Monetary Facts of Thailand: What Has Changed in the Past 20 Years?

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก ดร.วราพงศ์ วงศ์วัชรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานพัฒนาแบบจำลองและวิจัยเชิงเทคนิค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นวิทยากรในงาน PIER Research Exchange เพื่อบรรยายหัวข้อ “Monetary facts of Thailand: What has changed in the past 20 years? โดย ดร.วราพงศ์ ได้เล่าถึงผลการศึกษาเบื้องต้นระหว่างความสัมพันธ์ทางการเงินของไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ทางการเงินที่นักเศรษฐศาสตร์จัดเป็น Monetary facts สองข้อใหญ่ ๆ คือ (1) ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของปริมาณเงิน (money growth) และเงินเฟ้อนั้นควรจะเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง และ (2) การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนที่มากผิดปกติ (excessive credit growth) สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้วิกฤติทางการเงินได้ งานวิจัยในต่างประเทศที่ใช้ข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศในช่วง post-war period มาประกอบกันพบว่า ขณะที่ความสัมพันธ์ข้อแรกนั้นอ่อนลง ความสัมพันธ์ข้อสองนั้นชัดเจนมากขี้น
ในกรณีของประเทศไทย ดร.วราพงศ์ได้ศึกษา Monetary facts สองข้อนี้โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี 2527–2560 ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายการเงินมาอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ในปี 2543 ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) มีความสัมพันธ์น้อยลงกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ซึ่งดร.วราพงศ์ เห็นว่าน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของพลวัตของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้ในกรณีของไทยก่อนปี 2543 ก็ไม่ได้ชัดเจนเหมือนของต่างประเทศ ส่วนในด้านสินเชื่อของภาคเอกชน ก็มีสัดส่วนน้ำหนักต่อ GDP มากขึ้น ซึ่งช่วยให้บ่งชี้ความไม่สมดุลในระบบการเงินได้ดีขึ้น ผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ทางการเงินของไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการออกแบบกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน