Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Weather Fluctuations and Economic Growth at Subnational Level: Evidence from Thailand
Latest discussion Paper
Weather Fluctuations and Economic Growth at Subnational Level: Evidence from Thailand
ส่องปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย: สาเหตุและทางเลือกของนโยบายการเงิน
Latest aBRIDGEd
ส่องปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย: สาเหตุและทางเลือกของนโยบายการเงิน
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
PIER Research Workshop ประจำปี 2568
Upcoming workshop
PIER Research Workshop ประจำปี 2568
Central Bank Reviews
Latest PIER Economics Seminar
Central Bank Reviews
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี 2568 รอบที่ 1
Latest announcement
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี 2568 รอบที่ 1
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Monetary Economics
Financial Markets and Asset Pricing
...
/static/705aa9f30b1402c6d52883e4d2ed48ae/41624/cover.jpg
23 July 2025
20251753228800000

ส่องปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย: สาเหตุและทางเลือกของนโยบายการเงิน

เมื่อการลดดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบเดียวในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน
Teerapap PangsapaThanaphol KongphaleeManeerat Gongsiang
ส่องปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย: สาเหตุและทางเลือกของนโยบายการเงิน
excerpt

หนึ่งในความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญคือหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่าอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของนโยบายการเงินของไทยที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน งานศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการเงินและหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญด้านเสถียรภาพระบบการเงินในปัจจุบัน โดยพบว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแม้จะช่วยลดภาระหนี้ได้ในระยะสั้น แต่จะนำไปสู่การสะสมหนี้ที่มากขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ข้างต้นมีความแตกต่างกันในแต่ละบริบทของเศรษฐกิจซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัฏจักรของสินเชื่อ ดังนั้น จึงสะท้อนถึงความจำเป็นในการออกแบบนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยน่ากลัวแค่ไหน หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 95.5 ต่อ GDP ในช่วงการระบาดของ COVID-19 แม้จะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 87.4 ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2025 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์สากลที่ 80% ต่อ GDP (Marco Lombardi & Shim, 2017) โดยภาระหนี้ที่สูงเกินไปจะทำให้ฐานะทางการเงินภาคครัวเรือนมีความเปราะบาง และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภครวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งการศึกษาของ Jordà et al. (2020) และ Mian & Sufi (2012) ยังพบว่าประเทศที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกับภาวะที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว (debt overhang) มักจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงกว่าปกติ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงิน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมาจากการก่อหนี้ใหม่หรือภาระหนี้เดิม

บทความชิ้นนี้เป็นการสังเคราะห์จากงานศึกษา Pangsapa et al. (2025) ที่ใช้กรอบการวิเคราะห์พลวัตของหนี้ครัวเรือน ของ Mason & Jayadev (2014) และ Fagereng et al. (2022) โดยอธิบายพลวัตของหนี้ครัวเรือนจากสองส่วน ประกอบด้วย

  1. net new borrowing หรือ การกู้ยืมใหม่สุทธิ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหนี้ครัวเรือนในแต่ละช่วงเวลา โดยปรับเพิ่มขึ้นได้จากพฤติกรรมการก่อสินเชื่อใหม่ และลดลงได้ด้วยการคืนหนี้หรือการผิดนัดชำระหนี้ ตัวอย่างสถานการณ์เช่น เมื่อมีมาตรการรถคันแรก ประชาชนที่จะซื้อรถยนต์จะต้องการกู้เงินกับสถาบันการเงินและทำให้สินเชื่อใหม่ในหมวดรถยนต์เพิ่มขึ้น มีผลโดยตรงผ่าน net new borrowing และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นได้ (รูปที่ 1 ด้านบน)
  2. Fisher effect หรือ ภาระจากหนี้เดิม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของหนี้ครัวเรือนจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยและตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคต่อหนี้เดิม โดยการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายจากหนี้ในอดีตเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลง ตัวอย่างสถานการณ์เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว นายจ้างปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงาน ทำให้ลูกจ้างมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น และสามารถนำรายได้ที่เพิ่มไปชำระหนี้เก่าได้มากขึ้น มีผลโดยตรงผ่าน Fisher effect และช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงได้ (รูปที่ 1 ด้านล่าง)
รูปที่ 1: ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลต่อ Fisher effect และ net new borrowing รวมถึงนัยต่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP

ตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลต่อ Fisher effect และ net new borrowing รวมถึงนัยต่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP

ซึ่งสามารถเขียนในรูปสมการได้ตามด้านล่าง

Δbt≈dt+(it−gt−πt)bt−1\Delta b_t \approx d_t + (i_t - g_t - \pi_t) b_{t-1}Δbt​≈dt​+(it​−gt​−πt​)bt−1​

โดยที่ Δbt\Delta b_tΔbt​ คือ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จากปีก่อน ซึ่งเท่ากับ dtd_tdt​ net new borrowing (dt)(d_t)(dt​) บวกกับ Fisher effect ที่ประกอบด้วย (1) iti_tit​ คืออัตราดอกเบี้ย MRR (2) gtg_tgt​ คือ อัตราการขยายตัวของ real GDP (3) πt\pi_tπt​ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขณะที่ bt−1b_{t-1}bt−1​ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสก่อน หากนำกรอบการวิเคราะห์ข้างต้นมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงระดับหนี้ครัวเรือนในอดีตของไทย พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้

รูปที่ 2: Fisher effect และ net new borrowing ของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย

Fisher effect และ net new borrowing ของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย

ที่มา: BIS, NESDC และคำนวณโดยผู้เขียน
รูปที่ 3: Fisher effect และองค์ประกอบ

Fisher effect และองค์ประกอบ

ที่มา: BIS, NESDC และคำนวณโดยผู้เขียน
  1. net new borrowing เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้นในหลายช่วงเวลา ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นพฤติกรรมการกู้ของครัวเรือน อาทิ
  • ปัจจัยชั่วคราว เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรก (2011–2012) ซึ่งเป็นมาตรการจูงใจทางภาษีในการซื้อรถยนต์ รวมถึงการกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 จึงทำให้เห็นแท่งสีส้มในรูปที่ 2 เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนในช่วงดังกล่าว
  • ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ภาคครัวเรือนขาดความมั่นคงในการจ้างงานและการคุ้มครองทางสังคม (social safety nets) มีส่วนทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และต้องกู้ยืมเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ตกงาน เจ็บป่วย โดยรายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2022 (Bank of Thailand, 2022) แสดงให้เห็นว่ามีคนไทยเพียง 22.4% เท่านั้นที่มีเงินออมเพียงพอสำหรับรองรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป จึงทำให้เห็นแท่งสีเขียวปรับเป็นบวกในช่วงปีนี้

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของ net new borrowing ยังได้รับผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเงินได้ ตัวอย่างเช่น การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานอาจมีส่วนทำให้มีการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะช่วงปี 2019

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ Fisher effect มักจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้น สำหรับประเทศไทย Fisher effect มักเปลี่ยนแปลงโดยตรงตามแนวโน้มของการเติบโตของรายได้และอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เทียบกับผลของอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างคงที่และอยู่ในระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว โดยในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เช่น วิกฤตการเงินเอเชีย และการแพร่ระบาดของ COVID-19 การหดตัวของรายได้ทำให้ Fisher effect เร่งขึ้นมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Mason and Jayadev (2014) ที่พบว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (i−π)(i − \pi)(i−π) สูงกว่าการเติบโตของรายได้ (g)(g)(g) จะทำให้ภาคครัวเรือนมีความยากลำบากในการชำระคืนหนี้มากขึ้น ในทางกลับกัน ช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีหรือเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นก็จะสามารถช่วยบรรเทาภาระอัตราดอกเบี้ยได้ เช่น การฟื้นตัวหลังวิกฤต AFC ที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออก ซึ่งสะท้อนผ่านแท่งสีเขียวที่เป็นลบในช่วงการปรับลดหนี้ในช่วงแรก (1st deleveraging period) รวมถึงการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อตามราคาน้ำมันในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงทำให้เห็นการลดลงของแท่งสีชมพูอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในช่วง 3rd deleveraging period (รูปที่ 3)

จะเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยชั่วคราว และปัจจัยเชิงโครงสร้าง สำหรับนโยบายการเงินสามารถส่งผลได้ทั้งสองด้าน ทั้งในมิติของการลดหนี้ผ่านการเติบโตของรายได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดการกู้ยืมที่เกินพอดีหากอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเกิดเป็น trade-off สำคัญที่ต้องศึกษาในส่วนถัดไป

อะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของนโยบายการเงินภายใต้บริบทที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

งานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับการเปลี่ยนแปลงของหนี้ครัวเรือน เช่น Svensson (2017) ชี้ว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นหรือการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้แก่ครัวเรือน จากภาระดอกเบี้ยจ่ายต่องวดที่สูงขึ้นและรายได้ที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม Gourio et al. (2016), Gelain et al. (2017) และ Fagereng et al. (2022) พบว่าการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ครัวเรือนมีแรงจูงใจก่อหนี้ใหม่ลดลง

สำหรับประเทศไทย Pangsapa et al. (2025) พบว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อบรรเทาภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น ในระยะยาวอาจกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้รุนแรงยิ่งขึ้น

โดยงานศึกษานี้ประเมินผลของนโยบายการเงินต่อระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยด้วยวิธี local projection และ vector autoregression ซึ่งเปรียบเสมือนการจำลองสถานการณ์ว่าหาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 1% จะส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมของครัวเรือน เช่น จะมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ภาระดอกเบี้ยจากหนี้เดิมจะลดลงมากน้อยเพียงใด และเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโตขึ้นหรือไม่ในช่วงเวลา 30 ไตรมาสหลังจากนั้น โดยปัจจัยหลักที่ศึกษาประกอบด้วย การกู้ยืมใหม่สุทธิ (net new borrowing) ภาระจากหนี้เดิม (Fisher effect) อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP growth) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยควบคุมอื่น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน USDTHB และราคาน้ำมันดิบดูไบ ตั้งแต่ปี 1995–2023 โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังนี้

  1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยลดภาระหนี้ได้ในระยะสั้น ในภาวะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยสำหรับภาระหนี้เดิม โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% มีแนวโน้มช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้รวม 0.21% ในช่วงเวลาสามปี (รูปที่ 4 ซ้าย) นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมักกระตุ้นการก่อหนี้ใหม่ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยพบว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% มีแนวโน้มทำให้ GDP เติบโตได้ถึง 0.63% ในช่วงสามปีแรก (รูปที่ 4 ขวา)

  2. ในระยะยาวระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะสะสมเป็นภาระหนี้ครัวเรือนในระยะยาว (รูปที่ 4 กลาง) สอดคล้องกับกลไกการก่อหนี้ที่ศึกษาโดย Drehmann et al. (2023) ที่พบว่าภายหลังการก่อหนี้ใหม่ 5–7 ปี ครัวเรือนอาจต้องลดการบริโภคเพื่อนำรายได้ไปชำระหนี้ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอลง และผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจมากขึ้นหากระบบเศรษฐกิจนั้นประกอบไปด้วยครัวเรือนที่มีสภาพคล่องต่ำและมีอัตราการบริโภคต่อรายได้สูง

  3. ผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาวสะท้อน trade-off ของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยนโยบายการเงิน แม้นโยบายการเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงแรกจากการลดภาระหนี้จ่ายและกระตุ้นการกู้ยืมใหม่ แต่กลับเพิ่มระดับหนี้ครัวเรือนซึ่งชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว จึงทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยนโยบายการเงินควรทำด้วยความระมัดระวัง

รูปที่ 4: Impulse response จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1%

Impulse response จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1%

หมายเหตุ: IRF ติดลบหมายความว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง 1% ตัวแปรดังกล่าวตอบสนองโดยการปรับลดลง โดยเส้นประแสดง 2 S.D. confidence bands

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้มิได้ชี้ชัดว่าธนาคารกลางไม่ควรใช้นโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแม้จะมีความเสี่ยงในระยะยาว เนื่องจากน้ำหนักของผลดีในระยะสั้นและผลเสียในระยะยาวขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจในขณะนั้น ดังนั้น ธนาคารกลางอาจพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ หากประเมินแล้วว่าผลประโยชน์ในระยะสั้นมีความสำคัญมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว โดยหนึ่งในบริบทสำคัญที่ควรพิจารณาในการประเมินผลของนโยบายการเงินคือระดับของหนี้ครัวเรือนในช่วงเวลานั้น โดยงานวิจัยจำนวนหนึ่ง1 ชี้ให้เห็นว่าภาระหนี้ในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะลดทอนความสามารถในการบริโภคและการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบเชิงลบในระยะยาวจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจจำกัดในบริบทดังกล่าว เพื่อทดสอบสมมติฐานนี้ในกรณีของไทย Pangsapa et al. (2025) จึงได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองโดยเปรียบเทียบผลของนโยบายการเงินในสองสถานการณ์ ได้แก่ กรณีที่ครัวเรือนอยู่ในภาวะหนี้สูงและกรณีครัวเรือนอยู่ในภาวะหนี้ต่ำ

น้ำหนักของ trade-off ระหว่างผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวของนโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีความแตกต่างกันภายใต้บริบทของระดับหนี้ที่แตกต่างกัน โดยในกรณีที่ครัวเรือนอยู่ในภาวะหนี้ต่ำ ผลของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นคือ การลดอัตราดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายและการส่งเสริมการก่อหนี้ใหม่

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในระยะยาวกลับส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง (รูปที่ 5 แถวบน) แต่เมื่อครัวเรือนอยู่ในภาวะหนี้สูง กลับพบว่าผลดีระยะสั้นจากการลดภาระหนี้มีมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากการกู้หนี้ใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงจึงไม่นำไปสู่การสะสมหนี้เพิ่มเติมในระยะยาว ปรากฏการณ์นี้อาจสะท้อนถึงความกังวลด้านคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งนำไปสู่การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วงเวลาดังกล่าว (รูปที่ 5 แถวล่าง) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงที่ครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงอาจมีประสิทธิภาพในการบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนมากกว่าการดำเนินนโยบายลักษณะเดียวกันในในช่วงที่ครัวเรือนมีภาระหนี้ต่ำ

รูปที่ 5: Impulse response จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในกรณีภาระหนี้สูง และกรณีภาระหนี้ต่ำ

Impulse response จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในกรณีภาระหนี้สูง และกรณีภาระหนี้ต่ำ

หมายเหตุ: IRF ติดลบหมายความว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง 1% ตัวแปรดังกล่าวตอบสนองโดยการปรับลดลง โดยเส้นประแสดง 2 S.D. confidence bands

หนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงได้อย่างไร

ที่ผ่านมาเราทราบแล้วว่าการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเผชิญกับการ trade-off ระหว่างในมิติของผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการปรับลดลงของหนี้ครัวเรือน หรือ กระบวนการ debt deleveraging ได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มาจาก 2 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) พัฒนาการของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค ทั้งการเติบโตของรายได้ เงินเฟ้อ รวมถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ (2) การดำเนินนโยบายอื่นๆ เพื่อลดหนี้ ซึ่งรวบรวมจากงานศึกษาต่าง ๆ เช่น Bouis (2021) และ mandelechat2025thailand ดังนี้

พัฒนาการของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค

เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ปรับเพิ่มขึ้น

  • การขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากประสบการณ์ในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังวิกฤตการณ์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้กระบวนการ deleveraging เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดและรวดเร็ว อาทิ กรณีการลดหนี้ในประเทศภูมิภาคเอเชีย เช่น ไทย และมาเลเซีย ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี 1997 ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการลดลงของมูลค่าที่แท้จริงของหนี้ที่เชื่อมโยงกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
  • การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
    1. นโยบายการคลัง ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเงินโอนไปยังกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะการโอนเงินให้กลุ่มที่มีการบริโภคมากเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากการพิจารณาความคุ้มค่าของการดำเนินนโยบายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังที่จะตามมาและควรมีแผนการบริหารจัดการภาระดังกล่าวในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย
    2. นโยบายการเงิน มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการผ่านทั้งช่องทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งประสิทธิผลจะขึ้นอยู่กับบริบทและลักษณะการก่อหนี้ของแต่ละประเทศ ในมิติของอัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพในการลดภาระหนี้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามกลไกที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่ออ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูง ขณะที่ในบางประเทศ เช่น ฮังการี กลับให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการกู้ยืมในสกุลเงินต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 60

การดำเนินนโยบายอื่น ๆ

เพื่อลดการก่อหนี้ใหม่และช่วยให้ครัวเรือนชำระหนี้เดิมได้

  • มาตรการ Macroprudential policy และมาตรการทางการเงิน ตัวอย่างเช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ เกาหลีใต้ กำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และเพดานภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เพื่อชะลอความร้อนแรงในการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนมาเลเซีย มีการออก Credit Card Guidelines ซึ่งเสนอให้กำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้สินเชื่อบัตรเครดิต จำนวนผู้ให้กู้ต่อราย และวงเงินในบัตร รวมถึงมีการใช้มาตรการ Responsible Lending เพื่อให้การปล่อยกู้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มยูโร เช่น โครเอเชีย และสาธาณรัฐเช็ก ได้นำมาตรการยกหนี้ภายใต้โครงการ Fresh start และ Milostivé léto มาใช้ตามลำดับ ทั้งนี้ การประเมินผลได้และผลเสียจากมาตรการต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

  • การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ครัวเรือน เช่น กรณีมาเลเซีย มีโครงการ Pengurusan Wang Ringgit Anda (POWER!) เพื่อปลูกฝังความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้แก่เยาวชน ขณะที่บราซิลมีการส่งเสริมหลักสูตรความรู้ทางการเงินโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม Desenrola นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น การมีหนี้สินเกินตัว

สำหรับไทย ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนกระบวนการ debt deleveraging อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยตระหนักดีว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนและพฤติกรรมการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย จึงได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การออกแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระของลูกหนี้ มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรการสอนเพื่อสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงหลักการแก้หนี้ที่ “ทำอย่างครบวงจร-ถูกหลักการมีสมดุลที่ดี-ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน” เพื่อให้กระบวนการ debt deleveraging ของภาคครัวเรือนไทยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

นัยเชิงนโยบาย

การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยการประสานนโยบายหลายด้าน แม้ว่านโยบายการเงินจะสามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสะสมหนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีที่ครัวเรือนยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพของนโยบายการเงินยังขึ้นอยู่กับบริบทของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดในการตอบสนองต่อปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การควบคุมเงินเฟ้อ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งอาจทำให้นโยบายการเงินไม่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ ดังนั้น การจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีนโยบายเสริมในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ของครัวเรือน การส่งเสริมวินัยทางการเงิน หรือการลดภาระหนี้ จึงควรมีการประสานงานกับนโยบายเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและครอบคลุมในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

Bank of Thailand. (2022). รายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2565. Bank of Thailand Report.
Bouis, R. (2021). Household Deleveraging and Saving Rates: A Cross-Country Analysis. IMF Working Paper, 257.
Drehmann, M., Juselius, M., & Korinek, A. (2023). Long-term debt propagation and real reversals. BIS Working Papers, 1098.
Fagereng, A., Gulbrandsen, M. A. H., Holm, M. B., & Natvik, G. J. (2022). How does monetary policy affect household indebtedness? Working Paper.
Gelain, P., Lansing, K. J., & Natvik, G. J. (2017). Leaning against the credit cycle. Federal Reserve Bank of San Francisco Working Paper.
Gourio, F., Kashyap, A. K., & Sim, J. (2016). The tradeoffs in leaning against the wind. Economic Studies.
Jordà, O., Schularick, M., & Taylor, A. M. (2020). The effects of quasi-random monetary experiments. Journal of Monetary Economics, 112.
Marco Lombardi, M. M., & Shim, I. (2017). The real effects of household debt in the short and long run. Bank for International Settlements Paper.
Mason, J. W., & Jayadev, A. (2014). Fisher dynamics in us household debt, 1929-2011. American Economic Journal: Macroeconomics, 6(3), 214–234.
Mian, A. R., & Sufi, A. (2012). What explains high unemployment? the aggregate demand channel. NBER Working Paper.
Pangsapa, T., Kongphalee, T., & Gongsiang, M. (2025). A Brief Note on Thailand Household Debt Dynamics, Fisher Effects, and Monetary Policy Transmission. PIER Discussion Paper, 231.
Svensson, L. E. O. (2017). Cost-benefit analysis of leaning against the wind. Journal of Monetary Economics, 193–213.

  1. Albuquerque (2019), Funke et al. (2023), Luigi and Huber (2018), Fisher (1933) and Eggertsson and Krugman (2012)↩
Teerapap Pangsapa
Teerapap Pangsapa
Bank of Thailand
Thanaphol Kongphalee
Thanaphol Kongphalee
Bank of Thailand
Maneerat Gongsiang
Maneerat Gongsiang
Bank of Thailand
Topics: Monetary Economics
Tags: household debtcredit cyclemonetary policy
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email