การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
excerpt
ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมามา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง IPCC (2021) พบว่าสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยหรือตามสภาวะโลกร้อน หากไม่ดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทั้งในด้านความเสียหายในหลายมิติรวมถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรมคาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน (resilience) ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยควรดำเนินมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้าง การลงทุนในเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินทุนในการสนับสนุน ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบที่สามารถนำมาสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยใช้กลไกทางการเงินซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการลดการปล่อยก๊าซเรีอนกระจก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยในการการใช้กลไกทางการเงินในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏเห็นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในรูปแบบของพายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายทั้งต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก (Grippa et al., 2019) สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน ซึ่ง IPCC (2021) พบว่าสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ ทั้งอุณหภูมิสุดขั้ว ภัยแล้งรุนแรง สภาวะฝนสุดขั้ว และพายุหมุนเขตร้อนรุนแรง มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยหรือตามสภาวะโลกร้อน (รูปที่ 1) และหากไม่ดำเนินการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ผู้คนทั่วโลกกว่า 216 ล้านคนอาจต้องโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งในพื้นที่รับและส่งผู้อพยพ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เคยประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือประมงที่อาจย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้พื้นที่เมืองต้องรองรับประชากรมากเกินศักยภาพที่มี โดยมี 6 ภูมิภาคทั่วโลก1 ที่เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มสูง (hotspot) ที่จะประสบปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานภายในประเทศที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Clement et al., 2021)
สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาจากดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และงานศึกษาของ Eckstein et al. (2021) พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000–2019 โดยส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร จากงานศึกษาของ Thampanishvong et al. (2021) พบว่าภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ดังนี้
- ภาคท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรง น้ำแล้ง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวและทำให้โครงสร้างพื้นฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็กระทบต่อภาคท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้กำหนดแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยว
- ภาคอุตสาหกรรม สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น น้ำท่วมและน้ำแล้ง กระทบต่อกระบวนการผลิตและทำให้โรงงานหรือเครื่องจักรอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย
- ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางสูง ได้รับผลกระทบต่อผลิตผลของพืชและสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการเกษตร โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมต่อภาคเกษตรของไทยในช่วงปี ค.ศ. 2021–2045 คิดเป็นมูลค่า 0.61–2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912–83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง (Attavanich, 2017)
หากภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยภายในปี ค.ศ. 2050 อาจหดตัวถึง 4.9–43.6% (Swiss Re Institute, 2021) โดยจากการพิจารณาความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ รวมถึงความแข็งแกร่งสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) ในด้านการบริหารจัดการ การเงิน การศึกษาเป็นต้น ประเทศไทยได้รับจัดอันดับเป็นลำดับที่ 44 จาก 48 ประเทศ ซึ่งหมายความว่าไทยมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจสูง
ถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นพันธกิจที่สำคัญของนานาประเทศ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญซึ่งช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ และทุกประเทศจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในอดีต ประเทศต่าง ๆ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ด้วยเหตุนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร และภาคส่วนต่าง ๆ จะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามความหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) หมายถึง “การปรับเปลี่ยนระบบธรรมชาติหรือระบบของมนุษย์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงการตอบสนองต่อผลกระทบจากสิ่งเร้านั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นการช่วยลดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจเป็นการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากสิ่งเร้าทางภูมิอากาศหรือผลกระทบของสิ่งเร้านั้น” ในขณะที่กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ให้ความหมายของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ว่า “เป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดความเปราะบางของระบบทางชีววิทยาและสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะฉับพลันและชดเชยกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน” (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2559)
อย่างไรก็ดี การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี การปรับรูปแบบการจัดการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับโครงสร้างทางกายภาพ การจัดทำฐานข้อมูลและการแจ้งเตือนภัย การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ฯลฯ (Biagini et al., 2014) นอกจากนี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีลักษณะของการปรับตัว โดยทั่วไปซึ่งสามารถปรับใช้ได้ในหลายสาขา (cross cutting) หรือเป็นลักษณะของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละสาขา ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสองประเภท
- ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถใช้ได้ในหลายสาขา
- เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า
- เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ระบบกักเก็บน้ำ เป็นต้น
- ระบบประกันภัยที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
- ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายสาขา
- ภาคการเกษตร
- การพัฒนาและเลือกใช้พันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม
- การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบชลประทาน
- การทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture)
- การใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล (remote sensing)
- ภาคท่องเที่ยว
- เทคโนโลยีกักเก็บน้ำฝนและนำน้ำฝนกลับมาใช้ประโยชน์
- เทคโนโลยีกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
- การท่องเที่ยวในรูปแบบของ virtual reality (VR), augmented reality (AR) หรือ metaverse
- โครงสร้างทางกายภาพที่ช่วยป้องกันแหล่งท่องเที่ยวจากน้ำท่วมหรือลมพายุ
- ภาคสาธารณสุข
- สถานพยาบาลที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ห้องหรือตึกปลอดภัยสำหรับรองรับและให้บริการผู้ป่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เป็นต้น
- ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ภาคอุตสาหกรรม
- โครงสร้างเชิงกายภาพที่ป้องกันโรงงานอุตสาหกรรมจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เช่น กำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงาน การออกแบบและก่อสร้างอาคารโรงงานให้สามารถต้านทานลมพายุรุนแรง
- ระบบสำรองน้ำและระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีน้ำและไฟฟ้าใช้ขณะที่เกิดภัยพิบัติ
- ภาคการเกษตร
- ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (nature-related)
- การฟื้นฟูพื้นที่ป่า
- การป้องกันเขตชายฝั่งทะเล
- การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ
- ระบบวนเกษตร
- การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองและการป้องกันดิน
ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สามารถปรับใช้ได้ในหลายสาขา (ตารางที่ 1) เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่ช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถป้องกันผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติหรือสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ เทคโนโลยีและโครงสร้างทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนระบบประกันภัยด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประเภทมีบริบทที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสมกับบางสาขา เช่น การพัฒนาและนำพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่สามารถต้านทานกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมมาใช้และการทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศเป็นตัวอย่างของแนวทางการปรับตัว ที่เฉพาะเจาะจงในสาขาการเกษตร สำหรับภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างแนวทางการปรับตัว ที่เฉพาะเจาะจง เช่น การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรม ระบบสำรองน้ำในโรงงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
หากพิจารณาแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นว่าแต่ละแนวทางการปรับตัวมีความแตกต่างกันในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบ ลักษณะ ขนาด (scale) เงินลงทุนที่ใช้ ฯลฯ ดังนั้น แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ละแนวทางอาจเหมาะสมกับกลไกการระดมทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป
การดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากหลายแหล่ง ดังนั้น การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามนิยามของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ กลไกการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลไกการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อสนับสนุนประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน UNFCCC นิยามการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าหมายถึง กลไกการจัดหาแหล่งเงินทุนในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระหว่างประเทศจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากพิจารณาแนวโน้มการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก จากรายงาน Global Landscape of Climate Finance 2021 (Buchner et al., 2021) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 2) โดยในปี ค.ศ. 2019/20 การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 632 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเภทของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากกว่าการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) โดยในปี ค.ศ. 2019/20 การเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีมูลค่ารวม 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 7% ของการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งระดับการสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับผลกระทบทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากการคาดการณ์โดย UNEP (2021) พบว่าประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับต้นทุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 155–330 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 และประมาณ 310–555 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2050
หากพิจารณาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมทั้งในส่วนที่สนับสนุนการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าเงินทุนสนับสนุนมาจากภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน โดยในปี 2019/20 มีเงินทุนฯ จากภาครัฐมูลค่ารวมประมาณ 321 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (51% ของเงินทุน) ส่วนเงินทุนจากภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 310 พันล้านเหรียญสหรัฐ (49% ของเงินทุน) (Buchner et al., 2021)
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation finance) ซึ่งมีมูลค่ารวม 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรูปที่ 3 พบว่าปัจจุบันแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ (เฉดสีเหลืองในรูปที่ 3) โดยมีมูลค่ารวม 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 98% ของเงินทุนเพื่อการปรับตัว ฯ ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงินทุนจาก สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาในประเทศ รัฐบาล สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแบบทวิภาคี กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสากล งบประมาณภาครัฐ และอื่น ๆ สำหรับแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวฯ จากภาคเอกชนนั้นมีมูลค่ารวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น (เฉดสีเขียวในรูปที่ 3) โดยมีแหล่งเงินทุนมาจาก บริษัทเอกชน และนักลงทุนสถาบัน
จากรูปที่ 3 หากพิจารณาเฉพาะแหล่งเงินทุนจากภาครัฐ สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา (DFIs) ทั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาภายในประเทศ เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่สุด มีมูลค่ารวม 219 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือรัฐบาลของแต่ละประเทศ สำหรับแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน แหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดคือบริษัทต่าง ๆ และสถาบันการเงิน
แหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่แสดงในรูปที่ 3 สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Burmeister et al. (2019) ซึ่งพบว่าแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีค่อนข้างหลากหลาย (รูปที่ 4) อย่างไรก็ดี รูปที่ 4 นำเสนอข้อมูลในมิติที่เพิ่มเติมจากรูปที่ 3 โดยมีการนำเสนอการจัดประเภทแหล่งเงินทั้งในมิติแหล่งเงินทุนภาครัฐ-เอกชน และในมิติแหล่งเงินทุนในประเทศและแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ โดยแหล่งเงินทุนที่มีบทบาทค่อนข้างเด่นชัด ได้แก่ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของประเทศที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาซึ่งประกอบด้วยธนาคารเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคที่เป็นสมาชิกของ International Development Finance Club (IDFC) และสถาบันการเงินต่าง ๆ สำหรับภาคเอกชน ตัวอย่างแหล่งเงินทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ เช่น ผู้พัฒนาโครงการ (project developers) บริษัทต่าง ๆ ธนาคารพาณิชย์ ครัวเรือน ฯลฯ
นอกจากทำความรู้จักกับแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ลำดับต่อไปเป็นการทำความรู้จักกับเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายที่สามารถนำมาใช้ในการระดมทุน แต่จากงานศึกษาของ (Burmeister et al., 2019) พบว่า เครื่องมือทางการเงินที่นิยมนำมาใช้เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมี 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
- สินเชื่อ/ตราสารหนี้ (debt) อาจเป็นรูปแบบของสินเชื่อธุรกิจ (corporate loan) หรือสินเชื่อโครงการ (project finance) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ ลีสซิ่งหรือสินเชื่อเช่าซื้อ (leasing) การเงินรายย่อยหรือไมโครไฟแนนซ์ (microfinance) พันธบัตรหรือหุ้นกู้
- ทุน (equity) อาจเป็นลักษณะของการระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนไม่กี่รายในรูปแบบของการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (private equity) ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) หรือการระดมทุนจากนักลงทุนมากรายในรูปแบบของหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (รูปที่ 5)
- เงินอุดหนุนแบบให้เปล่า (grant) ซึ่งเป็นการให้เงินสนับสนุนแก่โครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ต้องจ่ายเงินคืน ตัวอย่างเช่น The Global Climate Change Alliance ซึ่งที่เป็นโปรแกรมที่บริหารโดยสหภาพยุโรปมีการให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าแก่โครงการเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (green climate fund) มีการให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณสุข เกษตร ขนส่ง การจัดการน้ำ ฯลฯ
รูปที่ 6 แสดงสัดส่วนเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับใช้สนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสินเชื่อ/ตราสารหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามอัตราตลาด (project-level market rate debt) (47%) รองลงมาคือสินเชื่อ/ตราสารหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (low-cost project debt) (25%) และเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า (grant) (21%) นอกจากนี้ งานศึกษาของ Burmeister et al. (2019) ยังพบว่ามีเครื่องมือทางการเงินข้างต้นกับเครื่องมืออื่น ๆ เช่น ประกัน (insurance) การรับประกัน (guarantee) เป็นต้น ซึ่งช่วยในการถ่ายโอนความเสี่ยงจากผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินไปยังบริษัทประกันหรือผู้ที่รับประกัน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้โครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนโดยเฉพาะจากภาคเอกชน
เนื่องจากเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลากหลายรูปแบบ แนวทางในการคัดเลือกเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร? ที่จริงแล้ว เกณฑ์ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น จำนวนเงินลงทุนที่ต้องการ ลักษณะของโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
เพื่อให้เห็นภาพของแนวทางในการเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนมากขึ้น รูปที่ 7 แสดงตัวอย่างกรณีของโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำ ทางระบายน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งโดยปกติมักต้องการเงินลงทุนที่สูงมาก กลุ่มที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนที่เป็นไปได้อาจเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน ตลอดจนตลาดทุน ในกรณีนี้ เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมอาจเป็นลักษณะของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ รวมถึงสินเชื่อโครงการ (project finance) ในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ในทางตรงกันข้าม สำหรับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋ว ที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนไม่สูง เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการลักษณะดังกล่าวอาจเป็นรูปแบบของสินเชื่อเพื่อรายย่อย (micro loan) หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ เป็นต้น
ตัวอย่างการเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: บทเรียนจากต่างประเทศ
หลายประเทศเริ่มนำเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้างต้นมาใช้ระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ในส่วนนี้จึงนำเสนอตัวอย่างการนำเครื่องมือทางการเงินมาระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทเหมาะสมกับโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเภทใดและในสาขาใด จึงนำเสนอตัวอย่างการใช้เครื่องมือทางการเงินตามลักษณะและสาขาของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตารางที่ 2 สรุปผลการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ
ประเทศกรณีศึกษา/ลักษณะโครงการปรับตัวฯ | ที่มาของโครงการ | รายละเอียดโครงการฯ | สินเชื่อ/ตราสารหนี้ | ทุน/ตราสารทุน | เครื่องมือถ่ายโอน/ลดความเสี่ยง | การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) | เงินสนับสนุนแบบให้เปล่า |
---|---|---|---|---|---|---|---|
บังคลาเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ | บริษัทในเครือ DBL ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอรายใหญ่ในประเทศบังคลาเทศเผชิญความเสี่ยงจากภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ | โครงการนี้เป็นการลงทุนในการยกระดับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ รวมถึงซ่อมแซมจุดรั่วซึม ซึ่งช่วยให้สามารถประหยัดน้ำได้ และช่วยให้ลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากภัยแล้ง | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | |
เซนต์ลูเซีย การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ | พื้นที่ Vieux Fort ในประเทศเซนต์ลูเซีย ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง สร้างความไม่แน่นอนให้กับอุปทานน้ำในพื้นที่และกระทบต่อธุรกิจ | โครงการนี้ส่งเสริมการดำเนินมาตรการบริหารจัดการน้ำในธุรกิจรีสอร์ทเพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผันผวนของปริมาณน้ำ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีการก่อสร้างแทงค์กักเก็บน้ำฝน (rainwater harvesting tank) ความจุอย่างน้อย 3,000 ลูกบาศก์เมตร | ✔ | ✔ | |||
รวันดา การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ | การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะฤดูแล้งที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อผลิตผลของเมล็ดกาแฟ ปริมาณฝนที่มากเกินไปกระทบต่อกระบวนการทำให้เมล็ดกาแฟแห้ง ภัยแล้งกระทบต่อคุณภาพของกาแฟ | โครงการนี้ดำเนินการปลูกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาในพื้นที่ไร่กาแฟ รวมถึงการนำระบบอบแห้งเมล็ดกาแฟโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อคุณภาพของกาแฟ | ✔ | ✔ | |||
โคลัมเบีย โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม | ท่าเรือ Terminal Maritimo Muelles El Bosque (MEB) ในประเทศโคลัมเบียมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าบริเวณท่าเรือได้รับความเสียหาย | โครงการนี้ยกระดับความสูงของทางเดินบริเวณท่าเรือ รวมถึงซื้อประกันภัยซึ่งคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม เหตุการณ์ฝนตกหนัก ลมพายุ พายุหมุนเขตร้อน ฯลฯ | ✔ | ✔ | |||
ไทย โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม | พื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 และสูญเสียงบประมาณสูงถึง 100 ล้านบาทในการฟื้นฟูหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม | โครงการนี้เน้นการรับมือกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมในอนาคต โดยการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมยาว 11 กิโลเมตรรอบนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | ✔ | ✔ | |||
อินโดนีเซีย โครงสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม | พื้นที่บริเวณตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและจากปัญหาแผ่นดินทรุด นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้พื้นที่บริเวณทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาทรุดตัวกว่า 5 เมตรต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายในปี ค.ศ. 2050 | โครงการนี้เป็นก่อสร้างกำแพงกันคลื่น (sea wall) เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล | ✔ | ✔ |
เครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศในการใช้เพื่อระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ สินเชื่อจากสถาบันการเงิน/ตราสารหนี้ ทุน/ตราสารทุน การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า (ข้อมูลจากตารางที่ 2) การศึกษาของ UNEP (2016) ยังฉายภาพให้เห็นถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทพร้อมยกตัวอย่างโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ ตารางที่ 3 สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภท
เครื่องมือทางการเงิน | รายละเอียดเครื่องมือแบบย่อ | องค์กรที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน | ตัวอย่างโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
---|---|---|---|
สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ (microfinance) | มุ่งเน้นไปที่การจัดหาสินเชื่อรายย่อยให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ผู้มีรายได้น้อยและครัวเรือนซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้ธุรกิจและครัวเรือนเหล่านี้สามารถเข้าถึงเงินทุนในอัตราที่สามารถแบกรับได้ | สถาบันการเงินเพื่อการเงินรายย่อย / ธนาคารพาณิชย์ที่มีแผนกการเงินรายย่อย | การสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยกระจายความเสี่ยงทางด้านการผลิตทางการเกษตร รวมถึงปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (climate smart agriculture) |
เงินกู้แบบผ่อนปรน (concessional loan) | เงินกู้ที่มีระยะเวลาในการชำระเงินคืนยาวกว่าเงินกู้ทั่วไปและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาด | ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (MDB) / หน่วยงานภาครัฐ | โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม เช่น การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านเงินกู้แบบผ่อนปรน |
สินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิ่ง | ลีสซิ่งเป็นสัญญาระยะยาวซึ่งผู้ใช้สินทรัพย์ชำระเงินค่าเช่าเป็นงวดๆ ตามจำนวนเงินและเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าผู้ใช้สินทรัพย์สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อสัญญาเช่าต่อหรือส่งคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่า ส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือทางการเงินนี้ในกรณีของตึก/อาคาร ยานพาหนะ และเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ | ธนาคารพาณิชย์ / สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร | วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมยาในประเทศอินเดียใช้เครื่องมือสินเชื่อลีสซิ่งเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุปกรณ์หรือเครื่องจักรเฉพาะซึ่งใช้ในการตอบสนองต่อการระบาดของโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
สินเชื่อโครงการ (project finance) | ส่วนใหญ่ใช้ในการระดมเงินทุนสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมีระยะเวลานาน โดยที่เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจะถูกชำระผ่านกระแสเงินสดของโครงการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวโครงการจะถูกบริหารจัดการโดย Special Purpose Vehicle (SPV) ที่ถูกจัดตั้งเพื่อดำเนินกิจการของสินทรัพย์ที่จะทำการระดมทุนเท่านั้น | ธนาคารพาณิชย์ / กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน | บริษัท GE Healthcare ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลกลงทุนมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้นทุนต่ำ โครงสร้างพื้นฐาน และโซลูชั่นทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินทั้งในรูปแบบของสินเชื่อโครงการและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) |
พันธบัตร/หุ้นกู้/ตราสารหนี้ (climate thematic bond) | ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีเจตนาระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจผ่านโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน | บริษัท Unilever ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน |
ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) | การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการที่เกิดใหม่และอยู่ในช่วงของการเติบโต การลงทุนในลักษณะที่เป็น Venture Capital มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน | นักลงทุนประเภท venture capital | บริษัท Farmerline ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในประเทศกานา ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Village Capital ในธุรกิจซึ่งใช้เทคโนโลยีในการให้ข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการพยากรณ์อากาศกับเกษตรกรในประเทศกานา |
หุ้น | หุ้นเป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ (holder) เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือตราสารทุนมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจะมีส่วนได้ส่วนเสียและมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ | นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน | บริษัท GlaxoSmithKline (GSK) เป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีการออกหุ้นสามัญเพื่อระดมทุนไปลงทุนในกิจกรรมวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น มาลาเรีย เป็นต้น |
การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) | การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดําเนินกิจการของรัฐทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และสังคม | เอกชน / หน่วยงานภาครัฐ | บริษัท GE Healthcare ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลกลงทุนมูลค่ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้นทุนต่ำ โครงสร้างพื้นฐาน และโซลูชั่นทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโรคที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินทั้งในรูปแบบของสินเชื่อโครงการและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) |
สำหรับประเทศไทย หากพิจารณาเฉพาะมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนประมาณ 0.4% ถึง 0.7% ของ GDP ต่อปี (International Monetary Fund, 2022) หรือ ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาข้อมูลตราสารหนี้ที่ออกในประเทศไทย พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการออกตราสารหนี้ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยอดคงค้างของตราสารหนี้ยั่งยืน ณ สิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 อยู่ที่ประมาณ 546,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจากประมาณ 109,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) ที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 8) เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนจากการออกตราสารหนี้ (use of proceeds) (ตารางที่ 4) พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตัวอย่างโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืน เช่น โครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่สะอาด การจัดการของเสียและน้ำเสีย และการสนับสนุนการปลูกป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน
จากข้อมูลในตารางที่ 4 ที่ผ่านมามีการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางประเภทเท่านั้น เช่น การปลูกหญ้าแฝกซึ่งช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทะลายของดิน การจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทและโอกาสของภาคการเงินและตลาดทุนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การสนับสนุนการทำการเกษตรที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate smart agriculture) การก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบสุขาภิบาลให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุรุนแรง ฯลฯ การลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) เป็นต้น
ผู้ออก | ประเภทของตราสารหนี้ | วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน | มูลค่าตราสารหนี้ (พันล้านบาท) | ปีที่ออก (ค.ศ.) |
---|---|---|---|---|
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อปลูกป่า ส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าและสนับสนุนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการบุกรุกป่า พร้อมพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน | 6 | 2020 |
ธนาคารเพื่อการส่งออก | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการขนส่งที่สะอาด / เพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ที่ดิน การจัดการน้ำ และการจัดการน้ำเสีย | 5 | 2022 |
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. การปลูกป่า ศูนย์นวัตกรรมด้านเกษตร การวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าระยะยาว / การพัฒนาหญ้าแฝก การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และการพัฒนาเมืองสีเขียว | 2 | 2020 |
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อสนับสนุนอาคารสีเขียว การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการน้ำและน้ำเสีย การจัดการของเสียการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนระบบขนส่งที่สะอาด และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน | 1 | 2022 |
บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการน้ำและบริหารน้ำเสีย และระบบขนส่งที่สะอาด | 1.5 | 2022 |
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) | ตราสารหนี้สีเขียว (green bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำและบริหารน้ำเสีย อาคารสีเขียว และระบบขนส่งที่สะอาด | 8 | 2023 |
กระทรวงการคลัง (ตัวแทนรัฐบาลไทย) | ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) | เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งที่สะอาด การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำและน้ำเสีย การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และอาคารสีเขียว | 317 | 2020–2022 |
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ | ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการที่จำเป็น | 8.5 | 2022 |
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) | ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่สะอาด การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การสร้างงาน และการจัดการของเสีย | 18 พันล้านเยน (45 ล้านดอลลาร์ สรอ.) | 2022 |
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด | ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond) | เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ | 30 | 2022 |
มองไปข้างหน้า ประเทศไทยคาดว่าจะเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ส่งผลให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งทั่วโลกและในประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคการเงินจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ หรือใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ภาคส่วนต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับภาคการเงินของไทย ทั้งสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- 6 ภูมิภาคได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (86 ล้านคน) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (49 ล้านคน) ภูมิภาคเอเชียใต้ (40 ล้านคน) ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ (19 ล้านคน) ภูมิภาคลาตินอเมริกา (17 ล้านคน) และภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (5 ล้านคน)↩