์ป๋วยก็ได้ตั้งความหวังไว้ว่า “ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ” และ “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือ ... ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ” ราวกับล่วงรู้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศจะกลายเป็นประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน โดยมีการประเมินไว้ว่ามูลค่าความเสียหายจากมลพิษฝุ่นคิดเป็นกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)
การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ผ่านมานั้นประสบอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะจากการไม่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไข หรือการไม่ยอมแตะโครงสร้างที่แท้จริงของปัญหา ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องแก้ทั้งระบบ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการแก้ไขปัญหา ให้เข้าไปเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดและโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคือ การติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง โดยการตระหนักว่าสิทธิในสิ่งแวดล้อม รวมถึงอากาศสะอาด เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งถูกรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการเสนอร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … (ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งระบบ และมีฐานคิดสำคัญที่ทำให้แต่ละคนสามารถป้องกันตนได้ด้วยการใช้สิทธิในอากาศสะอาดที่ตนเองมี เมื่อถูกกระทบสิทธิตามที่กฎหมายรองรับไว้
รัฐควรส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งติดอาวุธให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเพื่อให้รู้เท่าทันเหรียญสองด้านของเทคโนโลยี
“ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยาก…มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดีและขายสินค้าได้ราคายุติธรรม” เป็นอีกหนึ่งความปรารถนาของอาจารย์ป๋วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคน
ทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้าน ไม่เว้นแม้แต่เทคโนโลยี คนจึงจำเป็นต้องฉลาดใช้และเลือกเอาด้านดีมาใช้ ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีที่ดีในมุมมองของอาจารย์ป๋วย อาจะไม่ใช่การเอาเทคโนโลยีมาทดแทนมนุษย์ แต่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ปลดปล่อยให้มีอิสรภาพที่จะคิด ที่จะรู้สึก ที่จะฝันและสร้างสรรค์
การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สามารถใช้ได้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI)
- ในวัยเด็ก AI สามารถสร้างอวตาร (avatar) ให้เด็กได้เรียนโดยตรงกับบุคคลสำคัญในอดีตต่าง ๆ สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
- ต่อมาในวัยทำงาน AI ก็สามารถช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ให้เราพูดคุยกับตัวเราในอนาคตที่จำลองมาจากข้อมูลในอดีตของเรา ช่วยตั้งคำถามจุดประกายความคิดของเรา (จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการพูดคุยกับตัวเราในอนาคต ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นแค่การจำลอง มีผลให้คนมีความรู้สึกว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ได้ ซึ่งตรงกับผลการวิจัยอื่น ๆ ที่บอกว่ายิ่งเราสามารถมองเห็นภาพความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากเท่าไร ก็ยิ่งจะมีโอกาสที่จะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นความจริงได้มากเท่านั้น)
- ท้ายที่สุด ในช่วงสุดท้ายของชีวิต AI ก็สามารถช่วยให้เราทิ้งเชิงตะกอนดิจิทัล (digital footprint) ที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นต่อไป
ดังนั้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ จุดสูงสุดของ AI อาจจะไม่ใช่การสร้างสิ่งที่เลียนแบบมนุษย์ได้ แต่คือการทำอย่างไรที่จะสามารถสร้าง Intelligence Augmentation for All เพื่อช่วยให้ชีวิตของทุกคนมีความหมาย มีคุณค่าทั้งกับตนเองและสังคมมากขึ้นอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ทุกภาคส่วน นำโดยภาครัฐ ต้องร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมที่โอบอุ้มความหวังของผู้คน ได้แก่ โอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และสังคมที่รับฟังเสียงประชาชน
อาจารย์ป๋วยได้ลงท้ายบทประพันธ์ไว้ว่า “นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่ควรจะให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกคน”
การจะทำให้ความหวังในคุณภาพชีวิตที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นจริงได้นั้น ต้องอาศัยระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมที่มี “โอกาส” รองรับอยู่ในตลอดช่วงชีวิต และมีสภาวะแวดล้อมที่มี “เสถียรภาพ” โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับความไม่แน่นอน และมีเวลาในการพัฒนานวัตกรรมอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ มีตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศที่ผู้คนหมดหวัง พยายามหาทางอพยพไปตั้งหลักแหล่งและหางานในประเทศอื่น เพราะขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจไม่เติบโตและขาดเสถียรภาพ
ในทางกลับกัน การสร้างระบบนิเวศดังกล่าวก็จำเป็นต้องมี “ความหวัง” ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นหมุดหมายนำทางของคนในสังคม เพราะเมื่อผู้คนมีความหวังย่อมเป็นแรงขับเคลื่อนให้พยายามไปให้ถึง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังตกอยู่ในความโกรธที่เสียงของพวกเขาไม่ได้ยินและตอบสนอง ตกอยู่กับความกลัวจากความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และตกอยู่กับความเหงาจากการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในสังคม ถึงขั้นที่อาจจะทำให้หมดความหวังได้ การจะทำให้ความหวังของผู้คนยังอยู่ได้ ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและสังคมจึงจำเป็นต้องมี “พื้นที่” ที่รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริงด้วย ให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็น และนำไปปฏิบัติจริง หากความคิดเห็นนั้นมีเหตุมีผล
ท้ายที่สุด การสร้างระบบนิเวศพร้อมกับการยังคงรักษาความหวังนี้ไว้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แม้บทความของอาจารย์ป๋วย จะกล่าวถึงบทบาทของรัฐในการทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยส่วนใหญ่ แต่ยังมีมิติของการพึ่งพาตนเองแฝงอยู่ การมีความหวังแล้วลงมือทำเต็มที่จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการไปให้ถึงหมุดหมาย ขณะเดียวกัน ความพยายามของคนเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะต้องอาศัยรัฐในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยโอกาสและเสถียรภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- อ่านเรื่อง Inclusive Wealth Index เพิ่มเติมได้จาก United Nations (2023)↩
- ในประเทศไทยก็เริ่มมีความพยายามการดำเนินในด้านดังกล่าวบ้างแล้ว เช่น การนำวิธีวิจัยเชิงทดลองเข้ามาช่วยวัดผลของนโยบายว่า การลงทุนแบบไหนที่เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ชัดเจน หรือการประเมินการอบรมครูแบบ on-site training ที่ครูสามารถนำไปใช้สอนนักเรียน ว่าช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยได้ดีเพียงใด (Kilenthong et al., 2023)↩
- เป้าหมายดังกล่าว กำหนดให้รายจ่ายสุขภาพทั้งหมด (total health expenditure: THE) ไม่เกิน 5% ของ GDP และรายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพ (general government health expenditure: GGHE) ไม่เกิน 20% ของรายจ่ายภาครัฐ↩