ระบบการเงินไทยภายใต้สภาวะโลกรวน

excerpt
อุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและสภาพอากาศสุดขั้วที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นในอนาคต จะกระทบต่อระบบการเงินผ่านทั้งการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์ การปรับต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงกระทบต่อยอดสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ บทความนี้รวบรวมแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศและทบทวนกรณีศึกษาการดำเนินการของธนาคารกลางในต่างประเทศในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและองค์ประกอบของบรรยากาศไม่ว่าจะเนื่องมาจากความผันแปรตามธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์ (IPCC, 2021) ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ย สภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบการเงินผ่าน 2 ช่องทางหลัก (Carney, 2015) คือ
- ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) ซึ่งหมายถึงผลกระทบของเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน การดำเนินงานของธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risks) ซึ่งหมายถึงความสูญเสียที่คาดว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจและสถาบันการเงิน (Stiroh, 2020)
หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อสถาบันการเงิน การทำงานของตลาดการเงิน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่า (repricing) ของสินทรัพย์อย่างรุนแรง อาจเพิ่มความเปราะบางให้กับระบบการเงินและกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน (Adrian & Liang, 2015; Carney, 2015) รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบการเงิน
ยกตัวอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและปัญหาคลื่นซัดฝั่งเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการสูญเสียที่ดินบริเวณริมชายฝั่งบางส่วนซึ่งทำให้มูลค่าของที่ดินบริเวณดังกล่าวลดลง กระทบต่อเนื่องไปยังสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (mortgage-backed securities) ตลอดจนผลกำไรของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนักลงทุนยังมีข้อมูลที่จำกัดว่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภูมิอากาศหรือไม่ ดังนั้น เมื่อนักลงทุนได้รับข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักลงทุนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์หรือ repricing risk ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่สอดคล้องกันของอายุคงเหลือหรือระยะเวลาปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของสินทรัพย์ หนี้สิน และรายการนอกงบดุล (Brunetti & Tabor, 2021)
การบริหารความเสี่ยงจากภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับเผชิญความท้าทายจากสามสาเหตุหลัก คือ
การขาดแรงจูงใจในการจัดการปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกได้ว่าเป็น tragedy of the horizon เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำหรือการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบที่ยาวนานไปยังอนาคต และด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น การขาดความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญ หรือ ขาดเครื่องมือทางกฎหมายที่บังคับให้ปฏิบัติตามหรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สร้างแรงจูงใจให้จัดการปัญหา ทำให้คนในรุ่นปัจจุบันขาดแรงจูงใจในการจัดการความเสี่ยงจากปัญหาภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้คนในรุ่นต่อไปเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ (Carney, 2015) จากงานศึกษาของ Stern (2006) และ IPCC (2014) พบว่าความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเป็นผลมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในอดีต ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอย่างรวดเร็วจะทำให้ประเทศ เศรษฐกิจ และระบบการเงินไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการจัดการปัญหาที่สูงเกินไป
ข้อจำกัดด้านข้อมูล เพราะต้องอาศัยข้อมูลหลากหลายประเภทประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ได้แก่ ข้อมูลภูมิอากาศ ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลด้านการเงินที่ใช้ในแบบจำลองทางเศรษฐกิจและแบบจำลองทางการเงิน ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับภัยด้านภูมิอากาศของสินทรัพย์ (Brainard, 2020) นอกจากนี้ สถาบันการเงินของไทยยังขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)1 หากพิจารณาข้อมูลจำนวนองค์กรที่ได้รับการรับรอง CFO ณ ปัจจุบัน2 พบว่ามีเพียง 1,699 องค์กร โดยบริษัทที่ได้ CFO ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็นจำนวน 201 ราย รองลงมาคือภาคการบริการและสำนักงานจำนวน 192 ราย และอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 87 ราย
- ข้อจำกัดของแบบจำลอง แบบจำลองความเสี่ยงด้านการเงินส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น backward-looking หรือเป็นการเน้นการประมาณค่าโดยใช้ข้อมูลในอดีต ซึ่งไม่เหมาะสมในการประมาณผลลัพธ์ในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแบบจำลองและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่มีลักษณะ forward-looking มากขึ้น (Brainard, 2020)
ปัจจุบันเริ่มมีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพในบริบทของประเทศไทย งานศึกษาของ (S&P Global, n.d.) มีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพสำหรับภัยด้านต่าง ๆ ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ ทั่วโลก จากรูปที่ 2 พบว่าในภาพรวมประเทศไทยมีความเสี่ยงทางกายภาพต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมในระดับปานกลางถึงสูง และมีความเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนในระดับสูง นอกจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับ RU-CORE มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการพัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเชิงพื้นที่สำหรับ 6 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ ท่องเที่ยว สาธารณสุข การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมภัยคุกคามด้านภูมิอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ อุณหภูมิสูง เหตุการณ์ฝนตกหนัก และภัยแล้ง โดยแสดงผลทั้งในรูปแบบของดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศรายจังหวัดครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์การเปิดรับภัย (exposure analysis)
ดัชนีความเสี่ยงและแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้างต้นประกอบด้วย 4 ห้วงเวลา ได้แก่ ห้วงเวลาฐาน (ค.ศ. 1970–2005) อนาคตอันใกล้ (ค.ศ. 2016–2035) อนาคตระยะกลาง (ค.ศ. 2046–2065) และอนาคตระยะไกล (ค.ศ. 2081–2099) โดยในส่วนของภัยอันตรายจากภูมิอากาศ (climate hazard) นั้นพิจารณามาจากดัชนีภูมิอากาศสุดขั้วของอุณหภูมิและฝน โดยใช้ข้อมูลผลการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลก (general circulation model)3 รวมทั้งสิ้น 3 แบบจำลอง4 โดยนำแบบจำลองดังกล่าวมาประมาณอนาคตภายใต้ภาพสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ RCP4.5 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง) และ RCP8.5 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง) รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างแผนที่ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศในสาขาการจัดการน้ำภายใต้แบบจำลอง Ensemble และสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง (RCP4.5) สำหรับ 3 ห้วงเวลา ได้แก่ 1970–2005, 2016–2035 และ 2046–2065
หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความสนใจด้านการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอาจเริ่มต้นจากการนำข้อมูลแผนที่เสี่ยงด้านภูมิอากาศข้างต้นไปใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงและพัฒนากลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยง เช่น นำแผนที่เสี่ยงด้านภูมิอากาศเชิงพื้นที่ไปซ้อนทับ (overlay) กับแผนที่ต่าง ๆ เช่น แผนที่แสดงมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยกู้ในราย sector ต่าง ๆ รายจังหวัด แผนที่แสดงที่ตั้งของสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น
ปัจจุบัน บางองค์กรเริ่มประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรอย่างไร บางองค์กรเริ่มใช้แบบจำลองในการทำ disruption simulations แล้วนำผลที่ได้ไปใช้ประกอบการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plans: BCP) นอกจากนี้ สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มผนวกการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศไว้ในการประเมินอุตสาหกรรม ตลอดจนติดตามสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับ risk limits สำหรับอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง เป็นต้น (Stiroh, 2020)
ปัจจุบัน climate-related scenario analysis เป็นเครื่องมือที่องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินนิยมใช้ในการระบุความอ่อนไหวของพอร์ตสินเชื่อต่อความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีการทดสอบภาวะวิกฤต (stress testing) การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไปยังลูกค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพอากาศสุดขั้ว ฯลฯ รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบมาตรการการเก็บราคาคาร์บอน โดยเฉพาะมาตรการภาษีคาร์บอน ซึ่งในอนาคตสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (stranded assets) สำหรับงานศึกษาในบริบทของประเทศไทย ทาง Climate Finance Network Thailand ได้มีการศึกษามูลค่าของสินทรัพย์ด้อยค่าในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันเนื่องมาจากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในบริบทของประเทศไทย
ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลหลายแหล่งที่สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศทั้งความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ British International Investment (BII) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสหราชอาณาจักรได้มีการรวบรวมตัวอย่างข้อมูลและเครื่องมือซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไว้บางส่วนซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับสถาบันการเงินหรือองค์กรอื่น ๆ
ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างฐานข้อมูลและเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ นอกจากฐานข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 1 แล้ว ยังมีฐานข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Beyond the Horizon ของ UNEP ซึ่งแสดงแผนที่ความเสี่ยงของแต่ละภาคเศรษฐกิจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยแสดงผลในลักษณะของ heatmaps และ GHG Protocol Carbon Footprint Tools ของ Greenhouse Gas Protocol เครื่องมือที่มีรูปแบบของ spreadsheet ซึ่งช่วยในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละ activity data โดยมีทั้ง cross-sector tools, country-specific tools และ sector-specific tools
ชื่อข้อมูล/เครื่องมือ | ผู้จัดทำ | ลักษณะข้อมูล/เครื่องมือ | ประเภทความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ | ต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูล/เครื่องมือ |
---|---|---|---|---|
Climate impact explorer | Climate Analytics | ข้อมูลผลกระทบของภูมิอากาศภายใต้ฉากทัศน์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปัจจุบันและฉากทัศน์ของ Network for Greening the Financial System (NGFS) โดยสามารถเลือกได้ทั้ง acute physical risks เช่น ความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่ง (river flood) พายุหมุนเขตร้อน คลื่นความร้อน ฯลฯ รวมถึง chronic physical risks | ความเสี่ยงทางกายภาพ | ฟรี |
NGFS Scenario Portals | NGFS | ฉากทัศน์สำหรับประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจำนวน 7 ฉากทัศน์ ได้แก่ Net Zero 2050, Low Demand, Below 2°C, Delayed Transition, Nationally Determined Contributions, Current Policies, Fragmented World | ความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ | ฟรี |
ThinkHazard! | World Bank | เครื่องมือซึ่งช่วยในการทำความเข้าใจระดับความรุนแรงของภัยอันตรายด้านภูมิอากาศประเภทต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ เช่น น้ำล้นตลิ่ง ขาดแคลนน้ำ/น้ำแล้ง สึนามิ น้ำท่วมชายฝั่ง อากาศร้อนจัด เป็นต้น โดยระบุระดับความรุนแรงในรูปแบบของ scale ได้แก่ ต่ำมาก ต่ำ ปานกลาง สูง รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความเสี่ยง | ความเสี่ยงทางกายภาพ | ฟรี |
หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินมีบทบาทอย่างมากในการช่วยป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบการเงิน จากงานศึกษาของ Stiroh (2020) ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภูมิอากาศต่อระบบการเงินที่เหมาะสม ใช้เครื่องมือเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินมีการเตรียมความพร้อมและมีภูมิคุ้มกัน (resilience) ต่อความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้รวมถึงความเสี่ยงทางด้านภูมิอากาศ
ตัวอย่างธนาคารกลางที่มีความโดดเด่นด้านการทำ climate stress test ได้แก่ Bank of England (BOE), Reserve Bank of New Zealand (RBNZ) และ European Central Bank (ECB) โดย BOE เป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ดำเนินการทำ climate stress test เพื่อวิเคราะห์ว่าระบบการเงินมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด โดย BOE ได้ดำเนินการวิเคราะห์ Climate Biennial Exploratory Scenario (CBES) เพื่อหาความเสี่ยงด้านการเงินของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันภัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร ผลการวิเคราะห์ CBES พบว่าความเสี่ยงด้านภูมิอากาศกระทบต่อผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและบริษัทประกันภัยในสหราชอาณาจักร
สำหรับ RBNZ ได้ออก climate stress test scenarios โดยเน้นความเสี่ยง 3 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงทางกายภาพ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ RBNZ วางแผนที่จะประเมินการเปิดรับต่อภัยคุกคามด้านภูมิอากาศของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ANZ, ASB, BNZ, KiwiBank, และ Westpac ซึ่งกินส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 90 ของสินเชื่อทั้งหมดของประเทศนิวซีแลนด์ โดย climate stress test ซึ่งครอบคลุมสภาพอากาศสุดขั้วทั้งภัยน้ำท่วมที่รุนแรงในปี 2036 และ 2040 และภัยน้ำแล้งรุนแรงในปี 2041 และ 2045
ECB ได้ทำ climate stress test โดยใช้ฉากทัศน์ระยะยาวของ NGFS ครอบคลุมระยะเวลา 30 ปี ผลจากการทำ climate stress test แสดงให้เห็นว่างบดุลของ Eurosystem เปิดรับต่อความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยความเสี่ยงทางกายภาพมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ ในขณะที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านกระจุกตัวอยู่ในบางภาคการผลิต/อุตสาหกรรม โดย climate stress test ครอบคลุมหุ้นกู้ asset-backed securities รวมถึงตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน เป็นต้น
ตัวอย่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินที่มีความโดดเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) ได้แก่ Hong Kong Monetary Authority (HKMA) และ The Securities and Futures Commission และ Bank Al-Maghrib (BAM) โดย HKMA และ Securities and Futures Commission ได้พัฒนาเครื่องมือ/แพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งช่วยให้ธนาคารและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศฮ่องกงใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ โดยเครื่องมือ/แพลตฟอร์มดังกล่าวใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมร่วมกับข้อมูลจาก Carbon Disclosure Project สำหรับ BAM อยู่ระหว่างการจัดทำ regulatory guideline สำหรับธนาคารเกี่ยวกับข้อมูลและตัวชี้วัดที่ธนาคารต้องเก็บรวบรวมเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ และใช้ในการประเมินสัดส่วนของ portfolio ของธนาคารที่จัดว่าเป็นการปล่อยกู้สำหรับโครงการที่ยั่งยืนหรือปล่อยคาร์บอนต่ำ
มองไปข้างหน้า ระบบการเงินของประเทศไทยคาดว่าจะเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะภัยแล้ง อุณหภูมิสูง/คลื่นความร้อน และน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายหรือกฎหมาย เช่น ผลกระทบจากการนโยบาย carbon pricing ภายใต้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะออกมาในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น ตลอดจนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon capture and storage: CCS) เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว ฯลฯ
การเตรียมความพร้อมให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยสิ่งที่ต้องมีการเตรียมการเพื่อใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงจากภูมิอากาศและบริหารความเสี่ยง ได้แก่ ข้อมูลภูมิอากาศทั้งในห้วงเวลาฐานและห้วงเวลาอนาคตในเชิงพื้นที่ ข้อมูลด้านการเงิน (financial data) ต่าง ๆ เช่น ปริมาณสินเชื่อของสถาบันการเงินในเชิงพื้นที่ การปล่อยสินเชื่อในสาขาต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ ที่ตั้งของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateral) ฯลฯ ตลอดจนข้อมูลความเปราะบาง (vulnerability data) ต่าง ๆ นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรผ่านการอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถประเมินและบริหารความเสี่ยงด้านภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินของไทย
เอกสารอ้างอิง
- คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร คือ การคำนวณปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขั้นจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร หรือสำนักงาน และวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tonCO2 equivalent)↩
- ข้อมูลจากฐานข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 24 เมษายน 2567↩
- แบบจำลองภูมิอากาศโลก (GCMs) เป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ซึ่งจำลองกระบวนการทางกายภาพในชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร ผิวน้ำแข็ง (cryosphere) และผิวดิน โดยเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ในการจำลองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก↩
- ดัชนีความเสี่ยงและแผนที่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อ้างถึงนี้ใช้วิธีพลวัตร (dynamical downscaling) ในการขยายความละเอียดเชิงพื้นที่แบบจำลองภูมิอากาศโลก (GCM) รวมทั้งสิ้น 3 แบบจำลอง ได้แก่ MPI-ESM-MR, EC-Earth และ HadGEM2-ES โดย EC-Earth MPI-ESM-MR และ HadGEM2 ES คือแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกที่พัฒนาโดย EC-Earth Consortium, Max Planck Institute for Meteorology จากเยอรมนี และ The Met Office Hadley Centre จากสหราชอาณาจักร โดยย่อมาจาก European Consortium Earth System Model, Max Planck Institute Earth System Model – Medium Resolution และ Hadley Centre Global Environment Model Version 2 - Earth System Model ตามลำดับ↩