Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ตราสารหนี้ยั่งยืน: มีแบบไหนและ Greenium คืออะไร
aBRIDGEd ล่าสุด
ตราสารหนี้ยั่งยืน: มีแบบไหนและ Greenium คืออะไร
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/1f7b43dcb561e1b6874b700ac8f3c831/41624/cover.jpg
11 ตุลาคม 2564
20211633910400000

ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน: ตอนที่ 2 ออกแบบระบบเชิงบูรณาการ

ทำไมรัฐต้องเข้ามาจัดการระบบรายได้ยามชราภาพ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจัดการระบบเหล่านี้อย่างไร?
ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน: ตอนที่ 2 ออกแบบระบบเชิงบูรณาการ
excerpt

การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่พึ่งพาอาศัยลูกหลานเป็นครอบครัวเดี่ยว น่าจะส่งผลให้การออมส่วนบุคคลเพื่อใช้หลังเกษียณและระบบรายได้ยามชราภาพที่จัดการโดยภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บทความนี้ จะเล่าถึงเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ว่าทำไมรัฐต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ อธิบายรายละเอียดของคำว่าแนวคิดเชิงบูรณาการ ซึ่งเน้นให้เอาผู้สูงอายุเป็นตัวตั้ง มากกว่าการเอาระบบหรือกองทุนย่อย ๆ เป็นตัวตั้ง รวมถึงแสดงตัวอย่างการผสมผสานระบบของต่างประเทศ

บทความนี้ เป็นตอนต่อของบทความ aBRIDGEd เรื่อง "ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน: ตอนที่ 1 ระบบประกันสังคมไทย"

ทำไมรัฐต้องเข้ามาจัดการระบบรายได้ยามชราภาพ?

ทำไมรัฐต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ แทนที่จะปล่อยให้ผู้คนเก็บออมกันเอง ถือเป็นคำถามข้อแรกที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้ทำนโยบายระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศต้องรู้คำตอบก่อนที่จะออกแบบและเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหลักการทั่วไปนั้น หากรัฐเข้ามาช่วยจัดการ ก็ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในมิติที่ระบบตลาดจัดการเองได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ สำหรับเรื่องรายได้ยามชราภาพ สามารถสรุปได้เป็นสามประการ ได้แก่

  1. การกระจายรายได้ระหว่างคนรายได้สูงและคนรายได้ต่ำ การที่คนมีรายได้ไม่เท่ากันในวัยทำงาน ทำให้บางคนเก็บออมได้มาก ขณะที่บางคนออมไม่ได้ เพราะลำพังค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็แทบไม่เพียงพอ รัฐจึงสามารถมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนกลุ่มหลังมีรายได้เพียงพอยังชีพในยามชราภาพ

  2. ความเสี่ยงจากการเก็บออมไม่เพียงพอ แม้บางคนจะออมแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าที่คาดจนทำให้เงินที่ออมไว้อาจไม่เพียงพอ แม้ตลาดของการประกันแบบบำนาญ (Annuity market) จะสามารถช่วยขจัดความเสี่ยงลักษณะนี้ แต่ประกันลักษณะดังกล่าวไม่ได้มีทุกประเทศและไม่ได้แพร่หลายมากนัก เนื่องจากหากเอกชนดำเนินการก็มักจะมีปัญหาว่า คนที่ซื้อประกันส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ได้ประโยชน์เท่านั้น กล่าวคือ คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไป (adverse selection) ทำให้บริษัทประกันต้องตั้งราคาสูงเพื่อให้สะท้อนต้นทุนดังกล่าว เมื่อราคาสูง จึงไม่ดึงดูดคนหมู่มาก แต่หากรัฐเข้ามาทำ ก็สามารถบังคับทุกคนเข้าระบบเพื่อแก้ปัญหานี้

  3. ความเชื่อที่ว่าคนขาดวินัยในการออม คนที่มีรายได้สูงในวัยทำงาน ก็ยังอาจจะออมไม่พอเพราะขาดการวางแผนที่ดี ขาดวินัยหรือขาดความรู้ทางการเงิน รัฐสามารถมีบทบาทเข้ามาบังคับ สร้างแรงจูงในการออม รวมถึงให้ความรู้ทางการเงินได้

การออกแบบระบบรายได้ยามชราภาพ ต้องเริ่มจากภาพใหญ่ ไม่เช่นนั้นจะไร้ทิศทาง

ในต่างประเทศมักจะใช้การผสมผสานระบบหรือกองทุนย่อย ๆ หลายระบบเพื่อเข้ามาช่วยตอบโจทย์สามประการข้างต้น โดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, ILO และ OECD มีแนวคิดที่แบ่งระบบย่อย ๆ เหล่านี้หลายรูปแบบ อาทิ แบ่งเป็น Pillar (หรือ Tier) เป็นระบบร่วมสมทบหรือไม่ร่วมสมทบ เป็นระบบร่วมสมทบแบบระบบประกันหรือระบบบัญชีเงินออมส่วนบุคคล (World Bank, 2008; OECD, 2019; Scholz and Cunha, 2020) อย่างไรก็ดี พื้นฐานที่องค์กรระหว่างประเทศวางไว้ใต้แนวคิดนี้ แต่ดูจะไม่ได้ถูกเน้นย้ำให้ผู้ดำเนินนโยบายเข้าใจมากนัก คือ การออกแบบต้องคิดเชิงบูรณาการ กล่าวคือ ในการออกแบบหรือปฏิรูปทุกครั้งต้องเริ่มจากภาพใหญ่ก่อน ว่าขาดตรงไหน เกินตรงไหน ครอบคลุมหรือไม่ครอบคลุมคนกลุ่มใด เพื่อให้ระบบย่อย ๆ แต่ละระบบมีหน้าที่ในกรอบใหญ่ที่ชัดเจน ซึ่งแนวคิดนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการตั้งระบบย่อย ๆ ขึ้นมาหลายระบบ แต่มีการบริหารจัดการแยกออกจากกัน (ดังเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศไทย) การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะไม่ตอบโจทย์ในภาพใหญ่แล้ว ยังอาจทำให้ปัญหาข้างต้นรุนแรงขึ้น เช่น หากมีระบบดูแลคนที่มีรายได้สูงทับซ้อนกันหลายระบบ น่าจะยิ่งทำให้คนรวยมีรายได้หลังเกษียณมากขึ้น ขณะที่คนจนยังมีรายได้ไม่พอยังชีพ

งานของ World Bank ในปี 2019 (Packard et al., 2019) เสนอว่า การแบ่งประเภทของระบบย่อย ๆ ตามเป้าหมาย (objective) และแหล่งเงินสมทบ น่าจะช่วยให้วิเคราะห์ภาพใหญ่ได้ดีที่สุด การแบ่งตามเป้าหมายช่วยให้มองบทบาทของระบบย่อย ๆ ได้ว่าสิ่งที่มีอยู่ซ้ำซ้อนหรือไม่ หรือมีส่วนไหนขาดหายไป แนวคิดนี้ได้สรุปไว้ตามรูปที่ 1

รูปที่ 1: แนวคิดเกี่ยวกับระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐ

แนวคิดเกี่ยวกับระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐ

ที่มา: คณะผู้วิจัยปรับมาจากแนวคิดของ Packard et al. (2019) และ Palacios and Robalino (2020)

ในรูปที่ 1 แกนนอนเรียงผู้สูงอายุทุกคนตามรายได้ในช่วงวัยทำงาน (หรือสินทรัพย์ยามชราภาพ) จากต่ำไปสูง ขณะที่แกนตั้งแสดงรายได้หลังเกษียณ จะเห็นได้ว่าเราสามารถแบ่งระบบรายได้ผู้สูงอายุตามเป้าหมายออกเป็น 3 ส่วน

  • ส่วนแรกที่อยู่ล่างสุด เป็นบำนาญพื้นฐาน (สีน้ำเงิน) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้พอยังชีพ โดยส่วนมากเงินสมทบของระบบนี้จะมาจากภาษีที่จัดเก็บโดยภาครัฐ บางประเทศให้เงินส่วนนี้สำหรับทุกคนดังในรูป บางประเทศอาจจะคัดกรองให้เฉพาะคนจน หรือบางประเทศให้คนรายได้ต่ำในสัดส่วนที่มากกว่าคนรายได้สูง โดยมักจะมีเกณฑ์เรื่องระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ หรือการร่วมสมทบขั้นต่ำ

  • ส่วนที่สอง เป็นระบบการออมภาคบังคับ ซึ่งอาศัยแหล่งที่มาของเงินบำนาญจากการร่วมสมทบของลูกจ้างและนายจ้าง (สีเขียว) มีเป้าหมายเพื่อรักษาความสามารถในการบริโภคหลังเกษียณในสัดส่วนที่เหมาะสมกับรายได้ในวัยทำงาน โดยอาจอยู่ในรูปของระบบประกันสังคม หรือที่เรียกว่า Defined Benefit (DB) scheme กล่าวคือ บำนาญ (benefit) ถูกกำหนด (defined) ไว้ล่วงหน้าตามสูตร ขณะที่ระบบใช้เงินสมทบ (เบี้ยประกัน) ของผู้ประกันตนในรุ่นปัจจุบันเพื่อจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ผู้สูงอายุ โดยผลตอบแทนมักจะให้เป็นบำนาญตลอดชีวิต มากน้อยขึ้นกับเงินสมทบและระยะเวลาส่งสมทบ อีกรูปแบบหนึ่งของการออมภาคบังคับ คือ ระบบบัญชีออมส่วนบุคคลเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพ หรือ Defined Contribution (DC) scheme โดยระบบนี้ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีเป็นของตนเอง บำเหน็จหรือบำนาญที่ได้จึงขึ้นกับเงินที่ตนเองออมไว้ในบัญชีและผลตอบแทนที่เกิดจากการบริหารจัดการเงินในบัญชีนั้น

  • ส่วนบนสุด เป็นการออมภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินไว้ใช้ในยามชราภาพมากขึ้น โดยอาจจะเป็นการสร้างแรงจูงใจจากการยกเว้นภาษี หรือใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (nudge) ยกตัวอย่างเช่น งานในสายนี้พบว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่เปลี่ยนใจจาก default option ดังนั้น หากระบบตั้ง default เป็นการหักเงินส่วนหนึ่งของลูกจ้างเป็นเงินออมในระดับที่สูง แต่มีทางเลือกให้ออมลดลงได้ ก็อาจจะช่วยให้มีการออมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การจะออกแบบส่วนบำนาญแต่ละส่วนอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า มีการออกแบบให้ระบบอื่นมาตอบวัตถุประสงค์เดียวกันแล้วหรือไม่ ระบบย่อย ๆ จึงไม่ควรดำเนินการแบบต่างคนต่างคิด เพราะอาจจะทำให้คนบางกลุ่มตกหล่น หรือบางกลุ่มได้รับการสนับสนุนเกินควร และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์สามประการที่กล่าวไว้ข้างต้นได้

การผสมผสานเครื่องมือการออมและการกระจายรายได้ในต่างประเทศ

ประเทศต่าง ๆ ใช้การผสมผสานของเครื่องมือที่แตกต่างกัน ส่วนที่เป็นการออมภาคบังคับนั้น บางประเทศเลือกใช้ระบบ DB เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา บางประเทศเลือกใช้ระบบ DC เช่น ออสเตรเลียและอิสราเอล และมีบางประเทศที่ภาคบังคับเป็นระบบผสมผสาน เช่น ฝรั่งเศส สวีเดน และอินเดีย (ดูรายละเอียดในตารางที่ 1) ซึ่งระบบ DB และ DC ก็มีข้อดีและข้อเสียของตัวเอง แม้ระบบ DB จะจ่ายบำนาญตลอดชีวิตและสามารถออกแบบให้ช่วยกระจายรายได้ แต่หากกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ดี เช่น ตัวระบบไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างของประชากร หรือบริหารจัดการ การลงทุนไม่ดี บำนาญที่สมาชิกได้รับก็อาจจะไม่เพียงพอ และตัวระบบเองอาจจะไม่มีความยั่งยืนทางการคลัง ในทางตรงข้าม ระบบ DC ถูกออกแบบมาให้มีความยั่งยืน เสมือนการออมเงินด้วยตนเองที่สมาชิกจะเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในกรณีที่กองทุนบริหารจัดการไม่ดี อย่างไรก็ดี ระบบลักษณะนี้ไม่มีกลไกกระจายรายได้ และสมาชิกที่มีรายได้น้อยก็จะออมเองได้น้อย รวมถึงไม่มีการประกันว่าเงินออมจะถูกจัดการจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต จึงยังมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ยามชราภาพไม่เพียงพอหากรัฐไม่ได้มีระบบอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีระบบที่เรียกว่า Notional Defined Contributions (NDC) และ Points (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน OECD, 2016) โดย NDC มีลักษณะคล้าย ๆ DC ในมิติที่ว่า สมาชิกมีบัญชีส่วนบุคคล และบำนาญเพิ่มขึ้นตามเงินสมทบและผลตอบแทนจากการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนนั้นไม่ใช่ผลตอบแทนในอัตราตลาดเหมือนระบบ DC แต่เป็นผลตอบแทนที่รัฐกำหนดขึ้นซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามปีเกิด เนื่องจากคนแต่ละรุ่นมีอายุเฉลี่ยต่างกัน และตัวระบบก็ยังเป็นการใช้เงินสมทบของคนรุ่นปัจจุบันเพื่อจ่ายผลตอบแทนให้ผู้สูงอายุเหมือน DB นักวิชาการหลายท่านจึงเปรียบ NDC ว่า เป็นกรณีพิเศษของระบบ DB (World Bank, 2005)

ตารางที่ 1: ระบบส่วนที่เป็นการออมภาคบังคับในประเทศต่าง ๆ
PublicPrivate
Australia DC
AustriaDB 
BelgiumDB 
CanadaDB 
Chile*DC
Czech*DB 
DenmarkDC DC**
Estonia*PointsDC
FinlandDB 
FranceDB+Points 
GermanyPoints 
GreeceDB 
HungaryDB 
Iceland DB**
IsraelDC
Italy*NDC 
JapanDB 
KoreaDB 
Latvia*NDC+DC 
Lithuania*Points 
LuxembourgDB 
Mexico* DC
PublicPrivate
Netherlands DB**
New Zealand 
Norway*NDCFDC
Poland*NDC 
PortugalDB 
SlovakiaPoints 
SlovaniaDB 
SpainDB 
Sweden*NDC+DCDC**
SwitzerlandDBDB
TurkeyDB 
UK* 
USDB 
  
ArgentinaDB 
BrazilDB 
ChinaNDC+DC 
IndiaDB+DC 
IndonesiaDB+DC 
RussiaPointsDC
Saudi ArabiaDB 
South Africa  
ที่มา: OECD (2019)หมายเหตุ: *ประเทศที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเติม DB เข้าไปในระบบบางส่วน **กึ่งภาคบังคับ

คงไม่มีคำตอบตายตัวว่าการผสมผสานระบบแบบไหนจึงจะดีที่สุด เพราะแต่ละประเทศมีโครงสร้างตลาดแรงงานและเศรษฐกิจที่ต่างกัน รวมถึงสามารถผสานระบบหลากหลายแบบเพื่อบรรลุผลลัพธ์เดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ใช้ระบบประกันสังคม (ระบบ DB) เป็นเครื่องมือหลักในการกระจายรายได้ จึงไม่ได้มีตัวบำนาญพื้นฐาน แต่ยังมีสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนจน สำหรับสูตรคำนวณเงินบำนาญของประกันสังคมของสหรัฐอเมริกามีอัตราก้าวหน้า โดยกลุ่มรายได้เฉลี่ยต่ำสุดจะได้รับสัดส่วนเงินบำนาญต่อเงินเดือนเฉลี่ยคิดเป็นถึงร้อยละ 90 และสัดส่วนนี้ค่อย ๆ ลดลงไปตามระดับรายได้จนเป็นร้อยละ 30 ของกลุ่มรายได้เฉลี่ยสูงสุด1 นอกจากนี้ ยังมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเป็นส่วนเพิ่มเติม (รูปที่ 2a) สำหรับออสเตรเลีย ใช้ระบบบัญชีออมเพื่อชราภาพส่วนบุคคลภาคบังคับ (ระบบ DC) ซึ่งตัวระบบเองไม่ได้มีกลไกกระจายรายได้จากคนรายได้สูงสู่คนรายได้น้อย จึงใช้การกระจายรายได้ทางอ้อมผ่าน means-tested basic pension โดยผู้สูงอายุที่มีรายได้หรือสินทรัพย์ต่ำกว่าเกณฑ์จะสามารถขอรับเงินบำนาญเพิ่มเติมได้ (รูปที่ 2b)

รูปที่ 2: แนวคิดระบบบำนาญของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย

ระบบบำนาญของสหรัฐอเมริกา

(a) ระบบบำนาญของสหรัฐอเมริกา

ระบบบำนาญของออสเตรเลีย

(b) ระบบบำนาญของออสเตรเลีย
ที่มา: คณะผู้วิจัย

หนึ่งในตัวชี้วัดว่าระบบตอบโจทย์ของการที่รัฐเข้ามาจัดการระบบบำนาญหรือไม่ คือ มิติของความเพียงพอ ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนระหว่างเงินบำนาญและรายได้ในวัยทำงาน (replacement rate) ในการวิเคราะห์ภาพใหญ่ สัดส่วนนี้ควรคิดจากบำนาญรวมของทุกระบบ มิใช่ระบบใดระบบหนึ่ง ในประเทศพัฒนาแล้ว ระดับเงินบำนาญมักจะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้เฉลี่ยในวัยทำงาน แต่จะเพิ่มช้าลงเมื่อรายได้ปรับสูงขึ้น เพื่อช่วยกระจายรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น เมื่อคิดเป็น replacement rate กลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยในวัยทำงานต่ำจึงมีค่า replacement rate สูง และกลุ่มรายได้เฉลี่ยสูง ก็จะมีค่า replacement rate ต่ำ ดังแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3: สัดส่วนของเงินบำนาญต่อรายได้เฉลี่ย (replacement rates)
ที่มา: OECD (2014, 2018)หมายเหตุ: Low income, high income และ very high income หมายถึง ผู้ที่มีรายได้คิดเป็น 0.5, 2 และ 4 เท่าของรายได้เฉลี่ยของประเทศนั้น ๆ ตามลำดับ

หากแรงงานไม่มีการรายงานรายได้อย่างเป็นทางการ รัฐก็บังคับออมไม่ได้

สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างประเทศที่สามารถใช้การบังคับออมเป็นระบบหลักได้ เพราะคนเกือบทั้งหมดอยู่ในระบบ แต่สำหรับประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ รวมถึงประเทศไทย ระบบที่เป็นการบังคับออมไม่สามารถใช้กับคนนอกระบบได้ เพราะเมื่อไม่มีการรายงานรายได้ รัฐก็ไม่สามารถหักรายได้ส่วนหนึ่งไปสมทบในกองทุนการออมได้ ประเทศส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจโดยให้รัฐร่วมสมทบ (matching fund) ในระบบที่เป็นการออมภาคสมัครใจ นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีแรงจูงใจ แต่แรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งก็ยังมีปัญหารายได้ต่ำและไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถออมได้ บางประเทศจึงพยายามสร้างระบบการออมเหล่านี้ให้มีความยืดหยุ่น เช่น สมาชิกไม่ต้องส่งสมทบครั้งละเท่า ๆ กัน และไม่ต้องส่งสม่ำเสมอ ส่วนการอนุญาตให้สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ก่อนได้หรือไม่ มีทั้งผลบวกและผลลบ การอนุญาตให้สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ก่อนได้ อาจส่งผลลบต่อระบบการออมหลังเกษียณ เนื่องจากหากผู้ออมสามารถเลือกนำเงินออกมาใช้ก่อน การออมก็ไม่ต่างจากบัญชีธนาคารที่มีการใช้เงินสนับสนุนการออมจากรัฐ ดังนั้น ในหลายประเทศจึงไม่มีช่องทางนี้ หรือมีการคิดค่าธรรมเนียมที่สูงมากหากสมาชิกขอเบิกเงินก่อนอายุเกษียณ อย่างไรก็ดี ปัญหาของแรงงานนอกระบบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเผชิญ shock ที่บ่อยกว่า หากไม่สามารถนำเงินออกมาได้เลย แรงงานอาจจะไม่มีแรงจูงใจที่จะมีบัญชีเงินออมเพื่อเกษียณอายุ บางประเทศ เช่น Ghana จึงให้แบ่งเงินสมทบเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนหนึ่งใส่ไว้ในบัญชีระยะสั้น และอีกส่วนใส่ไว้สำหรับการออมเพื่อเกษียณอายุ หากในกรณีที่สมาชิกมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ยังสามารถขอถอนส่วนที่อยู่ในบัญชีระยะสั้นหรือนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ (Guven, 2019)

Sholz and Cunha (2020) ถอดประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ ว่า การขยายความครอบคลุมไปยังเศรษฐกิจนอกระบบนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้หมายถึงการขยายระบบประกันสังคมให้ตัวแรงงานที่อยู่นอกระบบโดยตรง แต่อาจจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามาอยู่ในระบบแทน หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เนื่องจากในบางประเทศ แม้ธุรกิจจะจดทะเบียนในระบบ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นให้สามารถจ้างแรงงานนอกระบบไปพร้อม ๆ กันได้ ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งขาดความคุ้มครอง นอกจากนี้ ตัวระบบของรัฐเองยังต้องสร้างความศรัทธา ความเชื่อใจ และความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่าในการเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยงด้านรายได้ในยามชราภาพ

ความท้าทายของการช่วยเหลือกลุ่มรายได้ต่ำในช่วงวัยทำงานและอยู่นอกระบบ ได้แก่ การที่รัฐจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีรายได้พอยังชีพ การบิดเบือนแรงจูงใจที่อาจทำให้คนไม่เก็บออมด้วยตนเอง และการสร้างภาระค่าใช้จ่ายทางการคลัง ประเทศชิลี มักจะเป็นตัวอย่างประเทศที่ได้ผ่านการปฏิรูปมาหลายรูปแบบและพยายามคำนึงถึงมิติต่าง ๆ

ในปี 1981 ชิลีเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนจากระบบการออมภาคบังคับจาก DB เป็น DC เนื่องจากแรงกดดันด้านภาระทางการคลัง แต่ยังช่วยผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในสองรูปแบบ แบบแรกเป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับคนที่จนมาก และแบบที่สองเป็นบำนาญขั้นต่ำสำหรับผู้ที่ร่วมสมทบเข้าระบบ DC เกิน 20 ปี (minimum pension guarantee) อย่างไรก็ดี ผลปรากฏว่า ก็ยังมีกลุ่มที่ตกหล่นจำนวนมาก คือ กลุ่มที่รายได้ค่อนข้างต่ำ แต่ไม่ต่ำพอที่จะได้รับเงินบำนาญพื้นฐาน และก็ไม่ได้อยู่ในระบบนานพอที่จะมีสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ ทั้งสองระบบช่วยเหลือดังกล่าวจึงไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ (รูปที่ 4a)

ต่อมา ในปี 2008 ชิลี ได้มีการปฏิรูปอีกครั้งโดยยกเลิกระบบช่วยเหลือแบบเก่า แต่เปลี่ยนเป็นใช้ means-testing ร่วมกับการให้แรงจูงใจ โดยขั้นแรก ใช้ข้อมูล administrative data จากหลายแหล่งเพื่อคัดกรองครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดกลุ่ม top 40 ออกไป ขั้นที่สอง กลุ่ม bottom 60 จะได้รับบำนาญอย่างน้อยเท่ากับบำนาญพื้นฐาน และขั้นสุดท้าย กลุ่มที่เคยอยู่ในระบบและมีบัญชีจะได้รับบำนาญเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อกำหนดว่าต้องเคยสมทบถึง 20 ปี ส่วน top-up นี้ค่อย ๆ ลดลงเมื่อเงินในบัญชีของสมาชิกเพิ่มขึ้น มีงานศึกษาพบว่า การปฏิรูปครั้งนี้ได้ลดอัตราความยากจนของผู้สูงอายุในชิลีลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเพิ่ม top-up ยังไม่ช่วยจูงใจให้แรงงานเข้าระบบมากนัก รวมถึงการที่บำนาญเพิ่มขึ้น ก็มีผลให้แรงงานกลุ่มที่ใกล้เกษียณมีแรงจูงใจในการทำงานลดลงบ้าง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Fajnzylber 2019, Joubert 2015)

รูปที่ 4: แนวคิดระบบบำนาญของประเทศชิลี ก่อนและหลังการปฏิรูปในปี 2008

ปี 1971-2007

(a) ปี 1971-2007

ปี 2008 เป็นต้นมา

(b) ปี 2008 เป็นต้นมา
ที่มา: คณะผู้วิจัย

แล้วประเทศไทยจะไปทางไหน?

สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันมีกองทุนและระบบย่อย ๆ หลายรูปแบบ กล่าวคือ มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปทุกคน ยกเว้นกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ โดยเบี้ยยังชีพที่จ่ายคิดเป็น 600-1000 บาทต่อเดือน และผู้มีรายได้น้อยสามารถลงทะเบียนกับโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับลูกจ้างในระบบ ข้าราชการและพนักงานองค์กรของรัฐมีระบบบำนาญ และ/หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญของตนเอง ลูกจ้างภาคเอกชนมีกองทุนชราภาพของสำนักงานประกันสังคม (มาตรา 33) เป็นการออมภาคบังคับ สำหรับลูกจ้างนอกระบบ สามารถเลือกเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 40 หรือกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งเป็นระบบภาคสมัครใจที่รัฐร่วมสมทบ2 นอกจากนี้ บางบริษัทยังมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมก็ได้ และบุคคลทั่วไปที่พอจะออมได้เองก็สามารถมีบัญชีเงินออมระยะยาวซึ่งได้รับส่วนลดหย่อนด้านภาษี เช่น Retirement Mutual Fund (RMF)

แม้เราจะมีกองทุนหรือระบบย่อย ๆ เกือบทุกรูปแบบ แต่ยังขาดคนที่เข้ามามองว่าระบบย่อย ๆ เหล่านี้จะสามารถผสมผสานกันได้อย่างไร ระบบเหล่านี้ทำหน้าที่อะไรแล้วบ้าง มีส่วนไหนเกิน ส่วนไหนขาด และทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในรายงานของ World Bank (2021) สรุปภาพของประเทศไทยไว้ว่า “The overall picture that emerges is of a country that will age rapidly without a coherent system of income provision for the growing elderly population.” และผู้แทนจาก ILO (2021) ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ในงานเสวนาวิชาการว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องการ คือ “… the discussions need to go beyond a scheme-level and need to assess the shape of the pension system as a whole…”4

ทั้งนี้ การคิดแบบบูรณาการไม่ได้แปลว่า เราต้องยุบทั้งหมดมารวมกัน เพียงแต่ต้องวาดภาพใหญ่ก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เรามีส่วนที่ทำหน้าที่กระจายรายได้เพื่อช่วยคนที่มีรายได้ต่ำในวัยทำงาน เรามีการสร้างแรงจูงใจและระบบที่เอื้อให้คนที่พอออมได้สามารถเก็บออมด้วยตนเอง รวมถึงมีการประกันความเสี่ยงสำหรับการมีชีวิตอยู่ที่ยืนยาว โดยบทบาทเหล่านี้อาจจะทำด้วยหน่วยงานเดียวกันหรือหลายหน่วยงาน

ในปัจจุบัน หลายภาคส่วนเริ่มมีข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นคนกลางเพื่อวิเคราะห์ภาพใหญ่ของการจัดการรายได้ยามชราภาพ อาทิ ร่าง พรบ. คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการการออมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ เราก็ได้เพียงแต่หวังว่า หากมีการจัดตั้งคณะกรรมการตามร่างใดร่างหนึ่งขึ้นจริง คณะกรรมการฯ จะสามารถวางตัวเป็นกลาง วิเคราะห์ภาพใหญ่ และมีอำนาจที่จะยกเครื่องระบบของประเทศไทยทั้งหมด เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้ว ทำงานเป็นกลไกร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐ ตลอดจนมีความยั่งยืนทางการคลัง และจัดสรรเงินทุกบาททุกสตางค์จากภาษีประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเอาผู้สูงอายุไทยทุกคนและทุกรุ่นเป็นตัวตั้ง

ที่จริงแล้ว ระบบการจัดการรายได้ยามชราภาพยังมีอีกหลายประเด็นที่บทความชุด “ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน” ในสองตอนแรกนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง อาทิ

  1. ความยุติธรรมระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ (birth cohorts) โดยเฉพาะในกรณีที่มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ หรือปฏิรูประบบ
  2. การปรับอายุที่เริ่มรับบำนาญได้ของบำนาญพื้นฐานเมื่อคนรุ่นหลังมีอายุยืนยาวขึ้น
  3. การอนุญาตให้สิทธิกับทายาทของผู้ประกันตน กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต
  4. การให้สิทธิประโยชน์ควรให้ในระดับบุคคลหรือครอบครัว และ
  5. การปรับตัวของระบบการจัดการรายได้ยามชราภาพ เมื่อบริบทของตลาดแรงงานและโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป

เราต้องไม่ลืมว่า จริง ๆ แล้วทุกระบบก็ใช้เงินสมทบจากภาครัฐ ระบบภาคสมัครใจใช้การร่วมสมทบโดยตรงจากรัฐ ส่วนระบบภาคบังคับ รัฐสนับสนุนโดยการให้ส่วนลดหย่อนทางภาษีสำหรับเงินที่นายจ้างและลูกจ้างส่งสมทบเข้ากองทุนเหล่านั้น ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นรายจ่ายทางภาษีของภาครัฐ (tax expenditure) รวมถึงทุกระบบก็มีค่าบริหารจัดการกองทุน

ท้ายนี้ คณะผู้วิจัยหวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญที่จัดการโดยภาครัฐ ว่าแท้จริงแล้ว พวกเราทุกคนหรือลูกหลานของพวกเรา ล้วนมีส่วนได้ส่วนเสีย เราจ่ายเงินสนับสนุนระบบเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และเมื่อสูงวัย เราก็อยากมีเงินพอใช้ แต่พวกเราบางคน ซึ่งเกิดมาไม่ได้มีโอกาสที่ดีหรือโชคไม่ดีนักในวัยทำงาน ก็อาจออมเงินไม่ได้มากนัก หรือบางคนก็อาจจะมีอายุยืนยาวกว่าเงินที่สะสมไว้ เราอยากมีระบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดังตัวอย่างในหลายประเทศหรือไม่ หรืออยากให้เป็นอย่างไร ก็คงต้องอาศัยส่วนร่วมผลักดันจากเสียงของประชาชน

เอกสารอ้างอิง

Fajnzylber, E. (2019). Chile’s Solidarity Pillar: A Benchmark for Adjoining Zero Pillar with DC Schemes. Social Protection & Jobs’ Discussion Paper. World Bank.

Guven, M. (2019). Extending pension coverage to the informal sector in Africa. Social Protection & Jobs’ Discussion Paper. World Bank.

Joubert, C. (2015). Pension design with a large informal labor market: Evidence from Chile.
International Economic Review, 56(2), 673-694.

OECD (2006), “Annex I.1. Differences between Defined-benefit, Points and Notional-accounts”, in OECD Pensions at a Glance 2005: Public Policies across OECD Countries, OECD Publishing, Paris. DOI: https://doi.org/10.1787/pension_glance-2005-10-en

OECD (2014) Pensions at a Glance : Latin American and the Caribbean https://www.oecd.org/publications/oecd-pensions-at-a-glance-pension-glance-2014-en.htm

OECD (2018), Pensions at a Glance Asia/Pacific 2018, OECD Publishing, Paris. https://doi.org/10.1787/pension_asia-2018-en

OECD (2019), Pensions at a Glance 2019: OECD and G20 Indicators, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/b6d3dcfc-en.

Packard, T., Gentilini, U., Grosh, M., O’Keefe, P., Robalino, D., & Santos, I. (2019). Protecting all: Risk sharing for a diverse and diversifying world of work. World Bank Publications.

Palacios, R. J., & Robalino, D. A. (2020). Integrating Social Insurance and Social Assistance Programs for the Future World of Labor. IZA Discussion paper

Scholz, W. and N. Cunha (2020) Old-Age Income Security in ASEAN Member States – Policy Trends, Challenges and Opportunities. ASEAN Secretartiate. https://asean.org/wp-content/uploads/2021/06/FINAL_old-age-2021.pdf

World Bank (2005). Notional Accounts : Notional Defined Contribution Plans as a reform strategy, The World Bank Pension Reform Primer Series. www.worldbank.org/pensions

World Bank. (2008). The World Bank Pension Conceptual Framework. The World Bank Pension Reform Primer Series. www.worldbank.org/pensions

นฎา วะสี พรพจ ปรปักษ์ขาม เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และศุภนิจ ปิยะพรมดี (2020) “ทำอย่างไร จะสูงวัย แบบไม่ยากจน: ตอนที่ 1 ระบบประกันสังคมไทย” https://www.pier.or.th/abridged/2020/22/

นฎา และคณะ (2021) “ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ: ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน” https://www.pier.or.th/abridged/2021/14/


  1. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับระบบประกันสังคมของสหรัฐอเมริกาใน นฎา และคณะ (2020)↩
  2. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นฎา และคณะ (2020, 2021)↩
  3. Policy Forum on Thailand’s Pension Reform (2021) ↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Labor and Demographic EconomicsPublic Economics
Tags: old-age povertypension system
นฎา วะสี
นฎา วะสี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
พรพจ ปรปักษ์ขาม
พรพจ ปรปักษ์ขาม
National Graduate Institute for Policy Studies
พิทวัส พูนผลกุล
พิทวัส พูนผลกุล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email