คนไทยกับพัฒนาการด้านทักษะทางการเงิน

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ทักษะทางการเงิน (financial literacy) และอาจเข้าใจว่า คนที่มีทักษะทางการเงินที่ดีหมายถึงคนที่มีความรู้ความเข้าใจใน concept ทางการเงิน และมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ทักษะทางการเงินที่ดีจะต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งความสามารถทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน ความตระหนักรู้ รวมถึงการมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีที่จะก่อให้เกิดการตัดสินใจทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชน และได้ติดตามพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินของคนไทยอย่างใกล้ชิด ในการสร้างตัวชี้วัดระดับทักษะทางการเงินของคนไทยนั้นได้ถูกพิจารณาขึ้นจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- การมีความรู้ทางการเงินที่ดี (Financial knowledge)
- การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี (Financial behavior)
- การมีทัศนคติทางการเงินที่ดี (Financial attitude)
ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางการสำรวจที่เป็นสากลของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD)
คนไทยมีพัฒนาการด้านทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นในทุกช่วงวัย และมีลักษณะเป็น hump shape จากการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยโดย ธปท. และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ทักษะทางการเงินของคนไทยในทุกช่วงวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016–2020 และมีลักษณะเป็น hump shape กล่าวคือ คนมักเพิ่มพูนทักษะทางการเงินตามอายุที่มากขึ้นและจะเริ่มมีทักษะที่แย่ลงเมื่อมีเข้าสู่วัยสูงอายุ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ จากภาพรวมการสำรวจระดับทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของไทยเมื่อปี 2020 พบว่าทักษะทางการเงินของคนไทยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 71 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจของกลุ่มประเทศ OECD ที่ร้อยละ 60.5 แต่ถึงแม้ไทยจะมีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ แต่ก็ยังมีหลายด้านที่ควรต้องส่งเสริม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2020)
จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีคะแนนทัศนคติทางการเงินที่ดี แต่ยังคงด้อยในด้านความรู้ทางการเงิน เมื่อพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบของทักษะทางการเงินของคนไทย จะพบว่า คะแนนทักษะทางการเงินในแต่ละด้านมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยด้านที่คนไทยทำคะแนนได้ดีที่สุดคือ ทัศนคติทางการเงิน ส่วนด้านที่ทำคะแนนได้น้อยที่สุดคือ ความรู้ทางการเงิน (รูปที่ 2)
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาว่าคนไทยนั้นขาดความรู้ทางการเงินในเรื่องใดเป็นพิเศษ พบว่า มี 3 สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ได้แก่
- วิธีคำนวณดอกเบี้ยและเงินฝากทบต้น
- วิธีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
- ความเข้าใจและการตระหนักในมูลค่าของเงินตามกาลเวลา
ซึ่ง 3 สิ่งนี้นับเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางการเงินส่วนบุคคลและครัวเรือน (รูปที่ 3) นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยจะพบว่า คนไทยยังคงด้อยในเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนการเลือกซื้อ/ใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (รูปที่ 4)
จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า คนส่วนใหญ่มักเรียนรู้และสั่งสมทักษะจากประสบการณ์ งานศึกษาของ Hilgert et al. (2003) พบว่า คนส่วนใหญ่เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาดทางการเงินของตนเอง โดย Agarwal et al. (2007) พบว่า ความผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเงิน (financial mistakes) ของคนจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และจะเริ่มกลับมาตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้นเมื่อเลยวัย 50 ปีไปแล้ว เป็นลักษณะ U shape pattern อย่างไรก็ดี ถึงแม้การเรียนรู้จากประสบการณ์ (learning by doing) จะสามารถช่วยให้คนมีโอกาสตัดสินทางการเงินได้ดีขึ้น แต่การพึ่งกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เพียงอย่างเดียวอาจใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่ม Campbell et al. (2010) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีความรู้ทางการเงินน้อย รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสจำกัดในการลองผิดลองถูก
แล้วรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมทักษะทางการเงินเพื่อลดโอกาสการก่อ financial mistakes ให้แก่ประชาชนได้อย่างไร
สิ่งแรก ๆ ที่คนมักถึงนึกเมื่อต้องพูดถึงการยกระดับทักษะทางการเงินคือ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมทางการเงิน (financial education) แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมา เรายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แน่ชัดถึงผลของการฝึกอบรมที่มีต่อทักษะทางการเงินและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งรูปแบบหลักสูตร วิธีการสื่อสาร ระยะเวลา และบุคลากรผู้สอน นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังมีความหลากหลาย ยากที่จะใช้โปรแกรมที่มีลักษณะ one size fit all อีกทั้งต้นทุนของการฝึกอบรมค่อนข้างสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของโปรแกรมด้วย Hastings et al. (2013)
ท้ายที่สุด จุดหมายปลายทางหลักที่เราอยากเห็นคงไม่ใช่เพียงแค่อยากให้คนมีระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้น แต่เราอยากเห็นคนในสังคมมีสุขภาพทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นด้วย การกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ คงไม่สามารถอาศัยแค่กลไกใดกลไกหนึ่งเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยแรงผลักจากหลายทางร่วมกัน ผู้ดำเนินนโยบายเองก็ต้องช่วยสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งการลงทุนในด้าน financial education ในรูปแบบเหมาะสม การกำกับดูแล การออกนโยบายที่จะช่วยลดอคติด้านพฤติกรรมของคน (behavioral biases) รวมถึงนโยบายที่ช่วยลดต้นทุนการตัดสินใจที่ผู้บริโภคต้องเผชิญในตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Hastings et al. (2013) เพื่อให้คนช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจัดการและตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น