พลังงาน รัสเซีย และยูเครน
สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อพลังงานทั่วโลก ตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบ (crude oil) จนกระทั่งก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก ซึ่งเรื่องของพลังงานก็ประเด็นที่ผู้นำสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเนื่องด้วยความมั่นคงด้านพลังงาน หรือเป้าหมายระยะยาวที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งคาร์บอน (หรือ net zero) ภายในปี 2050
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเรื่องของพลังงานยุโรปและรัสเซียกัน
- รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับสามรองลงมาจากสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบีย โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน (petroleum oil) ใหญ่อันดับแรกของโลก และใหญ่อันดับสองรองลงมาจากประเทศซาอุดิอาระเบียสำหรับน้ำมันดิบ
- รัสเซียส่งออกน้ำมันร้อยละ 60 ไปสหภาพยุโรป และร้อยละ 20 ไปจีน
- สหภาพยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นปริมาณมาก โดย
- นำเข้าน้ำมัน ร้อยละ 25.5 จากรัสเซีย และร้อยละ 9.5 จากสหรัฐ
- นำเข้าก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 44 จากรัสเซีย ร้อยละ 5 จากสหรัฐ
- ยูเครนเคยเป็นประเทศที่ช่วยส่งผ่านพลังงานจากรัสเซียเข้าสู่สหภาพยุโรป โดยในปี 2009 ร้อยละ 60 ของพลังงานส่งผ่านยูเครน ขณะที่ในปี 2021 เหลือเพียงร้อยละ 25 เนื่องจากรัสเซียได้สร้างท่อ Nord Stream 1 ใต้ทะเลบอลติกเพื่อส่งผ่านก๊าซธรรมชาติสู่เยอรมันและสหภาพยุโรปโดยตรง
เพื่อบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับอุปทานของน้ำมันอันเนื่องมาจากสงคราม International Energy Agency (IEA)1 ตกลงที่จะปล่อยน้ำมันออกจากสำรองฉุกเฉิน จำนวน 60 ล้านบาร์เรล จากทั้งหมด 1.5 พันล้านบาร์เรลในสำรอง ซึ่งตั้งแต่การก่อตั้งขององค์กรนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ IEA ได้ปล่อยน้ำมันสำรองฉุกเฉินออก ต่อมา IEA ก็ได้ออกแผน 10 ข้อเพื่อให้กลุ่มประเทศยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียลง 1 ใน 3 ภายในหนึ่งปี และล่าสุด (วันที่ 18 มีนาคม 2022) ได้ประกาศแผนลดการใช้น้ำมันลง 2.7 ล้านบาเรลภายใน 4 เดือน
แผนลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของ IEA 10 ข้อ
- ไม่ลงนามสัญญาการซื้อก๊าซธรรมชาติ่จากรัสเซียเพิ่มเติม
- หาแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่
- เพิ่มความแข็งแกร่งด้านพลังงาน ด้วยการกำหนดขั้นต่ำในการสำรองก๊าซธรรมชาติ
- เร่งโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงแดด หรือ พลังงานลม
- เพิ่มการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานชีวภาพและนิวเคลียร์ ให้ได้มากที่สุด
- กำหนดมาตรการภาษีระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการที่มีผลกำไรจำนวนมาก เพื่อปกป้องผู้บริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูง
- เร่งการปรับเปลี่ยนหม้อต้มน้ำด้วยปั๊มความร้อนในครัวเรือน
- เร่งการปรับปรุงตึกและอุตสาหกรรมให้ใช้พลังงานแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- รณรงค์การปรับลดการตั้งอุณหภูมิ 1 องศาในครัวเรือน
- เร่งหาช่องทางใหม่สำหรับพลังงานและลดการใช้คาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า
แม้ IEA ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ราคาน้ำมันโลกและก๊าซธรรมชาติยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางยุโรปคาดว่าการลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหภาพยุโรปชะลอลงร้อยละ 0.5 ในปี 2022 และกรณีสหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซียทั้งหมด GDP อาจลดลงถึงร้อยละ 1.4 โดยประเทศเยอรมนีและอิตาลีจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก
ส่วนประเทศไทยนั้นนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่จากตะวันออกกลางจึงไม่ได้รับผลกระทบในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน อย่างไรก็ดี ก็ยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันโลกและค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น และภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่พึ่งพาต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
มองไปข้างหน้า เรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานและการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งคาร์บอนยังคงเป็นประเด็นสำคัญ สงครามครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางที่เกิดจากนโยบายพลังงานที่พึ่งพาพลังงานแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป และยังเป็นตัวเร่งให้หลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปเร่งปรับแผนการใช้พลังงานและเพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทน ซึ่งก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้สหภาพยุโรปบรรลุการลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งคาร์บอนได้เร็วกว่าเป้าหมายเดิม
- IEA เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1974 เพื่อติดตามและประสานเกี่ยวกับ พลังงานทั่วโลก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 31 แห่ง ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้↩