Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Latest discussion Paper
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Latest aBRIDGEd
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Upcoming workshop
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
Latest PIER Economics Seminar
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
Latest announcement
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/9399256bfe9cefdab67a67ae1f1e8281/e9a79/cover.png
18 December 2017
20171513555200000

เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 2

เจาะลึก product innovation ของผู้ประกอบการไทย
Tosapol ApaitanNasha AnanchotikulPiti Disyatat
เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 2
excerpt

เหตุใดประเทศไทยที่มีพัฒนาการของสินค้าก้าวหน้าอย่างชัดเจนแต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกลับไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น บทความในตอนที่ 2 นี้ได้นำกรอบแนวคิดเรื่อง complexity ของสินค้า มาใช้วิเคราะห์ลักษณะและกระบวนการเกิด product innovation ในระดับบริษัท ผลการศึกษาชี้ว่า product innovation เป็นกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในวงกว้าง อีกทั้งยังมีลักษณะ path dependence อย่างเห็นได้ชัด โดยโครงสร้างสินค้าในปัจจุบันของแต่ละบริษัทมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดนวัตกรรมสินค้าของบริษัทนั้นในอนาคต ทั้งนี้ ภาคการผลิตของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในเชิง know how ค่อนข้างมาก บริษัทจำนวนมากขาดการเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการก้าวกระโดดของผู้ประกอบการและสร้างการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม

บทความ aBRIDGEd ตอนที่แล้ว ผู้เขียนนำเสนอการประยุกต์ใช้ข้อมูลสินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ มาสร้างเป็นดัชนีวัดระดับความซับซ้อนทั้งในมิติของสินค้าและในมิติของประเทศ หลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีพัฒนาการในด้านระดับความซับซ้อนอย่างชัดเจน โดยมีสัดส่วนสินค้าที่ซับซ้อนในโครงสร้างการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเกิดขึ้นของสินค้าใหม่ ๆ เหล่านี้ สะท้อน know how ของผู้ประกอบการที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งเบื้องหลังคือการผลัดเปลี่ยนสินค้าของผู้ประกอบการหรือ product innovation ดังนั้น การศึกษาในระดับจุลภาค จะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการไขปริศนาในบทความก่อนหน้าที่ว่า เหตุใดประเทศไทยจึงมีความซับซ้อนสูงแต่รายได้เฉลี่ยต่อประชากรกลับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับความซับซ้อนเดียวกัน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “สินค้า” ในระดับบริษัท

Apaitan และคณะ (2017) ได้ทำการศึกษาโครงสร้างสินค้าและกระบวนการเกิด product innovation ในระดับบริษัท โดยใช้ข้อมูลการส่งออกของผู้ส่งออกไทยจากกรมศุลกากรและข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์มาทำการวิเคราะห์บริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและมีการส่งออกระหว่างปี 2010 และ 2015 จำนวน 7,543 บริษัท ซึ่งกลุ่มตัวอย่างนี้ครอบคลุมมูลค่าส่งออกถึงกว่า 80% ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างสินค้าระดับบริษัทที่น่าสนใจหลายประการ

ประการแรก บริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรม การผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีสินค้าหลากหลาย ตารางที่ 1 แสดงสัดส่วนของบริษัทมีลักษณะ multiple-product หรือ ส่งออกสินค้ามากกว่า 1 ชนิด (วัดจาก HS code ระดับ 6 หลัก) จะเห็นได้ว่า บริษัทกว่า 70% มีลักษณะ multiple-product โดยมีจำนวนสินค้าเฉลี่ยประมาณ 12 สินค้า และถึงแม้จะวัดในระดับ industry (HS code ระดับ 2 หลัก) หรือ sector (จัดกลุ่มโดยการแบ่ง HS code ทั้งหมดออกเป็น 10 กลุ่มอุตสาหกรรม) ข้อมูลยังคงชี้ว่า บริษัทกว่าครึ่งมีลักษณะ multiple-industry หรือ multiple-sector ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายด้านสินค้าและ know how ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้

ตารางที่ 1 สัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีความหลากหลาย ของสินค้า ปี 2010 และ 2015

ตารางที่ 1 สัดส่วนจำนวนบริษัทที่มีความหลากหลาย ของสินค้า ปี 2010 และ 2015

ที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีสินค้าหลายชนิด แต่ข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทมักให้ความสำคัญกับสินค้าหลักเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ตารางที่ 2 แสดงโครงสร้างสินค้าของบริษัทในปี 2015 ที่มีจำนวนสินค้าตั้งแต่ 1 ถึง 50 ชนิด โดยวัดจากสัดส่วนมูลค่าสินค้าสะสมโดยเฉลี่ยเมื่อนับจากสินค้าที่มีมูลค่าสูงสุดในลำดับ 1 ถึง 50 จะเห็นได้ว่า โดยทั่วไปสินค้าในลำดับที่ 1 จะมีสัดส่วนมูลค่าไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่มูลค่ารวมของสินค้าจากลำดับที่ 1 ถึง 3 โดยเฉลี่ยแล้วจะมีสัดส่วนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 80% สินค้าในลำดับถัด ๆ ไปจึงมีส่วนแบ่งน้อยมาก การกระจายตัวเช่นนี้สะท้อนว่า แม้บริษัทจะมีการขยายจำนวนสินค้า แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ยังคงกระจุกอยู่ในสินค้าหลักไม่กี่ประเภท

ตารางที่ 2 สัดส่วนมูลค่าสินค้าสะสมโดยเฉลี่ยเมื่อนับจากสินค้าในลำดับ 1 ถึง 50 ของบริษัท (2015)

สัดส่วนมูลค่าสินค้าสะสมโดยเฉลี่ยเมื่อนับจากสินค้าในลำดับ 1 ถึง 50 ของบริษัท (2015)

ที่มา: Apaitan และคณะ (2017) คำนวณโดยผู้เขียน

คำถามสำคัญที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์เกี่ยวกับ product innovation ของผู้ประกอบการไทยคือ product innovation นั้นเกิดขึ้นแพร่หลายเพียงใด ตารางที่ 3 แสดงจำนวนบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าระหว่างปี 2010 และ 2015 จะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีการเพิ่มและลดสินค้าในปี 2015 จากรายการที่มีอยู่เดิมในปี 2010 โดยจะมีบริษัทเพียง 12% เท่านั้นที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับรายการสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในมุมของผู้ประกอบการ การผลัดเปลี่ยนของสินค้าเกิดขึ้นในวงกว้าง และพัฒนาการของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ

ตารางที่ 3 บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้า ระหว่างปี 2010 และ 2015

บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้า ระหว่างปี 2010 และ 2015

ที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

นอกจากนี้ ข้อมูลในตารางที่ 4 ซึ่งเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างสินค้าเก่าและสินค้าใหม่ของแต่ละบริษัท พบว่าในปี 2015 โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละบริษัทจะมีจำนวนสินค้าใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในรายการถึงกว่า 49% โดยที่สินค้าใหม่เหล่านั้นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยราว 25% ข้อเท็จจริงนี้ยิ่ง ตอกย้ำความสำคัญของ product innovation ในบริบทของผู้ผลิตไทย

ตารางที่ 4 สัดส่วนระหว่างสินค้าเก่าและสินค้าใหม่ (2015)

สัดส่วนระหว่างสินค้าเก่าและสินค้าใหม่ (2015)

ที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

การเกิด product innovation ในระดับบริษัท

แล้วนวัตกรรมสินค้าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัท Apaitan และคณะ (2017) ได้สร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า ความเกี่ยวเนื่อง (relatedness) ระหว่างสินค้ากับโครงสร้างการผลิตของบริษัท ซึ่งเป็นการวัดว่า สินค้าชนิดหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับองค์ความรู้ที่บริษัทมีอยู่อย่างไร กล่าวคือ หากในปัจจุบัน บริษัทมีการผลิตสินค้าที่อาศัย know how ที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่กำลังพิจารณา ระดับความเกี่ยวเนื่องจะมีค่าสูง โดยความเกี่ยวเนื่องนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับประเทศ (country relatedness)
  2. ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับภูมิภาค (region relatedness) และ
  3. ความเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างการผลิตในระดับบริษัท (firm relatedness) โดยได้ใช้แบบจำลอง logit เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความน่าจะเป็นที่บริษัทจะเพิ่มหรือลดสินค้าใด ๆ รวมถึงผลต่อโอกาสอยู่รอดของสินค้าที่บริษัทได้เพิ่มเข้ามาใหม่ ซึ่งเน้นผลที่เกิดจากปัจจัยความเกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ
รูปที่ 1 ปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสินค้า*

ปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสินค้า*

หมายเหตุ : แสดงเฉพาะผลจากปัจจัยความเกี่ยวเนื่อง ที่มา: Apaitan และคณะ (2017) คำนวณโดยผู้เขียน

รูปที่ 1 แสดงผลลัพธ์จากแบบจำลอง ในกรอบที่ 1 จะเห็นได้ว่า ความเกี่ยวเนื่องในทุกระดับจะเพิ่มโอกาสที่สินค้าใหม่จะถูกเพิ่มเข้ามาในรายการสินค้าของบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสินค้าที่มีความสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสอดคล้องในระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนว่า know how ในการผลิตนั้นมักมีการแพร่กระจายหรือมีการต่อยอดกันในระดับภูมิภาค สำหรับในกรอบที่ 2 แสดงให้เห็นว่า สินค้าที่มีความสอดคล้องกับ know how ในระดับภูมิภาคและระดับบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่รอดมากที่สุด

ในกรอบที่ 3 ผลจากปัจจัยความเกี่ยวเนื่องมีค่าเป็นลบต่อความน่าจะเป็นในการลดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบริษัท กล่าวคือ บริษัทมีแนวโน้มที่จะเลิกผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มากที่สุดออกไปก่อน สำหรับในกรอบที่ 4 จะแสดงผลที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยความเกี่ยวเนื่องและระดับความซับซ้อนของสินค้า (PCI) ซึ่งผลชี้ให้เห็นว่า สำหรับสินค้าที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยความเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ จะยิ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มสินค้าที่ซับซ้อน จะต้องอาศัยความพร้อมในระดับ ประเทศและระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ผลจากแบบจำลองทั้งหมดช่วยให้เราเข้าใจลักษณะการเกิด product innovation ในระดับบริษัท และช่วยยืนยันว่า พัฒนาการของสินค้าที่อิงกับโครงสร้างเดิม (path dependence) นั้น เกิดขึ้นแม้กระทั่งในระดับบริษัท

ความเหลื่อมล้ำของ know how ในประเทศไทย

หากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันส่งผลต่อพัฒนาการในระยะข้างหน้า การแพร่กระจายขององค์ความรู้ในระดับผู้ประกอบการถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงระดับศักยภาพที่ประเทศจะสามารถก้าวไปได้ การที่ผู้ผลิตในวงกว้างสามารถเข้าถึง know how ที่ซับซ้อนและหลากหลาย ย่อมช่วยให้เกิดการพัฒนาสินค้า ซึ่งจะส่งผลต่อระดับความซับซ้อนของประเทศและระดับรายได้ในที่สุด ในการศึกษาของ Apaitan และคณะ (2017) ได้คำนวณค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ PCI ของแต่ละบริษัท แล้วแบ่งออกเป็นกลุ่มตาม quartile ของ PCI ดังที่แสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 2 การกระจายตัวของจำนวนบริษัท แบ่งตามระดับ PCI เฉลี่ยของบริษัท* (2015)

การกระจายตัวของจำนวนบริษัท แบ่งตามระดับ PCI เฉลี่ยของบริษัท* (2015)

หมายเหตุ : ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก PCI ของแต่ละสินค้าในบริษัทที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

บริษัทจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแทนด้วยสีต่าง ๆ ได้แก่

  1. บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนสูง (สีส้ม) หมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI ใน quartile ที่ 4
  2. บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนปานกลาง (สีน้ำเงิน) ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI อยู่ใน quartile ที่ 3 และ
  3. บริษัทที่มี know how ในระดับซับซ้อนต่ำ (สีฟ้า) ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีค่าเฉลี่ยของ PCI อยู่ใน quartile ที่ 1 และ 2

จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า บริษัทมีความก้าวหน้าในด้าน know how ของไทยนั้น ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยบริษัทที่มีความซับซ้อนสูง (สีส้ม) จะมีจำนวนไม่ถึง 20% ของบริษัททั้งหมด คำถามที่ตามมาก็คือ บริษัทอีกกว่า 80% ที่เหลือ มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะยกระดับตัวเองจากการเข้าถึง know how ที่ซับซ้อนที่มีอยู่ในประเทศ “ความเชื่อมโยง” จึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะชี้ว่า แต่ละบริษัทเข้าใกล้หรือห่างไกลจากองค์ความรู้เหล่านั้นอย่างไร

คณะผู้วิจัยได้จัดทำแผนภาพ firm space ซึ่งแสดงให้เห็น network ของผู้ประกอบการ (แทนด้วยจุดวงกลม โดยขนาดวงกลมแสดงถึงมูลค่าการส่งออก) ที่เชื่อมโยงกันตามระดับความใกล้เคียงของโครงสร้างการผลิตหรือ know how ของบริษัท บริษัทจะถูกจัดอยู่ใกล้กันในแผนภาพ เมื่อบริษัทมีความเชี่ยวชาญใกล้เคียงกัน หรือสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับเดียวกันได้ รูปที่ 3 ได้แสดงให้เห็น firm space ของบริษัทส่งออกที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2015 โดยยังคงแบ่งเป็น 3 กลุ่มเช่นเดียวกับรูปที่ 2

รูปที่ 3 Firm space 2015 แบ่งตามระดับความซับซ้อนของบริษัท

Firm space 2015 แบ่งตามระดับความซับซ้อนของบริษัท

ที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

จากแผนภาพจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่มีความซับซ้อนสูงส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่บริเวณมุมด้านขวาล่างของภาพ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเชื่อมโยงค่อนข้างสูง (สังเกตได้จากเส้นเชื่อมโยงมีจำนวนมากและหนาแน่น) ในขณะเดียวกันจะมีบริษัทที่มีความซับซ้อนต่ำอีกเป็นจำนวนมากอยู่ทางด้านซ้าย โดยอยู่อย่างกระจัดกระจายและมีความเชื่อมโยงกันไม่มาก ลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่า องค์ความรู้ที่มีความซับซ้อนสูงในประเทศไทย แพร่กระจายอยู่ในวงแคบ ๆ โอกาสที่จะเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้จึงจำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มากกว่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ห่างไกลออกไป ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในระดับซับซ้อนที่ประเทศมีอยู่ได้หรือเข้าถึงได้ยาก ความเชื่อมโยงที่ต่ำยังสะท้อนอีกว่าบริษัทเหล่านี้ครอบครอง know how เพียงไม่กี่ประเภท ทำให้ขาดความหลากหลาย และเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะ path dependence ของการพัฒนาสินค้า ยิ่งทำให้เห็นว่า โอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะก้าวหน้าในเชิงนวัตกรรมหรือผลิตภาพ ย่อมเป็นไปได้ยาก

นอกเหนือจากมิติเรื่อง know how และความเชื่อมโยงแล้ว ภาคการผลิตของไทยยังมีการกระจุกตัวสูงในแง่ของมูลค่าการส่งออก รูปที่ 4 แสดงการกระจายตัวของมูลค่าส่งออกของบริษัทในแต่กลุ่ม จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกโดยบริษัทที่มีความซับซ้อนสูง มีสัดส่วนเพียง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากบริษัทที่มีความซับซ้อนต่ำถึงปานกลาง นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปในแต่ละกลุ่ม จะพบว่า มูลค่าที่เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่เพียง 5% แรก (แถบสีทึบ) จะมีสัดส่วนที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มซับซ้อนสูง มูลค่าส่วนนี้จะมีสัดส่วนถึงกว่า 85% การที่มูลค่าส่งออกส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในผู้เล่นจำนวนไม่กี่ราย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความซับซ้อนสูง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของผลลัพธ์ที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ประเทศไทยได้รับจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

รูปที่ 4 การกระจายตัวของมูลค่าส่งออก แบ่งตามระดับ PCI เฉลี่ยของบริษัท (2015)

การกระจายตัวของมูลค่าส่งออก แบ่งตามระดับ PCI เฉลี่ยของบริษัท (2015)

หมายเหตุ : มูลค่าที่เกิดจากบริษัทขนาดใหญ่ใน 5% แรกที่มา: Apaitan และคณะ (2017)

ความเหลื่อมล้ำของระดับรายได้เชิงพื้นที่

นวัตกรรมสินค้าและศักยภาพการผลิตที่มีการกระจุกตัวสูงในระดับผู้ประกอบการ ยังมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำ ของรายได้ในระดับจังหวัดและภูมิภาคอีกด้วย หากคำนวณค่าความซับซ้อนของสินค้าโดยเฉลี่ยรายจังหวัดโดยใช้ข้อมูลจังหวัดที่ตั้งและความซับซ้อนของผู้ประกอบการแต่ละราย และนำมาเปรียบเทียบกับระดับรายได้ที่แท้จริงต่อหัวโดยเฉลี่ยของแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีความซับซ้อนของสินค้าสูงมักมีระดับรายได้สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ (รูปที่ 5 ภาพซ้าย) นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความซับซ้อนของแต่ละจังหวัด กล่าวคือ จังหวัดที่มีความซับซ้อนสูงกว่าโดยเฉลี่ยแล้วจะรวยขึ้นเร็วกว่าจังหวัดที่มีความซับซ้อนของสินค้าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวรายจังหวัดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 5 ภาพขวา)

รูปที่ 5 ความซับซ้อนของสินค้ารายจังหวัด

ความซับซ้อนของสินค้ารายจังหวัด

ที่มา: The Observatory of Economic Complexity สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมศุลกากร คำนวณโดยผู้เขียน

ความเหลื่อมล้ำในระดับผู้ประกอบการและในเชิงพื้นที่นี้ สะท้อนถึงการกระจุกตัวของ know how ซึ่งจะทำให้การต่อยอดองค์ความรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นในวงกว้าง สุดท้ายแล้วจะกลายมาเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การวางแนวนโยบายที่เหมาะสมไม่เพียงต้องทำความเข้าใจถึงโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบัน แต่ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวของระดับศักยภาพในระดับผู้ประกอบการและเชิงพื้นที่อีกด้วย

ข้อสรุป: สู่การเติบโตในระยะยาว…ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศชั้นนำหลาย ๆ ประเทศ เมื่อวัดจากความหลากหลายและความซับซ้อนของสินค้า ทว่าปลายทางที่เรามาถึงนั้น องค์ความรู้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แพร่กระจายโดยทั่วถึง เปรียบได้กับการมี Two Thailands ที่อยู่ภายในประเทศไทยเดียวกัน ในภาพรวม ถึงแม้เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างชัดเจน แต่เมื่อมองลึกลงไป ด้านหนึ่งเราจะเห็น Thailand ที่ซับซ้อนและก้าวหน้า และในอีกด้านหนึ่งเราก็จะเห็น Thailand ที่ตามหลังอยู่ค่อนข้างมาก ลักษณะเช่นนี้จะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาวในที่สุด บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (structural transformation) ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะนำไปสู่การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจโดยรวมจาก (1) การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า และ (2) การเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มีระดับผลิตภาพต่ำหรือมีความซับซ้อนต่ำไปยังภาคเศรษฐกิจใหม่ที่มีผลิตภาพสูงกว่า ซึ่งจะช่วยขยายผลของศักยภาพที่สูงขึ้นในบางภาคส่วนไปยังภาคเศรษฐกิจโดยรวม

หนทางสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว มิใช่เพียงมุ่งที่จะเติบโตแบบเดิม ๆ ด้วยการผลิตสินค้าเดิม ๆ ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ควรมุ่งที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศที่สะท้อนอยู่ในความหลากหลายและระดับความซับซ้อนของสินค้าที่ผลิต ควรเน้นที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ โดยคำนึงถึงศักยภาพและทักษะความชำนาญที่มีอยู่ในปัจจุบันในการต่อยอดและขยายขอบเขตความสามารถ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบเศรษฐกิจและบรรยากาศการแข่งขันที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสินค้าให้เกิดขึ้นและถ่ายทอดได้อย่างทั่วถึง

เอกสารอ้างอิง

Apaitan, T., N. Ananchotikul and P. Disyatat (2017): “Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation,” PIER Discussion Paper, No. 72.

Hausmann, R and C Hidalgo (2011): “The Network Structure of Economic Output,” Journal of Economic Growth 16(4), pp. 309–342.

Hidalgo, C and R Hausmann (2009): “The Building Blocks of Economic Complexity,” Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 106(26), pp. 10570–10575.

Tosapol Apaitan
Tosapol Apaitan
Bank of Thailand
Nasha Ananchotikul
Nasha Ananchotikul
Kiatnakin Phatra Financial Group
Piti Disyatat
Piti Disyatat
Bank of Thailand
Topics: Productivity and Technological ChangeDevelopment Economics
Tags: customs dataeconomic growthproduct innovationstructural transformation
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2025 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email