Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/0abcc4089abf57609483b74d564520c0/41624/cover.jpg
31 May 2024
20241717113600000

ระบบการเงินไทยภายใต้สภาวะโลกรวน

ธนาคารกลางควรบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอย่างไรเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน
Kannika Thampanishvong
ระบบการเงินไทยภายใต้สภาวะโลกรวน
excerpt

อุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและสภาพอากาศสุดขั้วที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นในอนาคต จะกระทบต่อระบบการเงินผ่านทั้งการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์ การปรับต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงกระทบต่อยอดสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ บทความนี้รวบรวมแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศและทบทวนกรณีศึกษาการดำเนินการของธนาคารกลางในต่างประเทศในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้านการเงิน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและองค์ประกอบของบรรยากาศไม่ว่าจะเนื่องมาจากความผันแปรตามธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์ (IPCC, 2021) ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ย สภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบการเงินผ่าน 2 ช่องทางหลัก (Carney, 2015) คือ

  1. ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) ซึ่งหมายถึงผลกระทบของเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน การดำเนินงานของธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ
  2. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risks) ซึ่งหมายถึงความสูญเสียที่คาดว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจและสถาบันการเงิน (Stiroh, 2020)

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อสถาบันการเงิน การทำงานของตลาดการเงิน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่า (repricing) ของสินทรัพย์อย่างรุนแรง อาจเพิ่มความเปราะบางให้กับระบบการเงินและกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน (Adrian & Liang, 2015; Carney, 2015) รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบการเงิน

รูปที่ 1: ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเงิน

ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเงิน

ที่มา: ดัดแปลงมาจาก Brunetti & Tabor (2021) และ Rudebusch (2021)

ยกตัวอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและปัญหาคลื่นซัดฝั่งเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการสูญเสียที่ดินบริเวณริมชายฝั่งบางส่วนซึ่งทำให้มูลค่าของที่ดินบริเวณดังกล่าวลดลง กระทบต่อเนื่องไปยังสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (mortgage-backed securities) ตลอดจนผลกำไรของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนักลงทุนยังมีข้อมูลที่จำกัดว่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภูมิอากาศหรือไม่ ดังนั้น เมื่อนักลงทุนได้รับข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักลงทุนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์หรือ repricing risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่สอดคล้องกันของอายุคงเหลือหรือระยะเวลาปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของสินทรัพย์ หนี้สิน และรายการนอกงบดุล (Brunetti & Tabor, 2021)

ความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงจากภูมิอากาศในระบบการเงิน

การบริหารความเสี่ยงจากภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับเผชิญความท้าทายจากสามสาเหตุหลัก คือ

  1. การขาดแรงจูงใจในการจัดการปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกได้ว่าเป็น tragedy of the horizon เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำหรือการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบที่ยาวนานไปยังอนาคต และด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น การขาดความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญ หรือ ขาดเครื่องมือทางกฎหมายที่บังคับให้ปฏิบัติตามหรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างแรงจูงใจให้จัดการปัญหา ทำให้คนในรุ่นปัจจุบันขาดแรงจูงใจในการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้คนในรุ่นต่อไปเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ (Carney, 2015) จากงานศึกษาของ Stern (2006) และ IPCC (2014) พบว่าความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเป็นผลมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในอดีต ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอย่างรวดเร็วจะทำให้ประเทศ เศรษฐกิจ และระบบการเงินไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการจัดการปัญหาที่สูงเกินไป

  2. ข้อจำกัดด้านข้อมูล เพราะต้องอาศัยข้อมูลหลากหลายประเภทประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ได้แก่ ข้อมูลภูมิอากาศ ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลด้านการเงินที่ใช้ในแบบจำลองทางเศรษฐกิจและแบบจำลองทางการเงิน ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับภัยด้านภูมิอากาศของสินทรัพย์ (Brainard, 2020) นอกจากนี้ สถาบันการเงินของไทยยังขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)1 หากพิจารณาข้อมูลจำนวนองค์กรที่ได้รับการรับรอง CFO ณ ปัจจุบัน2 พบว่ามีเพียง 1,699 องค์กร โดยบริษัทที่ได้ CFO ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็นจำนวน 201 ราย รองลงมาคือภาคการบริการและสำนักงานจำนวน 192 ราย และอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 87 ราย

  1. ข้อจำกัดของแบบจำลอง แบบจำลองความเสี่ยงด้านการเงินส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น backward-looking หรือเป็นการเน้นการประมาณค่าโดยใช้ข้อมูลในอดีต ซึ่งไม่เหมาะสมในการประมาณผลลัพธ์ในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแบบจำลองและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่มีลักษณะ forward-looking มากขึ้น (Brainard, 2020)

การประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศต่อระบบการเงิน

ปัจจุบันเริ่มมีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพในบริบทของประเทศไทย งานศึกษาของ (S&P Global, n.d.) มีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพสำหรับภัยด้านต่าง ๆ ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ ทั่วโลก จากรูปที่ 2 พบว่าในภาพรวมประเทศไทยมีความเสี่ยงทางกายภาพต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมในระดับปานกลางถึงสูง และมีความเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนในระดับสูง นอกจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับ RU-CORE มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการพัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเชิงพื้นที่สำหรับ 6 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ ท่องเที่ยว สาธารณสุข การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมภัยคุกคามด้านภูมิอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ อุณหภูมิสูง เหตุการณ์ฝนตกหนัก และภัยแล้ง โดยแสดงผลทั้งในรูปแบบของดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศรายจังหวัดครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์การเปิดรับภัย (exposure analysis)

ดัชนีความเสี่ยงและแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้างต้นประกอบด้วย 4 ห้วงเวลา ได้แก่ ห้วงเวลาฐาน (ค.ศ. 1970–2005) อนาคตอันใกล้ (ค.ศ. 2016–2035) อนาคตระยะกลาง (ค.ศ. 2046–2065) และอนาคตระยะไกล (ค.ศ. 2081–2099) โดยในส่วนของภัยอันตรายจากภูมิอากาศ (climate hazard) นั้นพิจารณามาจากดัชนีภูมิอากาศสุดขั้วของอุณหภูมิและฝน โดยใช้ข้อมูลผลการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลก (general circulation model)3 รวมทั้งสิ้น 3 แบบจำลอง4 โดยนำแบบจำลองดังกล่าวมาประมาณอนาคตภายใต้ภาพสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ RCP4.5 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง) และ RCP8.5 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง) รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างแผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศในสาขาการจัดการน้ำภายใต้แบบจำลอง Ensemble และสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง (RCP4.5) สำหรับ 3 ห้วงเวลา ได้แก่ 1970–2005, 2016–2035 และ 2046–2065

หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความสนใจด้านการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอาจเริ่มต้นจากการนำข้อมูลแผนที่เสี่ยงด้านภูมิอากาศข้างต้นไปใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงและพัฒนากลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยง เช่น นำแผนที่เสี่ยงด้านภูมิอากาศเชิงพื้นที่ไปซ้อนทับ (overlay) กับแผนที่ต่าง ๆ เช่น แผนที่แสดงมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยกู้ในราย sector ต่าง ๆ รายจังหวัด แผนที่แสดงที่ตั้งของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น

รูปที่ 2: แผนที่แสดงความเสี่ยงทางกายภาพของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

แผนที่แสดงความเสี่ยงทางกายภาพของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ที่มา: (S&P Global, n.d.)
รูปที่ 3: แผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศของประเทศไทย

แผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศของประเทศไทย

ที่มา: ระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน บางองค์กรเริ่มประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรอย่างไร บางองค์กรเริ่มใช้แบบจำลองในการทำ disruption simulations แล้วนำผลที่ได้ไปใช้ประกอบการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plans: BCP) นอกจากนี้ สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มผนวกการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศไว้ในการประเมินอุตสาหกรรม ตลอดจนติดตามสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับ risk limits สำหรับอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง เป็นต้น (Stiroh, 2020)

เครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ

ปัจจุบัน climate-related scenario analysis เป็นเครื่องมือที่องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินนิยมใช้ในการระบุความอ่อนไหวของพอร์ตสินเชื่อต่อความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีการทดสอบภาวะวิกฤต (stress testing) การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไปยังลูกค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพอากาศสุดขั้ว ฯลฯ รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาตรการการเก็บราคาคาร์บอน โดยเฉพาะมาตรการภาษีคาร์บอน ซึ่งในอนาคตสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (stranded assets) สำหรับงานศึกษาในบริบทของประเทศไทย ทาง Climate Finance Network Thailand ได้มีการศึกษามูลค่าของสินทรัพย์ด้อยค่าในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันเนื่องมาจากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในบริบทของประเทศไทย

ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลหลายแหล่งที่สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ British International Investment (BII) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสหราชอาณาจักรได้มีการรวบรวมตัวอย่างข้อมูลและเครื่องมือซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไว้บางส่วนซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับสถาบันการเงินหรือองค์กรอื่น ๆ

ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างฐานข้อมูลและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ นอกจากฐานข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 1 แล้ว ยังมีฐานข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Beyond the Horizon ของ UNEP ซึ่งแสดงแผนที่ความเสี่ยงของแต่ละภาคเศรษฐกิจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยแสดงผลในลักษณะของ heatmaps และ GHG Protocol Carbon Footprint Tools ของ Greenhouse Gas Protocol เครื่องมือที่มีรูปแบบของ spreadsheet ซึ่งช่วยในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละ activity data โดยมีทั้ง cross-sector tools, country-specific tools และ sector-specific tools

ตารางที่ 1: ตัวอย่างฐานข้อมูลและเครื่องมือสำหรับใช้ประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศซึ่งมีข้อมูลของประเทศไทย
ชื่อข้อมูล/เครื่องมือผู้จัดทำลักษณะข้อมูล/เครื่องมือประเภทความเสี่ยงด้านภูมิอากาศต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูล/เครื่องมือ
Climate impact explorerClimate Analyticsข้อมูลผลกระทบของภูมิอากาศภายใต้ฉากทัศน์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปัจจุบันและฉากทัศน์ของ Network for Greening the Financial System (NGFS) โดยสามารถเลือกได้ทั้ง acute physical risks เช่น ความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่ง (river flood) พายุหมุนเขตร้อน คลื่นความร้อน ฯลฯ รวมถึง chronic physical risksความเสี่ยงทางกายภาพฟรี
NGFS Scenario PortalsNGFSฉากทัศน์สำหรับประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจำนวน 7 ฉากทัศน์ ได้แก่ Net Zero 2050, Low Demand, Below 2°C, Delayed Transition, Nationally Determined Contributions, Current Policies, Fragmented Worldความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำฟรี
ThinkHazard!World Bankเครื่องมือซึ่งช่วยในการทำความเข้าใจระดับความรุนแรงของภัยอันตรายด้านภูมิอากาศประเภทต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ เช่น น้ำล้นตลิ่ง ขาดแคลนน้ำ/น้ำแล้ง สึนามิ น้ำท่วมชายฝั่ง อากาศร้อนจัด เป็นต้น โดยระบุระดับความรุนแรงในรูปแบบของ scale ได้แก่ ต่ำมาก ต่ำ ปานกลาง สูง รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความเสี่ยงความเสี่ยงทางกายภาพฟรี
ที่มา: (BII, n.d.) และนักวิจัย

บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินมีบทบาทอย่างมากในการช่วยป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบการเงิน จากงานศึกษาของ Stiroh (2020) ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภูมิอากาศต่อระบบการเงินที่เหมาะสม ใช้เครื่องมือเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินมีการเตรียมความพร้อมและมีภูมิคุ้มกัน (resilience) ต่อความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้รวมถึงความเสี่ยงทางด้านภูมิอากาศ

ตัวอย่างธนาคารกลางที่มีความโดดเด่นด้านการทำ climate stress test ได้แก่ Bank of England (BOE), Reserve Bank of New Zealand (RBNZ) และ European Central Bank (ECB) โดย BOE เป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ดำเนินการทำ climate stress test เพื่อวิเคราะห์ว่าระบบการเงินมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด โดย BOE ได้ดำเนินการวิเคราะห์ Climate Biennial Exploratory Scenario (CBES) เพื่อหาความเสี่ยงด้านการเงินของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันภัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร ผลการวิเคราะห์ CBES พบว่าความเสี่ยงด้านภูมิอากาศกระทบต่อผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและบริษัทประกันภัยในสหราชอาณาจักร

สำหรับ RBNZ ได้ออก climate stress test scenarios โดยเน้นความเสี่ยง 3 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงทางกายภาพ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ RBNZ วางแผนที่จะประเมินการเปิดรับต่อภัยคุกคามด้านภูมิอากาศของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ANZ, ASB, BNZ, KiwiBank, และ Westpac ซึ่งกินส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 90 ของสินเชื่อทั้งหมดของประเทศนิวซีแลนด์ โดย climate stress test ซึ่งครอบคลุมสภาพอากาศสุดขั้วทั้งภัยน้ำท่วมที่รุนแรงในปี 2036 และ 2040 และภัยน้ำแล้งรุนแรงในปี 2041 และ 2045

ECB ได้ทำ climate stress test โดยใช้ฉากทัศน์ระยะยาวของ NGFS ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี ผลจากการทำ climate stress test แสดงให้เห็นว่างบดุลของ Eurosystem เปิดรับต่อความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยความเสี่ยงทางกายภาพมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ ในขณะที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านกระจุกตัวอยู่ในบางภาคการผลิต/อุตสาหกรรม โดย climate stress test ครอบคลุมหุ้นกู้ asset-backed securities รวมถึงตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน เป็นต้น

ตัวอย่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินที่มีความโดดเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) ได้แก่ Hong Kong Monetary Authority (HKMA) และ The Securities and Futures Commission และ Bank Al-Maghrib (BAM) โดย HKMA และ Securities and Futures Commission ได้พัฒนาเครื่องมือ/แพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งช่วยให้ธนาคารและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศฮ่องกงใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ โดยเครื่องมือ/แพลตฟอร์มดังกล่าวใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับข้อมูลจาก Carbon Disclosure Project สำหรับ BAM อยู่ระหว่างการจัดทำ regulatory guideline สำหรับธนาคารเกี่ยวกับข้อมูลและตัวชี้วัดที่ธนาคารต้องเก็บรวบรวมเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ และใช้ในการประเมินสัดส่วนของ portfolio ของธนาคารที่จัดว่าเป็นการปล่อยกู้สำหรับโครงการที่ยั่งยืนหรือปล่อยคาร์บอนต่ำ

บทส่งท้าย

มองไปข้างหน้า ระบบการเงินของประเทศไทยคาดว่าจะเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะภัยแล้ง อุณหภูมิสูง/คลื่นความร้อน และน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายหรือกฎหมาย เช่น ผลกระทบจากการนโยบาย carbon pricing ภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะออกมาในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น ตลอดจนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon capture and storage: CCS) เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยสิ่งที่ต้องมีการเตรียมการเพื่อใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงจากภูมิอากาศและบริหารความเสี่ยง ได้แก่ ข้อมูลภูมิอากาศทั้งในห้วงเวลาฐานและห้วงเวลาอนาคตในเชิงพื้นที่ ข้อมูลด้านการเงิน (financial data) ต่าง ๆ เช่น ปริมาณสินเชื่อของสถาบันการเงินในเชิงพื้นที่ การปล่อยสินเชื่อในสาขาต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ ที่ตั้งของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateral) ฯลฯ ตลอดจนข้อมูลความเปราะบาง (vulnerability data) ต่าง ๆ นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรผ่านการอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถประเมินและบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินของไทย

เอกสารอ้างอิง

Adrian, D. C., T., & Liang, N. (2015). Financial Stability Monitoring. Annual Review of Financial Economics, 7(1), 357–395.
BII. (n.d.). List of physical and transition risk assessment tools.
Brainard, L. (2020). Strengthening the Financial System to Meet the Challenge of Climate Change. Speech, December, 18.
Brunetti, & Tabor, N. K. (2021). Climate Change and Financial Stability [FEDS notes].
Carney, M. (2015). Breaking the tragedy of the horizon-climate change and financial stability. Speech given at Lloyd’s of London, 29, 220–230.
IPCC. (2014). AR5 Synthesis Report: Climate Change 2014.
IPCC. (2021). Climate Change 2021: The Physical Science.
Rudebusch, G. D. (2021). Climate Change is a Source of Financial Risk. FRBSF Economic Letter, 3.
S&P Global. (n.d.). Physical Risk.
Stern, N. (2006). Stern Review: the Economics of Climate Change.
Stiroh, K. (2020). Climate change and risk management in bank supervision.

  1. คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร คือ การคำนวณปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขั้นจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร หรือสำนักงาน และวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tonCO2 equivalent)↩
  2. ข้อมูลจากฐานข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 24 เมษายน 2567↩
  3. แบบจำลองภูมิอากาศโลก (GCMs) เป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ซึ่งจำลองกระบวนการทางกายภาพในชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร ผิวน้ำแข็ง (cryosphere) และผิวดิน โดยเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ในการจำลองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก↩
  4. ดัชนีความเสี่ยงและแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อ้างถึงนี้ใช้วิธีพลวัตร (dynamical downscaling) ในการขยายความละเอียดเชิงพื้นที่แบบจำลองภูมิอากาศโลก (GCM) รวมทั้งสิ้น 3 แบบจำลอง ได้แก่ MPI-ESM-MR, EC-Earth และ HadGEM2-ES โดย EC-Earth MPI-ESM-MR และ HadGEM2 ES คือแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกที่พัฒนาโดย EC-Earth Consortium, Max Planck Institute for Meteorology จากเยอรมนี และ The Met Office Hadley Centre จากสหราชอาณาจักร โดยย่อมาจาก European Consortium Earth System Model, Max Planck Institute Earth System Model – Medium Resolution และ Hadley Centre Global Environment Model Version 2 - Earth System Model ตามลำดับ↩
Kannika Thampanishvong
Kannika Thampanishvong
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Topics: Financial market and asset pricingEnvironmental and ecological economics
Tags: climate changefinancial riskscentral banks
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email