Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Latest discussion Paper
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Latest aBRIDGEd
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
Latest PIER Economic Seminar
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
Latest PIER Research Exchange
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn
Institute for
Economic Research
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
Latest announcement
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/bb6ba8c8a39e2a68c5f1a784bfdad09c/e9a79/cover.png
22 December 2022
20221671667200000

วิกฤตภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทยส่งผลต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจแตกต่างกัน จึงควรศึกษาผลกระทบรอบด้านเพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงจุด
วิกฤตภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย
excerpt

บทความนี้ศึกษาผลกระทบของความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทย ผลการศึกษาพบว่า ในระดับประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมาก โดยภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะกระทบต่อหมวดอาหารสดโดยเฉพาะผักเป็นหลัก นอกจากนี้ ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อวิกฤตภูมิอากาศ ยังขึ้นอยู่กับทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ ทั้งหมดนี้สะท้อนความท้าทายของการทำความเข้าใจและการกำหนดนโยบายระดับประเทศเพื่อรับมือกับปัญหา climate change ในอนาคตที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นปรากฏการณ์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น สะท้อนจากอุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า และแผ่นดินไหว ที่บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ ปัญหา climate change มักถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสังคม แต่ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ตระหนักว่าวิกฤตการณ์ climate change ที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ (Batten et al., 2016; Scott et al., 2017; Batten, 2018; Bremus et al., 2020) จึงมีความจำเป็นที่ธนาคารกลางและผู้ดำเนินนโยบายต้องเร่งทำความเข้าใจถึงผลกระทบและช่องทางการส่งผ่านของ climate change ต่อเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่ายเสี่ยงสูงจากวิกฤตภูมิอากาศ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk)1 นั่นคือ ความเสี่ยงจากผลกระทบโดยตรงที่ภาวะโลกร้อนหรือภัยพิบัติทำให้การเติบโตของผลผลิตในประเทศหดตัวจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทั้งนี้ สาเหตุที่ประเทศไทยอ่อนไหวต่อความเสี่ยงทางกายภาพเป็นพิเศษ เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงประเทศไทยมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พึ่งพาการทำเกษตรกรรม ซึ่งอาจมีผลผลิตออกมาไม่ตรงตามฤดูกาลเมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และมีสัดส่วนของแรงงานทั้งประเทศที่อยู่ในภาคเกษตรสูงถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น อาหารสด ยังมีสัดส่วนสูงถึง 21% ในตะกร้าเงินเฟ้อไทย ซึ่งมักอ่อนไหวไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การทำความเข้าใจผลกระทบรวมถึงช่องทางการส่งผ่านของ climate change ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงมีนัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

งานวิจัยจำนวนไม่น้อยศึกษาผลกระทบของ climate change ในบริบทของประเทศไทย แต่ ยังไม่มีงานวิจัยใดที่เน้นวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยเฉพาะที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเงินเฟ้อด้วย ที่ผ่านมา Sangkhaphan & Shu (2019) เน้นศึกษาผลกระทบไปที่ผลผลิตรายภาค ขณะที่งานวิจัยของ Pipitpukdee et al. (2020) และ Pakeechai et al. (2020) เน้นศึกษาผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวและผลผลิตของพืชบางชนิด ส่วนงานวิจัยในระดับสากลมักเน้นใช้การวิเคราะห์หลาย ๆ ประเทศพร้อมกัน (cross-country analysis) เช่น Dell et al. (2012), Acevedo Mejia et al. (2018), Burke & Tanutama (2019) และ Kahn et al. (2019) เพื่อตอบโจทย์ว่า climate change มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาแตกต่างกันอย่างไร โดยผลการศึกษาพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า เนื่องจากมีทุนทรัพย์ องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานที่ด้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีความสามารถในการเผชิญหรือปรับตัวกับความเสี่ยงหรือความเสียหายที่มาจากการเกิดวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศได้ค่อนข้างจำกัด

ดังนั้น งานวิจัย Jirophat et al. (2022) จะถือว่าเป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่วิเคราะห์ผลกระทบของ climate change ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน โดยมุ่งตอบคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ (climate shocks) สามารถส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงของประเทศ (real GDP growth) และเงินเฟ้อไทยได้อย่างไรบ้าง ทั้งในระยะสั้น และระยะปานกลาง นอกจากนี้ เมื่อผลกระทบในระดับประเทศมักจะซ่อนรายละเอียดในระดับย่อยไว้ งานวิจัยจึงศึกษาเพิ่มเติมว่าผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจ แต่ละพื้นที่ รวมถึงเงินเฟ้อในแต่ละหมวดย่อยนั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และขึ้นอยู่กับทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและช่องทางการส่งผ่านของ climate shocks ต่อระบบเศรษฐกิจ อันจะมีส่วนช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

สภาพภูมิอากาศไทย เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างไร?

งานวิจัยนี้เลือกวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยดัชนี SPEI (Standardized Precipitation Evapotranspiration Index)2 ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดความผิดปกติของปริมาณน้ำสะสมเทียบกับในอดีตในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น 3, 6 และ 12 เดือน เป็นต้น ซึ่งหากค่าดัชนีเป็นลบจะบ่งบอกถึงสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง และค่าที่เป็นบวกจะหมายถึงสภาพภูมิอากาศที่เปียกชื้น นอกจากนี้ ค่าของดัชนี ณ ระดับต่าง ๆ จะสามารถบ่งบอกถึงความรุนแรง (extremity) ของสภาพภูมิอากาศได้ตามเกณฑ์ของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ในตารางที่ 1 ดังนั้น ดัชนี SPEI จึงมีความเหมาะสมในการศึกษาความแตกต่างของผลกระทบ climate shocks ต่อเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับ ทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของ climate shocks ได้เป็นอย่างดี

ตารางที่ 1: การแบ่งสภาพภูมิอากาศตามระดับความรุนแรงด้วยดัชนี SPEI

การแบ่งสภาพภูมิอากาศตามระดับความรุนแรงด้วยดัชนี SPEI

ที่มา: NOAA’s National Centers for Environmental Information แปลโดยคณะผู้วิจัย

รูปที่ 1 แสดงค่าดัชนี SPEI สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นมีความผันผวนในทุกช่วงเวลา โดยมีทั้งสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง (SPEI < 0) และเปียกชื้น (SPEI > 0) กว่าค่าปกติระยะยาว โดยในช่วงล่าสุด ประเทศไทยเพิ่งประสบกับเหตุการณ์ภัยแล้งที่ค่อนข้างใหญ่และยืดเยื้อ สะท้อนจากค่า SPEI ที่เบนออกจากค่าแนวโน้มระยะยาวเป็นเวลานานพอสมควร

รูปที่ 1: ดัชนี SPEI ประเทศไทย

ดัชนี SPEI ประเทศไทย

ที่มา: SPEIหมายเหตุ ดัชนี SPEI 6 เดือนซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของ 57 grids ที่ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทย

เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไทยที่ชัดเจนขึ้น รูปที่ 2a ได้นำค่า SPEI ดังแสดงในรูปที่ 1 มาประมวลเป็นแท่งเทียน (boxplot) โดยจะเห็นได้จากเส้นกลางของ boxplot ว่าค่ามัธยฐานของดัชนี SPEI ในช่วงระยะเวลาทุก ๆ 5 ปีนั้นมีแนวโน้มลดลง ขณะที่แท่งเทียนมีความกว้างมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีความแห้งแล้งมากขึ้น พร้อม ๆ กับมีความแปรปรวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และหากพิจารณาจากความถี่ของการเกิดสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งรุนแรง (extremely dry) ในรูปที่ 2b จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวเกิดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยค่ามัธยฐานในช่วง 5 ปีล่าสุดนั้นมีค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รูปที่ 2: ดัชนี SPEI และความถี่ในการเกิดสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งรุนแรง

ดัชนี SPEI และความถี่ในการเกิดสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งรุนแรง

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ รูปด้านซ้ายแสดงค่าดัชนี SPEI 6 เดือน ซึ่งแผนภูมิแท่งเทียน (boxplot) แต่ละกล่องจะแสดงค่าของข้อมูลในช่วงเวลาทุก 5 ปีซึ่งอยู่ในช่วง interquartile range ที่ 25% ถึง 75% โดยเส้นที่อยู่ตรงกลางของแท่งเทียนแสดงค่ามัธยฐาน (median) และเส้นประที่ยื่นออกมาจะสิ้นสุดที่ค่าต่ำและสูงสุด ขณะที่จุดวงกลมแสดง outliers รูปด้านขวาแสดงความถี่ในการเกิดสภาพภูมิอากาศแห้งแล้งรุนแรงตามเกณฑ์ของ NOAA ในตารางที่ 1 โดยเป็นค่าเฉลี่ยของสัดส่วนค่า SPEI 6 เดือน ที่อยู่ระหว่าง -1.6 และ -2 (แห้งแล้งรุนแรง) ของ 57 grids ที่ครอบคุลมพื้นที่ประเทศไทย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติสามารถทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ3 สะท้อนจากค่าต่ำสุดของผลกระทบ ในรูปที่ 3a ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.7% สำหรับทุกภาคการผลิต โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเมื่อเกิด climate shock แล้ว ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75% ในขณะที่ภาคการผลิตอื่น ๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6% หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อทุกภาคการผลิตเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราว เพราะหากไม่มี shock อื่นซ้ำเติม ผลกระทบต่อผลผลิตจะคลี่คลายภายใน 10 ไตรมาส ซึ่งผลการศึกษาในส่วนนี้ สอดคล้องกับงานศึกษาต่างประเทศที่ใช้วิธีการศึกษาที่คล้ายกัน เช่น ในกรณีของประเทศนิวซีแลนด์ Kamber et al. (2013) รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งขึ้นผิดปกติ สามารถทำให้ผลผลิตมวลรวมของประเทศหดตัวได้ถึง 0.6% และ ในกรณีประเทศยุโรป Bremus et al. (2020) พบว่าการเกิด climate shocks ทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ หดตัวประมาณ 0.9%

รูปที่ 3: ผลกระทบของ climate shocks ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

ผลกระทบของ climate shocks ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ กราฟแสดง Impulse response function ของการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงและผลผลิตในภาคการผลิตหลักที่แท้จริง (ภาพซ้าย) และอัตราเงินเฟ้อไทยและหมวดย่อยที่สำคัญ (ภาพขวา) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในขนาด 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของ SPEI 6 เดือน ตัวเลขในวงเล็บแสดงถึงสัดส่วนความสำคัญของผลผลิตในภาคการผลิตต่าง ๆ ต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศ (ภาพซ้าย) และน้ำหนักของหมวดสินค้าต่าง ๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อ (ภาพขวา)

ในทางตรงกันข้าม ผลกระทบของ climate shock ต่อเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานมีจำกัด ดังแสดงในรูปที่ 3b ขณะที่ climate shock ทำให้เงินเฟ้อในหมวดอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.14% ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับ Faccia et al. (2021) ที่พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เงินเฟ้อในหมวดอาหารสดในหลายประเทศจะเพิ่มขึ้นในขนาดที่ใหญ่กว่าเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเผชิญกับ climate shocks และถึงแม้ว่าขนาดของผลกระทบในงานวิจัยของ Faccia et al. (2021) จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ประมาณ 2% เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยของหลายประเทศที่อาจมีเงินเฟ้อหมวดอาหารที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าไทย แต่ระยะเวลาของผลกระทบนั้นจะค่อนข้างสั้นเหมือนกับกรณีของไทย สะท้อนว่าผลกระทบของ climate shock ต่อเงินเฟ้อในหลายประเทศรวมทั้งไทย เป็นปรากฎการณ์ชั่วคราว (temporary shock) ดังนั้น ในภาพรวม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำหน้าที่คล้าย supply shock ที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

แล้วผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจหรือไม่?

แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศจะหดตัวเมื่อเกิด climate shocks แต่หากพิจารณาในระดับย่อย ผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในแง่ของทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของผลกระทบ หากพิจารณาองค์ประกอบย่อยของผลผลิตมวลรวมของประเทศจากฝั่งอุปทาน รูปที่ 4a แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตส่วนมากหดตัวหลังเกิด climate shocks แต่อุตสาหกรรมที่พึ่งพิงกิจกรรมกลางแจ้งเช่น ภาคการก่อสร้าง จะได้รับผลเชิงบวก ซึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ หลังเกิดอุทกภัยจากฝนที่ตกหนัก หรือการเร่งการก่อสร้างในช่วงที่ฝนตกน้อยลง

รูปที่ 4: ผลกระทบของ climate shocks ต่อการขยายตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจ

ผลกระทบของ climate shocks ต่อการขยายตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจ

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ กราฟแสดง Impulse response function ของการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงในภาคการผลิตต่าง ๆ ในฝั่งอุปทาน (ภาพซ้าย) และองค์ประกอบที่สำคัญของฝั่งอุปสงค์ (ภาพขวา) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขนาด 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ที่อิง SPEI 6 เดือน (เส้นทึบ) และ SPEI 12 เดือน (เส้นประ) โดยตัวเลขในวงเล็บแสดงถึงขนาดความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ในผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงของประเทศ

อีกข้อสังเกตหนึ่งจากรูปที่ 4a คือ อุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหารเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบเชิงลบที่ค่อนข้างใหญ่ (เกือบ 3%) และค่อนข้างยืดเยื้อจาก climate shocks โดยการหดตัวของอุตสาหกรรมนี้ น่าจะมาจากการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาในรูปที่ 4b ว่า ผลกระทบของ climate shocks ต่ออุปสงค์ในภาคการส่งออกบริการที่มีการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบหลัก หดตัวในขนาดที่ใหญ่มากกว่า 6% หลังเกิด climate shocks ด้วยเช่นกัน (เส้นสีส้มทึบ) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมแล้ว climate shocks ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญด้วย ซึ่งตอกย้ำว่า ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศ พึ่งพาการขับเคลื่อนโดยสองอุตสาหกรรมนี้เป็นสำคัญ

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นอยู่กับลักษณะของ climate shocks เป็นสำคัญ

ถึงแม้ว่าผลกระทบต่ออุปสงค์ในภาคการส่งออกบริการจะมีขนาดใหญ่ แต่รูปที่ 4b แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบอื่น ๆ ด้านอุปสงค์ ซึ่งได้แก่การบริโภคและการลงทุนนั้น ได้รับผลกระทบน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ขนาดและระยะเวลาของผลกระทบในด้านอุปสงค์ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของ climate shocks เป็นสำคัญ โดยหาก climate shocks มีความผิดปกติในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่น เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบของ climate shocks ในระยะเวลา 6 เดือน (เส้นทึบ) กับ 12 เดือน (เส้นประ) ผลกระทบที่แสดงโดยเส้นประมีขนาดที่ใหญ่และส่งผลกระทบยาวนานกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะต่อการลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนว่าเมื่อความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศมีความยืดเยื้อถึงระดับหนึ่ง การบริโภคและการลงทุนอาจได้รับผลกระทบเชิงลบได้จากแรงกดดันระยะยาวต่ออุปสงค์ ซึ่งเป็นข้อค้นพบสำคัญในงานศึกษาของ Faccia et al. (2021) และ Batten (2018) ด้วยเช่นกัน

นอกจากผลกระทบที่ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ผลกระทบของ climate shocks ต่อเศรษฐกิจไทย ยังขึ้นอยู่กับทิศทางและความรุนแรงของการเกิดสภาพภูมิอากาศที่วิกฤตด้วย โดยจากภาพซ้ายบนของรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทยมีความไม่สมมาตรด้านทิศทาง (directional asymmetry) กล่าวคือ ผลผลิตภาคเกษตรจะขยายตัวเมื่อเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ชื้นขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกมากขึ้นจะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แร่ธาตุในดิน ในทางกลับกัน หากสภาพภูมิอากาศมีความแห้งแล้งขึ้น ผลผลิตในภาคเกษตรจะหดตัว ซึ่งความไม่สมมาตรนี้ สอดคล้องกับผลกระทบของ climate shocks ต่อราคาสินค้าในหมวดอาหารสดที่ถูกขับเคลื่อนจากเงินเฟ้อในหมวดผักที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ (ภาพด้านขวาบนของรูปที่ 5) กล่าวคือ ในกรณีที่ภูมิอากาศชื้นขึ้นผิดปกติ เงินเฟ้อในหมวดผักจะลดลงทันที 1.5% จากอุปทานส่วนเกินของการเพาะปลูก ในทางกลับกัน สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งขึ้น กลับเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและจะทำให้เงินเฟ้อในหมวดผักปรับสูงขึ้นเกือบ 2%

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและเงินเฟ้อในหมวดผักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของ climate shocks ด้วยเช่นกัน จากภาพด้านล่างของรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนจากแห้งแล้งน้อยเป็นแห้งแล้งรุนแรง ผลกระทบต่อผลผลิตในภาคเกษตรลดลงเกือบสามเท่า ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ชื้นน้อยเป็นชื้นรุนแรง ถึงแม้ไม่ได้กระทบกับผลผลิตในภาคเกษตรเท่าไหร่นัก แต่พบว่าเงินเฟ้อในหมวดผักจะลดลงเกือบเท่าตัว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การคำนึงถึงทิศทาง ความรุนแรง และความยืดเยื้อของ climate shocks มีความสำคัญมากในการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาหลายชิ้น เช่น Fomby et al. (2013), Kahn et al. (2019), และ Kim et al. (2021) ที่พบความไม่สมมาตรของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

รูปที่ 5: ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตในภาคเกษตรกรรมและเงินเฟ้อในหมวดผัก

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตในภาคเกษตรกรรมและเงินเฟ้อในหมวดผัก

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ กราฟแสดง Impulse response function ของการขยายตัวของผลผลิตในภาคเกษตรกรรมและเงินเฟ้อในหมวดผัก ต่อ 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของ SPEI 6 เดือน โดยจำแนกระหว่างทิศทางและความรุนแรงของผลกระทบ ตามหลักเกณฑ์ของการจำแนกในตารางที่ 1

ผลกระทบในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยยังมีความแตกต่างกันด้วย

ความเข้าใจผลกระทบของ climate change ในระดับรายจังหวัดถือเป็นเรื่องสำคัญ จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ Li et al. (2011) ที่ศึกษาผลผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ และจีน Kucharik & Serbin (2008) ที่ศึกษาผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองในระดับเทศมณฑลในรัฐ Wisconsin สหรัฐฯ และ Southworth et al. (2000) ที่ศึกษาผลผลิตข้าวโพดในเขต Midwest สหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบาย ภาคเอกชนและเกษตรกรสามารถรับมือและปรับตัวกับ climate change ในแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น บทความนี้จึงศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดที่แท้จริง (real Gross Provincial Province: GPP) ของประเทศไทย โดยมุ่งวิเคราะห์ว่าความแตกต่างของผลกระทบในรายพื้นที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยใด เช่น ระดับความยากจน หรือ กิจกรรมหลักในจังหวัดนั้น ๆ เช่น กิจกรรมการเกษตรกรรม หรือการท่องเที่ยว4

ผลการศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวในจังหวัดต่าง ๆ ลดลงถึง 2.28% ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบข้างต้นว่า climate shocks มีผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ พบว่าผลกระทบของ climate shocks ต่อการเติบโตของ GPP per capita ในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับของความยากจนในจังหวัดเป็นสำคัญ โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อเกิด climate shocks จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะมีการหดตัวของเศรษฐกิจมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ถึง 0.74% ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ผลกระทบของ climate change มีความแตกต่างกันในประเทศต่าง ๆ เนื่องจากประเทศที่มีรายได้น้อยมักมีความสามารถในการปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายจากภัยพิบัติส่งผลเชิงลบต่อความเป็นอยู่และโอกาสของประชาชนในประเทศนั้น ๆ (Hallegatte & Rozenberg, 2017 และ World Bank, 2012)

นอกจากนี้ กิจกรรมหลักในแต่ละจังหวัดยังส่งผลต่อความแตกต่างของผลกระทบ climate shocks ในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน จากผลการศึกษาก่อนหน้า กิจกรรมภาคเกษตรและการท่องเที่ยวมักอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผลกระทบในระดับจังหวัดพบว่า การพึ่งพาการท่องเที่ยวไม่สามารถช่วยอธิบายผลกระทบที่แตกต่างกันในรายพื้นที่ได้ชัดเจนเท่ากับสัดส่วนของกิจกรรมทางการเกษตรของจังหวัดนั้น ๆ โดยผลการศึกษาพบว่า ในกรณีที่สภาพภูมิอากาศมีความชื้นสูงขึ้น จังหวัดที่มีสัดส่วนกิจกรรมทางการเกษตรสูงจะมีผลผลิตที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉลี่ย 1.45% ต่อปี เนื่องจากกิจกรรมในภาคการเกษตรมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้น ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา เช่น Akram (2013) และ Phatcharopaswatanagul (2018)

บทสรุป

บทความนี้ศึกษาผลกระทบของความเสี่ยงทางกายภาพจากสภาพภูมิอากาศวิกฤตต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทย โดยรวมแล้วพบว่า การเกิด climate shocks ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว ในขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยชั่วคราวโดยเฉพาะในหมวดอาหารสด ซึ่งจากผลการศึกษานี้ นัยเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การเกิด climate shocks ในระยะต่อไปที่มีแต่จะรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นนั้น จะ ทำให้การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืนของผู้ดำเนินนโยบายมีความท้าทายขึ้น ทั้งจากความอ่อนไหวของภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศที่อาจสูงขึ้นจากผลกระทบของ climate change ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มคนรายได้ต่ำและสูง รวมถึงภาคแรงงานและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างและการกระจายองค์ความรู้เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้นั้นมีความจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เกษตรกร หรือธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารกลางจะมีความท้าทายขึ้นเช่นกัน เนื่องจากวิกฤตภูมิอากาศอาจทำให้เงินเฟ้อผันผวนขึ้น โดยเฉพาะในหมวดอาหารสดที่อ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ รวมถึงเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการใช้คาร์บอน ดังนั้น เพื่อรับมือกับการเกิด climate change ผู้ดำเนินนโยบายควรเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตภูมิอากาศอย่างลึกซึ้งและรอบด้านขึ้น โดยเฉพาะเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศและระบบเศรษฐกิจนั้นมีความซับซ้อน และแปรผันไปตามหลากหลายปัจจัย เช่น ทิศทาง ขนาด และความยืดเยื้อของ climate shocks ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถนำมาประกอบการพิจารณาและกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหา climate change ได้อย่างมีประสิทธิผลและตรงจุด

เอกสารอ้างอิง

Acevedo Mejia, S., Mrkaic, M., Novta, N., Pugacheva, E., & Topalova, P. B. (2018). The effects of weather shocks on economic activity: what are the channels of impact?
Akram, N. (2013). Is climate change hindering economic growth of Asian economies. Asia-Pacific Development Journal, 19(2), 1–18.
Batten, S. (2018). Climate change and the macro-economy: a critical review.
Batten, S., Sowerbutts, R., & Tanaka, M. (2016). Let’s talk about the weather: the impact of climate change on central banks.
Bremus, F., Dany-Knedlik, G., & Schlaak, T. (2020). Price stability and climate risks: sensible measures for the European Central Bank. DIW Weekly Report, 10(14), 206–213.
Buckle, R. A., Kim, K., Kirkham, H., McLellan, N., & Sharma, J. (2007). A structural VAR business cycle model for a volatile small open economy. Economic Modelling, 24(6), 990–1017.
Burke, M., & Tanutama, V. (2019). Climatic constraints on aggregate economic output. National Bureau of Economic Research.
Dell, M., Jones, B. F., & Olken, B. A. (2012). Temperature shocks and economic growth: Evidence from the last half century. American Economic Journal: Macroeconomics, 4(3), 66–95.
Faccia, D., Parker, M., & Stracca, L. (2021). Feeling the heat: extreme temperatures and price stability.
Fomby, T., Ikeda, Y., & Loayza, N. V. (2013). The growth aftermath of natural disasters. Journal of Applied Econometrics, 28(3), 412–434.
Hallegatte, S., & Rozenberg, J. (2017). Climate change through a poverty lens. Nature Climate Change, 7(4), 250–256.
Jirophat, C., Manopimoke, P., & Suwanik, S. (2022). The Macroeconomic Effects of Climate Shocks in Thailand. Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Kahn, M. E., Mohaddes, K., Ng, R. N., Pesaran, M. H., Raissi, M., & Yang, J.-C. (2019). Long-term macroeconomic effects of climate change: A cross-country analysis. National Bureau of Economic Research.
Kamber, ӟnes, McDonald, C., Price, G., & others. (2013). Drying out: Investigating the economic effects of drought in New Zealand. Reserve Bank of New Zealand Wellington.
Kim, H. S., Matthes, C., & Phan, T. (2021). Extreme Weather and the Macroeconomy. Available at SSRN 3918533.
Kucharik, C. J., & Serbin, S. P. (2008). Impacts of recent climate change on Wisconsin corn and soybean yield trends. Environmental Research Letters, 3(3), 034003.
Li, X., Takahashi, T., Suzuki, N., & Kaiser, H. M. (2011). The impact of climate change on maize yields in the United States and China. Agricultural Systems, 104(4), 348–353.
Pakeechai, K., Sinnarong, N., Autchariyapanitkul, K., & Supapunt, P. (2020). ปัจจัย ที่ มี ผล กระทบ จาก การ เปลี่ยนแปลง สภาพ ภูมิ อากาศ ต่อ การ ผลิต ข้าว และ การเกษตร ที่ ปราดเปรื่อง เรื่อง สภาพ ภูมิ อากาศ ใน พื้นที่ รับ น้ำ ภาค กลาง ประเทศไทย. RMUTSB ACADEMIC JOURNAL (HUMANITIES AND SOCIAL SCIENCES), 5(2), 196–218.
Phatcharopaswatanagul, A. (2018). Impacts of climate change on casava in Northeastern of Thailand [Phdthesis]. Maejo University Chiang Mai, Thailand.
Pipitpukdee, S., Attavanich, W., & Bejranonda, S. (2020). Climate change impacts on sugarcane production in Thailand. Atmosphere, 11(4), 408.
Sangkhaphan, S., & Shu, Y. (2019). The effect of rainfall on economic growth in Thailand: a blessing for poor provinces. Economies, 8(1), 1.
Scott, M., Van Huizen, J., & Jung, C. (2017). The bank’s response to climate change. Bank of England Quarterly Bulletin, Q2.
Southworth, J., Randolph, J., Habeck, M., Doering, O., Pfeifer, R., Rao, D. G., & Johnston, J. (2000). Consequences of future climate change and changing climate variability on maize yields in the midwestern United States. Agriculture, Ecosystems & Environment, 82(1–3), 139–158.
Vicente-Serrano, S. M., Beguerı́a, S., & López-Moreno, J. I. (2010). A multiscalar drought index sensitive to global warming: the standardized precipitation evapotranspiration index. Journal of Climate, 23(7), 1696–1718.
World Bank. (2012). Thai flood 2011: Rapid assessment for resilient recovery and reconstruction planning. World Bank.

  1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเกิดจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนผ่าน (transition risk) ได้ด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการออกนโยบายหรือกฎระเบียบของทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย transition risk มักมีนัยต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะการออกกฎหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจไปเพิ่มต้นทุนให้บางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน หรืออุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง จนทำให้ฐานะการเงินของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้แก่ธุรกิจเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงตามไปด้วย↩
  2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถวัดได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น (1) การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอุตุนิยมวิทยา (meteorological data) โดยตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน (precipitation) หรืออุณหภูมิ (temperature) และ (2) การพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเทียบกับค่าปกติในอดีต (historical norm) ด้วยค่าดัชนีต่าง ๆ เช่น ดัชนี SMDI (Soil Moisture Deficit Index) ที่วัดความผิดปกติของปริมาณน้ำในดินสะสมเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต หรือ ดัชนี SPEI ที่วัดความผิดปกติของปริมาณน้ำสะสมเทียบกับในอดีต (Vicente-Serrano et al. (2010))↩
  3. ผลการศึกษาในช่วงปี 2001Q1–2020Q4 โดยใช้แบบจำลอง Structural Vector Autoregression (SVAR) คล้าย Buckle et al. (2007) และ Kamber et al. (2013) เพื่อจำลองระบบเศรษฐกิจซึ่งมีสามส่วนได้แก่ 1) ส่วนสภาพภูมิอากาศ (climate bloc) ที่ประกอบด้วย ดัชนี SPEI 2) ส่วนเศรษฐกิจโลก (global bloc) ประกอบด้วยผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงภายในประเทศของกลุ่ม OECD ดัชนี VIX (Volatility Index) ราคาน้ำมันโลกที่แท้จริง (real world oil prices) และ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่แท้จริงที่ไม่ใช่ราคาพลังงาน (real non-fuel commodity prices) และ 3) ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศ (domestic bloc) ประกอบด้วย ผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงภายในประเทศ (real GDP) ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี (2-year government bond yield) และดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate) โดยผลการศึกษาจะแสดงโดย Impulse response function หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต (dynamic impact) ของการเติบโตของผลผลิตที่แท้จริงหลังเกิด SPEI shock ในขนาด 1 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งเทียบเคียงได้กับขนาดของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงที่เกิดภัยแล้งในช่วงปี 2019–2020↩
  4. ศึกษาโดยใช้แบบจำลอง panel autoregressive distributed lag model (panel ARDL) ซึ่งดัดแปลงมาจาก Kahn et al. (2019) โดยมี provincial และ time fixed effects โดยใช้ตัวแปรทางสภาพภูมิอากาศเป็น SPEI 12 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลผลผลิตมวลรวมของเศรษฐกิจรายจังหวัดที่เป็นข้อมูลรายปีตังแต่ 2001–2019 ส่วนนิยามของ dummy variables ที่ใช้ศึกษาความแตกต่างของผลกระทบ climate shocks ระหว่างจังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดที่ยากจน ได้แก่ จังหวัดที่ GPP per capita ต่ำกว่าหรือเท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 ของ GPP per capita เฉลี่ยของ 77 จังหวัด โดยพบว่า มี 20 จังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสานที่ถูกนิยามว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 2) จังหวัดที่มีสัดส่วนของกิจกรรมทางเกษตรสูง ให้นิยามว่ากิจกรรมทางเกษตรสูงกว่า 5% ของ GPP per capita โดยพบ 62 จังหวัดที่ถูกนิยามว่าเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนกิจกรรมทางการเกษตรสูง และ 3) จังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง จัดตามกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยพบว่า มี 13 จังหวัดเป็นจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง↩
The views expressed in this workshop do not necessarily reflect the views of the Puey Ungphakorn Institute for Economic Research or the Bank of Thailand.
Topics: MacroeconomicsAgricultural and Natural Resource EconomicsEnvironmental and Ecological Economics
Tags: climate shocksclimate changemacroeconomyinflationextremitynonlinearitysectors of productionoutput
Pym Manopimoke
Pym Manopimoke
Bank of Thailand
Suparit Suwanik
Suparit Suwanik
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Chaitat Jirophat
Chaitat Jirophat
Bank of Thailand

Puey Ungphakorn Institute for Economic Research

273 Samsen Rd, Phra Nakhon, Bangkok 10200

Phone: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

Terms of Service | Personal Data Privacy Policy

Copyright © 2023 by Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Content on this site is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license.

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

Get PIER email updates

Facebook
YouTube
Email