โลกร้อนกับเสถียรภาพระบบการเงิน: ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
คำถามที่พบบ่อยเมื่อทราบว่าภาคการเงินให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างไร? และอะไรทำให้ผู้กำกับดูแลภาคการเงินกว่า 116 แห่ง และ ผู้สังเกตการณ์อีก 19 องค์กรรวมตัวกันในเครือข่าย Central Banks and Supervisors Network for Greening the Financial System (NGFS) ที่ก่อตั้ง เมื่อปี 2017 นอกจากนี้ ผู้นำองค์กรภาคการเงินระดับโลก เช่น Bank for International Settlements (BIS) และ International Monetary Fund (IMF) ยังออกมาพูดถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน คือ เรื่องของการบริหารความเสี่ยง อาทิ ในกรณีที่เกิดความล้มเหลวของกลไกลตลาด (เช่น การปล่อยสินเชื่อโดยไม่ทราบถึงความสามารถในการจ่ายคืนของลูกหนี้) หรือในกรณีที่สินทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าด้อยลง ซึ่งหากสถาบันการเงินไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับความเสี่ยงเหล่านี้ไว้ ก็จะขาดแคลนสภาพคล่อง และไม่สามารถปล่อยสินเชื่อหรือทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างเต็มที่ อันจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกที (Battiston et al., 2021)
ในส่วนของโลกร้อนนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงหลัก ๆ 2 แบบ คือ
- ความเสี่ยงโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (physical risks) และ
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) (Network for Greening the Financial System, 2018; Batten et al., 2020) หรือที่เรียกว่าความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate risks)
ความเสี่ยงนี้สามารถส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคที่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจเมื่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และในระดับจุลภาคเมื่อธุรกิจและครัวเรือนอาจปรับพฤติกรรมหรือสูญเสียรายได้ (รูปภาพด้านล่าง)
ความเสี่ยงจาก physical risks เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า อาจทำให้สินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น โรงงาน หรือบ้าน เกิดความเสียหายและมีมูลค่าลดลง ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนขาดช่องทางการทำรายได้ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการซ่อมแซมสินทรัพย์ ในทางเศรษฐศาสตร์ หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อทั้งอุปสงค์และอุปทาน และเสมือนเป็น shock ต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กรณีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมินั้น เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากผลการผลิตที่ลดลง หรือจากพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ เช่น การลงทุน หรือ ปริมาณการผลิต (Batten et al., 2020)
ความเสี่ยงจาก transition risks เกิดจากกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมื่อประเทศต้องการเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low carbon economy) ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เช่น นโยบายการลงทุน กระบวนการผลิต การจัดสรรเงินหรืองบประมาณภาครัฐ การเก็บภาษี รวมถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ (เช่น นโยบายพลังงาน มาตรฐานสินค้า หรือนโยบายการค้าระหว่างประเทศ) นอกจากนี้ ความเสี่ยงประเภทนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค (consumer preferences) หรือการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของนักลงทุน เป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงที่ผู้กำกับดูแลภาคการเงินทั่วโลกจับตามอง (Campiglio et al., 2018) หากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าที่ได้สัญญาไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และหากระบบการเงินและเศรษฐกิจไม่มีกลไกลดความเสียหายและควบคุมความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ทุกคนจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย นอกจากผลกระทบโดยตรงที่อาจทำให้ประชากรจำนวนมากต้องย้ายถิ่นที่อยู่ เปลี่ยนวิถีชีวิต หรือมีปัญหาทางสุขภาพแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมจากเสถียรภาพระบบการเงินที่ลดลง เมื่อสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินถือครองเป็นหลักประกันมีมูลค่าน้อยกว่าสินเชื่อที่ปล่อย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงที่ผู้กำกับดูแลภาคการเงินให้ความสำคัญยิ่งนัก