ความร่วมมือในสังคมไทย มุมมองใหม่จากการทดลองทางเศรษฐศาสตร์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “แนวทางการวัดบรรทัดฐานและความชอบทางสังคมด้วยการทดลองในห้องทดลอง”
“เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง” (Experimental Economics) เป็นเครื่องมือใหม่ของเศรษฐศาสตร์และเป็นเครื่องมือหลักของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง เนื่องจากสามารถออกแบบการทดลองเพื่อวิเคราะห์การตัดสินใจของมนุษย์ที่ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์มักจะเก็บข้อมูลการตัดสินใจของมนุษย์ด้วยแบบสอบถาม ทำให้ผู้ตอบต้องคิดไตร่ตรองก่อนจะตอบ คำตอบที่ได้จึงมีความเป็นเหตุเป็นผล (Rationalization) ตามข้อสมมติทั่วไปในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ แต่อันที่จริง มนุษย์มักไม่ได้ใช้เหตุและผลในการตัดสินใจเสมอไป การตัดสินใจของมนุษย์อาจขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณ อารมณ์ หรือความรู้สึกในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กำแพงของร้านอาหารที่มีแดงหรือสีเหลือง จะส่งผลให้เราตัดสินใจสั่งอาหารคนละประเภทกัน “การทดลองทางเศรษฐศาสตร์” จึงเป็นศาสตร์ของการออกแบบการจำลองสถานการณ์จริง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลหรือสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างตั้งใจของผู้ดำเนินการทดลอง ข้อมูลหรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากความมีเหตุมีผลเท่านั้น แต่เกิดจากการตัดสินใจที่มีองค์ประกอบของสัญชาตญาณ อารมณ์ หรือความรู้สึกมาเกี่ยวข้องอย่างค่อนข้างครบถ้วน...
[อ่านต่อที่ ThaiPublica]