สังคมสูงวัยกับภาระทางการคลัง
excerpt
บทความนี้ประเมินการเปลี่ยนแปลงรายรับรายจ่ายภาครัฐที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างอายุของประชากร โดยจากข้อมูลในอดีต พบว่ารายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุปรับเพิ่มขึ้นแล้ว และรายรับรายจ่ายบางรายการมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับโครงสร้างอายุของประชากร ซึ่งหากนำความสัมพันธ์ดังกล่าวมาประเมินควบคู่กับโครงสร้างประชากรไปข้างหน้า โดยใช้ข้อสมมติอย่างง่าย เช่น ให้ภาครัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายรับรายจ่ายจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ดุลการคลังเบื้องต้นจะขาดดุลคิดเป็น 1.4% ของ GDP ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 2.3% ของ GDP ต่อปี ในอีก 40 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการคลังในระยะข้างหน้า
รายรับรายจ่ายของภาครัฐมีความสัมพันธ์กับประชากรในหลายมิติ โดยรัฐมีรายรับจากประชาชน (ทางตรงและทางอ้อม) ผ่านการเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ขณะเดียวกัน รัฐก็มีรายจ่ายให้กับประชาชนไม่ว่าจะผ่าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรและกระจายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการรักษากฎหมายและจัดระเบียบสังคม เป็นต้น หากรายรับและรายจ่ายจากกระเป๋าเงินของภาครัฐมีความสมดุล ย่อมส่งผลให้สถานะการคลังมีเสถียรภาพ เอื้อให้รัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางของรายรับรายจ่ายภาครัฐ รวมถึงขนาดของรายรับรายจ่ายภาครัฐนั้น ๆ โดยสามารถอธิบายได้ด้วย 2 เหตุผลหลัก
เหตุผลแรก คือ คนแต่ละช่วงอายุมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างรายรับรายจ่ายภาครัฐที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถกล่าวกว้าง ๆ ได้ว่าคนวัยทำงาน (ในระบบ) เป็นวัยที่สร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐ เนื่องจากส่วนใหญ่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจากการทำงาน และเสีย VAT จากการบริโภคสินค้าและบริการ แต่วัยนี้โดยเฉลี่ยจะรับเงินช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐไม่มากนัก ขณะที่คนวัยเกษียณจะเป็นรายจ่ายสุทธิของรัฐ นอกจากส่วนใหญ่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานและอาจไม่มีภาระภาษีรายได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยังเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเงินสนับสนุนค่อนข้างมาก เช่น เงินให้หลังเกษียณประเภทต่าง ๆ และสวัสดิการด้านสุขภาพ
เหตุผลที่สอง คือ คนแต่ละช่วงอายุมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น ชั่วโมงการทำงาน ประสิทธิภาพแรงงาน การออม และการบริโภค ยกตัวอย่างแรงงานอายุ 50 ปี โดยเฉลี่ยมักมีรายได้สูงกว่าแรงงานอายุ 25 ปี แม้ทั้งสองคนจะสร้างรายได้ให้รัฐผ่านภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่คนอายุ 50 ปีจ่ายภาษีในส่วนนี้มากกว่า
การคลังที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องเกิดจากการดำเนินนโยบายและการจัดการพื้นที่ทางการคลังที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการจัดเก็บรายได้ และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามความจำเป็น อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดงบประมาณที่จะมากขึ้นในภาวะสังคมสูงวัย หากเรามองภาครัฐเป็นตัวกลาง เห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วเกิดการโอนเงินจากคนวัยทำงานไปสู่คนวัยเกษียณ เมื่อสัดส่วนของวัยทำงานลดลงและวัยเกษียณปรับสูงขึ้น เงินโอนดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ ทำให้รัฐต้องพิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายหรือหาช่องทางหารายได้เพิ่ม ไม่เช่นนั้น รัฐต้องดึงทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันผ่านการสร้างหนี้สาธารณะอันเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
ในกรณีของประเทศไทย ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยมีมากขึ้นกว่าในอดีต และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีของไทยจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 15% ของประชากรในปี 2022 เป็น 30% ในปี 2046 (United Nations, 2022) ขณะเดียวกัน ไทยมีการขาดดุลการคลังเฉลี่ย 3.0%1 ของ GDP ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2011–2021) สะท้อนว่าไทยไม่มีพื้นที่ทางการคลังรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุข้างต้นมากนัก การรักษาเสถียรภาพทางการคลังจึงจะทำได้ยากกว่าที่ผ่านมา2 บทความนี้จะวิเคราะห์ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อรายรับและรายจ่ายของภาครัฐไทย รวมถึงวาดภาพผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางด้านการคลัง โดยใช้ข้อสมมติฐานอย่างง่ายที่อิงกับข้อมูลในอดีต
ในส่วนนี้จะขอพูดถึงข้อมูลรายรับรายจ่ายของภาครัฐในสองระดับ ระดับมหภาคที่ฉายภาพกว้าง ๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรจะกระทบต่อรายการไหนและคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ต่อรายรับรายจ่ายรวม และระดับจุลภาคที่เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายรับรายจ่ายของรัฐกับประชากรในระดับบุคคลโดยคำนึงถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ
การจัดทำงบประมาณทั้งด้านรายรับรายจ่ายของภาครัฐที่ผ่านมาโดยรวมเติบโตสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนวงเงินงบประมาณภาครัฐค่อนข้างคงที่อยู่ที่ประมาณ 17% ของ GDP โดยเป็นรายจ่ายประจำเฉลี่ยประมาณ 80% และรายจ่ายลงทุนประมาณ 20%3 ซึ่งหากจำแนกค่าใช้จ่ายตามลักษณะงาน4 พบว่าส่วนใหญ่มีสัดส่วนต่อรายจ่ายรวมค่อนข้างคงที่ ยกเว้นรายจ่ายในด้านสังคมสงเคราะห์ ที่เพิ่มจากสัดส่วน 7% ของรายจ่ายรวมในปี 2011 เป็น 14% ในปี 2021 (รูปที่ 1) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรับสูงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และหากพิจารณาย่อยลงไป พบว่า 5 ใน 10 ของรายจ่ายตามลักษณะงานมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร (รูปที่ 2) โดยรายจ่ายในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของรายจ่ายรวมปี 2021
โดยรายจ่ายดังกล่าวข้างต้น บางส่วนเป็นรายจ่ายภาครัฐที่ยากต่อการลดทอน5 จึงทำให้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามความจำเป็น ทั้งในส่วนของสวัสดิการเพื่อดูแลบุคลากรภาครัฐ รวมถึงสวัสดิการของประชาชนเอง โดยเฉพาะสวัสดิการของประชาชนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเองก็พยายามขยายฐานการช่วยเหลือให้ครอบคลุมกลุ่มประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ) เพื่อดูแลสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือการขยายระยะเวลาและฐานกลุ่มเป้าหมายของเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร เพื่อดูแลภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เป็นต้น
งานศึกษานี้พิจารณารายจ่ายเพียง 2 รายการและรายรับ 1 รายการ เนื่องด้วยข้อมูลระดับบุคคลที่มีจำกัด โดยแต่ละรายการประเมินข้อมูลในรายอายุและปี รายจ่ายประกอบด้วยเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการและค่ารักษาพยาบาลข้าราชการซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง โดย 2 รายการนี้คิดเป็น 9% ของรายจ่ายภาครัฐรวมปี 2021 ขณะที่รายรับพิจารณาเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมสรรพากรเท่านั้น ซึ่งคิดเป็น 13% ของรายรับรวมภาครัฐปี 2021
มูลค่าเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ระหว่างปี 2004–2021 ปรับสูงขึ้น สามารถอธิบายได้ด้วยสองปัจจัยหลัก คือ
- จำนวนผู้มีสิทธิรับเบี้ยหวัดที่เพิ่มขึ้น โดยจากรูป 3a จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับอายุ โดยจะทยอยปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 50 ปี เนื่องจากเป็นอายุที่เข้าเกณฑ์การเข้าโครงการเกษียณอายุข้าราชการก่อนกำหนด (early retire) และจะปรับสูงขึ้นเต็มที่เมื่ออายุ 60 ปี (อายุเกษียณ) นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าจำนวนคนกลุ่มสูงอายุปรับสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจำนวนข้าราชการรายอายุ
- รายจ่ายเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญต่อหัวแบ่งตามอายุซึ่งก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น (รูป 3b) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับตามค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ที่เป็นสวัสดิการแรงงานที่รัฐบาลมีให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัวตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถแบ่งออกได้เป็นค่ารักษาพยาบาลของตัวข้าราชการเอง และค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัว เนื่องจากข้อมูลที่ค่อนข้างสั้น (ปี 2018–2021) จึงอาจไม่เห็นมิติของการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลามากนัก ทั้งนี้ รูปที่ 4 แสดงความสัมพันธ์ของรายจ่ายกับอายุที่ค่อนข้างชัดเจน โดยมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
- การเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการโดยเฉลี่ยเป็นการเบิกให้กับเจ้าตัวและบุคคลในครอบครัวในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (ประมาณ 1:1)
- เมื่อข้าราชการและบุคคลในครอบครัวมีอายุมากขึ้น ก็จะมีจำนวนการใช้สิทธิรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยข้าราชการใช้สิทธิมากที่สุดช่วงประมาณอายุ 60 ปีและทยอยลดลง ขณะที่บุคคลในครอบครัวที่ใช้สิทธิส่วนใหญ่จะเป็นวัยเด็ก (ลูก) และวัยชรา (พ่อแม่) ของข้าราชการเป็นหลัก (รูป 4a)
- ค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลต่อหัวเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มในอัตราที่เร็วขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น (รูป 4b)
- การกระจายของการเบิกค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างเบ้มาก กล่าวคือ คนส่วนใหญ่เบิกค่ารักษาในระดับที่ไม่สูงมากนัก แต่มีสัดส่วนคนกลุ่มน้อยที่เบิกค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาลสูงกว่าค่ากลาง (P50) มาก (รูป 4c)
ในด้านรายรับ ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายอายุจากกรมสรรพากรปี 2017–2021 ชี้ว่าภาษีส่วนใหญ่จะมาจากบุคคลวัยทำงานอายุ 15–65 ปี (รูปที่ 5) โดยกลุ่มอายุ 35–45 ปี มีจำนวนผู้เสียภาษีมากที่สุด อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บได้ต่อหัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ6 ส่งผลให้รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีรายได้สูงสุดจากกลุ่มคนอายุ 45–55 ปี สำหรับในช่วง 5 ปีที่มีข้อมูล การจัดเก็บภาษีในแต่ละช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน
โดยสรุปในส่วนที่สองนี้ การใช้งบประมาณในภาพใหญ่แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นสวัสดิการของประชาชนนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายภาครัฐอื่น ๆ ขณะที่ข้อมูลในระดับจุลภาคก็แสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างอายุและรายรับรายจ่ายของภาครัฐบางรายการ ซึ่งในหัวข้อถัดไป เราจะอาศัยความสัมพันธ์ดังกล่าวมาช่วยประเมินแนวโน้มรายรับรายจ่ายของภาครัฐไปข้างหน้าตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
หลายประเทศมีการจัดทำรายงานประเมินภาระภาคการคลังที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ เช่น คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission: EC) มีรายงานประมาณการผู้สูงอายุ (aging report)7 ที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลต่องบประมาณด้านการคลัง 50 ปีข้างหน้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณานโยบายรักษาเสถียรภาพด้านการคลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สหรัฐฯ มีสำนักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภา (Congressional Budget Office: CBO) ที่เผยแพร่ประมาณการณ์งบประมาณและการขยายตัวทางเศรษฐกิจทุก ๆ ปี โดยเป็นการประมาณการระยะ 10 ปี ภายใต้ข้อสมมติว่าภาครัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะรายจ่ายและการเก็บภาษี รวมถึงมีการต่อข้อสมมติไปเป็นระยะ 30 ปี โดยการจัดทำรายงานแต่ละครั้งจะมีการทบทวนข้อสมมติใหม่เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและงบประมาณเสมอ
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลด้านการคลัง ผ่านการดำเนินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567–2570) รวมถึงมีการออกรายงานความเสี่ยงทางการคลังสู่สาธารณะเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีบางส่วนที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการคลังต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร8 แต่ไทยก็ยังไม่มีรายงานประเมินความเสี่ยงภาคการคลังฉบับใดที่ประเมินเฉพาะด้านที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ บทความนี้จึงถือโอกาสใช้ข้อมูลรายรับรายจ่ายตามอายุข้างต้นควบคู่กับการประมาณการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกรณีฐานจากสหประชาชาติ เพื่อฉายภาพตัวอย่างภาระการคลังไปข้างหน้าโดยใช้ข้อสมมติฐานความสัมพันธ์ทางบัญชีด้านรายรับรายจ่ายแบบง่าย ๆ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ยังมีปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งที่เกิดขึ้นจากข้อสมมติโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมหภาค นโยบายภาครัฐในระยะยาว และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งไม่อาจทราบได้9
การวาดภาพรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับโครงสร้างประชากรไปข้างหน้าอาศัยข้อสมมติที่สำคัญ 5 ข้อดังต่อไปนี้
- งานศึกษานี้ใช้การประเมินรายรับรายจ่ายภาครัฐที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างประชากรเป็นบางรายการเท่านั้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล โดยประเมินด้านรายจ่าย 4 รายการ และด้านรายรับ 1 รายการ โดยรายจ่ายประกอบด้วย เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งสวัสดิการข้าราชการและประชาชนทั่วไป ขณะที่ฝั่งรายรับพิจารณาเพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- สมมติให้พฤติกรรมรายรับรายจ่ายของภาครัฐอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ให้เป็นสัดส่วนที่คงที่ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ10
- การประเมินค่าใช้จ่ายไปข้างหน้า สมมติให้โครงสร้างรายรับรายจ่ายตามอายุคงที่เท่ากับระดับจริงที่เห็นในข้อมูลปัจจุบัน ดังนั้น ผลต่องบดุลที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรในแต่ละช่วงอายุตามประมาณการกรณีฐานจาก United Nations (2022) เท่านั้น
- สมมติให้โครงสร้างอายุของข้าราชการสอดคล้องกับโครงสร้างอายุของประชากรไทยทั้งประเทศ
- สมมติให้รายรับรายจ่ายต่อหัวปรับตามการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว เพื่อให้การประเมินไม่อ่อนไหวกับข้อสมมติด้านเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว
จากการประเมินตามกรอบข้างต้นพบว่ารายจ่ายทั้ง 4 รายการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่รายรับจากภาษีเงินได้ปรับลดลง (รูปที่ 6) สะท้อนโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนคนแก่มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวจะได้รับบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพ และต้องการการรักษาพยาบาลมากขึ้น ขณะที่การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะเก็บเฉพาะในช่วงของวัยทำงานเท่านั้น ตามที่ได้อธิบายด้วยข้อมูลในส่วนที่สามของบทความข้างต้น ในอีก 40 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับค่าในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเบี้ยยังชีพมีอัตราการเติบโตตามมูลค่าที่แท้จริงมากที่สุด (84%) ตามมาด้วยรายจ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการ (51%) เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (26%) และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (23%) ขณะที่รายรับจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง 21%
หากพิจารณาผลกระทบของรายรับรายจ่ายข้างต้นต่องบดุลของภาครัฐ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.1% ของ GDP ปี 2062 ขณะที่ในฝั่งรายรับมีแนวโน้มลดลงประมาณ 0.2% ของ GDP ต่อปี (ตารางที่ 1) ซึ่งภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามหลักการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองคงต้องพยายามปรับปรุงโครงสร้างรายรับ และขยายฐานการเก็บภาษีให้กว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อชดเชยรายรับที่มีแนวโน้มลดลง เพื่อให้ดุลการคลังขั้นต้น (primary balance) ปรับตัวดีขึ้นจากผลการประเมินเบื้องต้น ที่คาดว่าจะลดลงประมาณ 2.3% ของ GDP ต่อปี
2022 | 2042 | 2062 | |
---|---|---|---|
รายจ่ายผู้สูงอายุ (บางรายการ) | |||
เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ | 1.85 | 2.02 | 2.23 |
ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ | 0.46 | 0.79 | 0.93 |
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ | 0.45 | 0.83 | 1.05 |
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ | 0.88 | 1.34 | 1.51 |
รายรับจากผู้สูงอายุ (บางรายการ) | |||
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | 2.07 | 2.01 | 1.88 |
ผลรวมต่อการเปลี่ยนแปลงดุลการคลังขั้นต้น (ปี 2021) | -1.4 | -2.27 |
ทั้งนี้ หากค่าใช้จ่ายหรือรายรับต่อหัวเปลี่ยนแปลงในอัตราที่ต่างจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว ก็จะส่งผลให้ภาระภาคการคลังปรับสูงขึ้นหรือลดลงจากที่ประเมินไว้ข้างต้น เช่น หากค่าใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเลย เมื่อเวลาผ่านไปและเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยลงต่อขนาดเศรษฐกิจ (รูปที่ 7) แต่ขณะเดียวกัน ก็ย่อมหมายถึงว่ากำลังซื้อที่คนได้รับจากบำเหน็จบำนาญหรือความเพียงพอของการรักษาพยาบาลก็จะลดลงตาม
ที่ผ่านมา นโยบายภาครัฐที่ดูแลเรื่องการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับเรื่องความเพียงพอทางรายได้ของคนวัยชรา เช่น การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น11 (ทั้งนี้ ระบบบำเหน็จบำนาญไทยยังมีปัญหาอยู่หลายอย่าง อ่านเพิ่มเติมได้จาก Wasi et al. (2020) และ Wasi et al. (2021)) และการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ12 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย13 ซึ่งการจ่ายเงินสงเคราะห์ของกองทุนดังกล่าวก็นับเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญกับความเพียงพอของรายได้ผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี ภายใต้บริบทสังคมสูงวัยที่รายจ่ายสวัสดิการภาครัฐจะเพิ่มขึ้นและรายรับบางประเภทจะลดลงตามบทวิเคราะห์ข้างต้น การมีแผนเตรียมรับมือของประชาชนเองไม่ว่าจะลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ที่ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็น โดยภาครัฐได้มีการส่งเสริมด้านระบบการออมเงินเพื่อสนับสนุนประชาชน ผ่านนโยบายส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (providence fund: PVD) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ..... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนรวมเพื่อการออมและการลงทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (กองทุน SSF และกองทุน RMF) เพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงด้านรายได้ของประชาชนเมื่อต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ14 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระในด้านการรักษาพยาบาลของประชาชน ตลอดจนเป็นการลดภาระทางการคลังของภาครัฐในการดูแลสุขภาพประชาชน
ถึงแม้ว่ามาตรการข้างต้นอาจช่วยดูแลประชาชนรวมถึงสร้างหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณได้ในระดับหนึ่ง แต่การให้ความสำคัญกับการควบคุมรายจ่ายภาครัฐให้สอดคล้องกับรายรับ รวมถึงการสร้างวินัยด้านการออมในระดับบุคคลในช่วงที่ยังอยู่ในวัยแรงงาน จะช่วยลดภาระด้านงบประมาณภาครัฐ เน้นการพึ่งพาตนเอง และช่วยรักษาความยั่งยืนทางการคลังต่อไป
ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาแสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับรายรับและรายจ่ายของภาครัฐ กล่าวคือ เมื่อมีประชากรวัยทำงานน้อยลงและผู้สูงอายุมากขึ้น ก็จะส่งผลให้รายรับของภาครัฐลดลงขณะที่รายจ่ายมากขึ้น งานศึกษานี้อาศัยความสัมพันธ์ที่เห็นได้จากข้อมูลบางรายการในระดับบุคคลของกรมบัญชีกลางและกรมสรรพากร ประกอบกับข้อสมมติการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เพื่อนำมาวาดภาพผลกระทบที่มีต่อรายรับรายจ่ายภาครัฐในระยะยาวบนสมมติฐานอย่างง่าย ซึ่งพบว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอาจส่งผลให้ดุลการคลังเบื้องต้นขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2% ต่อปีเมื่อเทียบกับโครงสร้างประชากรปัจจุบัน
ในปัจจุบัน ภาครัฐพยายามสนับสนุนและส่งเสริมการออมแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมาตรการที่จะออกมาเพิ่มเติม เช่น ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. คนบ.) ที่เป็นแผนแม่บทและแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศในภาพรวม ขณะที่ในระยะข้างหน้า การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สร้างรายได้ใหม่ รวมถึงใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเป็นแนวทางกว้าง ๆ ที่น่าจะสามารถช่วยบรรเทาผลลบจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุได้ แต่แนวทางและวิธีการในรายละเอียดคงเป็นสิ่งที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในงานศึกษาต่อ ๆ ไป และคงเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนต้องร่วมกันทำ
อย่างไรก็ดี นัยเชิงนโยบายซึ่งคณะผู้เขียนมองว่ามีประโยชน์และจำเป็น คือการให้มีหน่วยงานของภาครัฐมารับหน้าที่ในการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อโครงสร้างรายรับรายจ่ายของภาครัฐอย่างเป็นระบบและมีการทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและงบประมาณที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับที่มีในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการจัดทำบทวิเคราะห์ดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยให้ทุกหน่วยงานรัฐรวมถึงภาคประชาชนเข้าใจถึงปัญหาในภาพเดียวกัน และใช้เป็นหลักอ้างอิงในการวางแผนทั้งระดับกลยุทธ์ภาพใหญ่และระดับปฏิบัติการให้มีการเตรียมรับมือที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดและความเร่งด่วนของปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสามารถชี้วัดประสิทธิภาพของนโยบายที่ออกมาได้อย่างเป็นระบบ
เอกสารอ้างอิง
- รายงานสถานการณ์ด้านการคลัง ปีงบประมาณ 2565 ฉบับที่ 11 สิงหาคม 2565↩
- นอกจากนี้ ระดับรายได้ต่อหัวของประชากรไทยยังต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ผ่านการเปลี่ยนผ่านทางประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุมาแล้ว นั้นก็หมายถึงว่าไทยกำลังจะเผชิญปัญหาการลดลงของประชากรวัยแรงงานขณะที่ยังไม่มีการสะสมทักษะ เทคโนโลยี และทุนมนุษย์เทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ ในบริบทประชากรเดียวกัน↩
- พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยในมาตรา 20 ระบุไว้ว่า “งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น”ซึ่งการกำหนดกรอบวงเงินงบลงทุนดังกล่าว ก็เพื่อรักษาวินัยการทางการคลังที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจะกู้เงินมาเพื่อเป็นการลงทุนเท่านั้น↩
- ลักษณะงานจำแนกตามเล่มงบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555–2565↩
- รายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี เช่น เบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาของสวัสดิการแรงงานที่รัฐในฐานะนายจ้างมีกับข้าราชการในฐานะลูกจ้าง หรือสัญญาต่าง ๆ หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้างจนรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการดูแลเพิ่มเติม เช่น พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เป็นต้น↩
- สาเหตุที่ช่วงอายุ 1–14 และ อายุ 95 ปีขึ้นไป มีการจัดเก็บภาษีต่อหัวในจำนวนที่สูง เนื่องจากจำนวนคนที่เสียภาษีในช่วงอายุนั้นมีจำนวนที่น้อยกว่าช่วงอายุอื่น ๆ จึงไม่สะท้อนการจัดเก็บจากประชากรโดยเฉลี่ยในช่างอายุดังกล่าว↩
- คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Financial Affairs Council: ECOFIN) มอบหมายให้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ (Economic Policy Committee: EPC) จัดทำประมาณการณ์การคลังระยะยาว โดยเป็นการจัดทำผ่านคณะทำงานผู้สูงอายุ (Aging Working Group: AWG) ประกอบกับใช้การคาดการณ์ด้านประชากรที่จัดทำโดยสำนักสถิติ Eurostat โดย aging report ล่าสุดจัดทำขึ้นในปี 2021 ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 6↩
- เช่น โครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาคสาธารณะ เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปี 2012 รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ปีล่าสุด 2021 ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการคลังต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งรวมถึง 1) แนวโน้มรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน 2) ประเด็นความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของภาคอื่น ๆ ที่ควรติดตาม เช่น ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม↩
- รัฐบาลมักมีค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามวิกฤต อาทิ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการกู้เงินเป็นจำนวนมาก 1.5 ลลบ. เพื่อช่วยเหลือ ปชช ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 40% มาอยู่ 60% ณ สิ้นธันวาคม 2565 ประกอบกับ รัฐบาลยังคงทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องและในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า covid↩
- นอกจากรายจ่ายข้างต้นที่เป็นลักษณะของรายจ่ายโดยตรงที่ชัดเจน (direct and explicit) แล้ว ยังมีรายจ่ายอีกประเภทหนึ่งที่การศึกษานี้ไม่ได้กล่าวถึง แต่เป็นภาระที่รัฐต้องเข้าไปแบกรับเมื่อเกิดวิกฤตหรือเหตุการณ์บางอย่างตามความรับผิดชอบทางกฎหมาย (explicit and contingent) ซึ่งหนึ่งในรายการหลักของค่าใช้จ่ายนี้คือโอกาสที่รัฐต้องเข้าไปแบกรับระบบประกันสังคมกรณีที่เงินกองทุนหมดลง จากการศึกษาของ Poonpolkul et al. (2022) พบว่าเงินกองทุนประกันสังคมอาจจะหมดประมาณปี 2045 ขณะที่การศึกษาของ International Labor Office (ILO) คาดการณ์ว่าเงินกองทุนจะหมดในปี 2054 (ILO สมมติให้ค่าจ้างโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ Poonpolkul et al. (2022) ตัวแปรต่าง ๆ โตในอัตราเดียวกันกับ GDP ต่อหัว) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงรายจ่ายกลุ่มนี้ด้วยเห็นได้ว่าความน่ากังวลจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งมีมากขึ้น↩
- ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายภาครัฐประกอบด้วย อาทิ (i) มาตรการอุดหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อเพิ่มเงินในวัยเกษียณของผู้สูงอายุ เช่น การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งเป็นกองทุนการออมภาคสมัครใจ (ii) มาตรการทางการเงิน เช่น สินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ (reverse mortgage) (iii) การเสนอร่างกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ. คนบ.) และ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ. กบช.)↩
- โดยกองทุนมีแหล่งงบหลักมาจากการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสรรพสามิตสุรายาสูบ สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยเริ่มมีการนำส่งเงินบำรุงกองทุนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา↩
- ตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 การจัดตั้งกองทุนในลักษณะดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำได้ ตามมาตรา 26 ที่ระบุว่า “การเสนอกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น หรือเพื่อการหนึ่งการใดเป็นการเฉพาะ จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีการจัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”↩
- โดยกำหนดให้ค่าเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนกับค่าเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 365 (พ.ศ.2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร↩